คุณสามารถเรียนภาษาอื่นได้!
คุณสามารถเรียนภาษาอื่นได้!
“ผมจะไม่ยอมแลกประสบการณ์นี้กับอะไรทั้งนั้น” ไมค์กล่าว. เฟลปส์เสริมว่า “นี่เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของผม.” ทั้งสองคนกำลังพูดถึงการที่พวกเขาตัดสินใจเรียนภาษาใหม่ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย.
ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังเรียนภาษาใหม่โดยมีเหตุผลหลายประการ บางคนมีเหตุผลส่วนตัว, บ้างก็มีเหตุผลด้านการเงิน, บ้างก็เกี่ยวกับศาสนา. ตื่นเถิด! ได้สัมภาษณ์หลายคนที่กำลังเรียนภาษาต่างประเทศ. มีการถามคำถามต่าง ๆ อย่างเช่น การเรียนภาษาใหม่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง และอะไรช่วยให้คนเราเรียนภาษาใหม่ได้? เรื่องต่อไปนี้อาศัยข้อมูลจากคำตอบของพวกเขา. คุณอาจพบจุดต่าง ๆ ที่ทั้งให้กำลังใจและช่วยให้เข้าใจอะไรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเรียนภาษาใหม่หรือกำลังคิดจะเรียนภาษาใหม่. ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงคุณลักษณะสำคัญบางอย่างที่ผู้ให้สัมภาษณ์รู้สึกว่าจำเป็นเพื่อจะเชี่ยวชาญในอีกภาษาหนึ่ง.
ความอดทน, ความถ่อมใจ, และความสามารถในการปรับตัว
ขณะที่เด็กเล็ก ๆ สามารถเรียนภาษาได้พร้อม ๆ กันทีละสองภาษาหรือมากกว่านั้นได้อย่างง่ายดายโดยที่บ่อยครั้งก็เพียงแค่ได้ยินเท่านั้น ผู้ใหญ่มักพบว่าการเรียนภาษา
ใหม่เป็นเรื่องยากกว่านั้นมาก. เหตุผลหนึ่งคือ พวกเขาต้องอดทนเพราะการเรียนภาษาใหม่อาจใช้เวลานาน. และเนื่องจากผู้ใหญ่มีตารางเวลาเต็มเหยียด ฉะนั้น เรื่องอื่น ๆ จึงมักถูกผัดเลื่อนออกไป.จอร์ชบอกว่า “ความถ่อมใจเป็นสิ่งสำคัญมาก. เมื่อคุณยังไม่คุ้นเคยกับภาษานั้น คุณก็ต้องเต็มใจจะพูดเหมือนเด็ก และบางทีก็ถูกปฏิบัติเหมือนเด็ก.” หนังสือวิธีเรียนภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ชี้แจงว่า “คุณต้องสลัดความรู้สึกที่ว่าตัวเองสำคัญและความกังวลเรื่องศักดิ์ศรีออกไปบ้างหากคุณต้องการก้าวหน้าจริง ๆ.” ดังนั้น อย่ารู้สึกอายถ้าจะทำอะไรผิดพลาด. เบน ให้ข้อสังเกตว่า “ถ้าคุณไม่เคยผิดพลาดเลย คุณก็ยังไม่ได้ใช้ภาษาใหม่มากพอ.”
อย่ากังวลถ้ามีคนหัวเราะเมื่อคุณพูดผิด แต่จงหัวเราะไปกับพวกเขา! ที่จริง คงมีสักวันที่คุณจะเล่าเรื่องที่คุณพูดผิดให้คนอื่นฟังอย่างสนุกสนาน. และอย่ากลัวที่จะถามคำถาม. การเข้าใจว่าทำไมบางเรื่องจึงมีวิธีพูดอย่างนั้นจะช่วยให้จำได้ดีขึ้น.
เนื่องจากการเรียนภาษาใหม่มักหมายถึงการเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ จึงนับว่าดีที่คุณจะปรับทัศนะและเปิดใจรับความคิดใหม่ ๆ. จูลีบอกว่า “การเรียนภาษาใหม่ช่วยดิฉันให้เข้าใจว่ามีมากกว่าหนึ่งวิธีที่จะมองหรือทำสิ่งต่าง ๆ. วิธีหนึ่งใช่ว่าจะดีกว่าวิธีอื่น ๆ เสมอไป มันก็แค่คนละวิธีเท่านั้น.” เจย์แนะนำว่า “พยายามเป็นเพื่อนกับคนที่พูดภาษาซึ่งคุณกำลังเรียนอยู่ และเพลิดเพลินกับการคบหากับพวกเขา.” แน่นอนว่า คริสเตียนจะดูให้แน่ใจว่าเพื่อนเหล่านั้นเป็นเพื่อนที่ดีและใช้คำพูดที่ดี. (1 โกรินโธ 15:33; เอเฟโซ 5:3, 4) เจย์เสริมว่า “เมื่อพวกเขาเห็นว่าคุณสนใจพวกเขา, อาหารของพวกเขา, ดนตรี และอื่น ๆ โดยปกติแล้วพวกเขาก็จะอยากพูดคุยกับคุณ.”
ยิ่งคุณใช้เวลาศึกษาหรือถึงกับใช้ภาษานั้นมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งก้าวหน้าเร็วขึ้นเท่านั้น. จอร์ชสังเกตว่า “เราได้ทักษะการใช้ภาษามาด้วยวิธีเดียวกับที่ลูกไก่กินอาหาร คือทีละเม็ดทีละเม็ด. อาหารคำเล็ก ๆ ดูเหมือนไม่มาก แต่มันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ.” บิล ซึ่งเรียนหลายภาษาเมื่อเป็นมิชชันนารีบอกว่า “ผมพกรายการคำศัพท์ติดตัวเสมอไม่ว่าผมจะไปที่ไหน และผมจะหยิบมันขึ้นมาดูทุกครั้งที่พอมีเวลาสักสองสามนาที.” หลายคนพบว่าการสละเวลาสั้น ๆ แต่ศึกษาอย่างสม่ำเสมอ ได้ผลดีกว่าการใช้เวลามากแต่ทำนาน ๆ ครั้ง.
มีเครื่องช่วยในการเรียนภาษามากมายที่จะหาได้ ซึ่งรวมทั้งหนังสือ, เทปหรือซีดี, บัตรช่วยจำ, และอื่น ๆ. แม้จะมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แล้วก็ตาม หลายคนก็ยังพบว่าพวกเขาเรียนได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ในบรรยากาศแบบชั้นเรียนที่เป็นกิจลักษณะ. จงใช้วิธีใดก็ได้ที่เหมาะกับคุณ. แต่ขอให้จำไว้ว่า ไม่มีทางที่คุณจะเรียนภาษาใหม่ได้โดยที่คุณเองไม่ต้องใช้ความพยายามและความเพียรอดทน. แต่ก็มีหลายวิธีที่ทำให้การเรียนเป็นเรื่องง่ายและสนุกขึ้น. วิธีหนึ่งคือคุณต้องหาโอกาสให้ตัวเองได้ใช้ภาษานั้นและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมนั้นมากขึ้น.
จอร์ชบอกว่า “หลังจากมีความรู้พอสมควรและรู้จักคำศัพท์พื้นฐานบ้างแล้ว ถ้าคุณไปอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษานั้นสักระยะหนึ่งก็จะดีมาก.” บาร์บก็เห็นด้วยว่า “การไปประเทศที่ใช้ภาษานั้นจะทำให้คุณมีโอกาสซึมซับลักษณะที่แท้จริงของภาษานั้น.” ที่สำคัญที่สุด การได้เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นจะช่วยคุณให้คิด ในแบบภาษาใหม่. แน่นอนว่า คนส่วนใหญ่คงไม่สามารถจะไปยังประเทศอื่นได้. แต่อาจจะมีโอกาสได้เรียนภาษาและวัฒนธรรมใหม่มากขึ้นในประเทศของตนเอง. ตัวอย่างเช่น อาจมีหนังสือหรือรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ที่ดีงามและยอมรับได้ในภาษาที่คุณกำลังเรียนอยู่. จงหาดูว่ามีใครบ้างในละแวกที่คุณอาศัยอยู่พูดภาษานั้นได้ดี แล้วก็พูดกับเขา. หนังสือวิธีเรียนภาษาต่างประเทศ กล่าวว่า “สุดท้ายแล้ว การฝึกฝนก็เป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดมาตรการเดียวที่จะทำให้คุณก้าวหน้า.” *
ย่ำอยู่กับที่
ขณะที่คุณเรียนภาษานั้นต่อ ๆ ไป อาจมีบางครั้งที่คุณรู้สึกเหมือนกับว่าคุณย่ำอยู่กับที่ คือไม่ก้าวไปไหนเลยนับตั้งแต่เริ่มเรียนมา. คุณจะทำอย่างไร? ประการแรก ขอให้ใคร่ครวญเหตุผลที่คุณคิดจะเรียนภาษานี้ในตอนแรก.
พยานพระยะโฮวาหลายคนเรียนภาษาใหม่เพื่อจะช่วยคนอื่น ๆ ให้เรียนคัมภีร์ไบเบิล. การใคร่ครวญเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่คุณมีในตอนแรกสามารถช่วยคุณให้มีความตั้งใจแน่วแน่มากยิ่งขึ้น.ประการที่สอง คุณควรคาดหมายอย่างสมเหตุสมผล. หนังสือวิธีเรียนภาษาต่างประเทศ กล่าวว่า “คุณอาจไม่มีวันพูดได้เหมือนกับเจ้าของภาษา. นั่นไม่ใช่เป้าหมายของคุณ. คุณเพียงแต่ต้องการให้คนอื่นเข้าใจคุณได้.” ดังนั้น แทนที่จะคร่ำครวญว่าคุณพูดภาษานั้นได้ไม่คล่องเหมือนกับที่คุณพูดภาษาของคุณเอง ขอให้คุณมุ่งที่จะสื่อสารได้อย่างชัดเจนโดยใช้สิ่งที่คุณได้เรียนมาแล้ว.
ประการที่สาม มองหาหลักวัดเพื่อจะรู้ว่าคุณก้าวหน้ามากน้อยแค่ไหนแล้ว. การเรียนภาษาเป็นเหมือนการเฝ้ามองต้นหญ้าเติบโต คุณไม่ได้สังเกตเห็นการเจริญเติบโตของมัน แต่ต้นหญ้าค่อย ๆ สูงขึ้นทีละน้อย. ทำนองเดียวกัน ถ้าคุณมองย้อนกลับไปในตอนที่คุณเริ่มต้น แน่นอนว่า คุณจะมองเห็นว่าคุณได้ทำความก้าวหน้ามาบ้างแล้ว. อย่าตัดสินความก้าวหน้าของคุณโดยดูจากความก้าวหน้าของคนอื่น. หลักการที่ดีที่ควรทำตามพบได้ในคัมภีร์ไบเบิล ที่ฆะลาเตีย 6:4 (ล.ม.) ที่นั่นบอกว่า “ให้แต่ละคนพิสูจน์ดูว่างานของเขาเองเป็นอย่างไร และครั้นแล้วเขาจะมีเหตุที่จะปีติยินดีเกี่ยวกับตัวเขาเองเท่านั้น และไม่ใช่โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น.”
ประการที่สี่ มองดูขั้นตอนที่ทำอยู่ว่าเป็นการลงทุนในระยะยาว. ลองคิดอย่างนี้: ถ้าเด็กอายุสามหรือสี่ขวบเป็นผู้บรรยาย เขาจะมีความสามารถขนาดไหน? เขาจะใช้คำยาก ๆ และไวยากรณ์ที่ซับซ้อนไหม? ไม่อย่างแน่นอน! ถึงกระนั้นเขาก็สามารถสนทนาเรื่องทั่ว ๆ ไปได้. ที่จริง แม้แต่เด็กก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเรียนภาษาใหม่ได้สักภาษาหนึ่ง.
ประการที่ห้า ใช้ภาษาใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้. เบนบอกว่า “ผมรู้สึกเหมือนยังไม่ก้าวหน้าไปไหน เมื่อไม่ได้ใช้ภาษาใหม่เป็นประจำ.” ดังนั้น จงใช้ภาษาใหม่เสมอ. จงพูด, พูด, และพูด! เป็นธรรมดาที่คุณอาจรู้สึกข้องขัดใจเมื่อพยายามจะสื่อสารโดยใช้คำศัพท์เหมือนเด็กเล็ก ๆ. เมลาวีคร่ำครวญว่า “สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับฉันก็คือการที่ไม่สามารถจะพูดสิ่ง ที่ต้องการพูด ในเวลา ที่ต้องการพูด.” แต่ความข้องขัดใจเช่นนั้นสามารถกระตุ้นคุณให้พากเพียรต่อไป. ไมค์เล่าว่า “ผมไม่ชอบเลยที่ตัวเองยังไม่ถึงขั้นที่จะเข้าใจเรื่องเล่าหรือเรื่องตลกขบขันได้. ผมคิดว่าความรู้สึกเช่นนั้นกระตุ้นผมให้พยายามมากขึ้นเพื่อจะผ่านขั้นนั้นไปให้ได้.”
วิธีที่คนอื่นช่วยได้
คนที่พูดภาษานั้นอยู่แล้วจะช่วยคนที่กำลังเรียนได้อย่างไร? บิล ซึ่งได้กล่าวถึงในตอนต้น แนะนำว่า “จงพูดช้า ๆ แต่พูดให้ถูก อย่าพูดแบบเด็กเล็ก ๆ.” จูลีบอกว่า “จงอดทน และอย่าช่วยต่อประโยคให้คนที่กำลังหัดพูด.” โทนีเล่าว่า “คนที่พูดได้สองภาษามักจะพูดกับผมด้วยภาษาของผม. แต่ที่จริงแล้วการทำอย่างนั้นทำให้ผมก้าวหน้าได้ช้า.” ฉะนั้น บางครั้งคนที่กำลังเรียนภาษาใหม่บางคนจึงขอให้เพื่อนพูดกับเขาโดยใช้ภาษาใหม่เท่านั้นและช่วยบอกให้รู้ว่ามีอะไรที่เขายังต้องปรับปรุงแก้ไขอีก. นอกจากนี้ คนที่กำลังเรียนยังรู้สึกหยั่งรู้ค่าคนที่ชมเชยความพยายามของพวกเขาอย่างจริงใจด้วย. ดังที่จอร์ชกล่าวว่า “ผมคงทำอย่างนี้ไม่ได้ถ้าไม่ใช่เพราะความรักและและกำลังใจจากพวกเพื่อน ๆ.”
ดังนั้น การเรียนภาษาใหม่คุ้มค่ากับความพยายามไหม? บิล ซึ่งกล่าวถึงในตอนต้นว่าพูดได้หลายภาษา ตอบว่า “แน่นอน!” เขาบอกว่า “การเรียนอีกภาษาหนึ่งทำให้ผมมีมุมมองกว้างขึ้นในเรื่องชีวิต และช่วยผมให้มองสิ่งต่าง ๆ จากแง่มุมอื่น ๆ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับคนที่พูดภาษาเหล่านั้นและเห็นพวกเขาตอบรับความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณเป็นสิ่งที่มีค่าเหนือความพยายามมากทีเดียว. ที่จริง นักภาษาศาสตร์คนหนึ่งซึ่งพูดได้ 12 ภาษาเคยพูดกับผมว่า ‘ผมอิจฉาคุณ. ผมเรียนภาษาเพียงเพราะความสนุกเท่านั้น แต่คุณเรียนภาษาเพื่อจะช่วยผู้คนจริง ๆ’ ”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 ดูวารสารตื่นเถิด! ฉบับ 8 มกราคม 2000 หน้า 12-13.
[คำโปรยหน้า 11]
ความปรารถนาที่จะช่วยคนอื่นเป็นแรงกระตุ้นที่มีพลังซึ่งทำให้อยากเรียนภาษาใหม่