ให้คุณหรือโทษ?
ให้คุณหรือโทษ?
คนขับรถคนหนึ่งบังคับรถไม่อยู่ รถได้พุ่งชนเสาไฟฟ้า เป็นเหตุให้ผู้โดยสารคนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส. เขารีบใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อขอความช่วยเหลือ. แต่ทำไมเขาจึงบังคับรถไม่อยู่? เพราะเขาได้ละสายตาไปจากถนนชั่วครู่เพื่อรับโทรศัพท์.
ดังที่เห็นจากตัวอย่างนี้ เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อาจให้คุณหรือโทษก็ได้ ทั้งนี้อยู่ที่ตัวเรา. แต่คงมีไม่กี่คนพอใจจะย้อนกลับไปใช้เครื่องมือเครื่องใช้รุ่นเก่า ๆ ที่ล้าสมัย. เพื่อเป็นตัวอย่าง คอมพิวเตอร์ช่วยเราไม่ต้องทำงานที่น่าเบื่อ, ช่วยเราซื้อของและทำธุรกรรมกับธนาคารทางอินเทอร์เน็ตได้สะดวก, และช่วยเราติดต่อกับคนอื่นทางอีเมล, ข้อความเสียง, หรือการเชื่อมต่อวิดีโอ.
เพิ่งไม่นานมานี้ ครอบครัวจะแยกย้ายกันไปในตอนเช้าและไม่ได้คุยกันอีกเลยจนกระทั่งตอนเย็น. แต่เดี๋ยวนี้ หนังสือพิมพ์ยูเอสเอ ทูเดย์ รายงานว่า “70% ของคู่สมรสที่ต่างฝ่ายก็มีโทรศัพท์มือถือจะติดต่อเพื่อทักทายกันทุกวัน, 64% ติดต่อกันเพื่อกำหนดเวลานัดหมาย, และ 42% ของพ่อแม่ติดต่อลูกทุกวันโดยใช้โทรศัพท์มือถือ.”
อย่าปล่อยให้ข้อดีกลายเป็นข้อเสีย
การใช้เทคโนโลยีมากเกินไปหรืออย่างไม่เหมาะสมอาจก่อผลเสียหายทางร่างกายและจิตใจได้ไหม? ขอคิดถึงตัวอย่างของคู่สมรสใหม่คู่หนึ่งในประเทศตะวันตก. ตามรายงานข่าว พวกเขา “พูดโทรศัพท์เกือบตลอดเวลา—ใน
รถยนต์, ที่โรงยิม, แม้เมื่ออยู่กันคนละห้องภายในบ้านก็ยังโทรศัพท์คุยกัน.” บางครั้ง พวกเขาใช้โทรศัพท์รวมกันเดือนละ 4,000 นาที—หรือมากกว่า 66 ชั่วโมง—และทั้งสองบอกว่าคงจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีโทรศัพท์. ดร. แฮร์ริส สตราไทเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตกล่าวว่า พวกเขาส่อ “อาการเสพติดอย่างแท้จริง. ราวกับว่าพวกเขาสื่อสัมพันธ์กันผ่านวัตถุ.”ตัวอย่างนี้อาจผิดธรรมดาไปบ้าง แต่ก็แสดงให้เห็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง. สำหรับหลายคน ถ้าจะต้องขาดการติดต่อสักหนึ่งชั่วโมงก็แทบจะทนไม่ไหว. หญิงวัย 20 ปีคนหนึ่งบอกว่า “เราต้องเปิดดูอีเมลเสมอ, เราต้องใช้อินเทอร์เน็ตเสมอ, เราต้องส่งข้อความไปหาเพื่อน ๆ เสมอ.”
นายแพทย์ไบรอัน เยาแห่งบิสเนสส์ ไทมส์ ออฟ สิงคโปร์ กล่าวว่า ถ้าการใช้เครื่องมือสื่อสาร “แย่งเวลาของคุณมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นกิจกรรมหลักในชีวิต ถึงขั้นที่กันสิ่งอื่นออกไปทั้งหมด นั่นคือสัญญาณเตือนที่แน่ชัดที่สุดว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว.” ยิ่งกว่านั้น คนที่ปลีกตัวเองไปใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คราวละหลาย ๆ ชั่วโมงก็มักจะไม่ได้ออกกำลังกาย และเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคเบาหวาน, หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ.
อันตรายอื่น ๆ เห็นผลได้เร็วกว่านั้น. ตัวอย่างเช่น ในเรื่องโทรศัพท์มือถือ การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้สรุปว่าผู้ขับขี่ยวดยานซึ่งพูดโทรศัพท์ไม่ว่าจะถือโทรศัพท์ไว้หรือไม่ มีความสามารถในการขับขี่ลดลงเทียบเท่ากับคนเมาสุรา! การส่งข้อความขณะขับรถก็อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ และการสำรวจครั้งหนึ่งพบว่าผู้ขับขี่ราว ๆ 40 เปอร์เซ็นต์อายุต่ำกว่า 27 ปีเคยส่งข้อความขณะขับรถ. ยิ่งกว่านั้น ถ้าคุณอยากพูดหรือส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือขณะขับรถ พึงจำไว้ว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุ ตำรวจและบริษัทประกันอาจตรวจสอบว่าคุณใช้โทรศัพท์ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่. การพูดโทรศัพท์หรือส่งข้อความสั้น ๆ อาจก่อความเสียหายได้มากจริง ๆ! * การสืบสวนอุบัติเหตุรถไฟชนกันเมื่อปี 2008 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 25 คนในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เผยว่าพนักงานขับรถได้ส่งข้อความเพียงไม่กี่วินาทีก่อนเกิดเหตุ. เขาไม่ทันได้ใช้ห้ามล้อเสียด้วยซ้ำ.
เนื่องจากเด็กจำนวนมากขึ้นทุกทีใช้โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, และสื่อบันเทิงต่าง ๆ พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างรอบคอบและมีความรับผิดชอบ. จะช่วยพวกเขาโดยวิธีใด? โปรดอ่านบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 ทุกคนที่พยายามดำเนินชีวิตตามคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลควรระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทำให้ใจวอกแวกเมื่ออยู่ในสถานการณ์ใดก็ตามที่อาจเป็นอันตราย.—เยเนซิศ 9:5, 6; โรม 13:1
[ภาพหน้า 5]
การใช้เครื่องมือสื่อสารแย่งเวลาของคุณมากขึ้นเรื่อย ๆ ไหม?