ที่ที่ผมได้ยินพระนามพระยะโฮวาเป็นครั้งแรก
ที่ที่ผมได้ยินพระนามพระยะโฮวาเป็นครั้งแรก
เล่าโดยปาโวล โควาร์
ในช่วงที่มีการทิ้งระเบิดอย่างหนัก เราเข้าไปในหลุมหลบภัยชั่วคราวได้อย่างหวุดหวิด. ขณะถูกระเบิดถล่มอย่างหนักจนที่หลบภัยของเราสั่นสะเทือน เพื่อนเชลยคนหนึ่งอธิษฐานเสียงดังว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา คุ้มครองพวกเราด้วย! เพื่อเห็นแก่พระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์ ขอโปรดคุ้มครองพวกเราด้วยเถิด!”
นั่นเป็นวันที่ 8 มกราคม 1945 และตอนนั้นผมเป็นเชลยศึกในเมืองลินซ์ ของออสเตรีย. พวกเราที่อยู่ในหลุมหลบภัยมีราว ๆ 250 คน และเราทุกคนรอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดครั้งนั้น. พอเราออกมาจากหลุมหลบภัย เราก็พบว่าทุกสิ่งที่อยู่รอบ ๆ นั้นพังพินาศยับเยิน. คำอธิษฐานอย่างสุดหัวใจที่ผมได้ยินนั้นยังตราตรึงอยู่ในใจผม แม้ว่าผมไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนอธิษฐาน. ก่อนจะเล่าว่าในที่สุดผมเรียนรู้จักพระยะโฮวาได้อย่างไร ขอให้ผมเล่าภูมิหลังของผมสักเล็กน้อย.
ผมเกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 1921 ในบ้านที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านไครย์เน ทางตะวันตกของสโลวาเกีย ซึ่งในเวลานั้นเป็นส่วนของเชโกสโลวะเกีย. พ่อแม่ของผมเป็นโปรเตสแตนต์ที่เคร่งศาสนาอย่างยิ่ง. พ่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลให้ทุกคนในครอบครัวฟังตอนเช้าวันอาทิตย์ ส่วนแม่กับพวกเราลูก ๆ สี่คนก็ฟังอย่างตั้งใจ. แต่ผมจำไม่ได้ว่าพ่อเคยเอ่ยถึงพระนามยะโฮวาหรือไม่. ชีวิตในภูมิภาคที่เราอยู่นั้นเป็นแบบเรียบง่าย ทว่า เราก็อิ่มใจพอใจกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรามี.
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นในปี 1939 ผู้คนพากันหวาดกลัว. หลายคนยังจำได้ดีถึงเรื่องความทุกข์ยากซึ่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ก่อขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน. ในปี 1942 ผมถูกเรียกตัวให้ไปเป็นทหารในกองทัพของสโลวาเกีย. แม้ว่าสโลวาเกียจะเป็นฝ่ายเยอรมนีอย่างเป็นทางการ แต่ในเดือนสิงหาคม 1944 ก็มีความพยายามที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นใหม่. เมื่อไม่สำเร็จ ผมซึ่งอยู่ท่ามกลางทหารสโลวาเกียหลายพันคนที่ถูกจับเป็นเชลย ก็ถูกส่งไปยังเขตที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของฝ่ายเยอรมัน. ในที่สุดผมถูกส่งไปที่กูเซน ในคุกแห่งหนึ่งที่อยู่ติดกับเมาเทาเซน ค่ายกักกันที่น่าอัปยศใกล้กับเมืองลินซ์.
เชลยศึก
เราถูกสั่งให้ไปทำงานที่โรงงานสร้างเครื่องบินไม่ไกลจากหมู่บ้านซังต์ เกออร์เกน อัน เดอร์ กูเซน. ที่นั่น ผมทำงานในโรงเลื่อย. เราแทบจะไม่มีอะไรกิน และในเดือนมกราคม 1945 อาหารปันส่วนที่พวกเราได้รับก็น้อยลงไปอีก เนื่องจากกองทหารฝ่ายนาซีกำลังแพ้ศึกทุกแนวรบ. อาหารอุ่น ๆ เพียงอย่างเดียวที่เราได้รับคือน้ำซุปเพียงน้อยนิด. ทุกเช้า คนงานจากค่ายใหญ่ในเมาเทาเซนก็มาถึง. เชลยที่อ่อนแอจนทำงานไม่ไหวมักถูกผู้คุมทุบตีจนตาย. หลังจากนั้น เพื่อนเชลยก็จะโยนศพเข้าไปในรถบรรทุก และนำศพเหล่านั้นไปยังเตาเผาศพ.
ทั้ง ๆ ที่ทุกข์ยาก เราก็มีความหวังว่าสงครามจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า. ในวันที่ 5 เดือนพฤษภาคม 1945 สี่เดือนหลังจากมีการทิ้งระเบิดอย่างหนักดังที่กล่าวในตอนต้น ผมตื่นขึ้นมาเพราะเสียงโกลาหลวุ่นวาย ผมจึงวิ่งออกไปที่สนาม. ผู้คุมไปกันหมดแล้ว, ปืนวางสุมอยู่เป็นกอง, และประตูก็เปิดโล่ง. เรามองเห็นอีกค่ายหนึ่งที่อยู่กลางทุ่งฝั่งโน้น. ผู้ถูกกักกันที่เป็นอิสระวิ่งกรูออกจากค่ายราวกับฝูงผึ้งที่บินออกจากรังที่กำลังถูกไฟเผา. พร้อมกับการปลดปล่อยนั้น การแก้แค้นอย่างโหดเหี้ยมก็ตามมา. การเข่นฆ่ากันอย่างทารุณที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นยังฝังใจผมอยู่.
พวกคาโป หรือผู้ถูกกักขังที่ร่วมมือกับพวกผู้คุมถูกพวกเชลยแก้แค้นโดยทุบตีจนตาย. บ่อยครั้ง พวกคาโป โหดเหี้ยมยิ่งกว่าพวกผู้คุมที่เป็นฝ่ายนาซีเสียด้วยซ้ำ. ผมเฝ้าดูขณะที่เชลยคนหนึ่งทุบตีคาโป คนหนึ่งตายคามือ แล้วก็ร้องตะโกนออกมาว่า “มันฆ่าพ่อฉัน. เรารอดตายมาด้วยกันที่นี่ แล้วก็เพิ่งสองวันมานี้เองที่มันฆ่าพ่อฉัน!” พอตกเย็น ทุ่งนั้นก็เต็มไปด้วยร่างที่ไร้ชีวิตของพวกคาโป รวมทั้งเชลยคนอื่น ๆ อีกหลายร้อยศพ. หลังจากนั้น ก่อนออกจากค่าย เราเดินสำรวจไปทั่วค่าย และได้ไปดูเครื่องประหารชีวิต โดยเฉพาะห้องแก๊ส และเตาเผาศพ.
เรียนรู้จักพระเจ้าองค์เที่ยงแท้
ผมอยู่ที่บ้านแล้วตอนสิ้นเดือนพฤษภาคม 1945. ในระหว่างนั้น ไม่เพียงแต่พ่อแม่ของผมได้เรียนรู้จักพระนามของพระเจ้า พระนามที่ผมเคยได้ยินในหลุมหลบภัย แต่ท่านทั้งสองยังได้มาเป็นพยานพระยะโฮวาด้วย. หลังจากผมกลับมาไม่นาน ผมก็ได้พบโอลกา หญิงสาวที่เลื่อมใสศรัทธาพระเจ้า และหนึ่งปีหลังจากนั้นเราก็แต่งงานกัน. ความกระตือรือร้นที่เธอมีต่อความจริงของคัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นผมให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาต่อไป. ระหว่างการประชุมใหญ่ครั้งท้าย ๆ ก่อนรัฐบาลคอมมิวนิสต์จะสั่งห้ามงานประกาศของพวกเราในปี 1949 ผมกับโอลกา และคนอื่น ๆ อีก 50 คนก็ได้รับบัพติสมาที่แม่น้ำวาห์ ในเมืองเปียสตานีย์. ต่อมา เรามีบุตรสาวสองคนคือโอลกาและวลาสตา.
ยาน เซบิน พยานฯ คนหนึ่งที่ได้ช่วยจัดตั้งงานประกาศขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นแขกที่มาเยี่ยมเราอยู่บ่อย ๆ และเป็นเพื่อนร่วมรับใช้ที่สนิทกับผมมาก. ทั้ง ๆ ที่การต่อต้านจากพวกคอมมิวนิสต์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เรายังประกาศกันต่อไป. เราจะระมัดระวังตัวเมื่อพูดคุยกับผู้คนเกี่ยวกับความจริงของคัมภีร์ไบเบิล และไม่ช้าเราก็มีนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหลายราย. เมื่อยานออกไปจากเขตของเรา ผมกับภรรยาก็ยังนำการศึกษากับคนเหล่านั้นต่อไป. ในเวลาต่อมา เรามักจะได้พบเพื่อนรักเหล่านั้นพร้อมกับลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเขา ณ การประชุมใหญ่ของเรา. นั่นช่างทำให้เราปลื้มใจจริง ๆ!
การรับใช้ที่พิเศษ
พอถึงปี 1953 พยานฯ หลายคนที่นำหน้าในงานประกาศก็ถูกจำคุก. ดังนั้น มีการขอให้ผมไปช่วยงานประกาศในเขตที่อยู่ไกลจากบ้านผมประมาณ 150 กิโลเมตร. ทุก ๆ
สองสัปดาห์ หลังจากทำงานอาชีพเสร็จตอนบ่ายวันเสาร์ ผมจะขึ้นรถไฟจากเมืองโนเว เมสโต นาด วาโฮม เพื่อไปเมืองมาร์ตินที่อยู่ทางภาคกลางตอนเหนือของสโลวาเกีย. ผมเข้าร่วมในการสอนคัมภีร์ไบเบิลในเมืองนั้นจนถึงตอนค่ำ ๆ และวันอาทิตย์ตลอดทั้งวัน. พอวันอาทิตย์เย็นผมก็ขึ้นรถไฟกลับไปที่โนเว เมสโต. ปกติผมมาถึงที่นี่ราว ๆ เที่ยงคืนแล้วก็พักอยู่กับสองสามีภรรยาสูงอายุที่มีน้ำใจรับรองแขก ซึ่งยินดีให้ผมนอนค้างจนถึงรุ่งเช้า. จากนั้น ผมก็ตรงไปที่ที่ทำงานแล้วค่อยกลับไปหาครอบครัวของผมที่อยู่ในหมู่บ้านไครย์เนในคืนวันจันทร์. ระหว่างสุดสัปดาห์ตอนที่ผมไม่อยู่บ้าน โอลกาจะเอาใจใส่ดูแลลูกสาวของเรา.จากนั้นในปี 1956 ผมได้รับเชิญให้เป็นผู้ดูแลหมวด งานที่เกี่ยวข้องกับการเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ในเขตของเรา เพื่อเสริมสร้างประชาคมเหล่านั้นให้มีสัมพันธภาพที่แนบแน่นกับพระยะโฮวา. เนื่องจากหลายคนที่เคยเป็นผู้ดูแลหมวดถูกจำคุก ผมจึงเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องแบกรับหน้าที่นี้. ผมและภรรยามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะช่วยเหลือครอบครัวของเรา.
ตามกฎหมายของคอมมิวนิสต์ ประชาชนทุกคนต้องมีงานอาชีพ. รัฐบาลถือว่าคนที่ไม่มีงานทำเป็นเหมือนกาฝาก และจับพวกเขาเข้าคุก. ดังนั้น ผมจึงทำงานอาชีพต่อไป. วันเสาร์วันอาทิตย์สองสัปดาห์ของแต่ละเดือน ผมใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เข้าร่วมในการนมัสการและกิจกรรมอื่น ๆ ของคริสเตียนร่วมกับครอบครัวของผม แต่วันเสาร์วันอาทิตย์อีกสองสัปดาห์ที่เหลือ ผมไปเยี่ยมประชาคมใกล้ ๆ หนึ่งในหกประชาคมที่อยู่ในหมวด.
การผลิตสรรพหนังสือภายใต้การสั่งห้าม
ผู้ดูแลหมวดมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลให้แก่ทุกประชาคมในหมวด. ตอนแรก มีการคัดลอกวารสารด้วยมือหรือพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดเป็นส่วนใหญ่. ต่อมา เราสามารถรับฟิล์มเนกาทิฟของวารสารหอสังเกตการณ์ และส่งฟิล์มเหล่านั้นไปยังประชาคมต่าง ๆ. แล้ววารสารเหล่านั้นก็จะถูกนำไปอัดลงบนกระดาษสำหรับอัดรูป. เนื่องจากการซื้อกระดาษอัดรูปจำนวนมาก ๆ อาจก่อความสงสัยขึ้นได้ คนเหล่านั้นที่ไปซื้อกระดาษจึงต้องมีความกล้าหาญและมีไหวพริบด้วย.
สเตฟาน ฮูชโก มีใจแรงกล้าที่จะทำงานนี้ แล้วเขาก็ทำได้ดีเยี่ยม. เพื่อเป็นตัวอย่าง: ครั้งหนึ่ง สเตฟานได้กลับไปที่ร้านถ่ายรูปในเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ไกลจากเมืองที่เขาอาศัยอยู่เพื่อซื้อกระดาษอัดรูป. แต่ขณะที่กำลังจะออกไปจากร้านเพราะไม่มีกระดาษนั้น เขาก็เห็นพนักงานขายของในร้านท่าทางเป็นมิตรซึ่งเคยสัญญากับเขาก่อนหน้านี้ว่าจะสั่งกระดาษให้. ขณะที่สเตฟานกำลังเดินเข้าไปหาเธอ เขาก็เห็นว่ามีตำรวจคนหนึ่งกำลังเดินเข้ามาในร้าน. ในขณะเดียวกันนั้นเอง พนักงานขายของคนนั้นก็มองเห็นสเตฟานและร้องเรียกด้วยความดีใจว่า “คุณคะ! คุณโชคดีจัง. เรามีกระดาษอัดรูปที่คุณต้องการแล้วนะคะ.”
สเตฟานคิดอย่างฉับไว แล้วก็ตอบว่า “ขอโทษครับคุณผู้หญิง แต่คุณต้องจำคนผิดแน่ ๆ เลย. ผมต้องการฟิล์มเนกาทิฟแค่ม้วนเดียวครับ.”
หลังจากกลับมาที่รถของเขา สเตฟานก็รู้สึกว่าเขาไม่สามารถกลับไปมือเปล่าโดยไม่มีกระดาษอัดรูปอันมีค่ามากนั้น เนื่องจากเขามาที่นี่ก็เพื่อจะซื้อกระดาษเหล่านั้น. ดังนั้น หลังจากที่ถอดเสื้อคลุมกับหมวกออก และได้พยายามแปลงโฉมใหม่แล้ว เขาก็กลับเข้าไปในร้านอีกและเดินตรงรี่ไปที่พนักงานขายของคนนั้น. เขาอธิบายว่า “ผมมาที่นี่เมื่อสัปดาห์ก่อน และคุณสัญญาว่าจะสั่งกระดาษอัดรูปให้ผม. คุณมีกระดาษนั้นหรือยังครับ?”
เธอตอบว่า “อ๋อใช่ มีค่ะ. แต่คุณรู้ไหมเมื่อไม่กี่นาทีมานี้เอง มีผู้ชายที่หน้าตาเหมือนคุณเข้ามาในร้านนี้. มันแทบไม่น่าเชื่อ เขาเหมือนคุณยังกับฝาแฝดแน่ะ!” สเตฟานรีบรับกระดาษอัดรูปจำนวนมากนั้นแล้วก็ออกไป ขอบคุณพระยะโฮวาที่พระองค์ช่วยให้มีกระดาษนั้น.
ระหว่างทศวรรษ 1980 เราเริ่มใช้เครื่องโรเนียวและแท่นพิมพ์ออฟเซ็ตขนาดเล็กเพื่อผลิตสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลในชั้นใต้ดินหรือที่อื่นซึ่งยากจะหาพบ. ต่อมา วารสารแต่ละฉบับที่เราพิมพ์ รวมทั้งหนังสือปกแข็ง
และหนังสือเล่มเล็กก็มีจำนวนใกล้เคียงหรือมากกว่าจำนวนของพยานฯ ด้วยซ้ำ.แขกที่ไม่ได้รับเชิญ
วันหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1960 มีคำสั่งให้ผมไปรายงานตัวต่อแผนกที่ดูแลเรื่องทหารของบริษัทที่ผมทำงานอยู่. ชายสามคนในชุดแต่งกายแบบพลเรือนได้ซักถามผม โดยถามว่า “คุณพบปะกับพวกพยานพระยะโฮวามานานแค่ไหน? และคุณพบใครบ้าง?” เมื่อผมไม่ได้บอกชื่อใคร เขาก็บอกผมว่าเขาจะติดต่อกับผมอีกในภายหลัง. นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเผชิญหน้ากับฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ซึ่งก็คือตำรวจลับ.
ไม่นานหลังจากนั้น ผมถูกนำตัวจากที่ทำงานไปยังสถานีตำรวจ. กระดาษเปล่าแผ่นหนึ่งถูกวางไว้ตรงหน้าผม พร้อมกับมีการขอให้ผมเขียนชื่อพยานฯ คนอื่นลงในกระดาษแผ่นนั้น. เมื่อชายคนนั้นกลับมาหลังจากเวลาผ่านไปได้สักชั่วโมงหนึ่ง กระดาษแผ่นนั้นยังว่างเปล่า และผมอธิบายว่าผมไม่สามารถให้ชื่อใครได้ทั้งนั้น. สัปดาห์ต่อมา เหตุการณ์แบบเดิมก็เกิดขึ้นอีก. แต่คราวนี้ผมถูกทุบตี และขณะที่ผมกลับออกมา ผมถูกเตะจนกลิ้งออกไปถึงทางเดิน.
หลังจากนั้น ผมก็ไม่ถูกรบกวนอีกเป็นเวลาหนึ่งปี. แล้วตำรวจก็ส่งชายคนหนึ่งมาพบผม. เขาเคยเป็นเพื่อนเชลยในค่ายกักกันนาซี. เขาบอกผมว่า “เราต้องเปลี่ยนวิธีจัดการกับพวกคุณ. เมื่อเราจับพยานฯ คนหนึ่งเข้าคุก ห้าคนจะออกมา.” สิ่งที่รัฐบาลต้องการจะทำก็คือควบคุมกิจการงานของเราให้ได้ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม ผมตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ให้ข้อมูลใด ๆ ที่อาจช่วยพวกเขาให้ทำเช่นนั้นได้.
เป็นเวลาหลายปี ผมเป็นคนหนึ่งท่ามกลางคนเหล่านั้นที่ต้องไปเผชิญหน้าเป็นระยะ ๆ กับพวกตำรวจลับ. บางครั้งพวกเขาก็ปฏิบัติต่อเราเหมือนกับเพื่อน แต่บางครั้งเขาก็ส่งใครคนหนึ่งในพวกเราเข้าคุก. น่ายินดีที่ผมไม่เคยถูกจำคุกเลย แต่การไปพบตำรวจแบบที่ไม่พึงปรารถนานั้นก็ได้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 1989 ซึ่งเป็นปีที่ระบอบคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวะเกียล่มสลาย.
ไม่กี่สัปดาห์หลังจากการล่มสลาย สมาชิกฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่มีตำแหน่งสูงคนหนึ่งจากเมืองบราติสลาวาได้มาเยี่ยมผม. เขากล่าวขอโทษว่า “ถ้าทั้งหมดขึ้นอยู่กับผมละก็ พวกเราคงไม่มายุ่งอะไรกับคุณหรอก.” แล้วเขาก็หอบถุงผลไม้กระป๋องสองถุงออกมาจากรถให้ผมเป็นของกำนัล.
พระยะโฮวาเป็นป้อมเข้มแข็ง
แม้ว่าช่วง 40 ปีแรกของผมในการเป็นพยานพระยะโฮวาจะอยู่ในช่วงที่มีการสั่งห้าม แต่ผมก็มีชีวิตที่มีความสุขและน่าพอใจ. สิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ประสบระหว่างช่วงหลายปีนั้นทำให้เราใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมความเชื่อที่สัตย์ซื่อมากยิ่งกว่าแต่ก่อน. เราถือว่ามิตรภาพของเราเป็นสิ่งที่ล้ำค่าและอาศัยความไว้วางใจที่เรามีต่อกัน.
ในเดือนมีนาคม 2003 ผมต้องประสบกับความโศกเศร้าเนื่องจากการสูญเสียโอลกา ภรรยาสุดที่รักของผม. เธอเป็นเพื่อนที่ภักดีตลอดชีวิตสมรสของเรา. เราง่วนอยู่กับงานรับใช้ของคริสเตียนตลอดช่วงเวลาเหล่านั้น. ตอนนี้ ผมยังคงเป็นผู้ปกครองคริสเตียนในประชาคมของเรา และคอยมองหาคนที่สนใจอยากศึกษาที่ผมจะแบ่งปันความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่เขาได้. พระนามยะโฮวา ที่ผมได้ยินเป็นครั้งแรกในที่หลบภัยระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยังคงเป็นป้อมเข้มแข็งสำหรับผม. *—สุภาษิต 18:10.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 33 ขณะที่กำลังเตรียมบทความนี้ บราเดอร์ปาโวล โควาร์ ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2007 ด้วยอายุ 85 ปี.
[ภาพหน้า 12]
ในปี 1942 ตอนที่ผมอยู่ในกองทัพสโลวาเกีย
[ภาพหน้า 12]
หลังจากนั้น ผมถูกขังในคุกที่อยู่ติดกับค่ายกักกันเมาเทาเซน (ในภาพด้านหลัง)
[ที่มาของภาพ]
© ČTK
[ภาพหน้า 12]
พ่ออ่านคัมภีร์ไบเบิล ให้พวกเราฟังตอนเช้าวันอาทิตย์
[ภาพหน้า 13]
วันแต่งงานของเราในปี 1946
[ภาพหน้า 15]
กับโอลกา ไม่นานก่อนเธอเสียชีวิต