มีความไม่พอใจเพิ่มขึ้นในเรื่องภาษีหรือ?
มีความไม่พอใจเพิ่มขึ้นในเรื่องภาษีหรือ?
“แม้นว่าฉันทำงานด้วยความเหนื่อยยาก แต่สิ่งที่ได้มาก็จะถูกแย่งไป.”—สุภาษิตของชาวบาบิโลน ประมาณ 2300 ปีก่อน ส.ศ.
“ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอนนอกจากความตายกับภาษี.”—เบนจามิน แฟรงกลิน รัฐบุรุษชาวอเมริกัน ปี 1789.
รูเบนเป็นพนักงานขาย. ทุก ๆ ปี เขาต้องเสียภาษีเกือบหนึ่งในสามของค่าจ้างที่เขาหามาด้วยความเหนื่อยยาก. เขาพูดด้วยความข้องใจว่า “ผมไม่รู้เลยว่ารัฐบาลเอาเงินพวกนี้ไปใช้ทำอะไร. เนื่องจากรัฐบาลตัดงบประมาณไปมากทีเดียว เราจึงได้รับสวัสดิการน้อยกว่าแต่ก่อน.”
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ภาษีก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต. นักเขียนที่ชื่อชาลส์ แอดัมส์ กล่าวว่า “รัฐเรียกเก็บภาษีเงินได้หลายรูปแบบนับตั้งแต่เริ่ม [มี] สังคมที่เจริญแล้ว.” ภาษีก่อให้เกิดความไม่พอใจอยู่เนือง ๆ และบางครั้งถึงกับเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ. ชาวอังกฤษในสมัยโบราณได้รบกับชาวโรมันโดยกล่าวว่า “ถูกฆ่าเสียยังดีกว่าที่เราต้องมาทนแบกภาษี!” ในฝรั่งเศส ความเกลียดชังที่มีต่อภาษีเกลือมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งช่วงนั้นมีการประหารพนักงานเก็บภาษีด้วยเครื่องกิโยตีน. การแข็งข้อเรื่องภาษียังมีบทบาทในสงครามประกาศอิสรภาพของสหรัฐซึ่งสู้รบกับอังกฤษ.
ไม่น่าแปลกใจที่ความไม่พอใจเรื่องภาษียังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน. ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ระบบจัดเก็บภาษีในประเทศกำลังพัฒนามักจะ “ไร้ประสิทธิภาพ” และ “ไม่เป็นธรรม.” นักวิจัยคนหนึ่งกล่าวว่า มีประเทศยากจนในแอฟริกาประเทศหนึ่งซึ่งมี “ภาษีท้องถิ่นมากกว่า 300 รายการ ทั้งนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการภาษีเหล่านั้นแม้ว่าบุคลากรจะมีความสามารถมากเพียงไรก็ตาม. วิธีการจัดเก็บและการดูแลที่เหมาะสมก็ไม่มีเลยหรือไม่ได้นำมาใช้ . . . ซึ่งทำให้มีโอกาสในการทุจริต.” สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ในประเทศแถบเอเชียประเทศหนึ่ง “เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเรียกเก็บ . . . ส่วยซึ่งผิดกฎหมายหลายสิบรายการ—มีตั้งแต่ค่าธรรมเนียมปลูกกล้วยจนถึงการฆ่าหมู—เพื่อเพิ่มเงินงบประมาณของเทศบาลท้องถิ่นหรือไม่ก็เพื่อเข้ากระเป๋าตัวเอง.”
ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็กระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจเพิ่มขึ้น. วารสารจากองค์การสหประชาชาติชื่อการฟื้นฟูแอฟริกา (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “หนึ่งในบรรดาความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกร ส่วนประเทศกำลังพัฒนาเก็บภาษีจากเกษตรกร. . . . การศึกษาวิจัยของธนาคารโลกบ่งชี้ว่า เงินช่วยเหลือที่ให้แก่เกษตรกรของสหรัฐอย่างเดียวก็ทำให้รายได้จากการส่งออกฝ้ายของประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกลดลงถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี.” ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาจึงอาจไม่พอใจเมื่อรัฐบาลขูดรีดภาษีจากรายได้ของตนซึ่งก็มีน้อยอยู่แล้ว. เกษตรกรคนหนึ่งในประเทศแถบเอเชียบอกว่า “ถ้า [พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาล] มาที่นี่เมื่อไร ก็แน่นอนว่า พวกเขาจะเรียกเก็บเงิน.”
เมื่อไม่นานมานี้ มีความไม่พอใจคล้าย ๆ กันในแอฟริกาใต้ เมื่อรัฐบาลเริ่มเรียกเก็บภาษีที่ดินจากเกษตรกร. พวกชาวไร่ชาวนาขู่ว่าจะฟ้องศาล. โฆษกฝ่ายเกษตรกร
กล่าวอ้างว่า ภาษีนี้ “จะทำให้เกษตรกรล้มละลายและยังจะทำให้คนงานในไร่นาว่างงานอีกด้วย.” บางครั้ง ความไม่พอใจในเรื่องภาษีอากรยังก่อให้เกิดความรุนแรงแม้กระทั่งในปัจจุบัน. สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า “ปีที่แล้ว เกษตรกร [ชาวเอเชีย] สองคนถูกสังหารเมื่อตำรวจจู่โจมหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านกำลังชุมนุมประท้วงเรื่องภาษีที่สูงเกินไป.”อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แต่คนจนเท่านั้นที่ไม่พอใจเรื่องการเสียภาษี. การสำรวจในแอฟริกาใต้เปิดเผยว่า ผู้เสียภาษีที่ร่ำรวยหลายคน “ไม่เต็มใจจะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถปรับปรุงการบริการซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา.” บุคคลที่มีชื่อเสียงทั่วโลกทั้งในวงการดนตรี, ภาพยนตร์, กีฬา, และการเมืองต่างก็กลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่เนื่องจากการหลบเลี่ยงภาษี. หนังสือการตกต่ำ (และการล่มจม?) ของภาษีเงินได้ (ภาษาอังกฤษ) ให้ข้อสังเกตว่า “น่าเศร้า เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดในรัฐบาลของเรา ซึ่งก็คือประธานาธิบดีทั้งหลายของเรา ก็ยังไม่ได้เป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์พร้อมในการกระตุ้นสามัญชนให้เชื่อฟังกฎหมายภาษี.”
บางทีคุณอาจรู้สึกเช่นกันว่าภาษีที่คุณเสียนั้นสูงเกินไป, ไม่ยุติธรรม, และแทบจะจ่ายไม่ไหว. ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณควรมีทัศนะอย่างไรในเรื่องการเสียภาษี? ภาษีมีจุดประสงค์ที่แท้จริงใด ๆ ไหม? ทำไมระบบภาษีมักจะซับซ้อนมากและดูเหมือนไม่ยุติธรรมเลย? บทความถัดไปจะวิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้.
[ภาพหน้า 4]
ในประเทศกำลังพัฒนา คนจนอาจแบกรับภาระภาษีที่ไม่ยุติธรรม
[ที่มาของภาพ]
Godo-Foto