เมล็ดที่เดินทางไปทั่วโลก
เมล็ดที่เดินทางไปทั่วโลก
หนังสือ “สรรพสาระเรื่องกาแฟ” (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า เรื่องราวการทุ่มเทของชายคนหนึ่งเพื่อต้นกล้ากาแฟได้รับการพรรณนาว่าเป็น “บทที่ . . . น่าตรึงใจที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแพร่พันธุ์ต้นกาแฟ.” วารสารไซเยนติฟิก อเมริกัน กล่าวว่า ต้นกาแฟเล็ก ๆ ต้นนั้นมีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นอุตสาหกรรมกาแฟมูลค่าเจ็ดหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีในปัจจุบัน ซึ่งในด้านมูลค่าการซื้อขายทั่วโลกจะเป็นรองก็เพียงแต่อุตสาหกรรมปิโตรเลียมเท่านั้น.
เรื่องราวอันน่าทึ่งของกาแฟเริ่มขึ้นในแถบเทือกเขาของเอธิโอเปีย แหล่งกำเนิดของต้นกาแฟป่า. โคฟเฟีย อาราบิกา (Coffea arabica) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากกาแฟป่านั้น มีสัดส่วนถึงสองในสามของผลผลิตกาแฟทั้งหมดในโลก. แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามีการค้นพบคุณสมบัติพิเศษของเมล็ดกาแฟคั่วเมื่อไร. กระนั้น ก็มีผู้เพาะปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกาในคาบสมุทรอาหรับแล้วเมื่อถึงศตวรรษที่ 15 สากลศักราช. แม้จะมีกฎข้อห้ามไม่ให้นำเมล็ดที่ยังแพร่พันธุ์ได้ออกนอกประเทศ แต่ชาวดัตช์ก็ได้ต้นกาแฟหรือเมล็ดที่ยังแพร่พันธุ์ได้ไปในปี 1616. ไม่นานพวกเขาก็ทำไร่กาแฟในเกาะซีลอน ซึ่งปัจจุบันคือศรีลังกา และเกาะชวา ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย.
ในปี 1706 ชาวดัตช์ขนต้นกาแฟอ่อนต้นหนึ่งจากที่ดินของตนบนเกาะชวาไปยังสวนพฤกษศาสตร์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์. ต้นกาแฟนั้นเจริญงอกงามดีที่นั่น. ต้นกาแฟที่เพาะมาจากต้นนั้นก็ถูกส่งไปยังอาณานิคม
ของดัตช์ที่ซูรินาเมและในแถบแคริบเบียน. ในปี 1714 นายกเทศมนตรีกรุงอัมสเตอร์ดัมถวายต้นกาแฟที่เพาะได้ต้นหนึ่งแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส. กษัตริย์สั่งให้ปลูกต้นกาแฟนั้นไว้ในเรือนเพาะชำที่สวนหลวงชาร์แดง เด ปลองต์ ในกรุงปารีส.ชาวฝรั่งเศสก็อยากจะเข้าร่วมในธุรกิจค้ากาแฟด้วย. พวกเขาซื้อเมล็ดพันธุ์และต้นกาแฟแล้วส่งไปยังเกาะเรอูนียง. ไม่มีเมล็ดใดงอกขึ้นเลย และแหล่งอ้างอิงบางแหล่งบอกว่า ในที่สุดต้นกาแฟก็ตายเกือบหมดจนเหลืออยู่เพียงต้นเดียว. กระนั้น ในปี 1720 ก็มีการเพาะเมล็ดจำนวน 15,000 เมล็ดที่ได้จากต้นนั้นและในที่สุดก็มีการทำไร่กาแฟ. ต้นกาแฟเหล่านี้มีค่ามากถึงขนาดที่ถ้าจับได้ว่าใครทำลายต้นกาแฟ คนนั้นจะมีโทษถึงประหารชีวิตทีเดียว! ชาวฝรั่งเศสยังหวังจะทำไร่กาแฟในแถบแคริบเบียนอีกด้วย แต่ความพยายามสองครั้งแรกของพวกเขาล้มเหลว.
นายทหารเรือชาวฝรั่งเศสชื่อกาเบรียล มัตเยอ เดอ คลีเยอ ซึ่งอยู่ในช่วงลาพักที่กรุงปารีส ได้ตั้งเป้าหมายส่วนตัวที่จะนำต้นกาแฟไปยังที่ดินของเขาที่เกาะมาร์ตินีกเมื่อเขากลับจากฝรั่งเศส. เขาออกเรือมุ่งหน้าไปยังเกาะนี้ในเดือนพฤษภาคม 1723 พร้อมกับต้นกาแฟต้นหนึ่งซึ่งเพาะมาจากต้นกาแฟที่ปารีส.
หนังสือสรรพสาระเรื่องกาแฟ กล่าวว่าระหว่างการเดินทาง เดอ คลีเยอ เอาต้นกาแฟที่ล้ำค่าของเขาใส่ไว้ในกล่องที่มีบางด้านเป็นกระจก เพื่อว่าต้นกาแฟของเขาจะได้รับแสงอาทิตย์และยังคงมีความอบอุ่นในวันที่มีเมฆมาก. ผู้โดยสารคนหนึ่งบนเรือ ซึ่งอาจจะรู้สึกอิจฉาเดอ คลีเยอ และไม่ต้องการให้เขาประสบความสำเร็จ ได้พยายามแย่งต้นกาแฟของเขาไป แต่ทำไม่สำเร็จ. ต้นกาแฟนั้นยังรอดอยู่ได้. แม้เมื่อเรือเผชิญกับโจรสลัดชาวตูนิเซีย, ประสบพายุที่รุนแรง, และที่แย่ที่สุดคือการขาดแคลนน้ำจืดเมื่อเรือแล่นต่อไปไม่ได้เนื่องจากไม่มีลมในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ต้นกล้านั้นก็ยังรอดอยู่ได้. เดอ คลีเยอ เขียนว่า “เราขาดน้ำเสียจนข้าพเจ้าจำเป็นต้องแบ่งน้ำส่วนที่ได้รับจากการปันส่วนซึ่งก็มีอยู่เพียงน้อยนิดให้กับต้นไม้นั้นเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือน เนื่องจากต้นไม้นั้นเป็นความหวังสูงสุดของข้าพเจ้าและเป็นแหล่งที่ทำให้ชื่นใจ.”
การทุ่มเทของเดอ คลีเยอ ได้รับผลตอบแทน. ต้นกาแฟของเขาไปถึงเกาะมาร์ตินีกในสภาพที่ยังแข็งแรงอยู่ และมันเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีในเขตร้อน. กอร์ดอน ริกลีย์ เขียนในหนังสือชื่อกาแฟ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “จากต้นกาแฟเพียงต้นเดียวนั้น มาร์ตินีกได้ให้เมล็ดพันธุ์กาแฟแก่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกเว้นบราซิล, เฟรนช์เกียนา, และซูรินาเม.”
ขณะเดียวกัน บราซิลและเฟรนช์เกียนาก็ต้องการต้นกาแฟด้วย. ที่ซูรินาเม พวกดัตช์ยังคงมีต้นกาแฟที่สืบสายพันธุ์มาจากต้นกาแฟแห่งกรุงอัมสเตอร์ดัม แต่พวกเขาเฝ้ารักษาต้นกาแฟเหล่านั้นอย่างแน่นหนา. อย่างไรก็ตาม ในปี 1722 เฟรนช์เกียนาก็ได้เมล็ดพันธุ์มาจากโจรคนหนึ่งซึ่งแอบเข้าไปในซูรินาเมและขโมยเมล็ดพันธุ์บางส่วนมา.
เพื่อแลกกับเมล็ดพันธุ์ที่เขาได้มา เจ้าหน้าที่ของเฟรนช์เกียนายอมปล่อยเขาเป็นอิสระ และส่งเขากลับประเทศของเขา.ทีแรก ความพยายามลักลอบนำเมล็ดพันธุ์หรือต้นกาแฟเข้าไปในบราซิลไม่ประสบความสำเร็จ. แต่แล้ว ซูรินาเมกับเฟรนช์เกียนาก็มีข้อพิพาทเรื่องพรมแดน และขอบราซิลให้ส่งผู้ตัดสินมาให้. บราซิลส่งฟรานซิสโก เด เมลู พาลเยตา นายทหารคนหนึ่ง ไปที่เฟรนช์เกียนาโดยสั่งเขาให้ไประงับข้อพิพาทและนำต้นกาแฟกลับมาบ้าง.
การไต่สวนประสบความสำเร็จ และผู้ว่าราชการจัดงานเลี้ยงเพื่อพาลเยตา. ภรรยาของผู้ว่าราชการแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อแขกผู้มีเกียรติท่านนี้โดยมอบช่อดอกไม้ที่งดงามแก่พาลเยตา. แต่ในช่อดอกไม้นั้นมีเมล็ดกาแฟและต้นกล้าที่ยังแพร่พันธุ์ได้ซ่อนอยู่ข้างใน. ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าในปี 1727 อุตสาหกรรมกาแฟของบราซิลซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าถึงหนึ่งพันล้านดอลลาร์ได้ถือกำเนิดขึ้น จากช่อดอกไม้ช่อหนึ่ง.
ด้วยเหตุนี้ ต้นกาแฟอ่อนซึ่งเดินทางจากเกาะชวาไปยังอัมสเตอร์ดัมในปี 1706 และต้นไม้ที่สืบพันธุ์จากต้นกาแฟที่ปารีสเป็นต้นกำเนิดของพันธุ์กาแฟทั้งหมดของอเมริกากลางและอเมริกาใต้. ริกลีย์อธิบายว่า “ผลก็คือ พื้นฐานทางพันธุกรรมของอุตสาหกรรมกาแฟอาราบิกาจึงแคบมาก.”
ปัจจุบัน กะประมาณกันว่าไร่กาแฟของครอบครัวชาวไร่มากกว่า 25 ล้านแห่งใน 80 ประเทศมีการปลูกกาแฟกว่า 15,000 ล้านต้น. ผลผลิตของต้นกาแฟเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องดื่มกาแฟ 2.25 พันล้านถ้วยซึ่งมีการบริโภคกันในแต่ละวัน.
น่าแปลก ปัญหาในปัจจุบันนี้คือมีการผลิตกาแฟมากเกินไป. ยิ่งกว่านั้น สถานการณ์ยิ่งยุ่งยากขึ้นเนื่องจากการเมือง, เศรษฐกิจ, และการรวมกลุ่มกันเพื่อครอบงำตลาด ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้ชาวไร่ในหลายประเทศมีฐานะยากจนหรือถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว. สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรานึกภาพเดอ คลีเยอ แบ่งน้ำอันล้ำค่าที่เขาได้รับปันส่วนมาให้กับต้นไม้เล็ก ๆ ต้นหนึ่งเมื่อเกือบ 300 ปีที่แล้ว.
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
กาแฟสองพันธุ์ที่แพร่หลายที่สุด
วารสารไซเยนติฟิก อเมริกันกล่าวว่า “เมล็ดกาแฟดิบคือเมล็ดของพืชที่อยู่ในวงศ์ Rubiaceae ซึ่งประกอบด้วยพืชอย่างน้อย 66 ชนิดในสกุล Coffea. กาแฟสองชนิดที่มีการเพาะปลูกเพื่อการค้าคือ Coffea arabica หรือพันธุ์อาราบิกา ซึ่งให้ผลผลิตถึงสองในสามของกาแฟทั่วโลก และ Coffea canephora ซึ่งมักจะถูกเรียกว่าพันธุ์โรบัสตานั้นให้ผลผลิตหนึ่งในสามของกาแฟทั่วโลก.”
กาแฟโรบัสตามีกลิ่นค่อนข้างแรงและมักจะใช้ทำกาแฟสำเร็จรูป. อย่างไรก็ตาม ต้นกาแฟพันธุ์โรบัสตานั้นให้ผลผลิตสูงกว่าและต้านทานโรคได้ดี. มันสูงราว ๆ 12 เมตร หรือสองเท่าของต้นกาแฟอาราบิกาที่ไม่ได้ถูกตัดแต่งซึ่งอ่อนแอกว่าและให้ผลผลิตน้อยกว่า. โดยอาศัยน้ำหนักเป็นเกณฑ์ เมล็ดกาแฟโรบัสตามีกาเฟอีนถึง 2.8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเมล็ดกาแฟอาราบิกามีไม่เกิน 1.5 เปอร์เซ็นต์. แม้ว่าอาราบิกามีโครโมโซม 44 ตัว และโรบัสตากับกาแฟป่าทุกชนิดมี 22 ตัว แต่ก็อาจนำกาแฟพันธุ์อาราบิกาไปผสมข้ามพันธุ์กับกาแฟพันธุ์อื่นเพื่อผลิตกาแฟพันธุ์ผสมได้.
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
“บัพติสมา” ให้กาแฟ
เมื่อกาแฟมาถึงยุโรปเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 บาทหลวงคาทอลิกบางคนเรียกกาแฟว่าเครื่องดื่มของซาตาน. พวกเขามองว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มที่อาจมาแทนที่เหล้าองุ่น ซึ่งจากแง่คิดของพวกเขาแล้ว พระคริสต์ทรงทำให้เหล้าองุ่นเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์. แต่หนังสือกาแฟกล่าวว่า สันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 ได้ชิมเครื่องดื่มนี้และชื่นชอบกาแฟทันที. สันตะปาปาองค์นี้แก้ไขสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศาสนาโดยทำพิธีบัพติสมาให้กาแฟและทำให้กาแฟกลายเป็นที่ยอมรับของชาวคาทอลิก.
[กรอบหน้า 19]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
กาแฟแพร่ไปอย่างไร?
1. ศตวรรษที่ 15 มีการเพาะปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกาที่คาบสมุทรอาหรับ
2. 1616 ชาวดัตช์ได้รับต้นกาแฟหรือเมล็ดที่แพร่พันธุ์ได้
3. 1699 ชาวดัตช์นำต้นกาแฟไปยังเกาะชวาและเกาะอื่น ๆ ในหมู่เกาะอินดิสตะวันออก
4. ศตวรรษที่ 18 มีการเพาะปลูกกาแฟในอเมริกากลางและแถบแคริบเบียน
5. 1718 ชาวฝรั่งเศสนำกาแฟไปเกาะเรอูนียง
6. 1723 จี. เอ็ม. เดอ คลีเยอ นำต้นกาแฟจากฝรั่งเศสไปมาร์ตินีก
7. ศตวรรษที่ 19 มีการเพาะปลูกกาแฟที่ฮาวาย
[ที่มาของภาพ]
ที่มา: จากหนังสือ “อันคอมมอน กราวนด์”
[ภาพหน้า 18, 19]
ขณะเดินทางไปมาร์ตินีก กาเบรียล มัตเยอ เดอ คลีเยอ แบ่งน้ำดื่มของเขาให้กับต้นกาแฟเมื่อปี 1723
[ที่มาของภาพหน้า 19]
Map: © 1996 Visual Language; De Clieu: Tea & Coffee Trade Journal