“อัญมณีแห่งท้องทะเล”
“อัญมณีแห่งท้องทะเล”
ไดอะตอม สาหร่ายที่เล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นซึ่งห่อตัวอยู่ในเปลือกแก้วที่มีลวดลายประณีตงดงาม มีอยู่มากมายในมหาสมุทรทุกแห่งบนแผ่นดินโลก. ไดอะตอมเหล่านี้ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์รู้สึกประทับใจมานานหลายศตวรรษแล้ว ที่จริง นับตั้งแต่มีการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ขึ้นเป็นครั้งแรกและมนุษย์สามารถวาดภาพคร่าว ๆ ของไดอะตอมที่งดงามเหล่านี้ได้. นับว่ามีเหตุผลสมควรที่มีการเรียกไดอะตอมว่าอัญมณีแห่งท้องทะเล.
อัลเฟรด โนเบล ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ในช่วงทศวรรษ 1860 ใช้ซิลิกาจากไดอะตอมเพื่อทำให้ไนโตรกลีเซอรีนมีเสถียรภาพ ซึ่งทำให้เขาสามารถผลิตระเบิดให้เป็นรูปแท่งที่สามารถเคลื่อนย้ายได้. ทุกวันนี้ มีการใช้เปลือกไดอะตอมที่กลายเป็นฟอสซิลในเชิงพาณิชย์หลายวิธี ตัวอย่างเช่น ทำให้สีที่ทาถนนสะท้อนแสง, ทำให้ไวน์บริสุทธิ์, และใช้เป็นเครื่องกรองน้ำในสระว่ายน้ำ.
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือข้อเท็จจริงที่ว่า การสังเคราะห์แสงถึงหนึ่งในสี่บนดาวเคราะห์ของเรามาจากพืชเซลล์เดียวขนาดจิ๋วเหล่านี้. นักวิจัยชื่ออัลเลน มิลลิแกน และฟรังซัว โมเรล จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกาได้พบว่า ซิลิกาที่อยู่ในเปลือกแก้วของไดอะตอมทำให้น้ำที่อยู่ภายในเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะที่สุดสำหรับการสังเคราะห์แสง. นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เหตุผลที่เปลือกแก้วมีลวดลายวิจิตรงดงามถึงเพียงนี้ก็เพื่อจะได้มีพื้นผิวภายในเปลือกแก้วที่สัมผัสกับน้ำมากขึ้น ซึ่งทำให้การสังเคราะห์แสงยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น. ส่วนเรื่องที่ว่าเปลือกแก้วที่เล็กแต่สวยงามเหล่านี้ก่อตัวจากซิลิกาที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลได้อย่างไรนั้นยังคงเป็นเรื่องลึกลับอยู่ แต่สิ่งที่บรรดานักวิจัยรู้ในตอนนี้ก็คือ การที่มันดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยออกซิเจนออกมา ทำให้ไดอะตอมมีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนชีวิตบนแผ่นดินโลก และบางทีอาจมีบทบาทสำคัญกว่าพืชส่วนใหญ่ที่อยู่บนพื้นดินด้วยซ้ำ.
โมเรลถือว่าไดอะตอม “เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก.” มิลลิแกนเสริมว่า หากไดอะตอมเหล่านี้ไม่ต้องการคาร์บอนไดออกไซด์ “ปรากฏการณ์เรือนกระจกอาจร้ายแรงกว่าที่เป็นอยู่.”
เมื่อไดอะตอมตาย ซากไดอะตอมที่ยังมีคาร์บอนเหลืออยู่จะจมลงสู่พื้นมหาสมุทรและกลายเป็นฟอสซิลในที่สุด. นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า ภายใต้แรงดันที่หนาแน่น ไดอะตอมที่กลายเป็นฟอสซิลเหล่านี้ช่วยผลิตน้ำมันสำรองของโลก. อย่างไรก็ตาม กำลังมีความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า อุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากโลกร้อนขึ้นจะทำให้แบคทีเรียกินซากไดอะตอมหมดก่อนที่มันจะจมลง และคาร์บอนก็จะถูกปล่อยกลับขึ้นมาบนผิวน้ำ. ดังนั้น แม้แต่ “อัญมณีแห่งท้องทะเล” อันกระจ้อยร่อยนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบค้ำจุนชีวิตที่ถูกออกแบบมาอย่างน่าอัศจรรย์ ปัจจุบันก็กำลังถูกคุกคาม.
[ที่มาของภาพหน้า 15]
© Dr. Stanley Flegler/Visuals Unlimited