ม้าที่โลดเต้นอยู่ในท้องทะเล
ม้าที่โลดเต้นอยู่ในท้องทะเล
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
ทั้งสองหน้าแดงด้วยความเขิน. เจ้าหนุ่มพองตัวอวด ส่วนสาวเจ้าก็เมียงมองด้วยความชื่นชม. ทั้งคู่ผสานสัมผัสอย่างอ่อนละมุน แล้วเกี่ยวกระหวัดกันแนบแน่น. ท่ามกลางแสงอาทิตย์อุทัยอันเรืองรองที่สาดส่องลงมา ทั้งสองเริ่มแสดงชั้นเชิงเริงรำที่งดงามอ่อนช้อยที่สุดชุดหนึ่งในโลกของธรรมชาติ นั่นคือลีลาร่ายรำของม้าน้ำ.
ดร. คีท มาร์ติน-สมิท ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล กล่าวว่า “ม้าน้ำเป็นสัตว์ที่น่าทึ่ง, แปลก, และมีเสน่ห์จริง ๆ.” แต่คนสมัยก่อนไม่รู้ว่ามันคือตัวอะไรกันแน่. นักธรรมชาติวิทยาสมัยแรก ๆ เรียกมันว่าฮิปโปคัมปุส (Hippocampus) ซึ่งเป็นชื่อของสัตว์ในเทพนิยาย—มีรูปร่างเป็นม้าแต่มีหางเป็นปลา—ซึ่งลากจูงรถของโพซีดอน เทพเจ้าแห่งมหาสมุทรของชาวกรีก.
เชื่อกันว่าในยุคกลาง พ่อค้าเร่อาจนำม้าน้ำไปขายโดยอ้างว่าเป็นลูกอ่อนของมังกรพ่นไฟ. จริง ๆ แล้ว ม้าน้ำเป็นปลาธรรมดา ๆ ชนิดหนึ่งซึ่งมีแผ่นกระดูกหุ้มตัว แม้ว่าหน้าตาท่าทางของมันจะดูไม่เหมือนปลาสักเท่าไร. มันชอบลอยไปลอยมาในน้ำหรือไม่ก็วนอยู่กับที่ แถมยังมีคนเปรียบมันเหมือนม้าแก้วเจียระไนที่วิจิตรงดงามและม้าหมากรุกที่มีชีวิต.
ม้าน้ำมีอยู่ในน่านน้ำริมฝั่งทะเลที่อบอุ่นส่วนใหญ่ในโลก. มันมีขนาดและรูปร่างหลากหลายอย่างน่าทึ่ง. ผู้เชี่ยวชาญกะประมาณว่าอาจมีม้าน้ำอยู่ 33 ถึง 70 ชนิด. ตัวอย่างเช่น ม้าน้ำแคระ ซึ่งตัวเล็กมากจนวางบนเล็บมือของคุณได้พอดี และม้าน้ำท้องป่อง ซึ่งมีขนาดยาวได้มากกว่า 30 เซนติเมตร.
ไม่มีฟัน ไม่มีกระเพาะ ก็ไม่มีปัญหา!
ด้วยความที่มันมีหัวแปลกพิสดารเหมือนหัวม้า, มีกระดูกเป็นเกราะหุ้มตัว, และมีหางเหมือนหางลิง ม้าน้ำจึงเหมาะจะอยู่กับที่มากกว่าจะแหวกว่ายไปมา. ดูเหมือนว่าวัน ๆ มันจะสำราญกับการใช้หางเกี่ยวอะไรอยู่กับที่และหาอาหารกิน. ถ้าม้าน้ำต้องขยับกายไปไหน มันจะโบกครีบหลังเล็ก ๆ ของมันดันตัวไปช้า ๆ และใช้ครีบข้างลำตัวเวลาเลี้ยวไปเลี้ยวมา. มันจะควบคุมปริมาณอากาศในกระเพาะลมซึ่งอยู่ในตัวมันเวลาจะลอยขึ้นหรือดำลง เหมือนกับเรือดำน้ำ.
การกินเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเจ้าม้าน้ำจอมตะกละ และสัตว์จำพวกกุ้งตัวเล็ก ๆ ที่บังเอิญว่ายน้ำผ่านมาก็จะถูกดูดเข้าไปในปากที่เป็นกระดูกยาว ๆ อย่างรวดเร็ว. เนื่องจากม้าน้ำไม่มีฟันและไม่มีกระเพาะเพื่อช่วยย่อยอาหาร มันจึงต้องจับกุ้งกินถึงวันละ 50 ตัวเพื่อให้ได้สารอาหารพอที่มันจะอยู่ได้. เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา
สำหรับนักล่าที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ เนื่องจากม้าน้ำมีสายตาที่ดีมาก. มันสามารถใช้ตาข้างหนึ่งมองไปข้างหน้าเพื่อหาเหยื่อ พร้อม ๆ กับที่ใช้ตาอีกข้างหนึ่งกวาดมองข้างหลังได้อย่างเป็นอิสระ. ตาของมันยังเห็นสีได้มากกว่าตามนุษย์ และเห็นรายละเอียดได้มากกว่าตาของปลาส่วนใหญ่.ม้าน้ำต้องพยายามหลบหลีกไม่ให้ตัวมันเองกลายเป็นอาหารกลางวันของสัตว์อื่นด้วย. เพื่อจะหลบสัตว์นักล่าอย่างปูหรือเต่าทะเล ม้าน้ำหลายชนิดสามารถอำพรางตัวให้กลมกลืนกับหญ้าทะเล, ปะการัง, หรือพืชป่าชายเลนจนแทบจะมองไม่เห็นมัน. มันมีผิวหนังเป็นลายจุด ๆ, มีปุ่มปมและเส้นสายเหมือนสาหร่ายทะเล, ทั้งมันยังสามารถเปลี่ยนสีได้อย่างน่าทึ่งให้กลมกลืนกับสิ่งรอบข้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้มันพรางตัวเข้ากับฉากหลังได้อย่างสมบูรณ์แบบ. นักวิจัยชื่อรูดี เคยเตอร์ บอกว่า “มันอำพรางตัวได้เก่งมากจนคุณต้องจ้องดูให้ดีจริง ๆ ถึงจะเห็นมันได้.”
การร่ายรำและการผสมพันธุ์
เรื่องหนึ่งที่ม้าน้ำไม่เหมือนปลาอื่น ๆ ส่วนใหญ่คือตัวผู้กับตัวเมียจะจับคู่กันตลอดชีวิตและน้อยครั้งนักที่จะยอมไปไกลจากกัน. ทุกวันตอนรุ่งอรุณ มันจะออกท่าร่ายรำที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. เทรซี วอร์แลนด์ ผู้ผสมพันธุ์ม้าน้ำ กล่าวว่า “การแหวกว่ายร่ายรำของม้าน้ำนั้นสวยงามและอ่อนช้อยน่าชมมากจริง ๆ.” เมื่อมันร่ายรำจบ ม้าน้ำจะกลับไปใช้หางเกี่ยวอยู่ที่เดิมเพื่อหากินถึงตอนเย็น. การร่ายรำตอนผสมพันธุ์จะซับซ้อนกว่านี้. ขณะที่ตัวเมียเข้าไปใกล้ตัวผู้ ตัวผู้จะเบ่งถุงหน้าท้องให้พองขึ้น, เปลี่ยนสีตัวเองให้สดใส, และขยับไปมาข้างหน้าทีข้างหลังทีเพื่ออวดตัวเมีย. ทั้งสองจะค่อย ๆ ว่ายเวียนรอบกันช้า ๆ และใช้หางเกาะเกี่ยวกันไว้. มันจะแหวกว่ายเวียนวนไปด้วยกัน แล้วก็โลดเต้นไปตามพื้นทะเลราวกับม้าพยศ. ขึ้นบ้างลงบ้าง, หมุนไปหมุนมา, และเปลี่ยนสี บางทีทั้งคู่รื่นเริงสนุกสนานกันอยู่ถึงครึ่งชั่วโมง.
แน่นอน หลังจากมันร่ายรำในช่วงผสมพันธุ์แล้ว ในที่สุดม้าน้ำเหล่านี้จะมีลูก. เคยเตอร์กล่าวว่า “เมื่อเวลาผสมพันธุ์ใกล้เข้ามา ม้าน้ำจะร่ายรำกันนานขึ้นและบ่อยขึ้น และอาจทำซ้ำ ๆ ตลอดทั้งวัน. เมื่อการร่ายรำมาถึงจุดสุดยอด ทั้งคู่จะค่อย ๆ ลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำพร้อมกับใช้หางยึดเกี่ยวกันไว้และลำตัวประชิดกัน. แล้วตัวเมียจะวางไข่ไว้ในถุงฟักไข่ของตัวผู้ซึ่งคล้ายกับของจิงโจ้.” จากนั้น ตัวผู้จะหาที่สงบ ๆ เพื่อจัดไข่ให้ติดแน่นกับผนังในถุงของมัน. มันจะปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่แล้วเริ่มการตั้งท้องที่แปลกประหลาดที่สุดในอาณาจักรสัตว์.
“ความใฝ่ฝันของผู้หญิงทุกคน”
ผู้หญิงคนหนึ่งพูดว่า “ดิฉันคิดว่าวิเศษมากที่ม้าน้ำตัวผู้เป็นฝ่ายตั้งท้องและคลอดลูก.” ผู้หญิงอีกคนหนึ่งพูดไว้อย่างคมคายว่า “นี่เป็นความใฝ่ฝันของผู้หญิงทุกคน.” เคยมีม้าน้ำตัวผู้ตัวหนึ่งทนการตั้งท้องเจ็ดครั้งติดต่อกันในปีเดียว โดยแต่ละครั้งนานถึง 21 วัน!
ขณะที่ลูกม้าน้ำนอนซุกตัวอยู่ที่ก้นถุงฟักไข่ เส้นเลือดจำนวนมากในถุงจะนำออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงพวกมัน. เมื่อเวลาผ่านไป น้ำในถุงจะเค็มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการเตรียมพวกมันไว้สำหรับการออกมาอยู่ในน้ำทะเล. เมื่อครบกำหนด ตัวพ่อต้องใช้เวลาคลอดหลายชั่วโมง หรืออาจถึงสองวัน. ในที่สุด ถุงหน้าท้องของมันก็เปิด และม้าน้ำตัวจิ๋วก็ออกมาสู่โลกภายนอกทีละตัว. การคลอดครั้งหนึ่ง ๆ อาจมีจำนวนลูกม้าน้ำไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด ซึ่งอาจมีมากถึง 1,500 ตัว.
สัตว์เลี้ยง, ของที่ระลึก, และยา
มีการคุกคามม้าน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดทั่วโลก แม้ว่าปลาชนิดนี้จะมีอัตราการขยายพันธุ์สูง. หน่วยงานบางแห่งกะประมาณว่า ในแต่ละปีมีการจับและการซื้อขายม้าน้ำถึง 30 ล้านตัวทั่วโลก. ม้าน้ำจำนวนมากถูกส่งไปยังตลาดยาแผนโบราณของเอเชีย ซึ่งมีการใช้ม้าน้ำเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยหลายชนิด ตั้งแต่โรคหืดและกระดูกหักไปจนถึงภาวะไร้สมรรถภาพทางเพศ.
ทุกปี ม้าน้ำประมาณหนึ่งล้านตัวถูกซื้อขายไปทำเป็นของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ, ที่ทับกระดาษ, และเข็มกลัด. นอกจากนั้น การประมงอวนลาก, การใช้ระเบิดไดนาไมต์ทำลายพืดหินปะการัง, และภาวะมลพิษล้วนเป็นภัยคุกคามพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เปราะบางซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของม้าน้ำ. ม้าน้ำยังถูกจับจากทะเลเอามาเลี้ยงในตู้ปลาด้วย แม้ว่าจะมีเพียงไม่กี่ตัวที่อยู่รอดได้ในที่เลี้ยง เนื่องจากมันต้องการอาหารชนิดพิเศษและยังติดโรคง่าย.
เพื่อยับยั้งแนวโน้มนี้ มีการเสนอมาตรการทางกฎหมายซึ่งเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ พิสูจน์ว่าม้าน้ำที่ตนส่งออกไปขายนั้น ได้มาโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ. นอกจากนั้น วิธีการและเทคโนโลยีที่ดีขึ้นยังช่วยผู้ผสมพันธุ์ม้าน้ำซึ่งมีเพียงไม่กี่รายให้เพาะพันธุ์ม้าน้ำในที่เลี้ยง แล้วนำมาขายในตลาดตู้ปลา.
อนาคตของม้าน้ำเกี่ยวพันกับอนาคตของมหาสมุทร. เคยเตอร์ พูดด้วยความเศร้าใจว่า “เห็นชัด ๆ ว่ามหาสมุทรของโลกกำลังถูกคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์. เรากำลังฉกฉวยประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่างในมหาสมุทรมากเกินไป.” นักเริงระบำที่วิจิตรงดงามแห่งท้องทะเลเหล่านี้จะสาบสูญไปเนื่องจาก “ความก้าวหน้า” ของมนุษย์ไหม? มาร์ติน-สมิท บอกว่า “เราต้องมองในแง่ดี. แน่นอนว่าผู้คนทั่วไปยังมีเจตนาดีอยู่. งานของเราคือทำให้ผู้คนมากขึ้นหันมาสนใจสิ่งมีชีวิตในโลก. เมื่อทำได้อย่างนั้น การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น. บางทีถ้าเราช่วยม้าน้ำได้ เราอาจช่วยทั้งมหาสมุทรได้ด้วย.” อาจเป็นเช่นนั้น. แต่น่าดีใจ มีแหล่งแห่งความหวังอีกแหล่งหนึ่งที่น่าเชื่อถือมากกว่า.—วิวรณ์ 14:7.
[ภาพหน้า 15]
ม้าน้ำแคระ (ขนาดเท่าของจริง)
[ที่มาของภาพ]
© Reinhard Dirscherl/Visuals Unlimited
[ภาพหน้า 16, 17]
ม้าน้ำสามารถเปลี่ยนสีให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้อย่างน่าทึ่ง
ม้าน้ำหัวสั้น
ม้าน้ำท้องป่อง
ม้าน้ำไลนด์
[ภาพหน้า 16]
ม้าน้ำไฮ-คราวน์
[ภาพหน้า 17]
ม้าน้ำหัวสั้น
[ภาพหน้า 17]
ม้าน้ำหัวสั้นตัวผู้กำลังคลอดลูก
[ภาพหน้า 17]
ลูกม้าน้ำหัวสั้น
[ที่มาของภาพหน้า 16]
Lined seahorse: © Ken Lucas/Visuals Unlimited; all other photos: Rudie H Kuiter
[ที่มาของภาพหน้า 17]
All photos: Rudie H Kuiter