การช่วยเด็กที่มีความบกพร่องในด้านการเรียนรู้
การช่วยเด็กที่มีความบกพร่องในด้านการเรียนรู้
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในเม็กซิโก
สตีเวนมีปัญหาในการอ่าน. ทุกครั้งที่เขารู้ว่าจะถูกเรียกให้อ่านออกเสียงในชั้นเรียน เขาก็จะปวดท้องขึ้นมาทันที.
ทั้ง ๆ ที่ครูคอยเตือนอยู่ แต่ มาเรียก็ยังเขียนหนังสือเป็นตัวขยุกขยิกอ่านยาก. เธอต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะทำการบ้านเสร็จ.
โนอาห์อ่านการบ้านเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบ. ทว่า เขาจำเรื่องที่อ่านไม่ได้เลย และผลการเรียนของเขาก็ไม่ดี.
สตีเวน, มาเรีย, และโนอาห์มีความบกพร่องในด้านการเรียนรู้ ซึ่งปัญหาที่พบเห็นบ่อยที่สุดก็คือความบกพร่องในด้านการอ่าน. ตัวอย่างเช่น เด็กที่มีความบกพร่องในด้านการอ่าน (dyslexia) มักจะเห็นตัวอักษรสลับกัน หรือแยกตัวอักษรที่มีลักษณะคล้ายกันไม่ออก. ความบกพร่องในด้านการเรียนรู้ชนิดอื่น ๆ คือความบกพร่องในด้านการเขียน (dysgraphia) และความบกพร่องในด้านการเรียนคณิตศาสตร์ (dyscalculia). กระนั้น คนส่วนใหญ่ที่มีความบกพร่องในด้านการเรียนรู้ก็เป็นผู้ที่มีสติปัญญาระดับปกติหรือสูงกว่าระดับปกติด้วยซ้ำ.
อาการที่แสดงถึงความบกพร่องในด้านการเรียนรู้รวมไปถึงการเริ่มพูดช้ากว่าเด็กส่วนใหญ่, คิดไม่ออกว่าคำไหนมีเสียงคล้องจองกัน, มักจะออกเสียงผิดเสมอ, พูดแบบเด็กที่เพิ่งหัดพูดทั้ง ๆ ที่โตแล้ว, เรียนตัวอักษรและตัวเลขได้ยาก, ไม่สามารถออกเสียงตัวอักษรในคำง่าย ๆ ได้, สับสนในการจำคำที่ออกเสียงคล้าย ๆ กัน, และปฏิบัติตามคำสั่งได้ยาก. *
การช่วยลูกให้เอาชนะปัญหานี้
คุณจะทำอะไรได้บ้างถ้าลูกของคุณดูเหมือนมีปัญหาในด้านการเรียนรู้? ประการแรก พาลูกไปตรวจสายตาและทดสอบการได้ยิน เพื่อตัดสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวออกไป. * จากนั้นพาลูกไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย. ถ้าลูกของคุณมีปัญหาในด้านการเรียนรู้ เขาก็ต้องการการเกื้อ หนุนทางอารมณ์จากคุณ. พึงจำไว้ว่า ความบกพร่องในด้านการเรียนรู้นั้นไม่เกี่ยวข้องกับเชาวน์ปัญญาของเด็ก.
จงใช้ประโยชน์จากโครงการพิเศษต่าง ๆ ที่อาจมีการจัดขึ้นในโรงเรียนของลูก เช่น การเรียนพิเศษ. ขอให้ครูร่วมมือกับคุณ. บางทีคุณอาจขอคุณครูให้ลูกของคุณนั่งในแถวหน้าและให้เขามีเวลามากขึ้นที่จะทำงานมอบหมายให้เสร็จ. ครูควรสั่งงานโดยใช้ทั้งการสั่งด้วยคำพูดและการเขียน และอนุญาตให้เด็กสอบโดยการพูดปากเปล่า. เนื่องจากเด็กที่มีความบกพร่องในด้านการเรียนรู้มักจะลืมง่ายและไม่มีระเบียบ จึงอาจเตรียมตำราเรียนชุดที่สองไว้ใช้ที่บ้านด้วย. อาจใช้คอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมตรวจสอบการสะกดคำในชั้นเรียนและเพื่อทำการบ้าน.
ให้ลูกอ่านหนังสือเป็นช่วงสั้น ๆ ทุกวัน. การอ่านออกเสียงนับว่าดีที่สุดสำหรับลูกที่มีความบกพร่องในด้านการอ่าน เพื่อคุณที่เป็นพ่อแม่จะมีโอกาสแนะนำและแก้ไขได้. ทีแรก คุณเป็นคนอ่านออกเสียงแล้วให้ลูกอ่านตาม. ต่อไปอ่านออกเสียงพร้อมกัน จากนั้นก็ให้ลูกอ่านเอง. ให้ลูกของคุณเอาไม้บรรทัดวางใต้บรรทัดขณะที่เขาอ่าน แล้วใช้ปากกาเน้นข้อความป้ายทับคำที่อ่านยาก. การฝึกแบบนี้อาจใช้เวลาแค่วันละ 15 นาที.
คุณอาจสอนลูกให้มีทักษะทางคณิตศาสตร์แบบที่ใช้การได้จริง อย่างเช่น การชั่งหรือตวงตามตำราอาหาร, การใช้ไม้บรรทัดวัดเมื่อทำงานไม้, หรือเมื่อไปจับจ่ายซื้อของ. อาจใช้กระดาษกราฟและแผนภาพช่วยในการแก้โจทย์คณิตศาสตร์. สำหรับลายมือที่ขยุกขยิกอ่านยาก ให้พยายามหากระดาษที่มีเส้นบรรทัดกว้าง ๆ และใช้ดินสอเส้นหนา. การติดตัวอักษรแม่เหล็กเอาไว้บนวัสดุที่มีพื้นผิวเป็นโลหะอาจช่วยให้ลูกสะกดคำได้.
นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่ใช้ได้ผลในการรับมือกับโรคสมาธิสั้น. ก่อนจะพูดกับลูกที่ไม่สามารถควบคุมสมาธิได้ ให้คุณมองตาลูก. ให้ลูกอยู่ในที่เงียบ ๆ เพื่อทำการบ้านและให้เขาพักบ่อย ๆ. ใช้ประโยชน์จากอาการอยู่ไม่นิ่งของลูก โดยให้ลูกทำงานบ้านที่ต้องใช้ความกระฉับกระเฉง อย่างเช่น พาสุนัขไปเดินเล่น.
ความสำเร็จอาจเป็นไปได้
จงเสริมสร้างในจุดที่ลูกทำได้ดี สนับสนุนความสามารถหรือพรสวรรค์ใด ๆ ที่คุณอาจมองเห็นในตัวลูก. ชมเชยและให้รางวัลในความสำเร็จไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ. แบ่งงานมอบหมายให้เล็กลงและทำให้จัดการได้ง่ายขึ้น เพื่อลูกจะรู้สึกภูมิใจเมื่อเขาทำงานนั้นได้สำเร็จ. ใช้ภาพหรือแผนภาพที่ช่วยให้ลูกเข้าใจขั้นตอนที่เขาต้องทำเพื่อจะทำงานนั้นให้สำเร็จลุล่วง.
สุดท้าย การมีความสามารถขั้นพื้นฐานในการอ่าน, การเขียน, และทักษะทางคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็ก. ขอให้คุณมั่นใจว่า เมื่อมีแรงกระตุ้นที่เหมาะสมและให้การช่วยเหลืออย่างถูกวิธี ลูกของคุณจะสามารถ เรียนรู้ได้ เพียงแต่เขาอาจจะเรียนด้วยวิธีที่ต่างไปจากคนอื่น ๆ และใช้เวลานานกว่าเล็กน้อย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 ความบกพร่องในด้านการเรียนรู้มักจะพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งมีลักษณะที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ อาการอยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity), มีพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่น, และไม่สามารถควบคุมสมาธิได้. โปรดดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 กุมภาพันธ์ 1997 หน้า 5-10.
^ วรรค 9 เด็กผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นและมีความบกพร่องในด้านการอ่านมากกว่าเด็กผู้หญิงสามเท่า.
[กรอบหน้า 11]
เมื่อความบกพร่องในด้านการเรียนรู้กลายเป็นสิ่งที่มีค่า
“เมื่อผมมองดูคำต่าง ๆ ที่อยู่บนหน้ากระดาษ คำเหล่านั้นก็เป็นแค่เส้นยึกยือที่ลากตวัดไปตวัดมา. คำเหล่านั้นอาจดูเหมือนภาษาต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้มีความหมายอะไรสำหรับผมจนกว่าจะมีใครอ่านออกมาดัง ๆ. คุณครูคิดว่าผมเป็นคนเกียจคร้าน ไม่เคารพนับถือครู หรือคิดว่าผมไม่พยายามที่จะตั้งใจฟังเมื่อครูสอน. แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย. ผมตั้งใจฟังและพยายามอย่างมากด้วย แต่ผมก็ไม่อาจเข้าใจวิธีอ่านและวิธีเขียนได้. วิชาอื่น ๆ อย่างเช่นคณิตศาสตร์ไม่ยากสำหรับผม. ตอนวัยเด็ก ผมเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งต่าง ๆ เช่น กีฬา, งานช่าง, ศิลปะ, และอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการใช้มือ แต่ต้องไม่ใช่การอ่านและการเขียน.
“เมื่อโตขึ้น ผมเลือกงานที่ทำด้วยมือ ผมจึงกลายเป็นช่าง. การเป็นช่างทำให้ผมมีสิทธิพิเศษได้ทำงานในโครงการก่อสร้างนานาชาติของพยานพระยะโฮวาถึงห้าโครงการ. เนื่องจากผมต้องใช้ความพยายามให้มากขึ้นเพื่อจะอ่าน ผมจึงมักจะจดจำสิ่งที่ผมอ่านได้มาก. ในฐานะนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ผมพบว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในงานเผยแพร่ของคริสเตียน. ดังนั้น แทนที่จะมองว่าความบกพร่องในด้านการเรียนรู้เป็นความอ่อนแอ ผมกลับมองว่านั่นเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับผม.”—ปีเตอร์, ผู้เผยแพร่เต็มเวลาของพยานพระยะโฮวาที่มีความบกพร่องในด้านการอ่าน.
[ภาพหน้า 10]
เด็ก ๆ อาจจดบันทึกโดยการวาดภาพได้เก่งมาก ขณะที่เขากำลังฟังอย่างใจจดใจจ่อ