คุณจะดูหนังเรื่องอะไร?
คุณจะดูหนังเรื่องอะไร?
ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ เรื่องทางเพศ, ความรุนแรง, และคำหยาบมีเพิ่มขึ้นมากในภาพยนตร์ และแต่ละคนก็มีความเห็นแตกต่างกันออกไปในเรื่องนี้. บางคนบอกว่าฉากที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศบางฉากเป็นสิ่งที่ลามก แต่บางคนกลับบอกว่าเป็นงานศิลป์. บางคนบอกว่าความรุนแรงในหนังเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล ส่วนบางคนกลับบอกว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว. บางคนบอกว่าการใช้คำหยาบมาก ๆ เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ส่วนบางคนกลับบอกว่าเป็นสิ่งที่สมจริง. คนหนึ่งเรียกมันว่าลามกอนาจาร ส่วนอีกคนหนึ่งเรียกมันว่าเสรีภาพในการแสดงออก. ถ้าฟังทั้งสองฝ่าย ก็อาจดูเหมือนเป็นเพียงการเถียงกันในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ.
แต่เนื้อหาในภาพยนตร์ไม่ได้เป็นเพียงการเถียงกันในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ. เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงจริง ๆ ไม่เพียงสำหรับผู้ที่เป็นพ่อแม่เท่านั้น แต่ทุกคนที่ยึดมั่นกับหลักศีลธรรมก็ควรเป็นห่วงเรื่องนี้ด้วย. “เมื่อไรก็ตามที่ดิฉันยอมเสี่ยงที่จะฝืนวิจารณญาณของตัวเองและกลับเข้าไปในโรงหนัง ตอนที่ออกมาดิฉันจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่เลวลงทุกครั้ง” ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวด้วยความเศร้าใจ. “ดิฉันละอายใจแทนคนที่สร้างหนังน่าเกลียดอย่างนั้นขึ้นมา และดิฉันละอายใจตัวเอง. การดูหนังอย่างนั้นเหมือนกับทำให้ค่าความเป็นคนของดิฉันลดน้อยลง.”
ตั้งมาตรฐาน
ประเด็นเรื่องเนื้อหาของภาพยนตร์นั้นไม่ได้เพิ่งมาเริ่มเป็นห่วงกันในตอนนี้. ในยุคแรก ๆ ของวงการภาพยนตร์ เคยมีความเดือดดาลกันเพราะเรื่องทางเพศและอาชญากรรมที่ปรากฏในภาพยนตร์จอเงิน. ในที่สุด ช่วงทศวรรษ 1930 สหรัฐได้ออกกฎหมายซึ่งเข้มงวดอย่างมากว่าจะแสดงภาพอะไรได้บ้างในภาพยนตร์.
สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ กล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้ “เป็นการตั้งข้อจำกัดอย่างสุดโต่ง โดยห้ามการแสดงภาพเกือบทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกันเป็นเรื่องปกติ. กฎหมายนี้ห้ามมี ‘ฉากที่แสดงความรัก’ และแม้แต่จะกล่าวถึงการเล่นชู้, การมีเพศสัมพันธ์นอกกฎหมาย, การล่อลวง, และการข่มขืนก็ไม่ได้ นอกจากสิ่งนั้นจะมี
ความสำคัญอย่างยิ่งต่อพล็อตเรื่องและจะได้รับการลงโทษอย่างสาสมเมื่อถึงตอนจบของหนังเท่านั้น.”ในเรื่องความรุนแรง มีการ “ห้าม [ภาพยนตร์] แสดงภาพหรือกล่าวถึงอาวุธที่ใช้กันทั่วไป, หรือแสดงขั้นตอนอย่างละเอียดของการทำอาชญากรรม, หรือแสดงภาพเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายถูกฆ่าตายในเงื้อมมือของอาชญากร, หรือกล่าวเป็นนัยถึงความโหดเหี้ยมทารุณเกินเหตุหรือการสังหารหมู่, หรือใช้ฉากการฆาตกรรมหรือการฆ่าตัวตาย นอกจากสิ่งเหล่านี้จะสำคัญต่อพล็อตเรื่องอย่างที่ขาดไม่ได้. . . . ไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะแสดงว่าอาชญากรรมเป็นสิ่งสมเหตุสมผลไม่ได้.” สรุปคือ กฎหมายนี้กล่าวว่า “ต้องไม่มีการแสดงภาพที่จะทำให้มาตรฐานทางศีลธรรมของคนดูต่ำลง.”
จากข้อห้ามถึงการจัดเรต
พอถึงปี 1950 ผู้อำนวยการสร้างในฮอลลีวูดหลายคนได้ท้าทายกฎหมายฉบับนี้ เพราะคิดว่ามันล้าสมัย. ด้วยเหตุนี้ ในปี 1968 กฎหมายนี้จึงถูกยกเลิกและมีระบบจัดเรตหนังเข้ามาแทน. * พอมีระบบจัดเรตนี้ ภาพยนตร์จะมีเนื้อหาที่ลามกหรือรุนแรงได้ แต่จะถูกจัดระดับด้วยสัญลักษณ์ซึ่งจะเตือนคนทั่วไปให้รู้ว่าหนังเรื่องนั้นมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมมากน้อยแค่ไหน. แจ็ก วาเลนติ ผู้ซึ่งเป็นนายกสมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกามาเกือบสี่สิบปี กล่าวว่า เป้าหมายคือ “เพื่อเตือนพ่อแม่ล่วงหน้า แล้วพวกเขาจะได้ตัดสินด้วยตัวเองว่าหนังเรื่องไหนที่ลูกของตนควรดูหรือไม่ควรดู.”
เมื่อเริ่มใช้ระบบจัดเรต เขื่อนก็พังทลายลง. เรื่องทางเพศ, ความรุนแรง, และคำหยาบก็ทะลักเข้ามาในบทภาพยนตร์ทั่วไปของฮอลลีวูด. เสรีภาพชนิดใหม่นี้ทำให้เกิดแนวโน้มที่ไม่อาจหยุดยั้งได้เหมือนคลื่นยักษ์ที่ถาโถม. กระนั้น เมื่อมีระบบจัดเรต ประชาชนทั่วไปก็จะได้รับคำเตือนล่วงหน้า. แต่การจัดเรตทำให้คุณรู้ข้อมูลที่จำเป็นทุกอย่างไหม?
การจัดเรตไม่ได้บอกอะไรคุณบ้าง?
บางคนรู้สึกว่าเมื่อเวลาผ่านไป ระบบจัดเรตได้หย่อนยานลง. การศึกษาโดยคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดยืนยันข้อนี้ เพราะได้พบว่าภาพยนตร์ที่ถือว่ายอมรับได้สำหรับวัยรุ่นอายุน้อย ๆ ในปัจจุบันมีความรุนแรงและเรื่องทางเพศมากขึ้นเมื่อเทียบกับเพียงเมื่อสิบปีที่แล้ว. การศึกษานี้สรุปว่า “ภาพยนตร์ที่ถูกจัดอยู่ในเรตเดียวกันอาจมีปริมาณและชนิดของเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมแตกต่างกันมาก” และบอกว่า “การจัดเรตโดยอาศัยกลุ่มอายุอย่างเดียวไม่ได้ให้ข้อมูลเพียงพอว่าภาพยนตร์นั้นมีภาพหรือเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง, เรื่องทางเพศ, คำหยาบและเรื่องอื่น ๆ มากเท่าไร.” *
พ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกไปดูหนังโดยลำพังอาจไม่รู้ว่าหนังเรื่องใดบ้างในสมัยนี้เหมาะที่จะดู. ตัวอย่างเช่น นักวิจารณ์ภาพยนตร์คนหนึ่งพรรณนาตัวละครหลักของหนังเรื่องหนึ่งในสหรัฐที่ได้รับการจัดเรตว่าวัยรุ่นดูได้ดังนี้: เธอเป็น “เด็กสาววัย 17 ที่ไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์และทุก ๆ วันก็พร้อมจะดื่มจนเมา, ใช้ยาเสพติด, ร่วมงานเลี้ยงที่มั่วสุมและร่วมเพศกับชายหนุ่มที่เพิ่งพบกันอย่างเร่าร้อน.” เรื่องราวแบบนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติ. ที่จริง นิตยสารเดอะ วอชิงตัน โพสต์ กล่าวว่า การพูดถึงการร่วมเพศทางปากดูเหมือนเป็นที่ “ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา” ในภาพยนตร์ที่มีเรตสำหรับวัยรุ่น. เห็นได้ชัด การจัดเรตไม่ควรจะเป็นปัจจัยอย่างเดียว ในการประเมินเนื้อหาของภาพยนตร์. มีเครื่องบ่งชี้ที่ดีกว่านี้ไหม?
“จงเกลียดการชั่ว”
เราไม่สามารถใช้ระบบจัดเรตแทนสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกฝนตามหลักพระคัมภีร์ได้. ในการตัดสินใจทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องความบันเทิง คริสเตียนพยายามนำข้อเตือนใจในคัมภีร์ไบเบิลที่บทเพลงสรรเสริญ 97:10 มาใช้ที่ว่า “จงเกลียดการชั่ว.” คนที่เกลียดการชั่วจะถือว่าการชมสิ่งบันเทิงที่พระเจ้าทรงรังเกียจนั้นเป็นการผิด.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อแม่ต้องระวังให้ดีว่าหนังที่พวกเขายอมให้ลูก ๆ ดูนั้นเป็นหนังประเภทใด. คงจะถือว่าเขานิ่งนอนใจเกินไปหากเพียงแค่ตรวจดูเรต *—เอเฟโซ 4:17, 18; 1 โยฮัน 2:15-17.
ของหนังคร่าว ๆ เท่านั้น. เป็นไปได้ที่ภาพยนตร์ซึ่งมีเรตเหมาะกับเด็กวัยเดียวกับลูกของคุณอาจส่งเสริมค่านิยมที่คุณฐานะเป็นพ่อแม่ไม่ปรารถนาเลย. เรื่องนี้ไม่ทำให้คริสเตียนแปลกใจ เนื่องจากโลกได้รับเอาวิธีคิดและการกระทำซึ่งขัดกับมาตรฐานของพระเจ้า.นี่ไม่ได้หมายความว่าจะหาภาพยนตร์ดี ๆ ไม่ได้เลย. เพียงแต่ต้องใช้ความระมัดระวัง. ในเรื่องนี้ ตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 พฤษภาคม 1997 กล่าวดังนี้: “แต่ละคนควรคิดพิจารณาให้รอบคอบและตัดสินใจอย่างที่จะทำให้เขามีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดทั้งต่อพระเจ้าและมนุษย์.”—1 โกรินโธ 10:31-33.
การหาความบันเทิงที่เหมาะสม
พ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อต้องตัดสินใจว่าภาพยนตร์เรื่องใดที่ครอบครัวของเขาจะชมได้? ขอพิจารณาคำพูดต่อไปนี้จากบรรดาพ่อแม่ทั่วโลก. คำพูดของพวกเขาอาจช่วยคุณให้หาความบันเทิงที่ดีสำหรับครอบครัวของคุณได้.—ดูกรอบ “ความบันเทิงรูปแบบอื่น” ในหน้า 14 ด้วย.
“ผมหรือภรรยาไปดูหนังกับลูก ๆ เสมอตอนที่พวกเขายังเล็ก” ควน จากสเปนกล่าว. “พวกเขาไม่เคยไปดูหนังกันเองตามลำพังโดยไม่มีเราหรือไปกันแต่กับเด็กคนอื่น ๆ. ตอนนี้พวกเขาเป็นวัยรุ่นแล้ว พวกเขาไม่ได้ไปดูหนังในรอบแรก ๆ ที่ออกฉาย แต่เราให้ลูก ๆ รอจนกระทั่งเราได้อ่านบทวิจารณ์หรือได้ฟังความเห็นเกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นจากคนอื่นที่เราไว้ใจ. จากนั้น เราก็จะร่วมกันตัดสินใจเป็นครอบครัวว่าเราควรไปดูหนังเรื่องนั้นไหม.”
มาร์ก ซึ่งอยู่ที่แอฟริกาใต้ กระตุ้นให้ลูกชายวัยรุ่นของเขาบอกเล่าความรู้สึกเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่กำลังฉายในโรง. มาร์กกล่าวว่า “ผมกับภรรยาจะเริ่มพูดคุยเรื่องนี้ โดยถามว่าเขาคิดอย่างไรกับหนังเรื่องนั้น. นี่ทำให้เราได้รู้ความคิดของเขาและหาเหตุผลกับเขาได้. ผลก็คือ เราสามารถเลือกภาพยนตร์ที่จะดูด้วยกันได้ทั้งครอบครัว.”
โรเชรีอู ซึ่งอยู่ที่บราซิล ก็เช่นกันได้ใช้เวลากับลูกในการวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่พวกเขาอยากจะดู. เขากล่าวว่า “ผมอ่านบทวิจารณ์ให้ลูก ๆ ฟัง. ผมไปร้านวิดีโอกับพวกเขาเพื่อสอนวิธีดูหน้าปกวิดีโอและสังเกตว่ามีอะไรไม่เหมาะสมไหม.”
แมททิว ซึ่งอยู่ในบริเตน พบว่าเป็นประโยชน์ที่จะคุยกับลูก ๆ เกี่ยวกับหนังที่พวกเขาอยากจะดู. เขาบอกว่า “ตั้งแต่เล็ก ๆ ลูกของเราจะอยู่ร่วมด้วยเสมอเมื่อเราพูดถึงเนื้อหาของภาพยนตร์ที่พวกเราทั้งครอบครัวสนใจจะดู. ถ้าเราตัดสินใจว่าจะไม่ไปดูหนังเรื่องใด ผมกับภรรยาก็จะอธิบายว่ามีเหตุผลอะไร แทนที่จะบอกว่าไม่อย่างเดียว.”
นอกจากนั้น พ่อแม่บางคนพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ในอินเทอร์เน็ต. มีเว็บไซต์หลายแห่งที่ให้รายงานอย่างละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาของภาพยนตร์. คุณอาจใช้เว็บไซต์เหล่านี้เพื่อได้รับข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นว่าหนังบางเรื่องส่งเสริมค่านิยมเช่นไร.
ผลประโยชน์ของสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกฝนแล้ว
คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงคนที่ “ได้ฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจเพื่อแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.” (เฮ็บราย 5:14, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่หลายคนมีเป้าหมายที่จะปลูกฝังค่านิยมในตัวลูก ๆ ซึ่งจะช่วยพวกเขาให้ตัดสินใจได้อย่างสุขุมเมื่อเขามีอิสระที่จะเลือกความบันเทิงด้วยตัวเอง.
เยาวชนหลายคนท่ามกลางพยานพระยะโฮวาได้รับการฝึกฝนที่ยอดเยี่ยมจากพ่อแม่ในเรื่องนี้. ตัวอย่างเช่น บิลล์กับเชรีซึ่งอยู่ในสหรัฐ ชอบไปดูหนังกับลูกชายวัยรุ่นทั้งสองของเขา. บิลล์บอกว่า “หลังจากออกจากโรง เรามักวิเคราะห์หนังเรื่องนั้นกันทั้งครอบครัว—หนังเรื่องนั้นสอนค่านิยมอะไรและเราเห็นด้วยหรือไม่กับค่านิยมนั้น.” แน่นอน บิลล์กับเชรีตระหนักถึงความจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกให้สุขุม. “เราอ่านข้อมูลเกี่ยวกับหนังก่อน และเราไม่รู้สึกอายที่จะเดินออกจากโรงถ้ามีสิ่งที่ไม่เหมาะสมซึ่งเราไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้า” บิลล์กล่าว. โดยให้ลูก ๆ ของเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญ บิลล์กับเชรีรู้สึกว่าลูก ๆ ของเขากำลังได้รับการช่วยเหลือให้พัฒนาความสามารถใน
การแยกว่าอะไรถูกอะไรผิด. “พวกเขาตัดสินใจได้สุขุมขึ้นในเรื่องการเลือกหนังที่อยากจะดู” บิลล์กล่าว.เช่นเดียวกับบิลล์และเชรี พ่อแม่หลายคนได้ฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจของลูก ๆ ในเรื่องความบันเทิง. จริงอยู่ หลายสิ่งที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ผลิตออกมานั้นไม่เหมาะสม. ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพวกเขาได้รับการชี้นำจากหลักการในคัมภีร์ไบเบิล คริสเตียนก็สามารถชมความบันเทิงที่ดีมีประโยชน์และทำให้สดชื่นได้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 หลายประเทศในโลกได้ตั้งระบบคล้าย ๆ กันขึ้นมาซึ่งมีสัญลักษณ์จัดเรตระบุกลุ่มอายุที่เหมาะจะดูภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ.
^ วรรค 12 นอกจากนั้น บรรทัดฐานที่ใช้ในการจัดเรตหนังอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ. หนังที่ถูกจัดว่าไม่เหมาะสำหรับวัยรุ่นในประเทศหนึ่งอาจได้เรตที่คนทั่วไปดูได้ในอีกประเทศหนึ่ง.
^ วรรค 16 คริสเตียนควรคำนึงถึงด้วยว่า ภาพยนตร์สำหรับเด็กและวัยรุ่นบางเรื่องอาจเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์หรือลัทธิภูตผีปิศาจชนิดอื่น ๆ ด้วย.—1 โกรินโธ 10:21.
[กรอบ/ภาพหน้า 12
“เราตัดสินใจร่วมกัน”
“เมื่อก่อนตอนที่ดิฉันอายุน้อยกว่านี้ เราไปดูหนังด้วยกันทั้งครอบครัว. ตอนนี้เมื่อดิฉันโตขึ้น ดิฉันจึงได้รับอนุญาตให้ไปดูหนังได้โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องไปด้วย. อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พวกท่านจะให้ดิฉันไป พ่อแม่ต้องการรู้ชื่อของหนังและรู้ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร. ถ้าพวกท่านไม่เคยได้ยินชื่อ พวกท่านก็จะอ่านบทวิจารณ์หรือดูตัวอย่างหนังในทีวี. พวกท่านยังหาดูข้อมูลเกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นในอินเทอร์เน็ตด้วย. ถ้าพวกท่านรู้สึกว่าหนังเรื่องนั้นไม่เหมาะ พวกท่านก็จะอธิบายเหตุผล. พวกท่านยอมให้ดิฉันแสดงความคิดเห็นด้วย. เราพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา และเราตัดสินใจร่วมกัน.”—เอโลอีซ อายุ 19 ปี ฝรั่งเศส.
[กรอบ/ภาพหน้า 13]
จงพูดคุยกัน!
“ถ้าพ่อแม่ห้ามลูกทำอะไรบางอย่างและไม่ได้หาสิ่งอื่นที่มีประโยชน์มาให้ลูกทำแทน ลูก ๆ ก็อาจจะแอบไปทำสิ่งที่เขาอยากทำโดยไม่ให้พ่อแม่รู้. ดังนั้น ถ้าลูก ๆ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาอยากดูความบันเทิงที่ไม่เหมาะสมบางอย่าง พ่อแม่บางคนจึงไม่ได้ห้ามลูกทันทีแต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้อนุญาตด้วย. พวกเขาจะปล่อยให้เวลาผ่านไปสักพัก. พอสองสามวันผ่านไป พวกเขาก็จะคุยถึงเรื่องนั้นโดยไม่ได้แสดงท่าทีว่าไม่พอใจ พวกเขาจะถามลูกว่าทำไมลูกคิดว่าความบันเทิงอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ดี. โดยการพูดคุยกัน บ่อยครั้งเด็กจะเห็นด้วยกับพ่อแม่และถึงกับกล่าวขอบคุณอีกด้วย. จากนั้น โดยที่พ่อแม่เป็นผู้นำหน้า พวกเขาจะเลือกความบันเทิงบางชนิดที่ทั้งครอบครัวจะทำร่วมกันได้.”—มาซาอากิ ผู้ดูแลเดินทางในญี่ปุ่น.
[กรอบ/ภาพหน้า 14]
ความบันเทิงรูปแบบอื่น
▪ “เยาวชนมีความต้องการตามธรรมชาติที่จะอยู่กับเด็กวัยเดียวกัน ดังนั้น เราจึงจัดให้ลูกสาวของเรามีเพื่อนที่ดีเสมอโดยที่เราคอยดูแล. เนื่องจากมีเด็กที่มีความประพฤติดีหลายคนในประชาคมของเรา เราจึงสนับสนุนให้ลูกสาวของเราเป็นเพื่อนกับเด็กเหล่านี้.”—เอลีซา อิตาลี.
▪ “เรามีส่วนร่วมอย่างมากในกิจกรรมนันทนาการของลูก ๆ. เราจัดให้มีกิจกรรมที่ดีสำหรับพวกเขา เช่น การเดินเล่น, จัดเลี้ยงบาร์บีคิว, ไปปิกนิก, และการสังสรรค์กับเพื่อนคริสเตียนทุกเพศทุกวัย. โดยวิธีนี้ ลูก ๆ ของเราจึงไม่ได้มองว่าพวกเขาจะต้องมีกิจกรรมนันทนาการเฉพาะกับคนรุ่นเดียวกันเท่านั้น.”—จอห์น บริเตน.
▪ “เราพบว่าการสังสรรค์กับเพื่อนร่วมความเชื่อมีประโยชน์มาก. ลูก ๆ ของผมชอบเล่นฟุตบอล เราจึงจัดให้มีการเล่นกีฬาชนิดนี้กับคนอื่น ๆ เป็นครั้งคราว.”—ควน สเปน.
▪ “เราสนับสนุนให้เด็ก ๆ เล่นดนตรี. เรายังทำงานอดิเรกหลายอย่างร่วมกันด้วย เช่น เล่นเทนนิส, วอลเลย์บอล, ขี่จักรยาน, อ่านหนังสือ, และจัดงานเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อน ๆ.”—มาร์ก บริเตน.
▪ “เราจัดไปเล่นโบว์ลิงเป็นประจำด้วยกันทั้งครอบครัวรวมทั้งเพื่อน ๆ ด้วย. นอกจากนั้น เราพยายามจัดกิจกรรมบางอย่างเป็นพิเศษร่วมกันเดือนละครั้ง. เคล็ดลับสำหรับการเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาคือพ่อแม่ต้องคอยระวัง.”—ดานีโล ฟิลิปปินส์.
▪ “การเข้าชมการแสดงสดมักจะน่าตื่นเต้นกว่าการนั่งดูหนัง. เราคอยสังเกตว่ามีการแสดงอะไรใกล้ ๆ บ้าน เช่น นิทรรศการงานศิลปะ, งานแสดงรถ, หรือการแสดงดนตรี. การแสดงเหล่านี้มักจะทำให้มีโอกาสพูดคุยกันระหว่างที่กำลังชม. เรายังระวังไม่จัดให้มีการบันเทิงมากเกินไป ด้วย. ไม่ใช่เพราะปัจจัยเรื่องเวลาเท่านั้น แต่ถ้าหากมีการบันเทิงมากเกินไป เราจะรู้สึกชินชาและไม่ค่อยตื่นเต้นกับกิจกรรมเหล่านั้นเท่าที่ควร.”—จูดิท แอฟริกาใต้.
▪ “ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่เด็กคนอื่นทำจะเหมาะสำหรับลูกของดิฉัน และดิฉันพยายามช่วยพวกเขาให้เข้าใจเรื่องนี้. ในเวลาเดียวกัน ดิฉันกับสามีก็พยายามจัดให้พวกเขามีกิจกรรมนันทนาการที่ดี. เราพยายามทำอะไรเพื่อเขาจะไม่พูดว่า ‘ไม่เห็นเราไปไหนกันเลย. ไม่เห็นเราทำอะไรกันเลย.’ ครอบครัวของเราไปสวนสาธารณะด้วยกันและจัดงานสังสรรค์ในบ้านโดยเชิญคนอื่น ๆ ในประชาคมมาร่วม.” *—มาเรีย บราซิล.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 47 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานสังสรรค์ ดูวารสารหอสังเกตการณ์ ที่ออกคู่กัน ฉบับ 15 สิงหาคม 1992 หน้า 15-20.
[ที่มาของภาพ]
James Hall Museum of Transport, Johannesburg, South Africa
[ภาพหน้า 11]
ตรวจบทวิจารณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนั้นก่อนที่คุณจะตัดสินใจ
[ภาพหน้า 12, 13]
พ่อแม่ทั้งหลาย จงสอนลูกของคุณให้เป็นคนที่รู้จักเลือก