จงยินดีในความหวัง
จงยินดีในความหวัง
โจป่วยเป็นมะเร็งในระยะสุดท้ายและกำลังจะเสียชีวิต. คีร์สเท็น ภรรยาของเขากับเพื่อนอีกสองสามคนกำลังคุยกันอยู่ข้างเตียงเขา. คีร์สเท็นก้มลงมองสามีและสังเกตว่ามีน้ำตาไหลอาบแก้ม. ทีแรกเธอคิดว่าโจคงรู้สึกเจ็บปวด. บางทีเขาอาจจะเจ็บปวดอยู่เหมือนกัน แต่ในตอนนั้นเขาบอกภรรยาว่าที่เขาร้องไห้ไม่ใช่เพราะความเจ็บปวด.
คีร์สเท็นเล่าว่า “ในยามที่ทุกข์ทรมานเช่นนั้น โจมีเพื่อนสนิทมาเฝ้าดูเขาอยู่ข้างเตียง. นอกจากนี้ เขายังมีความหวังอันล้ำค่าซึ่งตอนนี้เขารู้สึกมั่นใจยิ่งกว่าที่เคยรู้สึกมาตลอดชีวิต และเขารู้ว่าไม่มีใครจะพรากความหวังนี้ไปจากเขาได้. เขาบอกดิฉันว่าน้ำตาที่ไหลนั้นแท้จริงแล้วเป็นน้ำตาแห่งความยินดี. แล้วคืนนั้นโจก็จากไป.”
อะไรคือความหวังที่ทำให้โจมีกำลังใจขณะที่อาการป่วยของเขากำเริบขึ้นทุกวัน? นั่นก็คือคำสัญญาของพระยะโฮวาพระเจ้าเรื่องชีวิตนิรันดร์พร้อมด้วยสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ในโลกซึ่งเป็นอุทยาน. (บทเพลงสรรเสริญ 37:10, 11, 29) วิวรณ์ 21:3, 4 กล่าวว่า “พลับพลาของพระเจ้าก็อยู่กับมนุษย์แล้ว . . . พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุก ๆ หยดจากตาของเขา ความตายจะไม่มีต่อไป การคร่ำครวญและร้องไห้และการเจ็บปวดอย่างหนึ่งอย่างใดจะไม่มีอีกเลย เพราะเหตุการณ์ที่ได้มีอยู่แต่ดั้งเดิมนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว.”
ล่วงลับไปแล้วแต่ก็ยังมีหวัง
สำหรับโจ หากความหวังของเขาเป็นจริง นั่นก็หมายความว่าเขาจะเป็นขึ้นมาจากตาย. ที่จริง เขาได้รับการปลอบโยนจากคำสัญญาของพระเยซูที่ว่า “บรรดาผู้ซึ่งอยู่ในอุโมงค์รำลึก” ซึ่งหมายถึงคนตายที่อยู่ในความทรงจำของพระเจ้า จะฟื้นขึ้นจากความตายซึ่งเป็นเสมือนการนอนหลับ. (โยฮัน 5:28, 29, ล.ม.) คุณรู้สึกโศกเศร้าเพราะสูญเสียสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนเนื่องจากความตายไหม? ถ้าเช่นนั้น ความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายก็ให้กำลังใจคุณได้เช่นกัน. แน่ทีเดียว ความหวังนี้ไม่ได้ขจัดความรู้สึกโศกเศร้าอย่างสุดซึ้งที่เกิดขึ้นเมื่อเราสูญเสียผู้เป็นที่รักไป. พระเยซูเองก็ทรง “กันแสง” เมื่อลาซะโรสหายของพระองค์เสียชีวิต. แต่ความหวังที่เรามีนั้นจะช่วยให้ความทุกข์ของเราเบาบางลง.—โยฮัน 11:14, 34, 35; 1 เธซะโลนิเก 4:13.
คีร์สเท็นกล่าวว่า “เมื่อมะเร็งคร่าชีวิตโจไป ดิฉันรู้สึกว่า
ไม่มีทางที่ดิฉันจะมีความสุขอย่างแท้จริงได้อีกแล้ว. แม้แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อเวลาผ่านมาสองสามปีแล้ว ดิฉันก็ยังรู้สึกว่าชีวิตของดิฉันในระบบนี้จะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีก. เมื่อขาดโจ ชีวิตของฉันก็ขาดบางสิ่งที่ไม่อาจมีอะไรมาทดแทนได้. แต่ดิฉันก็พูดได้อย่างเต็มปากว่า ดิฉันรู้สึกมีสันติสุขในใจและความอิ่มใจพอใจอีกครั้ง.”คำกล่าวของคีร์สเท็นเตือนใจเราว่า ในระบบปัจจุบันนี้ เราไม่อาจคาดหวังว่าชีวิตจะมีแต่ความสุขความยินดีอยู่ตลอดเวลา. ชีวิตมีขึ้นมีลง. และมีบางเวลาที่เราควรรู้สึกโศกเศร้า และไม่เหมาะที่จะร่าเริงยินดีเลย. (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 4; 7:2-4) นอกจากนั้น พวกเราบางคนอาจต้องต่อสู้กับอาการซึมเศร้าที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ. อย่างไรก็ตาม คำสัญญาในคัมภีร์ไบเบิลเป็นแหล่งที่ให้กำลังใจเราอย่างมาก และสติปัญญาที่เราพบในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเหนือกว่าสติปัญญาใด ๆ ก็สามารถช่วยเราหลีกเลี่ยงหลุมพรางมากมายที่ทำให้เราไม่มีความสุขได้. พระเจ้าตรัสว่า “แต่ว่าผู้ใดที่ฟังเราจะพำนักอยู่โดยปลอดภัย, และจะอยู่สงบสุขปราศจากกลัวภัยของความชั่ว.”—สุภาษิต 1:33.
ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงห่วงใยสวัสดิภาพของเรา. พระองค์ทรงประสงค์ให้เรามีความสุข ซึ่งไม่ใช่ความสุขแบบผิวเผิน แต่เป็นความสุขที่อยู่ลึกภายใน และไม่ใช่เพียงไม่กี่ปี แต่ตราบชั่วนิรันดร์! เพราะเหตุนี้ พระบุตรของพระองค์จึงตรัสถ้อยคำนี้ซึ่งใช้ได้ตลอดทุกยุคทุกสมัยว่า “ความสุขมีแก่ผู้ที่รู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน.” (มัดธาย 5:3, ล.ม.) นับว่าสุขุมที่เราจะเอาใจใส่คำตรัสของพระองค์.
[กรอบหน้า 9]
ส่วนผสมเก้าอย่างของความสุข
1. ฝึกมองชีวิตจากมุมมองของคัมภีร์ไบเบิล.—มัดธาย 5:3.
2. มีความอิ่มใจพอใจและหลีกเลี่ยง “การรักเงิน.”—1 ติโมเธียว 6:6-10.
3. ไม่ปล่อยให้ความสนุกสนานมีความสำคัญจนเกินไป.—2 ติโมเธียว 3:1, 4.
4. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และทำให้คนอื่นมีความสุข.—กิจการ 20:35.
5. รู้จักขอบคุณ และคิดถึงสิ่งดี ๆ ที่ได้รับ.—โกโลซาย 3:15.
6. พร้อมจะให้อภัยผู้อื่น.—มัดธาย 6:14.
7. เลือกคบคนอย่างสุขุม.—สุภาษิต 13:20.
8. ดูแลสุขภาพร่างกาย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตแบบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ.—2 โกรินโธ 7:1.
9. “ปีติยินดีในความหวัง” ที่คัมภีร์ไบเบิลเสนอให้.—โรม 12:12, ล.ม.
[ภาพหน้า 8, 9]
ความหวังเรื่องชีวิตในโลกใหม่ซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นพื้นฐานคือแหล่งที่ให้กำลังใจอย่างแท้จริง