ฉันจะเลิกพยายามเป็นคนสมบูรณ์พร้อมได้อย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะเลิกพยายามเป็นคนสมบูรณ์พร้อมได้อย่างไร?
“จริง ๆ แล้ว คตินิยมที่มุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อมได้ครอบงำชีวิตฉันอยู่.”—คาร์ลี.
การมุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อม ซึ่งก็คือความเชื่อที่ว่าคนเราต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมจริง ๆ ในทุกสิ่งที่เขาทำ ทำให้หนุ่มสาวหลายคนหนักใจ.
หนังสือการมุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อม—ผิดด้วยหรือที่จะเป็นคนดีเลิศหาที่ติไม่ได้? (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “มีความแตกต่างกันมากระหว่างการมุ่งมั่นเพื่อความเป็นเลิศอย่างที่มีเหตุผลกับการบากบั่นอย่างไม่สมเหตุผลเพื่อบรรลุอุดมการณ์ที่เป็นไปไม่ได้. คนที่พยายามจะทำให้ดีเลิศอาจมีความปรารถนาอันแรงกล้าในการวางระเบียบ, จัดการ, และตั้งความคาดหมายไว้สูง แต่พวกเขาก็ยังยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง และมีวิธีจัดการกับข้อผิดพลาดด้วยแนวทางที่สร้างสรรค์. . . . ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อมมักวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าตนจะทำผิดพลาด. พวกเขามีมาตรฐานสูงเหลือเกิน.”
คำพรรณนานี้ตรงกับคุณไหม? ถ้ามาตรฐานของคุณสูงจนไม่อาจบรรลุได้ คุณอาจกลายเป็นคนไม่อยากทำอะไรไปได้ง่าย ๆ. คุณอาจรู้สึกว่าคุณเลี่ยงการทำอะไรใหม่ ๆ. หรือคุณอาจชอบผัดเลื่อนการทำกิจกรรมที่สำคัญเพราะเกรงว่าจะทำไม่สำเร็จ. คุณอาจถึงกับไม่อยากคบคนที่ทำได้ไม่ถึงมาตรฐานของคุณ แล้วคุณก็จะสำนึกว่าตัวเองขาดเพื่อน.
หากคุณเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ก็ขอให้พิจารณาถ้อยคำของคัมภีร์ไบเบิลที่ท่านผู้ประกาศ 7:16 (ล.ม.) ที่ว่า “อย่าเป็นคนชอบธรรมเกินไป ทั้งอย่าสำแดงตนว่าฉลาดเหลือหลาย. เหตุใดเจ้าจะก่อความอ้างว้างแก่ตนเองเล่า?” ถูกแล้ว ผู้ที่มุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อมอาจ “ก่อความอ้างว้าง” แก่ตัวเองได้! อันที่จริง มีการผูกโยงการมุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อมเข้ากับภาวะผิดปกติด้านการกินซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น โรคอะโนเรกเซียและโรคบูลิเมีย. *
ด้วยเหตุนี้ คุณอาจถามว่า ‘ฉันจะเลิกพยายามเป็นคนสมบูรณ์พร้อมได้อย่างไร?’ จริง ๆ แล้ว การเปลี่ยนความคิดของคนเราในเรื่องนี้อาจทำได้ยาก. แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้าก็ย่อมทำได้. ฉะนั้น ให้เรามาพิจารณาทัศนะของพระเจ้าในเรื่องการมุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อม.
ความสมบูรณ์พร้อม—เป้าหมายที่บรรลุได้ไหม?
ประการแรก เป็นไปได้ไหมที่คุณจะเป็นคนสมบูรณ์พร้อมอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง? เป็นไปไม่ได้ ดังที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ “ไม่มีคนชอบธรรมสักคนหนึ่ง, ไม่มีเลย . . . คนทั้งหลายได้หลงทางไปแล้ว, ต่างก็ขาดประโยชน์โรม 3:10-12) นี่เป็นถ้อยคำที่กระตุ้นความคิดมิใช่หรือ? ถ้อยคำดังกล่าวบ่งชี้ว่า ใครก็ตามที่พยายามเป็นคนสมบูรณ์พร้อมอย่างไม่ขาดตกบกพร่องจะล้มเหลว.
ด้วยกันทั้งสิ้น.” (จงพิจารณาอัครสาวกเปาโล ซึ่งเห็นได้ชัดว่าท่านเป็นตัวอย่างเด่นในด้านวิญญาณ. กระนั้น แม้แต่เปาโลเองก็ไม่สามารถรับใช้พระเจ้าโดยไม่มีข้อผิดพลาด. ท่านสารภาพดังนี้: “เมื่อข้าพเจ้าจะกระทำการดี, การชั่วก็ยังติดอยู่ในตัวข้าพเจ้า. เพราะว่าฝ่ายจิตต์ใจของข้าพเจ้าก็มีความเห็นชอบในพระบัญญัติแห่งพระเจ้า. แต่ข้าพเจ้าเห็นมีกฎธรรมดาอีกอย่างหนึ่งอยู่ในอวัยวะของข้าพเจ้า, ซึ่งสู้รบกันกับกฎธรรมดาซึ่งอยู่ในใจข้าพเจ้า, และชักนำข้าพเจ้าให้อยู่ใต้บังคับกฎธรรมดาความผิดซึ่งอยู่ในอวัยวะของข้าพเจ้า.” (โรม 7:21-23) ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้าเท่านั้นที่ทำให้เปาโลสามารถเป็นคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์ได้.
น่ายินดี พระเจ้าไม่ได้เรียกร้องหรือคาดหมายความสมบูรณ์พร้อมจากคนหนึ่งคนใดในพวกเรา. “พระองค์ทรงทราบร่างกายของพวกข้าพเจ้าแล้ว; พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:14) เฉพาะแต่ในโลกใหม่ของพระเจ้าเท่านั้นที่มวลมนุษย์จะบรรลุสภาพสมบูรณ์พร้อมได้ในที่สุด.
ปรับความคาดหมายของคุณเสียใหม่
กว่าจะถึงเวลานั้นคงไม่ตรงกับสภาพจริงหากคุณคิดว่าจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมอย่างไม่ขาดตกบกพร่องได้. ที่จริง คุณควรคาดหมายว่าคงจะทำผิดพลาดบ้างเป็นครั้งคราว. (โรม 3:23) บางครั้งเราไม่ได้ตระหนักถึงข้อผิดพลาดของตัวเองด้วยซ้ำ! บทเพลงสรรเสริญ 19:12 (ฉบับแปลใหม่) บอกว่า “ผู้ใดเล่าจะเล็งเห็นความผิดพลาดของตนได้.” เด็กหนุ่มชื่อแมตทิวพูดในทำนองนี้ว่า “เราไม่ใช่มนุษย์สมบูรณ์ ในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์สักคน. ถ้าคุณคาดหมายความสมบูรณ์จากตัวเอง คุณจะไม่มีวันมีความสุข. . . . นั่นไม่เป็นไปตามสภาพจริง มันเป็นไปไม่ได้.”
โดยมีความคิดดังกล่าวในใจ คุณจะไม่ลองปรับความคาดหมายบ้างหรือ? ตัวอย่างเช่น คุณทำงานจนร่างกายอิดโรยเต็มทีเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นคนที่ทำได้ดีที่สุดไหม? คัมภีร์ไบเบิลชี้ให้เห็นว่าการตรากตรำทำงานจนกายละเหี่ยเช่นนั้น ที่แท้แล้วก็อาจ “ไร้ค่าและเป็นการไล่ตามลม.” (ท่านผู้ประกาศ 4:4, ล.ม.) ข้อเท็จจริงคือ คนที่เคยก้าวถึงจุดที่ทำได้ดีที่สุดมีเพียงน้อยคน. และถึงแม้บางคนทำได้ ไม่ช้าก็เร็วจะมีคนที่ทำได้ดีกว่าขึ้นมาแทน.
อัครสาวกเปาโลแนะนำดังนี้: “ข้าพเจ้าบอกทุกคนท่ามกลางท่านทั้งหลายว่า อย่าคิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็นจะคิดนั้น; แต่คิดเพื่อจะมีสุขภาพจิตดี.” (โรม 12:3, ล.ม.) จงยอมรับสภาพความเป็นจริง! จงปรับเปลี่ยนความคาดหมายของคุณเสียใหม่เพื่อความคาดหมายของคุณจะสอดคล้องกับความสามารถและข้อจำกัดต่าง ๆ ของคุณ. จงแสวงความดี เลิศ แต่อย่าแสวงความสมบูรณ์พร้อม. เจาะจงตั้งเป้าหมายเฉพาะอย่าง แต่ให้เป็นแบบที่บรรลุได้.
ตัวอย่างเช่น เปาโลสนับสนุนติโมเธียวให้เป็น “คนงานที่ไม่มีอะไรต้องอาย ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.” (2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.) ถูกแล้ว เปาโลสนับสนุนความดีเลิศ ไม่ใช่ความสมบูรณ์พร้อม. ในทำนองเดียวกัน จงตั้งเป้าที่สมเหตุสมผลสำหรับตัวเอง. และถ้าคุณไม่แน่ใจว่า “ความสมเหตุสมผล” หมายความอย่างไร คุณก็ควรพูดคุยกับพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือกับผู้ใหญ่บางคนที่คุณวางใจ.
บางคนถึงกับแนะให้คุณพยายามทำสิ่งที่คุณไม่ถนัด เช่น ฝึกเล่นกีฬาประเภทใหม่หรือเล่นเครื่องดนตรีบางชนิด. จริงอยู่ เมื่อคุณฝึกเรียนสิ่งใหม่ คุณคงจะทำผิดพลาดหลายครั้ง. แต่นั่นก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด. บางทีสิ่งนั้นอาจช่วยคุณให้มองเห็นว่า การทำผิดพลาดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ก็ได้.
สิ่งใดก็ตามที่คุณพยายามจะบรรลุให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรายงานหรือการเล่นเปียโนเป็นเพลงทำนองผสม คุณควรคำนึงถึงคำแนะนำข้อหนึ่งของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “อย่าไถลในการงานของท่าน.” (โรม 12:11, ล.ม.) ใช่แล้ว อย่าผัดวันประกันพรุ่งเพียงเพราะคุณกลัวจะทำไม่สำเร็จ.
เด็กสาวคนหนึ่งมักจะผัดเลื่อนการทำกิจกรรมพิเศษของโรงเรียน โดยแก้ตัวว่าเธอ “จัดระเบียบชีวิตตัวเองอยู่.” แม้การจัดชีวิตตัวเองเป็นสิ่งที่ดี แต่จงระวังอย่าใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างเพื่อจะผัดวันประกันพรุ่ง. เด็กสาวคนนี้ได้มาตระหนักว่า “การเผชิญทางเลือกระหว่างการส่งรายงานซึ่งคุณยังไม่ค่อยพอใจ กับการไม่ส่งรายงานนั้นเลย ทางเลือกที่ดีกว่าก็คือทำส่งครู.”
ขจัดความคิดที่ทำลายตัวเองให้หมดสิ้น!
จริงอยู่ คงไม่ง่ายที่จะรับมือถ้างานที่เราทำออกมาไม่ถึงขั้นสมบูรณ์แบบ. ความคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์และความคิดในแง่ลบอาจกระทบจิตใจคุณอย่างรุนแรง. คุณจะทำอะไรได้บ้าง? ข้อเท็จจริงก็คือ การครุ่นคิดแต่ในทางลบเป็นการทำลายตัวเอง. ฉะนั้น จงพยายามอย่างจริงจังที่จะขจัดความคิดที่ไม่มีเหตุผลเกี่ยวกับตัวเองออกไป. จงมองความผิดพลาดของคุณด้วยอารมณ์ขัน. ที่จริง มี “วารหัวเราะ.” (ท่านผู้ประกาศ 3:4, ฉบับแปลใหม่) อนึ่ง พึงจำไว้ด้วยว่า พระยะโฮวาไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับถ้อยคำหยาบหยาม แม้ว่าเราพูดคำนั้นกับตัวเอง.—เอเฟโซ 4:31.
แทนที่จะด่าว่าตัวเองอยู่ร่ำไป จงปฏิบัติตามถ้อยคำในสุภาษิต 11:17 (ล.ม.) ที่ว่า “ชายที่มีความกรุณารักใคร่ปฏิบัติอย่างที่เป็นประโยชน์กับจิตวิญญาณของตนเอง แต่บุคคลที่โหดร้ายนำความน่ารังเกียจสู่กายของตนเอง.” ดังนั้น จงใคร่ครวญคำถามนี้ การมีมาตรฐานสูงเกินไปทำให้คุณสร้างมิตรภาพได้ง่ายขึ้นไหม? อาจไม่ง่าย. บางทีคุณอาจไม่ยอมคบหากับใคร ๆ เสียด้วยซ้ำเนื่องด้วยพวกเขาไม่สมบูรณ์พร้อม. ฉะนั้น คุณจะทำอะไรได้บ้าง?
จงปฏิบัติตามพระบัญชาที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้างถ้าแม้นผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น.” (โกโลซาย 3:13, ล.ม.) ใช่แล้ว ยิ่งคุณคาดหมายจากผู้อื่นอย่างมีเหตุผลมากเท่าไร โอกาสที่คุณจะได้ชื่นชมกับมิตรภาพก็มีมากขึ้นเท่านั้น!
คุณอาจนึกแปลกใจว่า ‘ทำไมคนอื่น ๆ จึงมักหลบหน้าฉันเนื่องจากทัศนะที่มุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อมของฉัน?’ เอาละ จงพิจารณาดูว่า การที่คุณบอกคนอื่นว่าคุณคาดหมายจากตัวเองสูงขนาดไหน นั่นจะส่งผลกระทบเช่นไรต่อเขา. หนังสือเมื่อความสมบูรณ์ไม่ดีพอ (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “การโอดครวญจนเกินเหตุเมื่อคุณทำไม่ได้เกรด A อาจเป็นเหตุให้เพื่อน ๆ ซึ่งพยายามจะทำเกรด B หรือ C รู้สึกขัดเคืองใจ.” ดังนั้น จงพยายามลดความคิดในแง่ลบและการมุ่งสนใจแต่ตัวเองให้น้อยลง. ผู้คนจะเห็นว่าคุณเป็นคนที่น่าคบหาสมาคมมากขึ้น.
เด็กสาวชื่อคาร์ลีสรุปเรื่องนี้เมื่อเธอพูดว่า “จริง ๆ แล้ว ดิฉันต้องบอกตัวเองให้เลิกคิดถึงเรื่องการมุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อม.” คุณจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? จงใคร่ครวญว่าพระเจ้าทรงมีทัศนะอย่างไรต่อเรื่องนั้น. หากคุณยังรู้สึกว่ายากที่จะขจัดความคิดดังกล่าว จงปรึกษาพ่อแม่หรือคริสเตียนผู้อาวุโสในประชาคมที่คุณร่วมอยู่. อธิษฐานต่อพระเจ้าและทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ในการเปลี่ยนแนวคิดของคุณ. การอธิษฐานเป็นเครื่องช่วยที่ทรงพลังในการต่อสู้กับทัศนะที่มุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อม.—บทเพลงสรรเสริญ 55:22; ฟิลิปปอย 4:6, 7.
พึงระลึกเสมอว่า พระยะโฮวาไม่ได้เรียกร้องความสมบูรณ์พร้อม; พระองค์เพียงแต่คาดหมายให้เราซื่อสัตย์ต่อพระองค์. (1 โกรินโธ 4:2) ถ้าคุณบากบั่นพยายามเป็นคนซื่อสัตย์ คุณจะมีความสุขอย่างแท้จริงกับสิ่งที่คุณเป็นอยู่ แม้ว่าคุณไม่ใช่คนสมบูรณ์พร้อม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 ดูบทความเรื่อง “ทำไมฉันรู้สึกว่าตัวเองต้องเป็นคนสมบูรณ์พร้อม?” ฉบับ 8 สิงหาคม 2003.
[ภาพหน้า 12]
การกลัวความล้มเหลวอาจทำให้คุณกลายเป็นคนไม่อยากทำอะไร
[ภาพหน้า 13]
การลองเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อาจช่วยคุณรับมือกับการทำผิดพลาดได้