คนซักผ้าที่ขยันขันแข็งแห่งอาบิดจัน
คนซักผ้าที่ขยันขันแข็งแห่งอาบิดจัน
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในโกตดิวัวร์
เรากำลังเดินทางออกจากเมืองอาบิดจันประเทศโกตดิวัวร์ไปทางตะวันตก และเพลิดเพลินกับสิ่งที่เห็นและได้ยินในเมืองที่จอแจแห่งแอฟริกาตะวันตกนี้ แล้วก็มีภาพที่น่าประทับใจภาพหนึ่งจับความสนใจของเรา. ในทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง มีเสื้อผ้าสีสันสดใสนับพันนับหมื่นชิ้นตากอยู่เรียงราย. ทำไมจึงมีผ้าสีสันสดใสมาตากอยู่เช่นนี้? เพื่อนชาวโกตดิวัวร์ของเรายินดีอธิบายให้เราเข้าใจ. นี่คือผลงานของเหล่าฟานีโก.
ฟานีโก คือคนซักผ้าที่ขยันขันแข็งกลุ่มหนึ่ง. ตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งตะวันยอแสง ผู้ชายหลายร้อยคนซึ่งรวมทั้งผู้หญิงบางคนที่แข็งแรง ได้หาเลี้ยง
ชีพโดยรับจ้างซักผ้าด้วยมือในแม่น้ำบังโก. ชื่อของพวกเขาเป็นการผสมคำภาษาดิยูลา หรือภาษาจูลา สองคำ คือฟานี ซึ่งแปลว่า “ผ้า” และโก ซึ่งแปลว่า “ซัก.” ดังนั้น คำภาษาดิยูลา ที่ว่า ฟานีโก จึงหมายถึง “คนซักผ้า.”งานของคนซักผ้า
เช้าตรู่วันหนึ่ง เราไปเยี่ยมเหล่าฟานีโก ถึงที่ทำงานเพื่อจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับวิธีหาเลี้ยงชีพที่น่าสนใจของพวกเขา. ช่างมีงานมากมายจริง ๆ! ตอนนั้นพวกเขาเริ่มงานไปสักพักหนึ่งแล้ว. น้ำที่ค่อนข้างขุ่นของแม่น้ำบังโกมียางรถยนต์ขนาดใหญ่วางอยู่เต็มไปหมด และมีก้อนหินวางอยู่ในยางนั้น. ที่ยางแต่ละเส้น จะมีคนซักผ้ายืนอยู่หนึ่งคนในน้ำที่ลึกถึงเอว และกำลังวุ่นอยู่กับการตีฟอง, การตีผ้า, และการแปรงผ้า.
ช่วงหนึ่งก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น เหล่าฟานีโก จะไปตามบ้านเพื่อเก็บผ้าที่เขาจะต้องซักในวันนั้น. ลูกค้าบางรายอาศัยอยู่ไกลถึง 3 กิโลเมตรจาก “ที่ซักผ้า.” เขาจะเข็นผ้าทั้งหมดมาด้วยรถเข็นไม้หรือไม่ก็แบกมาบนหัวเป็นมัดใหญ่ ๆ. แล้วฟานีโก ก็จะไปที่แม่น้ำบังโก. เมื่อมาถึง เขาจะได้รับคำทักทายจากหลายภาษา เนื่องจากฟานีโก ที่ทำงานที่นี่มาจากหลายดินแดนในแอฟริกา. บางคนมาอยู่ในเขตนี้หลายสิบปีแล้ว เช่น คุณบรามา คนซักผ้ารูปร่างกำยำในวัย 60 กว่าปี. งานซักผ้าที่นี่ดำเนินอยู่ทุกวันตลอดปี โดยหยุดเพียงสามวันเท่านั้น.
การซักผ้าจริง ๆ นั้นเป็นงานที่หนักมาก. เราเฝ้าดูขณะชายคนหนึ่งเอามัดผ้าของเขาวางลง ซึ่งมีขนาดใหญ่มากจนถ้าแม่บ้านทั่ว ๆ ไปเห็นก็คงรู้สึกอ่อนอกอ่อนใจ. เขาแก้มัดผ้าแล้วเริ่มแช่ผ้าในน้ำทีละชิ้น. จากนั้นเขาเอาสบู่ก้อนใหญ่มาตีให้เป็นฟองและตีผ้ากับก้อนหินทีละชิ้น. บางครั้งเขาใช้แปรงเพื่อขจัดคราบที่ฝังแน่น. การจ้างซักผ้าต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร? เสื้อเชิ้ตหนึ่งตัวจะคิดเจ็ดเซนต์ (ราว ๆ 2.50 บาท) และถ้าเป็นผ้าปูที่นอนก็ผืนละ 14 เซนต์ (ราว ๆ 5 บาท). นี่คือสาเหตุที่ฟานีโก ต้องซักผ้ามากถึงขนาดนั้นเพื่อจะเลี้ยงชีพได้.
เมื่อคุณเห็นผ้ามัดใหญ่ที่พวกเขาซัก คุณอาจสงสัยว่า ‘พวกเขาจะมีทางจำได้อย่างไรว่าผ้าชิ้นไหนเป็นของใคร?’ เราอยากรู้ว่าพวกเขาใช้ระบบคล้าย ๆ กับคนซักผ้าในอินเดียซึ่งใช้เครื่องหมายที่เป็นรหัสลับหรือเปล่า. ระบบที่พวกฟานีโก ใช้ต่างจากคนซักผ้าในอินเดียมาก แต่ก็มีประสิทธิภาพพอ ๆ กัน.
มัคคุเทศก์ผู้รอบรู้ของเราพยายามอธิบายวิธีการที่พวกฟานีโก ใช้ให้เราฟัง. ก่อนอื่น เมื่อคนซักผ้าไปรับผ้า เขาจะสังเกตว่าสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวนั้นมีรูปร่างเล็กใหญ่ขนาดไหน เพื่อเขาจะจำได้ว่าผ้าชิ้นไหนเป็นของใคร. ไม่มีการเขียนหรือติดเครื่องหมายใด ๆ. จากนั้นเขาจะเอาผ้าแต่ละชิ้นที่มาจากครอบครัวเดียวกันมามัดที่ส่วนเดียวกันของผ้าให้เป็นปม ตัวอย่างเช่น ผ้าของครอบครัวหนึ่งจะมัดที่แขนเสื้อด้านซ้าย, ส่วนครอบครัวอื่น ๆ ที่แขนเสื้อด้านขวา, ที่คอเสื้อ, หรือที่ส่วนเอว. เมื่อเขาซักผ้าเหล่านั้น เขาจะระมัดระวังให้ผ้าจากครอบครัวเดียวกันอยู่ด้วยกัน. แต่สำหรับเราแล้ว มันก็ยังคงเป็นการจดจำที่ยากมาก. เราจึงถามฟานีโก คนหนึ่งว่าเขาเคยทำผ้าหายหรือปนกันบ้างหรือไม่. เขามองเราด้วยความตกตะลึง ซึ่งสื่อความหมายให้เราเข้าใจว่า ‘ไม่เคย. ฟานีโก ไม่เคยทำผ้าหายหรอก!’
ใคร ๆ จะมาที่แม่น้ำบังโกและเริ่มซักผ้าได้ไหม? ไม่ได้แน่ ๆ! เรื่องนี้มีกฎระเบียบที่เคร่งครัด. คนที่อยากจะเป็นฟานีโก จะมีช่วงเวลาทดลองงานสามเดือน ซึ่งในระหว่างนั้นเขาจะได้รับการฝึกอบรมโดยผู้ชำนาญงาน. ช่วงนี้เองเขาเรียนรู้วิธีการฝึกความจำที่พิเศษเฉพาะ. ถ้าเขาเรียนรู้เรื่อง
นี้ไม่ได้ เขาจะต้องไปหางานทำที่อื่น. อย่างไรก็ตาม ถ้าฟานีโก คนใหม่มีความสามารถมากพอ เขาจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อย และจะได้รับมอบที่ซักผ้าซึ่งเป็นยางรถยนต์และก้อนหินของเขาเอง ซึ่งคนอื่นจะมาใช้ไม่ได้.สบู่น้ำมันปาล์ม
สบู่เป็นส่วนสำคัญในงานของคนซักผ้า. คนฝึกงานก็ต้องได้รับการฝึกอบรมวิธีใช้สบู่น้ำมันปาล์มอย่างถูกวิธีด้วย. มีการใช้สบู่สามประเภท ซึ่งแยกได้ด้วยสี. สบู่สีขาวและสีเหลืองใช้สำหรับผ้าที่สกปรกเล็กน้อย ส่วนสบู่สีดำใช้สำหรับผ้าที่สกปรกมาก. สีของสบู่นี้เป็นสีเข้มเนื่องจากมีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมหลัก. เนื่องจากฟานีโก แต่ละคนใช้สบู่อย่างน้อยสิบก้อนทุกวัน คนทำสบู่ที่อยู่ใกล้เคียงจะคอยจัดส่งสบู่ให้พวกเขาอย่างสม่ำเสมอ.
เราไปเยี่ยมชมโรงงานทำสบู่เล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่เชิงเขาใกล้ ๆ กับ “ที่ซักผ้า.” กิจกรรมการทำสบู่ที่จริงจังเริ่มตั้งแต่หกโมงเช้า. คนงานซื้อวัตถุดิบมาจากตลาดในท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันปาล์มที่แข็งตัวเป็นไข, โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์, เกลือ, น้ำจากต้นทุเรียนเทศ, น้ำมันมะพร้าว, และน้ำมันโกโก้ ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ. พวกเขาต้มส่วนผสมเหล่านี้เข้าด้วยกันในถังเหล็กใบใหญ่โดยใช้ฟืน. หลังจากต้มสบู่ประมาณหกชั่วโมง พวกเขาก็เทส่วนผสมลงในพิมพ์ที่เป็นถาดและชาม แล้วรอให้แข็งตัว. พอหลายชั่วโมงผ่านไป พวกเขาก็ตัดสบู่ให้เป็นก้อนใหญ่ ๆ.
จากนั้นคนทำสบู่จะเอาก้อนสบู่ใส่กะละมังจนเต็มและเอาเทินหัว เดินลงไปตามเชิงเขาเพื่อไปหาพวกฟานีโก. คนทำสบู่จะเอาสบู่ไปส่งให้คนซักผ้าได้อย่างไรในเมื่อคนเหล่านั้นกำลังยุ่งอยู่กับการซักผ้าในแม่น้ำ? เขาก็เพียงแต่เดินลงไปในน้ำที่ลึกถึงเอวโดยมีสบู่อยู่ในกะละมังพลาสติก และให้กะละมังนั้นลอยอยู่ในน้ำ แล้วเอาสบู่ไปส่งให้ใครก็ตามที่ต้องการ.
วันทำงานสิ้นสุดลง
เมื่อฟานีโก ซักผ้าเสร็จ เขาจะไปที่เนินเขาที่อยู่ไม่ไกลนัก และตากผ้าที่ซักเสร็จแล้วเป็นแถวบนหญ้าหรือแขวนไว้บนราวที่ทำขึ้นเอง. แล้วบริเวณนั้นก็จะมีทิวทัศน์ที่มีสีสันละลานตาซึ่งเป็นภาพที่ทำให้เราสนใจในตอนแรกนั่นเอง. ตอนนี้เป็นช่วงที่คนซักผ้าผู้ขยันขันแข็งจะหยุดพักสักเล็กน้อยจากการงานในวันนั้น. ตอนบ่ายแก่ ๆ เมื่อผ้าแห้งหมดแล้ว เขาจะบรรจงพับผ้าทีละชิ้น อาจจะรีดผ้าบางชิ้นด้วยเตารีดถ่าน. เมื่อถึงตอนเย็น เขาจะห่อผ้าที่ซักสะอาดและรีดเรียบร้อยแล้ว และนำไปส่งถึงเจ้าของ.
ตอนแรกที่เราเห็นผ้าที่ตากเรียงรายเป็นทิวแถวนั้น เราไม่รู้เลยว่ามีการทำงานมากมายเพียงไรอยู่เบื้องหลัง. ดังนั้น เราจึงดีใจมากที่ได้ไปเยือนเหล่าฟานีโก แห่งอาบิดจัน เพราะตอนนี้เราเข้าใจและหยั่งรู้ค่ามากขึ้นสำหรับงานของคนซักผ้าทุกคนตลอดทั่วโลก.
[รูปภาพหน้า 10]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
โกตดิวัวร์
[ภาพหน้า 12]
คนทำสบู่กำลังขายสบู่
[ที่มาของภาพหน้า 10]
PhotriMicroStock™/C. Cecil