ใช้อำนาจของคุณ
ขั้นที่ 3
ใช้อำนาจของคุณ
ทำไมขั้นตอนนี้จึงสำคัญ? วารสารพ่อแม่ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยแสดงว่า “เด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่มีความรักแต่ก็ใช้อำนาจ คือเป็นพ่อแม่ที่ดูแลเอาใจใส่ลูกแต่ก็รักษาขอบเขตได้อย่างชัดเจน จะเป็นเด็กที่เรียนได้ดี, พัฒนาทักษะทางสังคมได้ดีกว่า, มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับตัวเอง, และโดยรวมแล้วเป็นเด็กที่มีความสุขมากกว่าเด็กที่มีพ่อแม่ที่ตามใจหรือเข้มงวดมากเกินไป.”
ปัญหา: ตั้งแต่เป็นทารกจนเติบโตเป็นวัยรุ่น เด็กจะท้าทายสิทธิของคุณที่จะใช้อำนาจเหนือพวกเขา. จอห์น โรสมอนด์ ผู้เขียนหนังสืออำนาจของพ่อแม่! เขียนไว้ว่า “เด็ก ๆ เรียนรู้ได้เร็วว่าเมื่อไรที่พ่อแม่ไม่กล้าใช้อำนาจและมีทีท่าว่าจะยอมผ่อนปรน. สำหรับประเด็นที่ว่า ‘ใครเป็นใหญ่?’ ถ้าพ่อแม่ไม่ใช้อำนาจ เด็กก็จะยึดอำนาจเสียเอง.”
ทางแก้: อย่ากังวลว่าการใช้อำนาจจะทำให้ลูกขุ่นเคืองหรือทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ. พระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ริเริ่มชีวิตครอบครัวไม่ประสงค์จะให้เด็กมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมผู้ใหญ่ในการตัดสินใจเรื่องในครอบครัว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงตั้งพ่อแม่ให้อยู่ในตำแหน่งที่จะใช้อำนาจและทรงบัญชาแก่เด็ก ๆ ว่า “จงนบนอบเชื่อฟังบิดามารดาของตัว.”—เอเฟโซ 3:14, 15; 6:1-4.
คุณสามารถใช้อำนาจของคุณโดยไม่กลายเป็นจอมเผด็จการได้. จะทำอย่างไร? ก็โดยทำตามตัวอย่างของพระยะโฮวา. พระองค์มีอำนาจที่จะบังคับบุตรของพระองค์ที่เป็นมนุษย์ให้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์ แต่พระองค์ก็ยังอ้อนวอนเราโดยคำนึงถึงคุณลักษณะที่ดีในตัวเรา. พระคำของพระองค์กล่าวว่า “โอ้ถ้าเจ้าได้เชื่อฟังคำสั่งของเราแล้ว, ความเจริญของเจ้าก็จะเป็นดังแม่น้ำไหล, และความชอบธรรมของเจ้าก็จะมีบริบูรณ์ดังคลื่นในมหาสมุทร.” (ยะซายา 48:18) พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราเชื่อฟังพระองค์เพราะเรารักพระองค์ ไม่ใช่เพราะเรากลัวพระองค์. (1 โยฮัน 5:3) พระองค์มีเหตุผลเสมอเมื่อทรงเรียกร้องสิ่งใดจากเรา และทรงทราบว่าเราจะได้รับประโยชน์ถ้าเราดำเนินชีวิตตามมาตรฐานศีลธรรมที่พระองค์ตั้งไว้.—บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11.
คุณจะมีความมั่นใจในการใช้อำนาจของคุณฐานะบิดามารดาในวิธีที่สมดุลได้อย่างไร? ประการแรก คุณต้องเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้คุณทำเช่นนั้น. ประการที่สอง คุณต้องเชื่อมั่นว่าการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานศีลธรรมของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณและลูกของคุณ.—โรม 12:2.
คุณต้องทำอะไรเป็นพิเศษเพื่อจะใช้อำนาจของคุณ?
[คำโปรยหน้า 5]
“จงฝึกสอนบุตรของเจ้าและ . . . เขาจะให้ความปีติยินดีแก่ใจของเจ้า.”—สุภาษิต 29:17, ฉบับแปลใหม่