จากภารกิจมรณะสู่การแสวงหาสันติภาพ
จากภารกิจมรณะสู่การแสวงหาสันติภาพ
เล่าโดยโตชิอะกิ นิวะ
อดีตนักบินชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการฝึกให้ใช้ปฏิบัติการคามิคาเซโจมตีเรือรบอเมริกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่าความรู้สึกของเขาขณะรอคอยภารกิจมรณะ.
เนื่องจากพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในการรบที่หมู่เกาะมิดเวย์เมื่อเดือนมิถุนายน 1942 การขยายอำนาจของญี่ปุ่นในแถบแปซิฟิกจึงหยุดชะงักลง. ตั้งแต่นั้นมา ญี่ปุ่นก็แพ้สหรัฐและพันธมิตรในการรบครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่ฝ่ายสหรัฐเริ่มยึดดินแดนที่ญี่ปุ่นพิชิตได้กลับคืน.
ในเดือนกันยายน 1943 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่านักศึกษามหาวิทยาลัยซึ่งเคยได้รับการผ่อนผันจากการเป็นทหารจะต้องถูกเกณฑ์. ในเดือนธันวาคม เมื่อผมอายุได้ 20 ปี ผมก็ออกจากมหาวิทยาลัยเข้าร่วมในกองทัพเรือ. หนึ่งเดือนต่อมา ผมกลายเป็นนักเรียนการบินของกองทัพเรือ. ในเดือนธันวาคม 1944 ผมถูกฝึกให้ขับเครื่องบินรบแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่า ซีโร.
กองทัพบินน้อยโจมตีพิเศษคามิคาเซ
ญี่ปุ่นกำลังจะแพ้สงคราม. พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1945 การโจมตีญี่ปุ่นทางอากาศโดยเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-29 ก็รุนแรงขึ้น. ในเวลาเดียวกัน กองเรือเฉพาะกิจของสหรัฐก็เข้าใกล้ชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเป็นเป้าโจมตีของเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน.
ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น ผู้นำทางทหารของญี่ปุ่นตัดสินใจสู้ในการรบครั้งสุดท้ายโดยใช้ยุทธวิธียอมพลีชีพ. แม้ว่าพอถึงตอนนั้นก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นไม่สามารถชนะสงครามได้ แต่การตัดสินใจครั้งนั้นก็ทำให้สงครามยืดเยื้อไปอีกและไม่ต้องสงสัยว่าทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหลายพันคน.
ด้วยเหตุนี้ กองกำลังโจมตีพิเศษคามิคาเซจึงก่อกำเนิดขึ้น. กองกำลังนี้ถูกตั้งชื่อตามลมแห่งพระเจ้าคามิคาเซ ซึ่งตามตำนานเป็นพายุไต้ฝุ่นที่พัดพากองเรือของชาวมองโกเลียซึ่งเข้ามารุกรานให้ออกไปเมื่อศตวรรษที่ 13. การโจมตีแบบคามิคาเซรอบแรกประกอบด้วยเครื่องบินขับไล่ซีโรห้าลำซึ่งแต่ละลำบรรทุกระเบิดหนัก 250 กิโลกรัมสำหรับพุ่งเข้าชนเรือรบเป้าหมายแบบยอมพลีชีพ.
คำสั่งให้จัดฝูงบินพิเศษที่ยอมพลีชีพมีมายังกองทัพบินน้อยยาตาเบะของทหารเรือ ซึ่งผมสังกัดอยู่. เราทุกคนได้รับแบบฟอร์มให้กรอก ซึ่งระบุว่าเราต้องการที่จะ
อาสาสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองทัพบินน้อยโจมตีที่ยอมพลีชีพหรือไม่.ผมรู้สึกว่าผมควรสละชีวิตของผมเพื่อประเทศชาติ. แต่ถึงแม้ผมจะอาสาที่จะสละชีวิตตัวเองในภารกิจการบินแบบยอมพลีชีพ ผมก็อาจถูกยิงร่วงก่อนที่จะพุ่งชนเป้าหมาย แล้วก็ตายโดยไร้ประโยชน์. คุณแม่ของผมจะพอใจไหมถ้าผมจบชีวิตโดยไม่ได้ทำหน้าที่ของครอบครัวให้สำเร็จ? ผมรู้สึกลำบากใจมากที่จะทำให้ตัวเองเชื่อว่าการสมัครเข้ารับภารกิจแบบยอมพลีชีพนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะใช้ชีวิตของผม. แต่ผมก็สมัครอยู่ดี.
ในเดือนมีนาคม 1945 หน่วยแรกของกองทัพบินน้อยยาตาเบะของทหารเรือถูกตั้งขึ้น. แม้ว่าเพื่อนทหารของผม 29 คนถูกเลือก ผมกลับไม่ได้รับเลือก. หลังจากได้รับการฝึกฝนพิเศษ พวกเขาก็มีกำหนดจะขึ้นบินในภารกิจมรณะจากฐานทัพอากาศคะโนยะในจังหวัดคาโกชิมาในเดือนเมษายน. ก่อนที่พวกเขาจะถูกย้ายไปคะโนยะ ผมไปเยี่ยมเพื่อนของผมโดยหวังจะรู้ว่าพวกเขารู้สึกเช่นไรขณะกำลังจะปฏิบัติภารกิจพลีชีพ.
เพื่อนผมคนหนึ่งพูดด้วยท่าทีที่สงบว่า “พวกเราคงต้องตาย แต่นายอย่าเพิ่งรีบตายนะ. ถ้ามีใครในพวกเรารอดชีวิตไป คนนั้นควรบอกคนอื่น ๆ ว่าสันติภาพนั้นมีค่าสักเพียงไร และพยายามสร้างสันติภาพให้ได้.”
ในวันที่ 14 เมษายน 1945 เพื่อนทหารของผมออกบิน. ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา พวกเราทุกคนฟังการกระจายเสียงเพื่อฟังว่าผลเป็นเช่นไร. ผู้ประกาศบอกว่า “หน่วยโชวะแรกของกองกำลังโจมตีพิเศษคามิคาเซได้พุ่งเข้าชนกองเรือเฉพาะกิจของศัตรูในทะเล ทางตะวันออกของคิคาอิ ชิมา. ทุกคนเสียชีวิตในการรบ.”
โอกะ—ระเบิดมนุษย์
หลังจากนั้นสองเดือน ผมก็ถูกย้ายไปกองทัพบินน้อยโคโนอิเกะของทหารเรือ ในฐานะสมาชิกของฝูงบินโจมตีพิเศษจินราอิ. จินราอิ หมายถึง “ฟ้าร้องแห่งพระเจ้า.” ฝูงบินนี้ประกอบด้วยเครื่องบินที่ขึ้นจากฐานภาคพื้นดิน (เรียกว่าเครื่องบินโจมตี), เครื่องบินขับไล่คุ้มกัน, และเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน.
จากเครื่องบิน “แม่” แต่ละลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินโจมตีสองเครื่องยนต์ จะมีโอกะ ซึ่งหมายถึง “ดอกเชอร์รี” ติดอยู่. มันเป็นเครื่องหมายของนักบินหนุ่มที่เต็มใจสละชีวิตของตนเอง. โอกะ เป็นเครื่องร่อนที่นั่งเดี่ยว ปีกกว้าง 5 เมตร และหนัก 440 กิโลกรัม. มันมีวัตถุระเบิดหนักประมาณหนึ่งตันติดไว้ที่หัว.
ขณะที่เครื่องบินลำแม่เข้าใกล้เป้าหมาย นักบินคนหนึ่งจะเข้าไปในโอกะ ซึ่งจะถูกปล่อยจากเครื่องบินแม่. หลังจากร่อนไประยะหนึ่งโดยอาศัยจรวดสามลูก ซึ่งแต่ละลูกขับดันได้สิบวินาที โอกะ ก็จะพุ่งเข้าสู่เป้าหมาย. เครื่องร่อนนี้ถูกเรียกว่าระเบิดมนุษย์ได้เหมาะที่สุด. เมื่อปล่อยออกไปแล้วก็ไม่มีทางหวนกลับ!
ในการซ้อม นักบินโอกะ จะขึ้นเครื่องบินขับไล่ซีโรและขับดิ่งลงมาหาเป้าหมายจากระดับความสูงประมาณ 6,000 เมตร. ผมเห็นนักบินหลายคนเสียชีวิตในการฝึกซ้อม.
ก่อนที่ผมจะเข้าร่วมกับฝูงบินนี้ เครื่องบินกลุ่มแรกได้ออกบิน. กลุ่มนั้นประกอบด้วยเครื่องบินโจมตี 18 ลำซึ่งติดโอกะ ไว้พร้อม และมีเครื่องบินขับไล่ 19 ลำคอยคุ้มกัน. เครื่องบินโจมตีมีน้ำหนักมากและช้า. ไม่มีลำใดไปถึงเป้าหมาย. เครื่องบินโจมตีและเครื่องบินคุ้มกันถูกเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐยิงตกทุกลำ.
เนื่องจากไม่มีเครื่องบินขับไล่คุ้มกันเหลือ ฝูงบินจินราอิจึงต้องออกบินในภารกิจครั้งต่อ ๆ ไปโดยไม่มีการคุ้มกัน. คนที่ออกบินหลังจากนั้นไม่มีใครได้กลับมาเลย. ทุกคนเสียชีวิตหมด หายไปในสมรภูมิแห่งโอกินาวา.
ช่วงสุดท้ายของสงคราม
ในเดือนสิงหาคม 1945 ผมถูกย้ายไปกองทัพบินน้อยโอตซุของทหารเรือ. ฐานทัพที่ผมถูกส่งไปนั้นตั้งอยู่ที่เชิงเขาฮิเออิ-ซัง ใกล้กับเมืองเกียวโต. เนื่องจากคาดว่ากองกำลังของสหรัฐจะยกพลขึ้นบกที่ญี่ปุ่น จึงมีการวางแผนจะยิงโอกะ จากภูเขาเพื่อโจมตีเรือรบของสหรัฐแบบพลีชีพ. มีการวางรางเพื่อยิงเครื่องร่อนนี้บนยอดเขา.
เรารอคำสั่งยิง. แต่ไม่มีคำสั่งนั้น. หลังจากเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิถูกทำลายด้วยระเบิดปรมาณูในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ญี่ปุ่นจึงยอมจำนนต่อสหรัฐและพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม. ในที่สุดสงครามก็ยุติ. ผมรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด.
เมื่อถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ผมกลับไปบ้านเกิดของผมที่โยโกฮามา แต่บ้านของผมเหลือแต่เถ้าถ่านจากการโจมตีทางอากาศของเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-29. ครอบครัวของผมกำลังสิ้นหวังอย่างหนัก. พี่สาวและหลานของผมเสียชีวิตในกองเพลิง. ถึงอย่างไร เราก็ชื่นใจขึ้นเมื่อน้องชายของผมกลับมาจากการรบอย่างปลอดภัย.
ท่ามกลางซากปรักหักพังและการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ผมกลับไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยให้จบ. หลังจากศึกษาเป็นเวลาหนึ่งปี ผมสำเร็จการศึกษาและได้งานทำ. ในปี 1953 ผมแต่งงานกับมิชิโกะและต่อมามีลูกชายสองคน.
การแสวงหาสันติภาพของผม
ในปี 1974 มิชิโกะเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา. ไม่นานเธอก็เริ่มเข้าร่วมการประชุมและเข้าส่วนในกิจกรรมการประกาศ. ผมไม่ชอบที่เธอออกไปข้างนอกบ่อย ๆ. เธออธิบายว่างานเผยแพร่ของคริสเตียนช่วยให้เกิดสันติภาพและความสุขแท้. ผมจึงคิดว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็ไม่ควรต่อต้านเธอ. ผมควรจะร่วมมือกับเธอ.
ในช่วงนั้นเอง ผมจ้างพยานฯ หนุ่มสองสามคนมาทำงานเป็นยามตอนกลางคืน. เมื่อพวกพยานฯ หนุ่มมาถึง ผมถามพวกเขาเรื่ององค์การและงานเผยแพร่ของพวกเขา. ผมประหลาดใจที่พบว่าพวกเขาเป็นคนสุขุมและมีน้ำใจอาสาสมัคร ไม่เหมือนกับคนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันคนอื่น ๆ. พวกเขาได้เรียนคุณลักษณะเหล่านี้จากคัมภีร์ไบเบิล. เด็กหนุ่มพวกนั้นอธิบายว่า พวกพยานฯ มีอยู่ทั่วโลก, ไม่มีการเหยียดเชื้อชาติ, และทำตามพระบัญชาในคัมภีร์ไบเบิลอย่างเหนียวแน่นที่ให้รักพระเจ้าและรักเพื่อนบ้านของตน. (มัดธาย 22:36-40) พวกเขามองคนในศาสนาเดียวกันว่าเป็นพี่น้อง ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด.—โยฮัน 13:35; 1 เปโตร 2:17.
ตอนนั้นผมคิดว่า ‘มันก็แค่อุดมการณ์อย่างหนึ่ง.’ เนื่องจากหลายนิกายในคริสต์ศาสนจักรก็สู้รบกันเอง ผมจึงไม่เชื่อว่าพยานพระยะโฮวาจะเป็นกลุ่มที่ยกเว้น.
ผมเล่าให้พวกเขาฟังว่าผมสงสัยเรื่องเหล่านี้. พวกพยานฯ หนุ่มใช้หนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา ชี้ให้
ผมดูว่าพยานฯ ในเยอรมนีถูกจำคุก หรือกระทั่งถูกประหาร เนื่องจากวางตัวเป็นกลางเมื่ออยู่ในการปกครองของฮิตเลอร์. ผมเริ่มเชื่อว่าพยานพระยะโฮวาเป็นคริสเตียนแท้.ในระหว่างนั้น ภรรยาของผมแสดงสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวแด่พระเจ้าด้วยการรับบัพติสมาในน้ำเมื่อเดือนธันวาคม 1975. ในตอนนั้น มีการเสนอการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้ผม. อย่างไรก็ตาม เมื่อผมคิดถึงพันธะทางการเงินที่ผมมี เช่น ค่าเล่าเรียนของลูกชายและการผ่อนบ้าน ผมจึงไม่ได้รับข้อเสนอนั้น. ผู้ชายที่สมรสแล้วในประชาคมได้ปรับเปลี่ยนงานอาชีพของตนเพื่อจะมีเวลามากขึ้น. ผมคิดว่าผมต้องทำอย่างเดียวกัน. แต่หลังจากมีการอธิบายว่าชีวิตของคริสเตียนสามารถสมดุลกับงานอาชีพได้ ผมจึงตัดสินใจจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวาในที่สุด.
การตัดสินใจจะรับใช้พระเจ้าแห่งสันติสุข
หลังจากศึกษาได้สองปี ผู้นำการศึกษาถามผมว่าผมคิดเรื่องการอุทิศชีวิตแด่พระเจ้าหรือยัง. อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นผมยังไม่ได้อุทิศชีวิตแด่พระเจ้า และผมก็รู้สึกไม่สบายใจ.
วันหนึ่ง ผมกำลังรีบวิ่งลงบันไดในที่ทำงาน. ผมสะดุดหกล้มจนศีรษะด้านหลังกระแทกพื้นและผมหมดสติไป. เมื่อผมฟื้นขึ้นมา ผมรู้สึกปวดศีรษะมากและถูกนำตัวไปโรงพยาบาลด้วยรถฉุกเฉิน. แม้ว่าศีรษะด้านหลังของผมบวมมาก แต่ก็ไม่มีการแตกร้าวหรือเลือดตกภายใน.
ผมรู้สึกขอบพระคุณพระยะโฮวามากจริง ๆ ที่ผมยังมีชีวิตอยู่! นับแต่นั้นมา ผมตั้งใจแน่วแน่จะใช้ชีวิตของผมเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา และผมจึงได้อุทิศชีวิตแด่พระองค์. ในเดือนกรกฎาคม 1977 ผมรับบัพติสมาเมื่ออายุ 53 ปี. ลูกชายคนโตของผมที่ชื่อยาซูยูกิ ก็ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเช่นกันและรับบัพติสมาหลังจากนั้นประมาณสองปี.
หลังจากผมรับบัพติสมาผ่านไปสิบปี ผมเกษียณจากงาน. ระหว่างช่วงสิบปีนั้น ผมได้ติดตามแนวทางของคริสเตียน โดยทำให้สมดุลกับงานอาชีพ. ปัจจุบัน ผมมีสิทธิพิเศษทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองในโยโกฮามา และใช้เวลาหลายชั่วโมงในงานเผยแพร่ของคริสเตียน. ลูกชายคนโตของผมก็เป็นผู้ปกครองและผู้เผยแพร่เต็มเวลาในประชาคมใกล้เคียง.
เนื่องจากได้รอดชีวิตจากฝูงบินโจมตีพิเศษและภารกิจมรณะมาได้ ผมจึงรู้สึกขอบคุณที่ยังมีชีวิตอยู่และถือเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมในงานประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) ผมมั่นใจเต็มที่ว่าวิถีชีวิตที่ดีที่สุดคือการเป็นหนึ่งในไพร่พลของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 144:15) ในโลกใหม่ที่ใกล้เข้ามา มนุษย์จะไม่ประสบกับสงครามอีกเลย เนื่องจาก “ประเทศต่อประเทศจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้กัน, และเขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.”—ยะซายา 2:4.
ถ้าเป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ผมอยากจะพบคนที่ผมรู้จักซึ่งเสียชีวิตในสงครามซึ่งจะถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย. คงน่าตื่นเต้นที่จะได้พูดคุยกับพวกเขาเรื่องชีวิตอันสงบสุขที่พวกเขาจะมีได้บนโลกอุทยานภายใต้การปกครองอันชอบธรรมของราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า!—มัดธาย 6:9, 10; กิจการ 24:15; 1 ติโมเธียว 6:19.
[ภาพหน้า 19]
ตอนที่ผมอยู่ในกองทัพบินของทหารเรือ
[ภาพหน้า 18, 19]
“โอกะ” ระเบิดมนุษย์
[ที่มาของภาพ]
© CORBIS
[ภาพหน้า 20]
กับเพื่อนทหารก่อนภารกิจมรณะ. ผมคือคนที่สองจากซ้าย และเป็นคนเดียวที่รอดชีวิต
[ภาพหน้า 21]
กับมิชิโกะ ภรรยาของผม และยาซูยูกิ ลูกชายคนโต
[ที่มาของภาพหน้า 18]
U.S. National Archives photo