การเลี้ยงดูบุตรตามหลักการของพระเจ้า
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
การเลี้ยงดูบุตรตามหลักการของพระเจ้า
“จะวางกฎอย่างไรเพื่อลูกจะไม่ฝ่าฝืน”
“ค่านิยมห้าประการที่ควรสอนลูกก่อนอายุห้าขวบ”
“ความสามารถทางอารมณ์ห้าประการที่เด็กทุกคนพึงมี”
“ข้อบ่งชี้ห้าประการที่แสดงว่าคุณตามใจลูกมากเกินไป”
“มนต์สอนลูกในหนึ่งนาที”
หากการเลี้ยงดูบุตรเป็นเรื่องง่ายก็คงไม่ค่อยมีใครสนใจบทความที่อยู่ในนิตยสารดังที่มีกล่าวไว้ข้างต้น. ในที่สุดจะไม่มีใครเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรออกมาอีก. อย่างไรก็ดี การเลี้ยงดูบุตรไม่ง่ายตั้งแต่ไหนแต่ไร. แม้แต่เมื่อหลายพันปีก่อนก็มีการพูดว่า “บุตรชายโฉดเป็นที่ให้บิดาได้ความโศกเศร้า, และเป็นเหตุให้มารดาที่คลอดตัวมานั้นได้รับความขื่นขม.”—สุภาษิต 17:25.
ในปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่มีคำแนะนำเรื่องนี้อยู่มากมาย แต่บิดามารดาหลายคนต่างก็ไม่แน่ใจว่าจะตีสอนบุตรอย่างไร. คัมภีร์ไบเบิลให้การช่วยเหลืออะไรได้บ้าง?
ความหมายที่แท้จริงของการตีสอน
คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้อย่างชัดเจนถึงบทบาทของบิดามารดาในการตีสอน. เพื่อเป็นตัวอย่าง เอเฟโซ 6:4 บอกดังนี้: “ท่านทั้งหลายผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของตนให้ขัดเคืองใจ แต่จงอบรมด้วยการตีสอนและการเตือนสติขององค์พระผู้เป็นเจ้า [“การปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา,” ล.ม.].” คัมภีร์ข้อนี้พูดถึงบิดาโดยเฉพาะว่าเป็นผู้ที่นำหน้าในการเอาใจใส่ดูแลบุตรของตน. แน่นอน มารดาย่อมให้ความร่วมมือกับสามี.
พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลของผู้แปล (ภาษาอังกฤษ) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ในพระคัมภีร์ แง่หนึ่งของการตีสอนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการอบรม, การแนะนำสั่งสอน, และการให้ความรู้ อีกแง่หนึ่งก็เกี่ยวข้องกับการว่ากล่าว, การแก้ไข, และการลงโทษ. ปกติแล้ว มักใช้ในแง่ของการอบรมบุตร.” ด้วยเหตุนี้ การตีสอนจึงไม่ใช่แค่การตำหนิว่ากล่าว แต่รวมถึงการฝึกอบรมทุกอย่างที่เด็กจำเป็นต้องได้รับเพื่อจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี. แต่ผู้เป็นบิดามารดาจะทำอย่างไรเพื่อไม่ทำให้บุตรขัดเคืองใจ?
ร่วมความรู้สึก
อะไรทำให้เด็กรู้สึกขัดเคืองใจ? ลองนึกถึงสภาพการณ์ทำนองนี้. คุณมีเพื่อนร่วมงานเป็นคนเจ้าอารมณ์และหงุดหงิดง่าย. ดูเหมือนเขาจะคอยจับผิดไม่ว่าคุณพูดหรือทำอะไร. เขามักจะไม่ยอมรับงานของคุณ และทำให้คุณรู้สึกว่าไม่มีใครต้องการคุณ. ท่าทีแบบนั้นคงทำให้คุณรู้สึกขัดเคืองและท้อใจมิใช่หรือ?
ลูกอาจรู้สึกเช่นนั้นด้วยเมื่อพ่อแม่บ่นจู้จี้, คอยค่อนแคะ, หรือว่ากล่าวโดยใช้อารมณ์. จริงอยู่ เด็กจำต้องได้รับการว่ากล่าวแก้ไขเป็นครั้งคราว และคัมภีร์ไบเบิลให้สิทธิ์บิดามารดาที่จะทำเช่นนั้น. อย่างไรก็ดี การทำให้เด็กขัดเคืองใจโดยการปฏิบัติอย่างเกรี้ยวกราดและขาดความรักย่อมก่อผลเสียต่อเด็กทั้งด้านอารมณ์, ด้านวิญญาณ, และแม้แต่ด้านร่างกายด้วยซ้ำ.
บุตรสมควรได้รับการใส่ใจดูแลจากคุณ
พ่อแม่ต้องจัดเวลาอยู่กับลูก. เกี่ยวกับข้อกฎหมายต่าง ๆ ของพระเจ้า พระบัญญัติ 6:7 สั่งบิดาทั้งหลายว่า “จงอุตส่าห์สั่งสอน [“พร่ำสอน,” ล.ม.] บุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้, และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง, หรือนอนลง, และตื่นขึ้น.” เด็กเกิดมาพร้อมกับความรู้สึกต้องการให้บิดามารดาเอาใจใส่ดูแลตนอย่างลึกซึ้ง. การพูดคุยกับลูกแต่ละวันด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนจะช่วยคุณให้เข้าใจความรู้สึกของลูก. นี่ทำให้ง่ายขึ้นที่จะเข้าถึงหัวใจเขาด้วยหลักการของพระคัมภีร์ ซึ่งจะกระตุ้นเขาให้ ‘เกรงกลัวพระเจ้าและถือรักษาบัญญัติทั้งปวงของพระองค์.’ (ท่านผู้ประกาศ 12:13) นี่คือส่วนหนึ่งของการตีสอนตามหลักการของพระเจ้า.
หากเทียบการอบรมเลี้ยงดูบุตรกับการสร้างบ้าน การตีสอนก็เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ใช้ในงานก่อสร้าง. เมื่อบิดามารดาตีสอนบุตรด้วยวิธีที่ถูกต้อง เขาสามารถเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดีไว้ในตัวบุตร และเตรียมพวกเขาให้พร้อมที่จะเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต. สุภาษิต 23:24, 25 พรรณนาถึงผลที่จะได้รับดังนี้: “บิดาของคนชอบธรรมจะชื่นใจยินดีมาก; และผู้ที่ให้กำเนิดบุตรที่มีปัญญาจะมีความชื่นชมยินดีในบุตรนั้น. จงทำให้บิดามารดาของเจ้ามีความยินดี, และจงทำให้มารดาที่คลอดเจ้ามานั้นมีใจชื่นบาน.”
[กรอบ/ภาพหน้า 27]
“การปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา”
เอเฟโซ 6:4 (ล.ม.) กล่าวถึง “การปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” คำเดิมในภาษากรีกสำหรับวลีที่ว่า “การปรับความคิดจิตใจ” ได้รับการแปลในคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับว่า “การเอาใจใส่,” “คำแนะนำ,” และ “การตักเตือน.” ถ้อยคำเหล่านี้แสดงว่าสมาชิกครอบครัวไม่เพียงแต่ควรอ่านพระคัมภีร์ด้วยกันหรือศึกษาหนังสือคู่มือให้จบโดยถือว่าเป็นเพียงกิจวัตรอย่างหนึ่ง. บิดามารดาต้องทำให้แน่ใจว่าลูก ๆ ของตนเข้าใจความหมายในพระคำของพระเจ้า, ความสำคัญของการเชื่อฟัง, ความรักที่พระยะโฮวามีต่อพวกเขา, และการปกป้องคุ้มครองที่พระองค์จะให้เขา.
จะบรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร? จูดี คุณแม่ที่มีลูกสามคนมองเห็นความจำเป็นที่ต้องลงมือทำบางสิ่ง ไม่ใช่แค่พร่ำเตือนลูกให้นึกถึงหลักการของพระเจ้า. “ฉันเห็นว่าลูก ๆ ไม่ชอบให้ฉันพูดเรื่องเดิม, วิธีเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก. ฉันจึงคิดหาวิธีอื่นมาสอนเขา. วิธีหนึ่งคือค้นหาบทความจากวารสารตื่นเถิด! ที่พูดถึงเรื่องเหล่านั้นในแนวที่ต่างออกไป. ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงรู้ว่าจะสอนลูก ๆ อย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่เขาจำเป็นต้องเรียนรู้โดยไม่ทำให้เขาขัดเคืองใจ.”
แอนเจโล ซึ่งครอบครัวของเขาผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาแล้ว ได้เล่าวิธีที่เขาสอนลูกสาวทั้งสี่คนให้คิดรำพึงถึงพระคำของพระเจ้า ดังนี้: “เราอ่านข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ด้วยกัน แล้วผมก็เลือกเฉพาะบางวลีและอธิบายว่าจะใช้กับสภาพการณ์ของลูกสาวผมได้อย่างไร. ทีหลัง เมื่อลูก ๆ หยิบพระคัมภีร์ขึ้นมาอ่านเอง ผมสังเกตว่าเขานั่งครุ่นคิดและใคร่ครวญถึงความหมายที่พระคำของพระเจ้ามีต่อพวกเขา.”