ฉันจะควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้อย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้อย่างไร?
“บ่อยครั้งฉันรู้ตัวว่ากำลังคิดจะซื้อของ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่สิ่งจำเป็น และคงไม่มีเงินพอจะซื้อด้วยซ้ำ แต่ที่คิดจะซื้อเพราะมันลดราคา.”—แอนนา, * บราซิล.
“บางครั้งเพื่อนชวนดิฉันไปร่วมสังสรรค์ซึ่งต้องเสียเงินมาก. ดิฉันเองก็ต้องการอยู่กับเพื่อน ๆ และร่วมสนุกกัน. ไม่มีใครอยากบอกว่า ‘ขอโทษนะ ฉันไปไม่ได้เพราะมีเงินไม่พอ.’”—โจน, ออสเตรเลีย.
ดูราวกับว่าคุณไม่เคยมีเงินพอใช้จ่ายไหม? ถ้าเพียงแต่คุณได้เงินใช้จ่ายส่วนตัวจากพ่อแม่เพิ่มขึ้นอีกหน่อย คุณก็คงจะซื้อเกมคอมพิวเตอร์อย่างที่คุณอยากได้. หากคุณได้เงินค่าจ้างสูงขึ้นอีกนิด คุณก็อาจซื้อรองเท้าคู่ที่คุณ “จำเป็น” ต้องมีได้. อย่างไรก็ตาม แทนที่จะรู้สึกกลุ้มเพราะมีเงินไม่พอ คุณน่าจะลองฝึกควบคุมการใช้เงินที่คุณมีอยู่.
ถ้าคุณยังอยู่ที่บ้านพึ่งพ่อแม่อยู่ คุณอาจรอจนถึงคราวที่ต้องออกจากบ้านไปแล้วค่อยเรียนรู้วิธีจัดการเรื่องเงิน. แต่นั่นคงเป็นเหมือนการกระโดดจากเครื่องบินโดยไม่เคยฝึกใช้ร่มชูชีพมาก่อน. จริงอยู่ คนเราอาจเรียนรู้ว่าควรทำอย่างไรขณะดิ่งพสุธา. ทว่า จะดีกว่านั้นสักเพียงใดหากเขาได้เรียนรู้หลักพื้นฐานการใช้ร่มชูชีพก่อนกระโดดร่ม!
ในทำนองเดียวกัน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับคุณในการเรียนรู้วิธีจัดการเรื่องเงินคือ ก่อนจะเผชิญความเป็นจริงอันยากลำบากของชีวิต. กษัตริย์ซะโลโมได้เขียนว่า “เงินเป็นเครื่องป้องกัน.” (ท่านผู้ประกาศ 7:12, ฉบับแปลใหม่) แต่เงินจะปกป้องคุณได้ก็ต่อเมื่อคุณรู้วิธีใช้เงิน. การทำเช่นนั้นย่อมเสริมความมั่นใจแก่คุณและคุณจะเป็นความภูมิใจของพ่อแม่มากขึ้นด้วย.
เรียนรู้หลักการใช้เงินขั้นพื้นฐาน
คุณเคยขอพ่อแม่อธิบายให้ฟังบ้างไหมว่าการดูแลบ้านรวมถึงอะไรบ้าง? เช่น คุณรู้ไหม
ว่าต้องชำระค่าไฟ, ค่าแอร์, และค่าน้ำประปาเดือนละเท่าไร และการใช้รถยนต์ต้องจ่ายค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุงสักเท่าไร รวมไปถึงค่าอาหาร, ค่าเช่าบ้านหรือค่าจำนองด้วย? คุณอาจคิดว่ารายละเอียดดังกล่าวเป็นเรื่องน่าเบื่อ. แต่อย่าลืมว่าคุณเองก็มีส่วนทำให้เกิดความสิ้นเปลืองดังกล่าวด้วย. นอกจากนั้น ถ้าคุณได้ออกไปอยู่ข้างนอก คุณก็คงจะต้องเริ่มชำระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นด้วยตัวเอง. ฉะนั้น คุณควรจะเรียนรู้ในเรื่องค่าใช้จ่ายเหล่านั้น. หากเป็นไปได้ ขอดูใบเสร็จบางเดือนจากพ่อแม่, และตั้งใจฟังให้ดีเมื่อท่านอธิบายวิธีจัดสรรงบประมาณรายรับรายจ่าย.สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวดังนี้: “ผู้มีปัญญาจะฟังและรับคำสั่งสอนมากขึ้น และคนที่มีความเข้าใจคือผู้นั้นซึ่งรับการชี้นำที่ชำนาญ.” (สุภาษิต 1:5, ล.ม.) แอนนา ที่กล่าวถึงข้างต้นบอกว่า “พ่อฉันสอนวิธีทำงบดุลบัญชี และท่านชี้ให้เห็นว่าสำคัญเพียงไรที่จะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครอบครัว.” ในเวลาเดียวกัน แม่ก็สอนบทเรียนที่ใช้ได้จริงแก่แอนนาหลายอย่าง. แอนนาพูดต่ออีกว่า “แม่ชี้ถึงความสำคัญของการเปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ แม่ซื้อของได้ตั้งหลายอย่างด้วยเงินเพียงเล็กน้อย.” แอนนาได้ประโยชน์อย่างไร? เธอพูดว่า “เวลานี้ฉันสามารถดูแลการเงินของตัวเองได้. ฉันรู้จักใช้เงินอย่างรอบคอบ ดังนั้น ฉันมีอิสระและสบายใจไม่ทุกข์ร้อนเนื่องจากปลอดหนี้สินที่ไม่จำเป็น.”
ยอมรับข้อท้าทาย
เป็นที่ยอมรับว่า การรู้วิธีใช้จ่ายเงินนั้นพูดง่ายแต่ทำยาก โดยเฉพาะถ้าคุณอยู่ที่บ้านและได้รับเงินที่พ่อแม่ให้คุณไว้ใช้จ่าย หรือได้เงินจากการทำงาน. ทำไมเป็นเช่นนั้น? เพราะพ่อแม่ของคุณคงจะชำระค่าใช้จ่ายแทบทั้งหมด. ดังนั้น คุณจึงอาจมีเงินส่วนใหญ่ใช้ซื้อสิ่งของที่คุณอยากได้. และการใช้เงินอาจเป็นเรื่องสนุก. พาเรซ เด็กหนุ่มชาวอินเดียยอมรับว่า “การใช้เงินเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับผม และเพลินดี.” ซาราห์จากออสเตรเลียรู้สึกคล้าย ๆ กัน. เธอพูดว่า “การซื้อของทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้น.”
นอกจากนั้น คนรุ่นเดียวกับคุณอาจกดดันคุณให้ใช้เงินเกินตัว. เอลเลนาวัย 21 ปีพูดว่า “ในคนรุ่นเดียวกัน การไปซื้อของกลายเป็นความบันเทิงที่สำคัญรูปแบบหนึ่ง. เมื่อฉันออกไปกับเพื่อน ๆ ดูเหมือนเป็นกฎที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าคุณต้องใช้เงิน ถ้าอยากสนุก.”
การที่คุณต้องการให้เพื่อน ๆ ยอมรับนั้นเป็นเรื่องปกติ. แต่จงถามตัวเองซิว่า ‘ฉันกำลังใช้เงินไปกับเพื่อนเพราะฉันสามารถจ่ายได้ หรือเพราะรู้สึกว่าฉันต้องจ่าย?’ หลายคนใช้เงินเพราะต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูง. แนวโน้มอย่างนี้จะทำให้คุณมีปัญหาด้านการเงินอย่างแน่นอน โดยเฉพาะถ้าคุณใช้บัตรเครดิต. ซูซี ออร์มัน ที่ปรึกษาด้านการเงินได้เตือนว่า “ถ้าคุณรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำให้ใคร ๆ ประทับใจในสิ่งต่าง ๆ ที่คุณมี แทนการมองคุณงามความดีของคุณ คุณก็กำลังเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการใช้บัตรเครดิตในทางที่ให้โทษ.”
แทนที่คุณจะใช้บัตรเครดิตจนเกินวงเงิน หรือใช้เงินเดือนของคุณหมดในคืนเดียวด้วยการออกไปเที่ยวหรือซื้อของ ทำไมไม่ลองแก้ปัญหาตามวิธีของเอลเลนาดูล่ะ? เธอบอกว่า “เมื่อฉันออกไปกับเพื่อน ๆ ฉันจะวางแผนล่วงหน้าและคำนวณดูว่าฉันจะจ่ายได้ไม่เกินเท่าไร. เงินเดือนของฉันถูกฝากเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง และฉันจะถอนเท่าที่ต้องการใช้เมื่อออกไปเที่ยว. นอกจากนี้ ฉันค้นพบว่าดีที่จะสุภาษิต 13:20.
ไปซื้อของกับเพื่อนซึ่งรู้จักใช้เงินอย่างรอบคอบ และเป็นผู้ที่สนับสนุนฉันให้เทียบดูราคาหลาย ๆ ร้านก่อน ไม่ใช่เห็นปุ๊บก็ซื้อปั๊บ.”—ได้บทเรียนเมื่อพ่อแม่บอกว่าไม่
แม้ว่าคุณไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงหรือเงินค่าจ้างจากการทำงาน คุณก็จะเรียนบทเรียนอันมีค่าได้ขณะที่คุณยังอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน. ยกตัวอย่าง เมื่อคุณขอเงินหรือขอให้ท่านซื้อของบางอย่าง ท่านอาจปฏิเสธ. ทำไม? เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะของที่คุณอยากได้มีราคาแพงเกินงบประมาณรายจ่ายของครอบครัว. โดยการปฏิเสธคำขอของคุณ แม้ท่านอาจอยากจะให้ นั่นแสดงว่าพ่อแม่ได้วางตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการบังคับตน. และการบังคับตนเป็นสิ่งสำคัญต่อวิธีจัดการเรื่องเงินได้เป็นอย่างดี.
สมมุติว่าพ่อแม่มีเงินให้คุณได้ กระนั้น ท่านก็อาจปฏิเสธ. คุณอาจคิดว่าท่านเป็นคนตระหนี่. แต่ขอพิจารณาดูสิ พ่อแม่คงจะตั้งใจสอนบทเรียนสำคัญให้คุณรู้ว่าความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ต้องการ. เกี่ยวกับเรื่องนี้ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คนรักแต่เงินจะไม่อิ่มใจกับเงิน และคนรักความมั่งคั่งจะไม่อิ่มใจกับรายได้.”—ท่านผู้ประกาศ 5:10, ล.ม.
ความจริงแห่งถ้อยคำดังกล่าวได้รับการยืนยันจากประสบการณ์ของหนุ่มสาวหลายคนที่พ่อแม่ซื้อทุกสิ่งให้ตามที่เขาต้องการ. ไม่นานเด็กหนุ่มสาวเหล่านั้นก็พบว่าจริง ๆ แล้วตัวเขาเองไม่เคยรู้สึกอิ่มใจพอใจ. ไม่ว่าจะมีสิ่งของมากมายก่ายกองเพียงไร เขาคิดอยู่เสมอว่าจำเป็นต้องซื้อหามาเพิ่มเรื่อย ๆ. ในที่สุด เด็กหนุ่มสาวที่เคยชินกับการขอแล้วต้องได้นั้นอาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สำนึกบุญคุณ. กษัตริย์ซะโลโมให้สติดังนี้: “ถ้าผู้ใดพะนอคนใช้ [หรือบุตร] ของตนตั้งแต่เยาว์วัย ในช่วงชีวิตต่อมาเขาจะถึงกับเป็นคนไม่สำนึกบุญคุณเสียเลย.”—สุภาษิต 29:21, ล.ม.
เงินคือเวลา
บางวัฒนธรรมมีภาษิตว่า เวลาคือเงิน. ข้อนี้มุ่งเน้นว่าคนเราต้องใช้เวลาหาเงิน และการผลาญเวลาก็เป็นการผลาญเงิน. หากสับเปลี่ยนคำในภาษิตข้อนี้เป็น—เงินคือเวลา—ภาษิตข้อนี้ก็ยังตรงกับความเป็นจริงเช่นเดียวกัน. ถ้าคุณผลาญเงิน จริง ๆ แล้วเท่ากับคุณกำลังผลาญเวลาที่ใช้เพื่อหาเงิน. จงเรียนรู้วิธีควบคุมการใช้จ่าย และรู้วิธีควบคุมการใช้เวลาของคุณด้วย. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
ขอพิจารณาความคิดเห็นของเอลเลนา. เธอพูดว่า “เมื่อฉันควบคุมว่าจะใช้จ่ายมากน้อยเท่าไร ฉันก็ควบคุมว่าจะต้องหาเงินได้เท่าไร. โดยตั้งงบประมาณที่ใช้การได้จริง แล้วพยายามใช้จ่ายให้อยู่ในวงเงินนั้น และก็ไม่จำเป็นที่ฉันต้องทำงานหลายชั่วโมงเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ก้อนใหญ่. ฉันควบคุมทั้งเวลาและชีวิตของฉันได้มากขึ้น.” คุณอยากจะควบคุมชีวิตตัวเองแบบนี้ไหม?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ทุกชื่อเป็นนามสมมุติ.
สิ่งที่พึงใคร่ครวญ
▪ คุณรู้สึกว่ายากไหมที่จะควบคุมการใช้จ่ายส่วนตัว? ทำไมล่ะ?
▪ ทำไมคุณควรหลีกเลี่ยงการรักเงิน?—1 ติโมเธียว 6:9, 10.
[กรอบ/ภาพหน้า 12]
การมีเงินมากขึ้นเป็นวิธีแก้ปัญหาไหม?
เพียงมีเงินมากขึ้นจะแก้ปัญหาด้านการใช้จ่ายของคุณได้ไหม? ซูซี ออร์มัน ที่ปรึกษาทางการเงินบอกว่า “พวกเราคิดอยู่แต่ว่าการได้รับเงินเดือนมากขึ้นคงจะแก้ไขความเดือดร้อนทางการเงินได้ แต่ในกรณีนี้ส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้นเลย.”
เพื่อเป็นตัวอย่าง: สมมุติว่า ขณะที่คุณขับรถ คุณไม่ได้บังคับรถ หรือเวลาขับรถก็มักจะหลับตา การเติมน้ำมันใส่ถังมากขึ้นจะทำให้คุณมีความปลอดภัยมากขึ้นไหม? โอกาสที่คุณจะไปถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพมีมากขึ้นไหม? ทำนองเดียวกัน ถ้าคุณไม่เรียนรู้วิธีควบคุมการใช้จ่ายของตัวเอง การได้เงินมากขึ้นก็จะไม่ช่วยแก้ไขสถานการณ์ของคุณให้ดีขึ้น.
[กรอบ/แผนภูมิหน้า 13]
ควบคุมการใช้จ่าย
เดือนที่แล้วคุณใช้เงินไปเท่าไร? คุณจ่ายค่าอะไรบ้าง? คุณนึกไม่ออกเลยหรือ? นี่เป็นวิธีที่คุณควบคุมการใช้จ่ายเงินก่อนจะปล่อยให้การใช้เงินควบคุมชีวิตคุณ.
▪ จดบันทึก. จดบัญชีรายรับและวันที่ได้รับเงินเป็นเวลาอย่างน้อยเดือนหนึ่ง. จดรายการสิ่งของที่คุณซื้อแต่ละรายการและรวมราคาของแต่ละรายการ. ตอนสิ้นเดือน บวกตัวเลขรายรับและรายจ่าย.
▪ ทำงบประมาณบัญชี. ตีเส้นบนกระดาษเปล่าโดยแบ่งเป็นสามช่อง. ช่องแรก ลงรายรับทุกอย่างที่คุณคาดว่าจะได้ในเดือนหนึ่ง. ช่องที่สอง ลงรายการสิ่งที่คุณวางแผนจะใช้จ่ายในเดือนนั้น โดยใช้รายการทั้งหมดที่คุณจดไว้ในเดือนที่แล้วเป็นเกณฑ์. ตลอดเดือนนั้นให้จดค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปจริงของแต่ละรายการตามที่วางแผนไว้. อนึ่ง ควรจดทุกรายการที่จ่ายไปนอกเหนือจากรายการที่ได้วางแผนไว้นั้น.
▪ ปรับแผนใหม่. หากคุณใช้เงินซื้อข้าวของต่าง ๆ เกินกว่าที่คาดไว้ตั้งแต่ต้น และกำลังมีหนี้สิน คุณจำเป็นต้องปรับแผนใหม่. จงชำระหนี้ให้หมด. ควบคุมการใช้จ่ายต่อไป.
[แผนภูมิ]
ตัดและใช้กระดาษแผ่นนี้!
งบประมาณประจำเดือนของฉัน
รายรับ งบประมาณรายจ่าย จำนวนที่จ่ายไปจริง
เบี้ยเลี้ยง อาหาร
ค่าจ้างพิเศษ เสื้อผ้า
อื่น ๆ โทรศัพท์
ความบันเทิง
บริจาค
เก็บออม
อื่น ๆ
รวมทั้งสิ้น รวมทั้งสิ้น รวมทั้งสิ้น
บาท บาท บาท
[รูปภาพ]
จำไว้ว่า ถ้าคุณผลาญเงิน คุณก็กำลังผลาญเวลาที่ได้ทำงานหาเงินให้หมดสิ้นไปด้วย
[ภาพหน้า 11]
ลองขอพ่อแม่ช่วยอธิบายวิธีจัดสรรงบประมาณรายรับรายจ่ายดูสิ