เหตุใดเราจึงกลัวความตาย?
เหตุใดเราจึงกลัวความตาย?
“ความตายคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุด เพราะมันคือจุดจบ.”—อาริสโตเติล.
คนรอบข้างถือว่าเธอเป็นคนเคร่งศาสนาและมีศรัทธาแรงกล้า. บางคนถึงกับเรียกเธอว่า “เสาหลักของคริสตจักร.” เธอถูกสอนมาว่าความตายไม่ได้เป็นจุดจบจริง ๆ แต่เป็นการผ่านไปสู่การดำรงอยู่ต่อไปหลังจากตาย. กระนั้น เมื่อดูเหมือนว่าถึงคราวที่ตัวเธอเองใกล้จะตาย ความกลัวโถมทับเธอ. เนื่องจากความสงสัยทำให้เธอเป็นทุกข์ หญิงคนนี้จึงถามอาจารย์สอนศาสนาของเธอว่า “[ความเชื่อที่ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนเราตาย] มีมากมายหลายอย่างเหลือเกิน จะรู้ได้อย่างไรว่าอย่างไหนถูก?”
แทบทุกศาสนาและทุกสังคมยอมรับแนวคิดที่ว่าคนเรายังคงดำรงอยู่ต่อไปหรือจะกลับมาดำรงอยู่อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ตายไปแล้ว. ในบรรดาความเชื่อมากมายหลายอย่างนี้ ความเชื่อไหนเป็นความจริง? หลายคนสงสัยว่าเมื่อตายไปแล้วอาจไม่มีอะไรดำรงอยู่ต่อไปเลยด้วยซ้ำ. แล้วคุณล่ะ? คุณถูกสอนมาไหมว่าชีวิตของคนเรายังคงมีอยู่ต่อไปหลังจากตาย? คุณเองเชื่อเรื่องนี้ไหม? คุณกลัวความตายไหม?
กลัวการดับสูญไปอย่างสิ้นเชิง
ไม่กี่สิบปีมานี้มีหนังสือมากมายและรายงานทางวิทยาศาสตร์หลายฉบับกล่าวถึงเรื่องการกลัวความตาย. ถึงกระนั้น คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่อยากคิดเรื่องความตาย. อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่าเราอาจตายไม่วันใดก็วันหนึ่งทำให้เราจำต้องคิดถึงเรื่องนี้ไม่ช้าก็เร็ว. ชีวิตมนุษย์นั้นแสนเปราะบาง—มีคนตายเฉลี่ยแล้วมากกว่า 160,000 คนทุกวัน! ความตายเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน และนี่เป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับหลายคน.
ผู้เชี่ยวชาญได้แยกการกลัวความตายไว้หลายประเภท ซึ่งรวมถึงการกลัวความเจ็บปวด, กลัวสิ่งที่ไม่รู้จัก, กลัวว่าคนที่ตนรักจะตาย, และกลัวผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ถ้าตัวเขาเองตายจากไป.
ความกลัวที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือการกลัวว่าตัวเขาจะดับสูญ. ไม่ว่าจะมีความเชื่อเช่นไรทางศาสนา แนวคิดที่ว่าความตายเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตอย่างสิ้นเชิงทำให้หลายคนกลัว. และวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งเพิ่มความกลัวมากขึ้น. เพราะที่จริง ในปัจจุบันการทำงานส่วนใหญ่ของร่างกายมนุษย์สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์. แน่นอนว่าไม่มีนักชีววิทยา, นักฟิสิกส์, หรือนักเคมีคนใดเคยพบหลักฐานว่ามีบางสิ่งที่มองไม่เห็นอยู่ในตัวเราซึ่งสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้หลังจากร่างกายตาย. ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงอธิบายความตายของมนุษย์ว่าเป็นเพียงกระบวนการทางชีวภาพอย่างหนึ่ง.
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าหลายคนซึ่งดูจากภายนอกเป็นคนที่มีศรัทธาแรงกล้าในเรื่องการดำรงอยู่หลังจาก
ตาย แต่ลึก ๆ ข้างในแล้วอาจรู้สึกหวาดกลัวว่าเมื่อตายแล้วจะดับสูญตลอดไป. น่าสนใจ ข้อเขียนของกษัตริย์ซะโลโมแห่งยุคโบราณได้กล่าวว่าความตายของมนุษย์เป็นจุดสิ้นสุดอย่างที่บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องน่ากลัว.“ผงคลีดิน”—จุดจบสุดท้ายหรือ?
ในพระธรรมท่านผู้ประกาศซึ่งมีอายุราว ๆ 3,000 ปี ซะโลโมเขียนว่า “คนเป็นย่อมรู้ว่าเขาเองคงจะตาย, แต่คนตายแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย, หรือเขาหาได้รับรางวัลอีกไม่เลย; ด้วยว่าใคร ๆ ก็พากันลืมเขาเสียหมดแล้ว. ถึงความรักของเขาก็ทำนองเดียวกันกับความชังและความอิจฉาของเขาได้สาบสูญไปตามกันนานแล้ว.” ท่านกล่าวต่อไปว่า “เมื่อมือไม้ของเจ้าจับการอันใดทำ, จงกระทำการอันนั้นด้วยกำลังวังชาของเจ้าเถิด; เพราะว่าไม่มีการงาน, หรือโครงการ, หรือความรู้หรือสติปัญญาในเมืองผี [“หลุมศพ,” ล.ม.] ที่เจ้าจะไปนั้น.”—ท่านผู้ประกาศ 9:5, 6, 10.
ซะโลโมได้รับการดลใจให้กล่าวว่า “เมื่อมีอะไรตกแก่บุตรมนุษย์ทั้งหลายก็ตกแก่สัตว์เดียรัจฉานด้วย; แม้มีเหตุอะไรสักอย่างหนึ่งตกแก่สัตว์เดียรัจฉานเช่นความตายตกแก่มนุษย์, ความตายก็ตกแก่สัตว์ . . . มนุษย์ไม่มีอะไรดียิ่งไปกว่าสัตว์เดียรัจฉาน . . . ทั้งสองฝ่ายนั้นลงไปยังที่เดียวกัน; ทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นมาจากผงคลีดิน, และทั้งสองฝ่ายก็กลับเป็นผงคลีดินอีก.”—ท่านผู้ประกาศ 3:19, 20.
แม้ว่ากษัตริย์ซะโลโมเป็นผู้เขียน แต่ข้อความข้างต้นได้รับการดลใจจากพระเจ้าและเป็นส่วนของคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์. ข้อคัมภีร์เหล่านี้รวมทั้งอีกหลาย ๆ ข้อในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้สนับสนุนความเชื่อของหลายคนที่ว่ามีอะไรบางสิ่งอยู่ภายในตัวเรา ซึ่งดำรงอยู่ต่อไปในอีกรูปแบบหนึ่งหลังจากเราตายไปแล้ว. (เยเนซิศ 2:7; 3:19; ยะเอศเคล 18:4) ถ้าอย่างนั้น พระเจ้ากำลังบอกเราไหมว่า จุดจบสุดท้ายของมนุษย์ทุกคนคือ “ผงคลีดิน” หรือการสูญสลายโดยสิ้นเชิง? ไม่ใช่อย่างนั้นเลย!
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้สอนว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งในตัวเราที่ดำรงอยู่ต่อไปหลังจากตาย. กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลให้ความหวังที่ชัดเจนอย่างยิ่งสำหรับคนที่เสียชีวิต. บทความถัดไปจะเผยให้เห็นว่าเพราะเหตุใดคุณไม่ต้องกลัวว่าความตายคือจุดสิ้นสุดของชีวิตมนุษย์โดยสิ้นเชิง.
[กรองหน้า 3]
ศัตรูที่เราไม่อาจหนีพ้น
ความตายถูกเรียกว่าศัตรูของมนุษย์. มันเป็นศัตรูที่มีอยู่จริง และหลักฐานก็เห็นได้รอบตัวเรา. มีผู้กะประมาณไว้ว่า ทุกปีมีคนเสียชีวิตราว ๆ 59 ล้านคน หรือเฉลี่ยแล้ววินาทีละ 2 คน. ผู้คนตายอย่างไร?
▪ มีหนึ่งคนตายเนื่องจากสงครามทุก ๆ 102 วินาที.
▪ มีคนถูกฆ่าตายหนึ่งคนทุก ๆ 61 วินาที.
▪ มีคนฆ่าตัวตายหนึ่งคนทุก ๆ 39 วินาที.
▪ มีคนตายในอุบัติเหตุบนท้องถนนหนึ่งคนทุก ๆ 26 วินาที.
▪ มีคนตายเพราะความอดอยากหนึ่งคนทุก ๆ สามวินาที.
▪ มีเด็กอายุน้อยกว่าห้าขวบตายหนึ่งคนทุก ๆ สามวินาที.
[กรอบหน้า 4]
การแสวงหาที่ไร้ผล
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1949 เจมส์ คิดด์ นักทำเหมืองทองแดงวัย 70 ปีได้หายสาบสูญไปในเขตภูเขาของแอริโซนา สหรัฐอเมริกา. หลายปีต่อมา หลังจากที่ศาลประกาศว่าเขาเสียชีวิตแล้วตามกฎหมาย มีการค้นพบพินัยกรรมของเขาที่เขียนด้วยดินสอ พร้อมทั้งเอกสารการลงทุนของเขาที่มีมูลค่าหลายแสนดอลลาร์. ในพินัยกรรมของเขา คิดด์กำหนดให้ใช้เงินของเขาสำหรับการวิจัยเพื่อจะหา “ข้อพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์บางอย่างที่แสดงว่ามนุษย์มีวิญญาณที่ออกจากร่างเมื่อตายไป.”
หลังจากนั้นไม่นาน มีผู้ที่อ้างว่าเป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์กว่า 100 คนได้ยื่นขอทุนดังกล่าว. มีการไต่สวนในศาลหลายเดือนและมีการกล่าวอ้างหลายพันกรณีที่ว่าวิญญาณที่มองไม่เห็นมีอยู่จริง. ในที่สุด ผู้พิพากษาได้มอบทุนนั้นให้แก่องค์กรวิจัยที่มีชื่อเสียงดีสององค์กร. แต่หลังจากผ่านไปมากกว่าห้าสิบปี นักวิจัยเหล่านั้นก็ยังไม่พบ “ข้อพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์บางอย่างที่แสดงว่ามนุษย์มีวิญญาณที่ออกจากร่างเมื่อตายไป.”