ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คลองของบริเตนยังคงตราตรึงใจ

คลองของบริเตนยังคงตราตรึงใจ

คลอง​ของ​บริเตน​ยัง​คง​ตราตรึง​ใจ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

พอ​ถึง​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 19 ก็​มี​คลอง​ที่​ตัด​ไป​มา​ราว ๆ 6,000 กิโลเมตร​ทั่ว​ทั้ง​อังกฤษ, สกอตแลนด์, และ​เวลส์. ทำไม​คลอง​เหล่า​นี้​จึง​ถูก​ขุด​ขึ้น​มา และ​ใคร​ใช้​คลอง​เหล่า​นี้​ใน​ศตวรรษ​ที่ 21?

ใน​ศตวรรษ​ที่ 18 การ​ปฏิวัติ​อุตสาหกรรม​ใน​บริเตน​ทำ​ให้​จำเป็น​ต้อง​มี​ระบบ​การ​ขน​ส่ง​ที่​รวด​เร็ว​และ​ราคา​ถูก​เพื่อ​ส่ง​วัตถุ​ดิบ​รวม​ทั้ง​สินค้า​ต่าง ๆ ที่​ผลิต​เสร็จ​แล้ว. ก่อน​จะ​ถึง​ยุค​นั้น มี​การ​ใช้​ม้า​หลาย​ตัว​บรรทุก​ของ​หรือ​ลาก​เกวียน​เพื่อ​ขน​ส่ง​สินค้า​ไป​ตาม​ถนน​สาย​ต่าง ๆ ซึ่ง​ใน​ฤดู​หนาว​รอย​ล้อ​รถ​ม้า​ก็​มัก​จะ​ทำ​ให้​เกิด​ร่อง​และ​มี​หล่ม​โคลน​ที่​ลึก​มาก​จน​ไม่​สามารถ​สัญจร​ไป​มา​ได้. แต่​ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ม้า​แค่​ตัว​เดียว​ก็​สามารถ​ลาก​เรือ​ใน​คลอง​ให้​ลอย​ไป​ได้​อย่าง​ราบรื่น​และ​รวด​เร็ว​ทันใจ แถม​ยัง​บรรทุก​สินค้า​ได้​มาก​ถึง 30 ตัน.

ใน​ปี 1761 ดุ๊ก​แห่ง​บริดจ์วอร์เทอร์ ได้​ขุด​คลอง​สาย​หนึ่ง​ขึ้น​มา​เพื่อ​ลำเลียง​ถ่าน​หิน​จาก​เหมือง​ของ​เขา​ไป​ส่ง​ให้​ลูก​ค้า​ใน​เมือง​แมนเชสเตอร์ ซึ่ง​อยู่​ไกล​ออก​ไป 16 กิโลเมตร. คลอง​สาย​นี้​ไม่​เพียง​แต่​ทำ​เงิน​ให้​เขา​ได้​มาก​มาย แต่​ยัง​ทำ​ให้​ราคา​ถ่าน​หิน​ใน​เมือง​แมนเชสเตอร์​ลด​ลง​ไป​ถึง​ครึ่ง​หนึ่ง​ที​เดียว. พอ​ถึง​ปี 1790 แผนการ​อัน​ทะเยอทะยาน​ยิ่ง​ขึ้น คือ​การ​สร้าง​ระบบ​คลอง​แกรนด์​ครอส ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​ได้​เชื่อม​แม่น้ำ​สำคัญ​สี่​สาย​และ​เชื่อม​เขต​ศูนย์กลาง​อุตสาหกรรม​ของ​อังกฤษ​กับ​เมือง​ท่า​ต่าง ๆ ด้วย. ยุค​แห่ง​คลอง​ของ​บริเตน​ได้​เริ่ม​ขึ้น​แล้ว.

การ​ขุด​และ​การ​ใช้​คลอง

ท่ามกลาง​เหล่า​วิศวกร​ที่​ชำนาญ​งาน เจมส์ บรินด์ลีย์ วิศวกร​ที่​เรียน​รู้​ด้วย​ตัว​เอง ซึ่ง​ทำ​งาน​ทั้ง​หมด​ของ​เขา​โดย​ที่​ไม่​มี​การ​คำนวณ​หรือ​วาด​แบบ​ลง​บน​กระดาษ ก็​ได้​พัฒนา​วิธี​ก่อ​สร้าง​ที่​ชาญ​ฉลาด​และ​มี​ประสิทธิภาพ​ขึ้น เพื่อ​สร้าง​ทาง​น้ำ​เป็น​ระยะ​ทาง​หลาย​สิบ​กิโลเมตร​ข้าม​ภูมิ​ประเทศ​ที่​มี​หลาก​หลาย​ลักษณะ. ผล​งาน​ต่าง ๆ ที่​พวก​คน​งาน​ได้​สร้าง​ขึ้น​อย่าง​เช่น สะพาน​ลำเลียง​น้ำ, อุโมงค์, ประตู​น้ำ, และ​สะพาน​ข้าม​คลอง​ยัง​คง​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​ความ​สำเร็จ​อัน​น่า​ทึ่ง.

“เรือ​แคบ​ยาว” เป็น​เรือ​ที่​ทำ​ด้วย​ไม้​แบบ​ไม่​มี​หลังคา ยาว​ประมาณ 20 เมตร และ​กว้าง 2 เมตร​ถูก​ต่อ​ขึ้น​เพื่อ​ลำเลียง​สินค้า​ต่าง ๆ อย่าง​เช่น ถ่าน​หิน, ปูน, หินปูน, ดิน​ขาว​เคโอลิน, แร่​เหล็ก, อิฐ, และ​แป้ง​สำหรับ​ทำ​อาหาร. เรือ​เหล่า​นี้​จะ​ถูก​ม้า​ที่​เดิน​อยู่​บน​ทาง​เดิน​เล็ก ๆ ริม​ฝั่ง​ลาก​ไป​ตาม​ลำ​คลอง. นอก​จาก​นี้​ก็​มี “เรือ​ด่วน” ซึ่ง​ให้​การ​บริการ​ที่​รวด​เร็ว​ทันใจ​เพื่อ​ส่ง​สินค้า​ด่วน​หรือ​สินค้า​ที่​เน่า​เสีย​ได้​ง่าย​โดย​ไม่​มี​การ​หยุด​พัก​ระหว่าง​ทาง และ​คน​งาน​ใน​เรือ​เหล่า​นี้​ก็​ต้อง​ทำ​งาน​กัน​ตลอด​ทั้ง​คืน.

ใน​คลอง​บาง​สาย​มี​การ​เปลี่ยน​ม้า​ลาก​เรือ​เป็น​ช่วง ๆ ตลอด​เส้น​ทาง โดย​ลาก​เรือ​รูป​ร่าง​เพรียว​ที่​มี​ผู้​โดยสาร​ถึง 120 คน​ไป​ด้วย​ความ​เร็ว​โดย​เฉลี่ย 15 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง. เช่น​เดียว​กับ​เรือ​ด่วน เรือ​เหล่า​นี้​มี​ความ​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​เรือ​ลำ​อื่น ๆ และ​ใน​คลอง​บริดจ์วอเทอร์​มี​การ​ติด​ใบ​มีด​ขนาด​ใหญ่​ไว้​ตรง​หัว​เรือ​เพื่อ​ตัด​เชือก​ลาก​เรือ​ของ​เรือ​ลำ​อื่น​ที่​เกะกะ​ขวาง​ทาง! เมื่อ​มี​คลอง สามัญ​ชน​ก็​มี​โอกาส​เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​จะ​เดิน​ทาง​เป็น​ระยะ​ทาง​ไกล ๆ ได้​อย่าง​สะดวก​สบาย​และ​ราคา​ไม่​แพง.

ชีวิต​บน​เรือ​แคบ​ยาว

ชีวิต​ใน​คลอง ดัง​ที่​พวก​คน​เรือ​เรียก​กัน​นั้น​นับ​ว่า​ลำบาก. งาน​ของ​พวก​เขา​หนัก​มาก​และ​บ่อย​ครั้ง​ก็​มี​อันตราย​ด้วย. การ​ที่​ต้อง​ย้าย​ไป​เรื่อย ๆ ทำ​ให้​พวก​เขา​แทบ​ไม่​มี​โอกาส​ได้​ร่ำ​เรียน​หนังสือ และ​ค่อย ๆ ถูก​ตัด​ขาด​จาก​ผู้​คน​รอบ​ข้าง​มาก​ขึ้น.

ชุมชน​เรือ​แคบ​ยาว​นี้​ได้​ก่อ​ให้​เกิด​ศิลปะ​แบบ​พื้น​บ้าน​ที่​ไม่​เหมือน​ใคร ซึ่ง​ก็​คือ​การ​ตกแต่ง​ตัว​เรือ​ด้าน​นอก​ทั้ง​หมด​เรื่อย​ไป​จน​ถึง​ห้อง​พัก​ที่​อยู่​ท้าย​เรือ ด้วย​ภาพ​วาด​รูป​ทิวทัศน์​ซึ่ง​มี​สี​สัน​ที่​สดใส, ภาพ​ลาย​ดอกไม้, และ​ภาพ​ลาย​เรขาคณิต. ส่วน​ห้อง​พัก​ท้าย​เรือ ซึ่ง​มี​ขนาด​แค่​สาม​เมตร​คูณ​สอง​เมตร มี​ทั้ง​คน​เรือ, ภรรยา, และ​ลูก ๆ ของ​เขา​อาศัย​อยู่​ด้วย​กัน. แต่​พวก​คน​เรือ​ก็​คิด​วิธี​แก้​ปัญหา​เรื่อง​พื้น​ที่​แคบ​ด้วย​การ​ทำ​เตียง​นอน​และ​ตู้​ที่​สามารถ​พับ​เก็บ​ได้. ลูก​ไม้​ถัก​ด้วย​ไหมพรม​ที่​ห้อย​ลง​มา​จาก​หิ้ง และ​เครื่อง​เคลือบ​ดิน​เผา​ที่​งดงาม​รวม​ทั้ง​เครื่อง​ประดับ​ทองเหลือง​ที่​เปล่ง​ประกาย​แวว​วาว​รอบ​เตา​หุง​ต้ม​อาหาร​นั้น​ก็​สะท้อน​แสง​ออก​มา. ทั้ง​หมด​นี้​ล้วน​ถ่ายทอด​ความ​รู้สึก​อัน​อบอุ่น​และ​สบาย. ส่วน​ภรรยา​ของ​คน​เรือ​ที่​ทำ​งาน​หนัก ทั้ง ๆ ที่​เธอ​มี​งาน​หลาย​อย่าง​ต้อง​ทำ​และ​บ่อย​ครั้ง​ก็​มี​การ​ขน​ส่ง​สินค้า​ที่​สกปรก​มาก แต่​เธอ​ก็​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ครอบครัว​ของ​เธอ​และ​เรือ​ได้​สะอาด​เรียบร้อย. แม้​แต่​เชือก​ถัก​ที่​ใช้​สวม​คัน​หาง​เสือ​เธอ​ก็​ขัด​ถู​อย่าง​ภาคภูมิ​ใจ​จน​ขาว​สะอาด.

การ​เสื่อม​ความ​นิยม—และ​การ​ใช้​คลอง​ใน​ปัจจุบัน

ใน​ปี 1825 เมื่อ​คลอง​ที่​เชื่อม​ต่อ​กัน​เป็น​เครือข่าย​ใกล้​จะ​แล้ว​เสร็จ จอร์ช สตีเฟน​สัน ก็​ได้​เปิด​บริษัท​รถไฟ​สตอกตัน​และ​ดาร์ลิงตัน ซึ่ง​เป็น​หนึ่ง​ใน​รถไฟ​โดยสาร​สาธารณะ​ขบวน​แรก ๆ ที่​ใช้​รถ​จักร​แบบ​พลัง​ไอ​น้ำ. ภาย​ใน​เวลา 20 ปี รถไฟ​ก็​แย่ง​สินค้า​ที่​เคย​ขน​ส่ง​ตาม​คลอง​ต่าง ๆ ไป แล้ว​คลอง​ก็​เริ่ม​ซบเซา​และ​ชำรุด​ทรุดโทรม. บริษัท​รถไฟ​ถึง​กับ​ซื้อ​คลอง​บาง​แห่ง​เพื่อ​หยุด​การ​แข่งขัน. หลัง​จาก​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1 แนว​โน้ม​นี้​ก็​ยัง​ดำเนิน​ต่อ​ไป​เนื่อง​จาก​มี​การ​สร้าง​ถนน​หน​ทาง​ที่​ใหม่​กว่า​และ​ดี​กว่า. แม้​แต่​คน​ที่​มอง​โลก​ใน​แง่​ดี​ก็​ยัง​คิด​ว่า​คลอง​เหล่า​นั้น​คง​จะ​รอด​อยู่​ได้​อีก​ไม่​นาน.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​งาน​ที่​หลาย​คน​และ​หลาย​กลุ่ม​ได้​ทำ​ตลอด 50 ปี​ที่​ผ่าน​มา คลอง​เหล่า​นั้น​จึง​รอด​อยู่​ได้. ถึง​แม้​เรือ​บาง​ลำ​ที่​ล่อง​ไป​ตาม​คลอง​ต่าง ๆ ยัง​ขน​ส่ง​สินค้า​อยู่ แต่​เรือ​ลำ​อื่น ๆ ก็​ถูก​แปลง​เป็น​บ้าน​แบบ​ถาวร หรือ​เรือ​สำหรับ​ท่อง​เที่ยว. ปัจจุบัน ผู้​คน​สามารถ​ล่อง​เรือ​ไป​ตาม​ลำ​คลอง​ได้​มาก​กว่า 3,000 กิโลเมตร ผ่าน​ภูมิทัศน์​บาง​ช่วง​ของ​บริเตน​ที่​สวย​งาม​และ​เป็น​ธรรมชาติ​มาก​ที่​สุด. นอก​จาก​นี้ คน​ที่​ชื่น​ชอบ​เรือ​แคบ​ยาว​ยัง​ช่วย​ฟื้นฟู​วัฒนธรรม​อัน​เก่า​แก่ และ​เทศกาล​ต่าง ๆ ตาม​ทาง​น้ำ​ที่​จัด​ขึ้น​เป็น​ประจำ​ก็​ทำ​ให้​สาธารณชน​ได้​รู้​จัก​วัฒนธรรม​เหล่า​นั้น​มาก​ขึ้น​ด้วย. ที่​จริง เนื่อง​จาก​ความ​นิยม​เกี่ยว​กับ​เรือ​ท่อง​เที่ยว​เหล่า​นี้​ที่​ได้​รับ​การ​ตกแต่ง​อย่าง​ตระการตา​มี​มาก​ขึ้น ปัจจุบัน​จึง​มี​เรือ​แคบ​ยาว​ล่อง​อยู่​ใน​คลอง​ต่าง ๆ มาก​กว่า​ยุค​รุ่งเรือง​ของ​การ​ขน​ส่ง​สินค้า​ทาง​น้ำ​เสีย​อีก และ​การ​บูรณะ​คลอง​เหล่า​นั้น​ก็​เร็ว​พอ ๆ กับ​ตอน​ที่​พวก​มัน​ถูก​ขุด​ขึ้น​เมื่อ 200 ปี​ก่อน.

ทว่า คน​ที่​ชอบ​ล่อง​เรือ​เล่น​เที่ยว​ปัจจุบัน​มี​เพียง​ส่วน​น้อย​เท่า​นั้น​ที่​เป็น​ชาว​เรือ. เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​การ​บูรณะ​ฟื้นฟู​ทาง​น้ำ​ได้​ทำ​ให้​เกิด​เครือข่าย “สวน​สาธารณะ​ที่​ขนาน​ไป​กับ​ลำ​น้ำ.” สวน​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​ทั้ง​คน​เดิน​เท้า, นัก​ปั่น​จักรยาน, และ​คน​หา​ปลา​ซึ่ง​ล้วน​เป็น​ผู้​ใช้​ประโยชน์​จาก​ทาง​เดิน​ริม​ฝั่ง​คลอง ได้​รับ​ความ​เพลิดเพลิน​จาก​การ​ชม​ทิวทัศน์​ของ​เมือง​และ​เขต​ชนบท​ที่​แทบ​จะ​ไม่​มี​ใคร​เคย​เห็น​มา​ก่อน. มี​การ​สร้าง​อ่าง​เก็บ​น้ำ​หลาย​แห่ง​เพื่อ​รักษา​ระดับ​น้ำ​ใน​คลอง ซึ่ง​กลาย​เป็น​ถิ่น​พัก​อาศัย​ที่​สำคัญ​สำหรับ​สัตว์​ป่า และ​คลอง​เอง​ก็​ช่วย​ค้ำจุน​พืช, นก, และ​สัตว์​ป่า​นานา​ชนิด.

การ​ขุด​คลอง​ของ​บริเตน​ได้​นำ​ไป​สู่​ยุค​แห่ง​การ​เปลี่ยน​แปลง​อัน​น่า​ทึ่ง แต่​เป็น​การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​พลิก​ความ​คาด​หมาย​อย่าง​แทบ​ไม่​น่า​เชื่อ. ปัจจุบัน คลอง​แบบ​เดียว​กัน​นั้น​ทำ​ให้​มี​ทาง​ที่​จะ​หลีก​หนี​จาก​ความ​กดดัน​ต่าง ๆ ของ​โลก​สมัย​ใหม่​ที่​คลอง​เหล่า​นั้น​เคย​ช่วย​สร้าง​ขึ้น​มา.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 14]

การ​ล่อง​เรือ​เข้า​ไป​ใน​อุโมงค์

มี​อุโมงค์​อยู่​เพียง​ไม่​กี่​แห่ง​ที่​มี​ทาง​สำหรับ​ลาก​เรือ. ดัง​นั้น ก่อน​จะ​มี​เรือ​แบบ​ที่​ขับ​เคลื่อน​ได้​ด้วย​ตัว​เอง​โดย​ที่​ไม่​ต้อง​ใช้​ม้า​ลาก ทาง​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​จะ​ทำ​ให้​เรือ​แคบ​ยาว​ลอด​ผ่าน​อุโมงค์​ไป​ได้​ก็​คือ การ​ทำ​สิ่ง​ที่​เป็น​อันตราย​อย่าง​ยิ่ง​ซึ่ง​เรียก​ว่า การ​ถีบ​เรือ. มี​การ​ยึด​แผ่น​กระดาน​สอง​แผ่น​ไว้​ที่​หัว​เรือ​แต่​ละ​ด้าน. คน​เรือ​จะ​นอน​หงาย​อยู่​บน​แผ่น​กระดาน​ที่​พวก​เขา​ใช้​มือ​จับ​เอา​ไว้ แล้ว​ก็​ใช้​เท้า​ถีบ​ผนัง​อุโมงค์​เพื่อ​ดัน​เรือ​ให้​ลอด​ผ่าน​ไป. ท่ามกลาง​ความ​มืด​มิด​ที่​มี​แสง​สว่าง​จาก​เปลว​เทียน​เพียง​เล่ม​เดียว จึง​ง่าย​มาก​ที่​คน​ถีบ​ผนัง​อุโมงค์​จะ​ถีบ​เท้า​พลาด​และ​ตก​ลง​ไป​ใน​คลอง ซึ่ง​บาง​ครั้ง​ก็​ถึง​กับ​เสีย​ชีวิต​หาก​ร่าง​ของ​เขา​ถูก​เรือ​อัด​เข้า​กับ​ผนัง​อุโมงค์. คลอง​ของ​บริเตน​ที่​เชื่อม​ต่อ​กัน​เป็น​เครือข่าย​เคย​มี​อุโมงค์​ยาว​รวม​กัน​ถึง 68 กิโลเมตร และ​คน​ถีบ​หัว​เรือ​ที่​ช่ำชอง​ก็​จะ​ถูก​ว่า​จ้าง​สำหรับ​อุโมงค์​ที่​ยาว ๆ. ปัจจุบัน อุโมงค์​ยาว​ที่​สุด​ที่​มี​การ​เปิด​ใช้​ใหม่​อยู่​ที่​เมือง​สแตนด์เอจ, ยอร์กเชียร์ ซึ่ง​มี​ความ​ยาว​ประมาณ 5 กิโลเมตร.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy of British Waterways

[กรอบ/ภาพ​หน้า 15]

ประตู​น้ำ​และ​เครื่อง​ยก​เรือ​ที่​สร้าง​อย่าง​ชาญ​ฉลาด

เนื่อง​จาก​น้ำ​ไม่​อาจ​ไหล​ขึ้น​ที่​สูง​ได้ จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​เมื่อ​คลอง​มา​เจอ​กับ​พื้น​ที่​ที่​สูง​ขึ้น? คลอง​จะ​ถูก​สร้าง​อ้อม​เขา​เพื่อ​รักษา​ระดับ​ความ​สูง​ระดับ​เดียว​กัน​เอา​ไว้ ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​เส้น​ทาง​ยาว​ขึ้น หรือ​บาง​ที​อาจ​เจาะ​อุโมงค์​ทะลุ​ภูเขา​ที่​กีด​ขวาง​อยู่. ส่วน​ทาง​เลือก​ที่​สาม​ก็​อาจ​ยก​ทาง​น้ำ​ให้​สูง​ขึ้น​โดย​ใช้​ประตู​น้ำ. ประตู​น้ำ​เหล่า​นี้​มี​อ่าง​ที่​เชื่อม​ทาง​น้ำ​สอง​ฝั่ง​ที่​มี​ระดับ​น้ำ​ต่าง​กัน ซึ่ง​หัว​ประตู​ทั้ง​สอง​ด้าน​ก็​จะ​มี​บาน​ประตู​อยู่. เมื่อ​เรือ​แล่น​เข้า​ไป​ใน​ประตู​น้ำ​แล้ว บาน​ประตู​ทั้ง​สอง​ฝั่ง​ก็​จะ​ปิด. แล้ว​น้ำ​ก็​จะ​ไหล​เข้า​ไป​ใน​ประตู​น้ำ​มาก​ขึ้น​เพื่อ​หนุน​เรือ​ให้​ลอย​สูง​ขึ้น​ถึง​อีก​ระดับ​หนึ่ง หรือ​อาจ​ระบาย​น้ำ​ออก​ไป​เพื่อ​ให้​เรือ​ลด​ระดับ​ลง ซึ่ง​ก็​ขึ้น​อยู่​กับ​แต่​ละ​กรณี.

แต่​ถ้า​ประตู​น้ำ​ที่​เคย​มี​อยู่​นั้น​ปรับ​ปรุง​ซ่อมแซม​ไม่​ได้​ล่ะ? นั่น​เป็น​ปัญหา​ที่​ได้​เกิด​ขึ้น​ใน​สกอตแลนด์ ซึ่ง​กำลัง​มี​การ​ทำ​โครงการ​สำคัญ​โครงการ​หนึ่ง​อยู่ เพื่อ​เชื่อม​คลอง​สอง​คลอง​ที่​เลิก​ใช้​ไป​แล้ว​ให้​กลับ​มา​ใช้​ได้​ใหม่ ซึ่ง​คลอง​ดัง​กล่าว​อยู่​ระหว่าง​เมือง​กลาสโกว์​กับ​เมือง​เอดินบะระ. นับ​ว่า​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​บูรณะ​ประตู​น้ำ 11 แห่ง​ที่​อยู่​ใน​เมือง​ฟอลเคิร์ก. ประตู​น้ำ​เหล่า​นี้​เคย​เชื่อม​คลอง​ยูเนียน​กับ​คลอง​ฟอร์ท​และ​ไคลด์ ซึ่ง​เป็น​คลอง​ที่​เชื่อม​ระหว่าง​ทะเล​กับ​ทะเล​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ใน​โลก. ทาง​แก้​ที่​ชาญ​ฉลาด​ก็​คือ​การ​สร้าง​เครื่อง​ยก​เรือ​แบบ​ที่​ยัง​ไม่​เคย​มี​ใคร​คิด​ค้น​มา​ก่อน ซึ่ง​เรียก​ว่า​ล้อ​หมุน​ฟอลเคิร์ก. ล้อ​หมุน​ที่​เป็น​เครื่องจักร​สำหรับ​ยก​เรือ​นี้​มี​เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง 35 เมตร. ล้อ​หมุน​นี้​สามารถ​เคลื่อน​ย้าย​เรือ​ได้​แปด​ลำ โดย​เครื่อง​ยก​ที่​อยู่​แต่​ละ​ด้าน​จะ​ยก​เรือ​ได้​ด้าน​ละ​สี่​ลำ ซึ่ง​แต่​ละ​รอบ​ใช้​เวลา​ยก​เพียง 15 นาที.

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ไทมส์ แห่ง​ลอนดอน​อธิบาย​ว่า เป็น “ความ​สำเร็จ​ทาง​วิศวกรรม​ที่​น่า​ทึ่ง” ล้อ​หมุน​นั้น​มี​เงา​สะท้อน​อยู่​ใน​สระ​น้ำ​รูป​วง​กลม​ขนาด​ใหญ่ ซึ่ง​จอด​เรือ​ได้​มาก​กว่า 20 ลำ.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Top right: Courtesy of British Waterways

[กรอบ/ภาพ​หน้า 16, 17]

ทำไม​เรา​จึง​ชอบ​ล่อง​เรือ​ไป​ตาม​ลำ​คลอง?

เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ ผม​กับ​ภรรยา​ที่​เป็น​ผู้​สูง​อายุ​แล้ว ได้​ไป​พัก​ร้อน​อย่าง​สงบ​เงียบ​ด้วย​การ​ล่อง​เรือ​ไป​ตาม​ลำ​คลอง. ทำไม​ถึง​สงบ​เงียบ​ล่ะ? ประการ​แรก เรา​อยู่​ห่าง​ไกล​จาก​ทาง​หลวง​ที่​มี​การ​จราจร​คับคั่ง​และ​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​เร่ง​รีบ. ใน​เรือ​แคบ​ยาว เรา​ล่อง​ไป​เรื่อย ๆ ด้วย​ความ​เร็ว​ไม่​เกิน 5 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง. ทำไม​จึง​ช้า​ขนาด​นั้น? ก็​เพื่อ​จะ​ไม่​เกิด​ระลอก​คลื่น​ที่​อาจ​เซาะ​ตลิ่ง​ให้​เสียหาย​ได้. ผล​คือ บ่อย​ครั้ง​คน​ที่​จูง​สุนัข​เดิน​เล่น​ตาม​ทาง​ลาก​เรือ​เก่า ๆ ที่​อยู่​ริม​ฝั่ง​คลอง​ยัง​เดิน​แซง​หน้า​เรือ​ของ​เรา​ด้วย​ซ้ำ!

ประโยชน์​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ได้​จาก​การ​ล่อง​เรือ​ไป​อย่าง​ช้า ๆ ก็​คือ เรา​มี​เวลา​ที่​จะ​ชื่นชม​ทิวทัศน์​แถม​ยัง​ได้​พูด​ทักทาย​คน​ที่​เดิน​ผ่าน​ไป​ผ่าน​มา​ด้วย. และ​ทิวทัศน์​ก็​สวย​งาม​มาก. โดย​ปกติ​เรา​มัก​จะ​เช่า​เรือ​ที่​เมือง​เซาท์​เวลส์ ล่อง​ไป​ตาม​ลำ​คลอง​จาก​เมือง​มอนเมาท์เชียร์​ถึง​เมือง​เบรคอน. เส้น​ทาง​นี้​มี​ระยะ​ทาง​ราว ๆ 50 กิโลเมตร​จาก​ชายแดน​ของ​เวลส์​ขึ้น​ไป​ถึง​เทือก​เขา​เบรคอน ซึ่ง​สูง​กว่า 886 เมตร. แล้ว​ทุก​ครั้ง​เรา​จะ​รู้สึก​ตื่นเต้น​นิด​หน่อย​เมื่อ​มา​ถึง​ประตู​น้ำ และ​เรือ​ของ​เรา​ก็​ถูก​น้ำ​หนุน​ให้​สูง​ขึ้น​หรือ​ต่ำ​ลง​เมื่อ​เจอ​กับ​ระดับ​น้ำ​ที่​ต่าง​กัน.—ดู​กรอบ​ใน​หน้า 15.

เรือ​มี​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง​พร้อม​และ​สะดวก​สบาย​มาก​จริง ๆ. เรือ​บาง​ลำ​ถึง​กับ​มี​ห้อง​นอน​เตียง​คู่​สอง​ห้อง และ​แต่​ละ​ห้อง​ก็​มี​ห้อง​อาบ​น้ำ​ที่​มี​ฝัก​บัว​และ​ห้อง​ส้วม​อยู่​ใน​ตัว. นอก​จาก​นี้ เรือ​ยัง​มี​เครื่อง​ทำ​ความ​ร้อน​ไว้​ให้​ด้วย​ใน​กรณี​ที่​มี​อากาศ​หนาว​เย็น​ตอน​ค่ำ. ปกติ​เรา​มัก​จะ​ทำ​อาหาร​รับประทาน​เอง แต่​ถ้า​เรา​อยาก​จะ​พัก​บ้าง เรา​ก็​อาจ​จะ​จอด​เรือ​แล้ว​ไป​หา​อะไร​อร่อย ๆ กิน​ที่​ร้าน​อาหาร​ริม​คลอง.

ทุก​อย่าง​ช่าง​เงียบ​สงบ​เสีย​จริง ๆ โดย​เฉพาะ​ใน​ช่วง​ฟ้า​สาง เมื่อ​น้ำ​ใน​คลอง​ใส​ราว​กับ​กระจก สะท้อน​ให้​เห็น​ภาพ​แมก​ไม้​และ​ภูเขา. ทุก​สิ่ง​เงียบ​เชียบ​เสีย​จน​สามารถ​ได้​ยิน​เสียง​นก​ร้อง​อย่าง​ชัดเจน. พวก​นก​ยาง​เฝ้า​ดู​อย่าง​เงียบ ๆ บน​สอง​ฝั่ง​คลอง ขณะ​ที่​พวก​มัน​ค่อย ๆ เดิน​นำ​หน้า​เรือ​ของ​เรา​ไป​อย่าง​ใจ​เย็น.—ผู้​อ่าน​ส่ง​มา.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy of British Waterways

Top right: By kind permission of Chris & Stelle on Belle (www.railwaybraking.com/belle)

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 13]

Courtesy of British Waterways