ความงามที่ซ่อนอยู่ในความมืด
ความงามที่ซ่อนอยู่ในความมืด
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในสโลวีเนีย
ลูกา เชช ถือตะเกียงดวงเล็กไว้แน่น เขาค่อย ๆ เดินฝ่าความมืดทึบลงไปใต้ดิน. ณ ที่ซึ่งอยู่ลึกมากใต้ผิวโลก เขาคลานขึ้นไปบนหินก้อนหนึ่งแล้วเขาก็ได้เห็นภาพอันน่าตื่นตะลึง. ภาพที่เปล่งประกายระยิบระยับปรากฏอยู่ต่อหน้าเขา. เขาพบอะไร? ทางเดินแห่งใหม่ของถ้ำโปสตอยนาในสโลวีเนีย.
การค้นพบครั้งนี้ในฤดูใบไม้ผลิปี 1818 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน. การค้นพบครั้งนี้ยังทำให้มีการศึกษาทางด้านถ้ำวิทยามากขึ้น ซึ่งเป็น “การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับถ้ำหรือการสำรวจถ้ำ.” เพื่อจะพิจารณากลุ่มถ้ำที่น่าทึ่งนี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น เชิญไปเยือนโปสตอยนา เมืองซึ่งอยู่ทางตะวันตกของสโลวีเนียด้วยกันกับเรา.
ลักษณะภูมิประเทศที่มีถ้ำอยู่มากมาย
กลุ่มถ้ำโปสตอยนามีทางเดินและถ้ำยาวกว่า 20 กิโลเมตร จึงเป็นกลุ่มถ้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป. ถ้ำเหล่านี้อยู่ในแถบภูมิภาคคราสหรือคาสต์ของสโลวีเนีย ซึ่งเป็นที่ราบสูงหินปูนที่ทอดตัวเข้ามาในแผ่นดินเป็นระยะทางถึง 50 กิโลเมตรจากทะเลเอเดรียติก ระหว่างเทือกเขาจูเลียนแอลป์และดีนาริกแอลป์. ถ้ำที่โปสตอยนาเป็นส่วนหนึ่งในถ้ำหลายพันแห่งของภูมิภาคนี้.
ปัจจุบันนี้ คำว่า “คาสต์” กินความกว้าง. นักธรณีวิทยาทั่วโลกใช้คำนี้เพื่อพรรณนาลักษณะภูมิประเทศที่คล้ายกับภูมิภาคคราส. ภูมิประเทศแบบคาสต์พบได้หลายแห่งในโลก เช่น จีน, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, อเมริกากลาง, และอินโดจีน รวมทั้งแถบแคริบเบียนและเมดิเตอร์เรเนียน. ภูมิประเทศแบบนี้มีลักษณะเด่นคือเป็นพื้นดินแห้งแล้งและเต็มไปด้วยหิน ซึ่งถูกเซาะกร่อนจนทำให้เกิดถ้ำ, หลุมยุบ, รวมทั้งลำธารและทะเลสาบใต้ดิน.
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศสโลวีเนียมีลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ ถ้ำและโครงสร้างใต้ดินแบบอื่น ๆ จึงมีอยู่มากมายในประเทศนี้. ถ้ำโปสตอยนาจัดได้ว่าน่าประทับใจพอ ๆ กับถ้ำคาสต์ที่มีชื่อเสียงในที่อื่น ๆ เช่น ถ้ำแมมมอทในรัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา และถ้ำขลุ่ยต้นอ้อแห่งกุ้ยหลิน ประเทศจีน.
เข้าไปดูในถ้ำ
มีการพรรณนาถึงถ้ำโปสตอยนาเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 เมื่อผู้คงแก่เรียนชาวสโลวีเนียชื่อยาเนซ ไวการ์ด วัลวาซอร์ เขียนเกี่ยวกับถ้ำนี้ในหนังสือของเขาชื่อความสง่างามในเขตแดนของขุนนางแห่งคาร์นีโอลา (ภาษาเยอรมัน). วัลวาซอร์พรรณนาถึงถ้ำต่าง ๆ ในบริเวณนี้ว่ามี “เสารูปร่างประหลาด.” เขาเปรียบเสาเหล่านี้ว่าเป็นเหมือน “สัตว์ที่สร้างความรำคาญ, งู, และสัตว์อื่น ๆ สารพัดชนิด . . . หรือสัตว์ประหลาดรูปร่างต่าง ๆ, ใบหน้าที่บิดเบี้ยว, ผีปิศาจ, และอะไรทำนองนั้น.” เขาเสริมว่า “ความสยดสยองและความน่ากลัวยังมีเพิ่มขึ้นเพราะทุกด้านมีช่องทางเดิน, หลุม, และเหวลึกอยู่มากมาย.” ไม่น่าแปลกใจที่หลังจากอ่านคำพรรณนาอันน่ากลัวนี้แล้ว มีไม่กี่คนที่กล้าเข้าไปสำรวจลึก ๆ ในความมืดอันน่ากลัวของถ้ำนี้!
แต่ในเวลาต่อมา ก็มีคนนิยมมาเที่ยวถ้ำโปสตอยนากันมากขึ้น. เป็นเช่นนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ เชช ได้ทำการค้นพบในปี 1818. ในปีถัดมา ก็มีการเปิดถ้ำนี้ให้คนทั่วไปเข้าไปชมกัน. แต่กว่าที่หลายคนจะสามารถเข้าไปเห็นความมหัศจรรย์ตามธรรมชาตินี้ด้วยตัวเองได้ ก็ต้องรอจนกระทั่งมีการสร้างทางรถไฟในปี 1872 และมีการนำไฟฟ้าเข้าไปในปี 1884. พวกเขาเห็นอะไร?
ปัจจุบัน กลุ่มถ้ำโปสตอยนามีชื่อเสียงในเรื่องช่องทางเดินที่งดงาม. สีสันที่สดใสและรูปร่างแปลก ๆ ของหินงอกหินย้อยทำให้ทางเดินในถ้ำดูราวกับอัญมณี. ทางเดินบางแห่งส่องประกายระยิบระยับราวกับโรยด้วยเพชรเม็ดเล็ก ๆ ส่วนทางเดินบางแห่งก็เปล่งสีเหลืองหม่น ๆ และสีแดงเข้ม. ข้อความที่เขียนบนฝาผนังแสดงให้เห็นว่าผู้มาเยือนเมื่อหลายศตวรรษก่อนก็ชื่นชอบความงามที่หาดูได้ยากของถ้ำนี้เช่นกัน.
ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่
การสำรวจถ้ำอันกว้างใหญ่เหล่านี้ไม่เพียงแต่เผยให้เห็นโครงสร้างทางธรณีวิทยาแปลก ๆ ใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนอีกด้วย. จนถึงปัจจุบัน มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่มากกว่าสิบชนิดในกลุ่มถ้ำโปสตอยนา.
เชช เองได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ชนิดหนึ่งในปี 1831 ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำวิทยาทั่วโลกพากันตื่นเต้น. เชชค้นพบแมลงปีกแข็งชนิดประหลาดที่อาศัยอยู่ในถ้ำ ซึ่งถูกตั้งชื่อว่าเลปโตดีรุส โฮเฮนวาร์ตี (Leptodirus hohenwarti) หมายถึง “ตัวที่มีคอกิ่ว.” ดังที่ชื่อบ่งบอก เต่าทองชนิดนี้มีคอเล็ก. มันยังมีหัวเล็ก, มีท้องป่อง ๆ, และมีหนวดกับขาที่ยาวผิดปกติ. น่าเสียดายที่เต่าทองตัวแรกที่จับได้บังเอิญได้รับความเสียหาย ดังนั้น การศึกษาโดยละเอียดจึงทำไม่ได้จนกระทั่งได้พบเต่าทองตัวที่สองในอีก 14 ปีต่อมา.
สิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดอีกชนิดหนึ่งที่พบในบริเวณนี้คือตัวโอล์ม ซึ่งเป็นซาลามันเดอร์ตาบอดชนิดหนึ่ง. แม้แต่เมื่อปี 1689 วัลวาเซอร์ ก็เรียกมันว่า ‘เผ่าพันธุ์มังกร.’ มีการศึกษาค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์หลายครั้งเกี่ยวกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็กนี้.
ถ้ำใกล้เคียง
ถ้ำโปสตอยนาเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มถ้ำที่มีอยู่หลายแห่งในแถบภูมิภาคนี้. ถ้ำชโกเซียนที่อยู่ใกล้ ๆ ซึ่งอยู่ในรายชื่อมรดกโลกขององค์การยูเนสโกมาตั้งแต่ปี 1986 นั้นน่าทึ่งเป็นพิเศษ. ผู้มาเที่ยวชมกลุ่มถ้ำนี้รู้สึกเกรงขามกับขนาดอันมโหฬารของถ้ำและหุบเหว. ว่ากันว่าถ้ำและหุบเหวเหล่านี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป. ตัวอย่างเช่น ช่วงหนึ่งในกลุ่มถ้ำนี้มีความยาว 300 เมตร กว้าง 100 เมตร และสูง 110 เมตร!
มีป้อมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่ปากถ้ำพรีดยามา ซึ่งเคยเป็นที่อาศัยของอัศวินในตำนาน ผู้มีชื่อว่าเอราเซม ยัมสกี. ว่ากันว่า ปราสาทนี้ยืนหยัดต้านทานผู้รุกรานได้นานนับศตวรรษ. อาหารจะถูกนำเข้ามาในปราสาทโดยทางลับใต้ดินซึ่งเชื่อมต่อกับถ้ำที่อยู่ใต้ปราสาท. กล่าวกันว่า เอราเซมเคยเยาะเย้ยผู้รุกรานโดยโยนผลเชอร์รีสดหรือเนื้อย่างลงไปเพื่อพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้อดอยากแม้จะถูกกักอยู่ภายในกำแพงปราสาท. ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่ แต่ทางลับใต้ดินก็มีอยู่จริงและเข้าไปดูได้.
การสำรวจดินแดนแห่งถ้ำที่น่าทึ่งในแถบภูมิภาคคาสต์นี้อาจทำให้คุณตื่นเต้นอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน. เฮนรี มัวร์ ประติมากรผู้มีชื่อเสียงก้องโลก เคยพรรณนาถ้ำโปสตอยนาไว้ว่า “นี่เป็นการแสดงประติมากรรมของธรรมชาติที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น.” ถ้าคุณมีโอกาสมาที่นี่ คุณอาจเห็นด้วยกับเขา.
[ภาพหน้า 24]
“ปลามนุษย์”
โปรเตอุส อังกวีนุส (Proteus anguinus) เป็นที่รู้จักกันในแถบนี้ว่าปลามนุษย์ เพราะหนังของมันมีสีประหลาด ซึ่งทำให้บางคนนึกถึงผิวหนังของมนุษย์. สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีกระดูกสันหลังชนิดนี้พบได้เฉพาะตามแหล่งน้ำใต้ดินในแถบภูมิภาคคาสต์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี, สโลวีเนีย, และทางใต้. มันมีหนังที่ขาวซีดและดวงตาที่ฝ่อ แต่นั่นไม่เป็นอุปสรรคกับมัน เพราะมันมีชีวิตอยู่ในความมืดมิดตั้งแต่ยังเป็นไข่จนกระทั่งตาย. น่าทึ่ง มีรายงานว่า สัตว์ชนิดนี้บางตัวมีชีวิตอยู่นานถึง 100 ปี และมันสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้หลายปีโดยไม่ได้กินอาหาร.
[ที่มาของภาพ]
Arne Hodalic/www.ipak.org
[ภาพหน้า 24]
1. ถ้ำแห่งหนึ่งในกลุ่มถ้ำชโกเซียนมีความสูง 110 เมตร
2. ป้อมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ปากถ้ำพรีดยามา
3. ถ้ำโปสตอยนากลายเป็นถ้ำที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
[ที่มาของภาพหน้า 23]
Arne Hodalic/www.ipak.org