ป่าดิบ—ใครจะพิทักษ์รักษา?
ป่าดิบ—ใครจะพิทักษ์รักษา?
ใครก็ตามที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับป่าเขตร้อนต้องจัดการกับต้นเหตุเสียก่อน. ต้นเหตุนั้นคืออะไร? ต้นเหตุนี้ไม่ใช่แค่ความกดดันอันเนื่องมาจากภาวะประชากรล้นโลก. ภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ในโลกสามารถเลี้ยงดูประชากรของโลกได้อย่างสบาย ๆ และมากกว่านั้นอีก.
ที่จริง รัฐบาลในบางประเทศเป็นห่วงเรื่องผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ซึ่งทำให้ราคาอาหารตกต่ำ. บางรัฐบาลกระตุ้นให้ชาวไร่ชาวนาหันไปใช้ที่ดินของตนเพื่อทำกิจกรรมยามว่าง เช่น ทำค่ายพักแรม, สนามกอล์ฟ, หรือสวนสัตว์เปิด.
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมป่าไม้ของโลกจึงลดน้อยลง? เราต้องมองไปยังสาเหตุที่ลึกซึ้งกว่าสิ่งที่เราได้กล่าวไปแล้ว.
มูลเหตุของการทำลายป่า
นานก่อนที่จะมีการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน หลายรัฐบาลได้ปล้นป่าเพื่อแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่ง. ตัวอย่างเช่น ความต้องการของจักรวรรดิอังกฤษที่จะใช้ไม้ในการสร้างเรือ ทำให้ป่าโอ๊กของบริเตนเองถูกทำลาย จากนั้นก็ทำลายป่าไม้สักในพม่าและประเทศไทย. จักรวรรดิเดียวกันนั้นยังผลาญป่าของอินเดียจนหมดเกลี้ยงเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงหล่อเหล็ก. ป่าไม้แห่งอื่น ๆ ถูกถางจนโล่งเตียนเพื่อปลูกต้นยาง, กาแฟ, และโกโก้.
อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เลื่อยโซ่และรถปราบดินก็ทำให้สามารถถางป่าให้โล่งเตียนได้ในระดับที่ใหญ่โตขึ้น. มีการหาประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ จากป่าไม้ที่บอบบางฐานะเป็นแหล่งแห่งความมั่งคั่ง.
บริษัทขนาดใหญ่กว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์และใช้เครื่องจักรกลเก็บเกี่ยวพืชผลที่ทำเงินได้. เมื่อไม่มีงานทำ ชาวชนบทจำนวนมากจึงอพยพเข้าเมือง. ส่วนบางคนก็ถูกกระตุ้นให้ย้ายเข้าไปในป่าดิบ. บางครั้งมีการโฆษณาที่ดินเหล่านี้ว่า “ที่ดินที่ไม่มีคนอยู่สำหรับคนที่ไม่มีที่ดินอยู่.” เมื่อผู้คนรู้แล้วว่าการทำไร่ทำนาในที่ดินเช่นนั้นเป็นเรื่องยากสักเพียงไร บ่อยครั้งก็สายเกินไป ป่าไม้ถูกทำลายไปแล้วเป็นบริเวณกว้าง.
การฉ้อราษฎร์บังหลวงของพวกเจ้าหน้าที่ก็มีส่วนในการทำลายป่าหลายแห่งด้วย. ใบอนุญาตการทำไม้มีค่าสูง. เป็นที่รู้กันว่า เพื่อเงินสินบน เจ้าหน้าที่ซึ่งคดโกงบางคนได้ให้สัมปทานระยะสั้นแก่บริษัททำไม้ซึ่งตัดไม้จนหมดป่าโดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์.
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นการคุกคามสัตว์ป่ามากที่สุดไม่ใช่การทำไม้ แต่เป็นการเปลี่ยนป่าให้กลายเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร. ถ้าที่ดินอุดมสมบูรณ์ ในบางกรณีการทำเช่นนั้นก็อาจเป็นสิ่งเหมาะสม. แต่บ่อยครั้ง พวกเจ้าหน้าที่ที่โกงกินหรือไร้ประสิทธิภาพได้ออกใบอนุญาตโดยไม่จำเป็นให้มีการถางป่าซึ่งจะไม่มีวันฟื้นตัวได้อีก.
พวกอาชญากรก็ทำลายป่าเช่นกัน. คนทำไม้เถื่อนได้ลักลอบตัดต้นไม้ที่มีค่า แม้กระทั่งในอุทยานแห่งชาติด้วยซ้ำ. บางครั้งพวกเขาเลื่อยไม้เป็นแผ่น ๆ ในป่า ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองและผิดกฎหมาย. มีการว่าจ้างชาวบ้านให้ใช้จักรยานขนไม้ออกมา หรือกระทั่งแบกมาด้วยซ้ำ. จากนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงด่านตรวจ รถบรรทุกก็ขนไม้เหล่านั้นไปโดยใช้เส้นทางที่เงียบสงัดบนเขาเมื่อตกกลางคืน.
การที่ป่าถูกทำลายและการสูญเสียสัตว์ป่าจึงไม่ได้เป็นผลจากการเพิ่มจำนวนประชากรซึ่งไม่อาจเลี่ยงได้. สิ่งนี้มักเป็นผลจากการจัดการผิดวิธี, การค้าที่มักโลภ, อาชญากรรม, และรัฐบาลที่โกงกิน. เมื่อเป็นเช่นนั้น มีความหวังอะไรสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายของชีวิตที่มีอยู่มากมายในป่าดิบชื้น?
มีความหวังอะไรสำหรับป่าดิบ?
หนังสือความก้าวหน้าสูงสุด: การอนุรักษ์ชีวิตสัตว์และพืชในป่าเขตร้อนซึ่งมีการทำไม้ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “มีป่าเขตร้อนในโลกเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม.” แล้วหนังสือนั้นเสริมว่า “ในปัจจุบัน ป่าไม้ไม่กี่แห่ง (หากมี) ได้ประสบความสำเร็จในการทำไม้เชิงอนุรักษ์.” การทำไม้เชิงอนุรักษ์เป็นไปได้แน่นอน แต่ความเป็นจริงที่เห็นอยู่ทั่วโลกคือมีการทำลายป่าอย่างรวดเร็ว.
กล่าวกันว่า ในเรื่องนี้มีแห่งหนึ่งที่ได้รับการยกเว้นซึ่งน่าสังเกต นั่นคือประเทศโบลิเวีย ซึ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ของป่าดิบชื้นในประเทศนี้ได้รับการรับรองว่ามีการทำไม้เชิงอนุรักษ์. อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทั่วโลกอาจมีไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเศษเสี้ยวที่น้อยมากจนน่าใจหาย. ป่าเขตร้อนส่วนใหญ่ถูกแสวงประโยชน์อย่างไร้สำนึก. ความเห็นแก่ตัวและความโลภเป็นแรงผลักดันที่แท้จริงซึ่งอยู่เบื้องหลังการทำลายล้างเช่นนี้. มีเหตุผลแค่ไหนที่จะหวังว่าพ่อค้าและนักการเมืองของโลกจะหยุดการล้างผลาญและหันมาคุ้มครองมรดกของมนุษยชาติซึ่งไม่อาจทดแทนได้?
หนังสือป่าแห่งความหวัง (ภาษาอังกฤษ) ปิดท้ายด้วยแนวคิดที่ดีเยี่ยมสำหรับมนุษยชาติดังนี้: “การค้นพบและมุ่งติดตามรูปแบบชีวิตที่เหมาะกับผู้คนทั่วโลก โดยที่ไม่ทำลายโลกรวมทั้งทรัพยากรของโลก.” เป้าหมายนั้นน่าดึงดูดใจ แต่จะตรงกับความเป็นจริงไหม?
พระผู้สร้างของเราตั้งพระทัยไว้เช่นไรเกี่ยวกับโลกและมนุษยชาติ? พระองค์บัญชามนุษย์คู่แรกว่า “จงบังเกิดทวีมากขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน; จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน; จงครอบครองฝูงปลาในทะเลและฝูงนกในอากาศ, กับบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตไหวกายได้ซึ่งอยู่บนแผ่นดิน.” (เยเนซิศ 1:28) ดังนั้น พระเจ้าทรงอนุญาตให้มนุษย์ใช้ประโยชน์จากสิ่งทรงสร้าง. แต่การอนุญาตให้ “ครอบครอง” ไม่ใช่การอนุญาตให้ทำลาย.
ดังนั้น ประเด็นคือ มนุษยชาติตลอดทั่วโลกจะเปลี่ยนรูปแบบชีวิตของตนให้เป็นแบบที่ “ไม่ทำลายโลกและทรัพยากรของโลก” อย่างแท้จริงได้ไหม? ถ้อยคำเหล่านั้นแสดงถึงความรักที่มีต่อเพื่อนบ้านและความนับถือต่อสิ่งทรงสร้างของพระเจ้าในระดับที่หาได้ยากในโลกปัจจุบัน. ที่จะหวังว่าผู้นำของมนุษยชาติจะยอมรับและส่งเสริมรูปแบบชีวิตดังกล่าวเป็นการเพ้อฝัน.
อย่างไรก็ดี พระคำของพระเจ้าบอกล่วงหน้าถึงสมัยหนึ่งที่โลกจะเต็มไปด้วยผู้คนที่รักเพื่อนมนุษย์และรักพระผู้สร้างของตน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “[คนเหล่านั้น] จะไม่ทำอันตราย, หรือทำความพินาศทั่วไปบนภูเขาอันบริสุทธิ์ของเรา; เพราะแผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร.” (ยะซายา 11:9; บทเพลงสรรเสริญ 37:29; มัดธาย 5:5) โปรดสังเกตว่า เป็นเพราะพวกเขาได้มารู้จักและรักพระยะโฮวา พระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ ประชาชนของพระเจ้าจึงเว้นเสียจากการทำ “อันตราย” หรือก่อ “ความพินาศ” ใด ๆ. ไม่มีข้อสงสัยว่าผู้คนเหล่านี้ย่อมหลีกเลี่ยงการทำลายแผ่นดินโลก.
นี่ไม่ใช่แค่การเพ้อฝัน. แม้แต่ในตอนนี้ พระยะโฮวากำลังรวบรวมผู้คนที่มีหัวใจสุจริตและสอนพวกเขา. โดยการศึกษาพระคำของพระเจ้า ผู้คนนับล้านทั่วโลกได้เรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบชีวิตที่อาศัยพื้นฐานจากความรักที่เสียสละเพื่อคนอื่น. (โยฮัน 13:34; 1 โยฮัน 4:21) วารสารนี้พร้อมกับหอสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นวารสารที่ออกคู่กัน ได้รับการจัดพิมพ์เพื่อช่วยผู้คนให้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับรูปแบบชีวิตเช่นนั้นและวิธีที่จะดำเนินตามสิ่งที่ได้เรียนแล้ว. ขอเชิญคุณให้เรียนรู้ต่อไป. ไม่มีวิชาความรู้ใด ๆ จะให้ผลตอบแทนมากไปกว่านี้อีกแล้ว.
[ภาพหน้า 10]
มนุษย์จะดูแลแผ่นดินโลกที่สวยงามแทนที่จะทำลาย