แซล์มอนแอตแลนติก—“ราชา” ซึ่งกำลังตกที่นั่งลำบาก
แซล์มอนแอตแลนติก—“ราชา” ซึ่งกำลังตกที่นั่งลำบาก
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในไอร์แลนด์
ปลาแซล์มอนขึ้นชื่อในเรื่องที่ว่ามันสามารถกระโดดขึ้น น้ำตกได้เวลาที่มันต้องว่ายทวนน้ำเพื่อไปวางไข่. มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งกล่าวถึงชาวประมงที่สังเกตว่า “ปลาแซล์มอนจำนวนมากไม่สามารถกระโดดขึ้น [น้ำตก]” บริเวณที่เขากำลังจับปลาอยู่. บางตัวถึงกับกระโดดขึ้นมาอยู่บนตลิ่งบริเวณด้านล่างของน้ำตก. เขาจึงก่อไฟบนหินที่อยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณนั้นและตั้งกระทะไว้. มีการเล่าต่อว่า “เมื่อพวกมันกระโดดข้ามไปไม่ได้ ปลาแซล์มอนบางตัวที่น่าสงสารก็ตกลงมาใส่กระทะโดยบังเอิญ.” ดังนั้น ชาวประมงคนนี้จึงคุยโตในภายหลังว่า ‘ปลาแซล์มอนในประเทศของเขามีชุกชุมมากจนทำให้พวกมันโดดลงกระทะเองโดยที่ชาวประมงไม่ต้องเสียแรงจับให้ยุ่งยาก.’
จริงอยู่ เรื่องเล่าดังกล่าวอาจเกินความเป็นจริง. กระนั้น ปลาแซล์มอนก็กระโดดขึ้นน้ำตกได้จริง ๆ. อย่างไรก็ตาม รายงานหนึ่งซึ่งจัดทำโดยองค์กรวิจัยปลาแซล์มอนแห่งไอร์แลนด์แสดงให้เห็นว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ “ปลาที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติซึ่งว่ายทวนน้ำเพื่อไปวางไข่มีจำนวนลดลงอย่างฮวบฮาบ.” การสำรวจคราวหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ในหนึ่งปี ลูกปลาแซล์มอนเกือบ 44,000 ตัวที่ถูกติดป้ายรหัสและปล่อยไปนั้น มีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ (ประมาณ 1,300 ตัว) เท่านั้นที่ว่ายกลับมาวางไข่.
อะไรเป็นเหตุให้ปลาแซล์มอนแอตแลนติกซึ่งเป็น “ราชาแห่งปลา” มีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหายเช่นนี้? พวกมันจะกลับมาชุกชุมเหมือนเมื่อก่อนไหม? การเข้าใจวัฏจักรชีวิตที่น่าสนใจและไม่ธรรมดาของปลาที่สง่างามนี้จะช่วยเราให้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาและทางแก้ที่อาจเป็นไปได้.
ชีวิตช่วงแรก ๆ
ชีวิตของปลาแซล์มอนเริ่มต้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณก้นลำธารที่เป็นก้อนกรวด. ตัวผู้จะคอยไล่ผู้บุกรุก ขณะที่ตัวเมียขุดหลุมเล็ก ๆ หลาย ๆ หลุมที่อาจลึกถึง 30 เซนติเมตร. พวกมันจะช่วยกันวางไข่และผสมเชื้อให้ไข่เหล่านั้นซึ่งในแต่ละหลุมมีไข่หลายพันฟอง. จากนั้น ตัวเมียจะเอาก้อนกรวดมาปิดปากหลุมเพื่อป้องกันไข่.
ช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน ลูกปลารูปร่างแปลก ๆ ก็โผล่ออกมาจากไข่. ลูกปลาในระยะนี้ซึ่งเรียกว่า อเลวิน (alevin) มีความยาวเพียง 1 นิ้วและมีถุงไข่แดงใหญ่เทอะทะติดอยู่ที่ท้อง. ในตอนแรก ลูกปลาอาศัยอยู่ใต้ก้อนกรวดโดยได้รับอาหารจากถุงไข่แดง. หลังจากสี่หรือห้าสัปดาห์ผ่านไป เมื่อถุงไข่แดงถูกดูดจนหมด ตอนนี้ลูกปลาซึ่งเข้าสู่ระยะที่เรียกว่าฟราย (fry) ก็ว่ายออกจากใต้ก้อนกรวดขึ้นสู่ลำธาร. มันมีขนาดประมาณสองนิ้วและตอนนี้รูปร่างของมันดูเหมือนปลามากขึ้น. มันคิดอยู่แค่เพียงสองอย่าง. อย่างแรก หาแหล่งอาหารใหม่ซึ่งก็คือแมลงตัวเล็ก ๆ และแพลงก์ตอน และอย่างที่สองคือ หาที่อยู่ที่ปลอดภัย. ลูกปลาแซล์มอนที่อยู่ในระยะนี้จะตายมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากขาดอาหารหรือไม่มีที่อยู่ หรือถูกสัตว์นักล่าอย่างเช่น ปลาเทราต์, นกกระเต็น, นกกระยาง, และนากกินเป็นอาหาร.
ไมเคิลซึ่งเป็นผู้วิจัยปลาแซล์มอนและปลาอื่น ๆ มาระยะหนึ่งกล่าวว่า “หลังจากหนึ่งปีหรือราว ๆ นั้น ลูกปลาแซล์มอนจะเติบโตขึ้นจนมีขนาดประมาณสามหรือสี่นิ้ว. ลูกปลาในระยะนี้เรียกว่าพาร์ (parr) ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ มีรอยแต้มสีดำ ตามลำตัวแต่ละข้าง. เมื่อลูกปลามีความยาวประมาณหกนิ้ว รอยแต้มสีดำเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นสีเงินมันวาวแบบเดียวกันทั้งตัว. พอถึงตอนนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งและซับซ้อนบางอย่างซึ่งทำให้ปลาแซล์มอนต่างจากปลาอื่น ๆ ส่วนใหญ่.”
ไมเคิลกล่าวต่อไปว่า “ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ปลาแซล์มอนในระยะที่เรียกว่า สโมลต์ (smolt) จะถูกกระตุ้นโดยสัญชาตญาณให้พากันอพยพไปเป็นฝูงจำนวนหลายพันตัวลงไปสู่ปากแม่น้ำ.” แต่ปลาน้ำจืดอยู่ในน้ำทะเลไม่ได้มิใช่หรือ? เมื่อถามอย่างนั้น ไมเคิลจึงตอบว่า “ปกติแล้วมันอยู่ไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนที่เกิดขึ้นรอบ ๆ เหงือกทำให้มันสามารถกรองเกลือในน้ำทะเลได้. เมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว ปลาแซล์มอนซึ่งมีขนาดเล็กพอที่จะอยู่ในฝ่ามือของคุณก็เริ่มการเดินทางอันยาวไกล.”
ชีวิตในทะเล
เหตุใดปลาตัวเล็ก ๆ นี้จึงออกจากแม่น้ำที่มันคุ้นเคย? มันจะไปที่ไหน? ปลาแซล์มอนตัวเล็ก ๆ ต้องหาแหล่งอาหารเพื่อช่วยให้มันโตเต็มที่. หากมันหนีจากผู้ล่าอย่างเช่น นกกาน้ำ, แมวน้ำ, ปลาโลมา, และแม้แต่ปลาวาฬเพชรฆาตได้ มันจะมาถึงแหล่งอาหารและได้กินแพลงก์ตอนสัตว์บางชนิดที่มีขนาดใหญ่, ได้กินปลาแซนด์อีล (ปลาทะเลตัวเล็ก ๆ ยาว ๆ ฝังตัวอยู่ในทราย), รวมทั้งปลาเฮริง, ปลาแคปเพลิน (ปลาตัวเล็ก ๆ ตระกูลปลาแซล์มอน), และปลาอื่น ๆ. หลังจากหนึ่งปีผ่านไป น้ำหนักของมันก็จะเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า คือจากสองร้อยกรัมเพิ่มเป็นเกือบ 3 กิโลกรัม. หากมันอยู่ในมหาสมุทรประมาณห้าปี มันอาจหนักถึง 18 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้น. เป็นที่ทราบกันว่า มีบางตัวหนักกว่า 45 กิโลกรัม!
บริเวณที่เป็นแหล่งอาหารของปลาแซล์มอนไม่เป็นที่รู้จักกันแน่ชัดจนกระทั่งทศวรรษ 1950 เมื่อชาวประมงที่จับปลาเพื่อการค้าเริ่มจับปลาแซล์มอนจำนวนมากได้ที่ชายฝั่งเกาะกรีนแลนด์. ต่อมา มีการค้นพบแหล่งอาหารขนาดใหญ่รอบ ๆ หมู่เกาะแฟโรทางตอนเหนือของสกอตแลนด์. นับแต่นั้นมา มีการค้นพบแหล่งอาหารอีกหลายแหล่ง. ถึงกับมีการรายงานว่า แม้แต่บริเวณใต้น้ำแข็งแถบขั้วโลกเหนือก็เป็นแหล่งอาหารของปลาแซล์มอนด้วย! การค้นพบแหล่งอาหารเหล่านี้ ทำให้ปลาแซล์มอนแอตแลนติกเริ่มประสบปัญหาจริง ๆ. มีการทำอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ในเกาะกรีนแลนด์และหมู่เกาะแฟโร. ชาวประมงที่จับปลาเพื่อการค้าจับปลาแซล์มอนได้หลายพันตันและทำให้ปลาที่ว่ายกลับไปขยายพันธุ์ในแม่น้ำมีจำนวนลดลงอย่างฮวบฮาบ. โดยตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหานี้ รัฐบาลจึงวางข้อจำกัดต่าง ๆ และมีการกำหนดปริมาณปลาที่อนุญาตให้ชาวประมงจับได้. การทำเช่นนี้ช่วยปกป้องปลาแซล์มอนตอนที่มันอยู่ในทะเล.
กลับจากทะเล
ในที่สุด ปลาแซล์มอนตัวเต็มวัยก็ว่ายกลับมายังแม่น้ำที่เป็นถิ่นกำเนิดของมันเพื่อหาคู่และเริ่มวัฏจักรอีกครั้ง. ไมเคิลอธิบายว่า “สิ่งที่น่าพิศวงจริง ๆ ก็คือ ปลาที่น่าทึ่งนี้ว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรนับพัน ๆ ไมล์ได้โดยไม่หลงทางทั้ง ๆ ที่มันไม่เคยไปมาก่อน! เรื่องนี้ยังคงทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์งุนงง. นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่า ปลาแซล์มอนเดินทางโดยอาศัยสนามแม่เหล็กโลก, กระแสน้ำในมหาสมุทร, หรือแม้แต่ดวงดาว. เชื่อกันว่า ทันทีที่มันกลับมาถึงปากแม่น้ำ ปลาแซล์มอนจะจำแม่น้ำที่เป็นถิ่นกำเนิดของมันได้โดยอาศัย ‘กลิ่น’ หรือองค์ประกอบทางเคมีของแม่น้ำสายนั้น.”
ไมเคิลกล่าวว่า “พวกมันปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในน้ำจืดอีกครั้งและว่ายเข้าไปในแม่น้ำ.” สัญชาตญาณที่กระตุ้นให้มันกลับมายังถิ่นกำเนิดรุนแรงมาก จนแม้แต่น้ำตกหรือน้ำที่ไหลเชี่ยวก็ไม่อาจขวางกั้นปลาแซล์มอน ซึ่งตอนนี้มีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่าเดิม ให้ฝ่าฟันอุปสรรคแต่ละอย่างไปจนได้.”
ปลาแซล์มอนที่กลับสู่ถิ่นกำเนิดเผชิญความยากลำบากมากขึ้นเมื่อมันว่ายมาเจอเขื่อนที่ใหญ่โตมหึมา, ระบบไฟฟ้าพลังน้ำ, หรือเครื่องกีดขวางอื่น ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น. ดังนั้น จึงมีการทำอะไร? ดีร์เดร นักวิจัยเรื่องปลาแซล์มอนกล่าวว่า “หลายคนที่มีจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์ได้เตรียมเส้นทางเลือกใหม่ไว้ให้มัน. มีการสร้างทางลาดที่ไม่ชันมากเพื่อเลี่ยงสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่. เราเรียกทางลาดนี้ว่า บันไดปลาโจน (fish ladder). ทางลาดนี้ช่วยให้ปลาแซล์มอนกระโดดขึ้นสู่ระดับน้ำที่สูงกว่าได้อย่างปลอดภัยตอนที่มันว่ายกลับไปยังที่สำหรับวางไข่.”
ดีร์เดรกล่าวต่อไปว่า “แต่ทางลาดนี้ก็ใช่ว่าจะใช้ได้ผลเสมอไป. ดิฉันเคยเห็นปลาแซล์มอนบางตัวไม่สนใจทางเลี่ยงนี้. พวกมันรู้จักแต่เส้นทางเดิมและพยายามอย่างไม่ละลดที่จะข้ามเครื่องกีดขวางใหม่ ๆ ที่
มนุษย์สร้างขึ้น. ปลาหลายตัวตายเพราะหมดแรงหรือเพราะไปกระแทกกับเครื่องกีดขวาง.”ฟาร์มเลี้ยงปลาแซล์มอน
ปลาแซล์มอนมีคุณค่าทางโภชนาการ. เนื่องจากปลาแซล์มอนแอตแลนติกที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติมีจำนวนลดลง จึงมีการทำฟาร์มเลี้ยงปลาแซล์มอนเพื่อการค้า. มีการนำลูกปลาแซล์มอนมาเลี้ยงในถังน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อยู่บนฝั่งจนกระทั่งเข้าสู่ระยะสโมลต์. ต่อมา พวกมันจะถูกนำไปเลี้ยงในกระชังที่อยู่ริมฝั่งจนโตเต็มที่และพร้อมจะขายให้ภัตตาคารและร้านขายอาหาร.
ปลาแซล์มอนที่ถูกเลี้ยงโดยวิธีนี้ก็ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน. คนเลี้ยงใช้อาหารปลาสังเคราะห์. นอกจากนี้ การถูกขังในกระชังทำให้ง่ายต่อการติดโรคและปรสิต เช่น เหาทะเล. สเปรย์บางอย่างที่ช่วยป้องกันอาจมีฤทธิ์ค่อนข้างแรงด้วย. เออร์เนสต์ซึ่งเป็นนักประดาน้ำกล่าวว่า “ผมเคยดำลงไปใต้กระชังเลี้ยงปลาบางแห่ง และเห็นได้ชัดเลยว่า ก้นทะเลรอบ ๆ บริเวณนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย.”
“ราชา” ซึ่งกำลังตกที่นั่งลำบาก
ปลาแซล์มอนมากมายที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติถูกจับโดยอวนที่อยู่นอกชายฝั่งก่อนที่มันจะว่ายกลับไปถึงแม่น้ำที่เป็นถิ่นกำเนิดของมัน. เนื่องจากปลาแซล์มอนที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติขายได้ราคา ชาวประมงบางคนจึงพยายามจับปลาเหล่านี้อย่างผิดกฎหมาย. ปลาแซล์มอนบางตัวที่สามารถว่ายถึงแม่น้ำได้ยังต้องฝ่าด่านนักตกปลาที่ได้รับอนุญาตอีก. เพื่อคุ้มครองปลาแซล์มอนที่มีอยู่ จึงมีการวางมาตรการต่าง ๆ หลายอย่าง เช่น ห้ามตกปลาในบางช่วงของแม่น้ำ, กำหนดค่าใบอนุญาตจับปลาในอัตราสูง, และประกาศฤดูห้ามจับปลา. กระนั้น ก็ตามมีการกะประมาณว่า ปลาแซล์มอนทุก ๆ 1 ใน 5 ตัวจะถูกจับขณะที่มันว่ายทวนน้ำขึ้นไป.
นอกจากนี้ ปลาแซล์มอนที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติยังติดโรคต่าง ๆ และทำให้เกิดผลเสียหายอย่างหนักต่อประชากรปลาแซล์มอน. โรคหนึ่งที่รู้จักกันก็คือ โรคเนื้อตายบริเวณผิวหนังที่เป็นแผล ซึ่งจะทำให้เกิดแผลเปื่อยบนหนังปลาและเป็นเหตุให้มันตายในที่สุด. ปลาแซล์มอนและสัตว์น้ำอื่น ๆ ทุกชนิดต่างต้องต่อสู้กับอันตรายร้ายแรงในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น มลพิษจากอุตสาหกรรมและยาฆ่าแมลงที่มีอยู่ในแม่น้ำ.
เนื่องจากต้องต่อสู้กับสถานการณ์อันเลวร้ายทั้งหมดนี้ จึงไม่แปลกเลยที่ “ราชาแห่งปลา” กำลังตกที่นั่งลำบาก. แม้หลายคนจะพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ปลาแซล์มอนยังต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ต่อไป. เฉพาะเมื่อถึงเวลาที่พระผู้สร้างแผ่นดินโลกผู้ทรงเปี่ยมด้วยฤทธิ์อำนาจมาหยุดยั้งมนุษย์ไม่ให้ทำลายแผ่นดินโลก เมื่อนั้นความสมดุลของธรรมชาติจึงจะกลับคืนมาดังเดิม.—ยะซายา 11:9; 65:25.
[แผนภูมิ/แผนที่หน้า 14, 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ปลาแซล์มอนแอตแลนติกเดินทางไกลมากจากแม่น้ำที่อยู่ในสหรัฐ, รัสเซีย, และสเปน เพื่อไปยังแหล่งอาหารบริเวณหมู่เกาะแฟโรและเกาะกรีนแลนด์ก่อนที่จะกลับไปยังถิ่นกำเนิดเพื่อวางไข่
[แผนที่]
สหรัฐ
เกาะกรีนแลนด์
ไอซ์แลนด์
หมู่เกาะแฟโร
รัสเซีย
ฝรั่งเศส
สเปน
[แผนภูมิ/ภาพหน้า 15]
วัฏจักรชีวิตอันน่าพิศวง
ไข่
↓
ไข่ที่มีตา
↓
อเลวิน
↓
ฟราย
↓
พาร์
↓
สโมลต์
↓
ตัวเต็มวัย
↓
การวางไข่
[รูปภาพ]
อเลวิน
พาร์
[ที่มาของภาพ]
Life cycle: © Atlantic Salmon Federation/J.O. Pennanen; alevin: U.S. Fish & Wildlife Service, Washington, D.C.; parr: © Manu Esteve 2003
[ภาพหน้า 16, 17]
ปลาแซล์มอนที่กลับสู่ถิ่นกำเนิดอาจกระโดดขึ้นน้ำตกนี้หรือใช้เส้นทางที่ง่ายกว่าโดยขึ้นไปตามบันไดปลาโจน (ภาพแทรกที่ขยายอยู่ทางขวา)
[ภาพหน้า 16, 17]
อันตรายที่คุกคามปลาแซล์มอนยังรวมถึงการจับปลามากเกินไปและโรคที่เกิดจากการเลี้ยงเพื่อการค้า
[ที่มาของภาพ]
Photo: Vidar Vassvik
UWPHOTO © Erling Svensen
[ที่มาของภาพหน้า 14]
© Joanna McCarthy/SuperStock