การเผชิญหน้าปลาวาฬสีเทาอันน่าทึ่ง
การเผชิญหน้าปลาวาฬสีเทาอันน่าทึ่ง
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในเม็กซิโก
“เมื่อเข้าไปใกล้ปลาวาฬที่กำลังหลับอยู่ สิ่งแรกที่รู้สึกได้ก็คือขนาดอันมโหฬารของมัน. ร่างที่ใหญ่โตของปลาวาฬทำให้เราตะลึงงัน. เป็นครั้งคราว เราได้ยินเสียงหายใจของมันและบางทีก็รู้สึกว่ามีน้ำพ่นออกมาถูกตัวเรา. ในขณะนั้นเองเราจึงได้ตระหนักว่ากำลังเข้าไปใกล้สิ่งมีชีวิตซึ่งเกินกว่าที่มนุษย์จะจินตนาการได้; สิ่งอันลับลึกที่ปรากฏเป็นรูปทรงกลมยาวสีดำ.”—ชาก-อีฟ กูสโต นักสำรวจทางทะเล.
คำกล่าวข้างต้นพรรณนาความรู้สึกของพวกเราได้เป็นอย่างดีขณะที่เรือยนต์ลำเล็ก ๆ ของเราแล่นเข้าไปใกล้ฝูงปลาวาฬสีเทาท่ามกลางท้องน้ำอันระยิบระยับในอ่าวมักดาเลนา ในคาบสมุทรบาฮาแคลิฟอร์เนีย ประเทศเม็กซิโก. นานมาแล้วที่เราคิดอยากจะมาชมสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่นี้ ซึ่งอพยพมาที่ทะเลสาบน้ำเค็มบาฮาทุกปีเพื่อผสมพันธุ์และออกลูก.
มัคคุเทศก์ของเราดับเครื่องยนต์และค่อย ๆ พายเรือเข้าไปใกล้. พวกปลาวาฬดูเหมือนไม่สนใจที่เราเข้าไปใกล้. เราเฝ้าดูพวกมันแสดงท่าทางเกี้ยวกันเมื่อมันพลิกตัว, พ่นน้ำ, และมุดตัวลงไปเพื่ออวดหางของมัน. บางตัวก็กำลัง “สอดส่อง” โดยโผล่หัวขึ้นมาเหนือผิวน้ำเพื่อสังเกตเหตุการณ์รอบตัว.
มัคคุเทศก์ของเราบอกว่า แม้จะมีกฎห้ามไม่ให้เราเข้า
ใกล้กว่าระยะ 30 เมตร แต่หลายครั้งแม่ปลาวาฬที่อยากรู้อยากเห็นกับลูก ๆ ของมันมักจะเข้ามาใกล้เรือและยอมให้เราลูบตัวได้!สู้เพื่อความอยู่รอด
หลังจากได้เผชิญหน้ากับปลาวาฬสีเทา เราก็อยากจะค้นคว้าเพิ่มเติม. เราได้มารู้ว่า ในช่วงศตวรรษที่ 19 นักล่าที่กระหายได้ล้างผลาญประชากรปลาวาฬในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกจนเกือบหมด. เมื่อเวลาผ่านไป ความต้องการน้ำมันและกระดูกปลาวาฬก็ลดน้อยลง และประชากรปลาวาฬก็เพิ่มขึ้นอีกครั้ง. จากนั้น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อเรือกลายเป็น ‘โรงงานลอยน้ำ’ ซึ่งทำให้นักล่าสามารถชำแหละปลาวาฬบนเรือ การล่าก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง. ปลาวาฬสีเทาแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเกือบสูญพันธุ์อีกครั้ง.
ในปี 1947 คณะกรรมาธิการระหว่างชาติว่าด้วยการล่าปลาวาฬประกาศคุ้มครองปลาวาฬสีเทาอย่างเต็มรูปแบบ. ในระยะหลัง ๆ นี้ รัฐบาลเม็กซิโกถึงกับตั้งเขตคุ้มครองปลาวาฬและเขตอนุรักษ์ชีวภาคบิซกาอีโน. * ปัจจุบัน มี ประชากรปลาวาฬสีเทาประมาณ 26,000 ตัว และพวกมันไม่ได้เป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อีกต่อไป.
การย้ายถิ่นที่น่าทึ่ง
แหล่งอาหารในฤดูร้อนของปลาวาฬสีเทาอยู่ไกลออกไปทางเหนือ คือแถบทะเลแบริงและทะเลชุกชี. ที่นั่น ปลาวาฬจะกินสัตว์ประเภทกุ้งตัวเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก และสะสมชั้นไขมันเพื่อเดินทางล่องลงใต้ไปยังทะเลสาบน้ำเค็มบาฮาทั้งไปและกลับเป็นระยะทาง 16,000 กิโลเมตร. การเดินทางด้วยความเร็วราว ๆ ห้าถึงสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมงทำให้ปลาวาฬต้องใช้เวลาสองถึงสามเดือนกว่าจะถึงที่หมาย. มันจะสูญเสียน้ำหนักตัวส่วนใหญ่ไประหว่างการย้ายถิ่นและช่วงหลายเดือนที่อยู่ในบาฮาแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาวาฬสีเทามีชีวิตอยู่ได้โดยแทบจะอาศัยไขมันที่สะสมไว้เพียงอย่างเดียว.
ตัวเมียที่ตั้งท้องจะมาถึงทะเลสาบแห่งนี้เป็นพวกแรก มันจะออกลูกในทะเลที่เงียบสงบ. ลูกปลาวาฬคลอดออกมาโดยเอาหางออกก่อนและต้องได้รับการช่วยให้ขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เพื่อหายใจ. ในการคลอดจะมีตัวเมียอีกสองตัวมาช่วยทำหน้าที่เป็นนางผดุงครรภ์ ซึ่งถูกเรียกว่าคุณป้า. ระยะตั้งครรภ์อยู่ราว ๆ 12 ถึง 13 เดือน ดังนั้น จะมีลูกปลาวาฬหนึ่งตัวเกิดมาทุก ๆ สองหรือสามปี. ลองนึกภาพการคลอดลูกที่มีน้ำหนัก 680 กิโลกรัมและมีลำตัวยาว 5 เมตรดูสิ!
ลูกปลาวาฬจะกินนมแม่จนถึงอายุประมาณแปดเดือน ในน้ำนมนี้มีไขมันสูงถึง 53 เปอร์เซ็นต์หรือสูงกว่านมวัวถึงสิบเท่า. ฝูงปลาวาฬจะอยู่ในทะเลสาบนี้ราว ๆ สองถึงสามเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งทำให้ลูกปลาวาฬสามารถสะสมไขมันให้หนาขึ้นเพื่อใช้ค้ำจุนชีวิตระหว่างการเดินทางขึ้นเหนือและยังทำให้มันอบอุ่นในน่านน้ำแถบอาร์กติกซึ่งหนาวเย็นกว่า.
เรารู้สึกว่า ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้เกี่ยวกับปลาวาฬสีเทาเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ซึ่งยิ่งทำให้เราไม่ลืมประสบการณ์ที่ได้เห็นมันในถิ่นอาศัย. สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทำให้เราใคร่ครวญถ้อยคำของบทเพลงสรรเสริญ 148:7 ที่ว่า “สัตว์ใหญ่ทั้งหลายในทะเลและในน้ำลึกทั้งปวง, จงสรรเสริญพระยะโฮวาจากแผ่นดินโลก.”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 คณะกรรมาธิการระหว่างชาติว่าด้วยการล่าปลาวาฬยอมให้ชนพื้นเมืองในอะแลสกาและไซบีเรียล่าปลาวาฬได้เท่าที่จำเป็น. มาตรการนี้เป็นผลดีต่อปลาวาฬสีเทา ซึ่งปัจจุบันคนในท้องถิ่นถือว่าเป็นมิตรเนื่องจากพฤติกรรมที่มัคคุเทศก์ของเราได้กล่าวถึง.
[กรอบ/ภาพหน้า 17]
การกินอาหาร
ปลาวาฬสีเทาไม่มีฟัน มันเป็นปลาวาฬชนิดที่มีบาลีนหรือกระดูกอ่อนสีครีมเป็นแผง (ที่เห็นในภาพ) ซึ่งจะมีความยาวตั้งแต่ห้าถึงยี่สิบห้าเซนติเมตรและงอกลงมาจากขากรรไกรบนทั้งสองข้าง. แผงกระดูกอ่อนนี้เป็นสารเคราติน ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับเล็บนิ้วมือของเรา. ปลาวาฬสีเทาเป็นสัตว์ที่หาอาหารตามพื้นทะเลโดยดูดตะกอนและสัตว์ประเภทกุ้งเข้าไป. จากนั้นมันก็กรองน้ำออกด้วยร่องของบาลีน.
[ที่มาของภาพ]
Courtesy Gray whales with Winston
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
ข้อมูลเกี่ยวกับปลาวาฬสีเทา
▪ ปลาวาฬสีเทามีจุดขาวเป็นหย่อม ๆ ตามผิวหนัง ซึ่งเกิดจากเพรียงและปรสิต.
▪ ตัวผู้มีขนาดโตเต็มที่ 14 เมตร ซึ่งยาวกว่ารถประจำทาง และตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย.
▪ ปลาวาฬสีเทามีรอยจีบใต้ลำคอสองถึงห้าจีบ ซึ่งทำให้ลำคอของมันสามารถขยายใหญ่ขึ้นเมื่อกินอาหาร.
▪ ปลาวาฬสีเทามีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 16 ตัน แต่บางตัวหนักถึง 30 หรือ 40 ตัน.
▪ ปลาวาฬสีเทาจะโผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำทุก ๆ สามถึงห้านาที แต่มันอาจดำน้ำอยู่ได้นานถึง 15 นาที.
[ที่มาของภาพ]
© Richard Herrmann/Seapics.com
[ภาพหน้า 16, 17]
กำลัง “สอดส่อง”
[ที่มาของภาพ]
© Michael S. Nolan/Seapics.com
[ที่มาของภาพหน้า 16]
© Howard Hall/Seapics.com