น้ำไหลไปที่ไหน?
น้ำไหลไปที่ไหน?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
ผมตกใจมากในตอนแรก! น้ำขุ่น ๆ ไหลทะลักขึ้นมาจากรูระบายน้ำบนพื้นห้องน้ำผม และกำลังจะทำให้อพาร์ตเมนต์ของผมกลายเป็นบึงน้ำเน่า. ผมรีบโทรศัพท์ตามช่างประปามาช่วย. ขณะที่ผมรอด้วยความกลัดกลุ้ม, ปากผมแห้งผากเพราะความกระวนกระวาย, และน้ำก็ค่อย ๆ ซึมเข้าไปในถุงเท้าของผม ผมสงสัยว่า ‘น้ำพวกนี้มาจากไหน?’
ขณะที่ช่างประปาพยายามเอาสิ่งที่อุดตันออกมาจากท่อนั้น เขาอธิบายว่า “คนที่อยู่ในเมืองโดยทั่วไปใช้น้ำวันละ 200 ถึง 400 ลิตร. ชาย, หญิง, และเด็กทุกคน ทิ้งน้ำลงท่อปีหนึ่งประมาณ 100,000 ลิตร.” ผมถามว่า “เป็นไปได้อย่างไรที่ผมจะใช้น้ำมากขนาดนั้น? ผมดื่มน้ำไม่มากขนาดนั้นแน่!” ช่างอธิบายว่า “ใช่ แต่ทุกวันคุณก็อาบน้ำ, กดชักโครก, และอาจใช้เครื่องซักผ้าหรือเครื่องล้างจาน. โดยวิธีเหล่านี้และวิธีอื่น ๆ การดำเนินชีวิตแบบสมัยใหม่ทำให้เราใช้น้ำมากกว่าที่คุณปู่คุณย่าของเราเคยใช้ถึงสองเท่า.” คำถามที่ผุดขึ้นในใจผมทันทีคือ ‘น้ำทั้งหมดนี้ไหลไปที่ไหน?’
ผมได้มารู้ว่าน้ำที่เราทิ้งไปในแต่ละวันนั้นได้รับการบำบัดในหลายวิธีแตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราอาศัยอยู่ในประเทศไหนหรือแม้แต่เมืองไหน. ปัจจุบันในบางประเทศ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญถึงเป็นถึงตาย. (ดูกรอบในหน้า 27.) ลองตามผมไปเยี่ยมชมโรงบำบัดน้ำเสียในเมืองของผมสิ แล้วคุณจะได้เห็นด้วยตาตัวเองว่าน้ำเหล่านี้ไหลไปที่ไหน และเหตุผลที่คุณควรคิดให้รอบคอบก่อนจะเทอะไรลงท่อน้ำทิ้งหรือโถส้วม ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม.
เยี่ยมชมโรงบำบัดน้ำเสีย
ผมรู้คุณคงคิดว่าโรงบำบัดน้ำเสียไม่ใช่สถานที่ที่น่าไปเยี่ยมชมสักเท่าไร. ผมเองก็เห็นด้วย. แต่พวกเราส่วนใหญ่ต้องพึ่งโรงบำบัดน้ำเสียเช่นว่านี้เพื่อน้ำเสียของเราเองจะไม่ท่วมเมืองเรา และเราทุกคนก็มีส่วนช่วยให้โรงบำบัดเหล่านี้ทำงานได้อย่างดี. จุดหมายของเราคือโรงบำบัดน้ำเสียหลักที่มาลาบาร์ ซึ่งอยู่ทางใต้ของอ่าวซิดนีย์ฮาร์เบอร์อันมีชื่อเสียง. น้ำจากห้องน้ำของผมมาถึงโรงบำบัดนี้ได้อย่างไร?
เมื่อผมกดชักโครก, ถ่ายน้ำออกจากอ่าง, หรืออาบน้ำ น้ำเหล่านั้นจะไหลไปที่โรงบำบัดน้ำเสีย. หลังจากไหลไปเป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร น้ำเหล่านี้จะไปรวมกับน้ำที่ไหลเข้ามาในโรงบำบัดวันละ 480 ล้านลิตร ซึ่งเท่ากับทุก ๆ นาทีมีน้ำไหลเข้ามามากพอที่จะใส่สระว่ายน้ำโอลิมปิกให้เต็มได้สองสระ.
รอสส์ เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนของโรงบำบัดน้ำเสียแห่งนี้อธิบายถึงเหตุผลที่โรงบำบัดนี้ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือดูน่าเกลียด เขาบอกผมว่า “ส่วนใหญ่โรงบำบัดนี้อยู่ใต้ดินทำให้เรากักก๊าซและให้มันไหลผ่านปล่องกรวยซึ่งจะขจัดกลิ่นเหม็น. อากาศที่สะอาดแล้วก็จะถูกปล่อยออกไปในบรรยากาศ. แม้ว่าโรงบำบัดนี้อยู่ในย่านชุมชนที่มีบ้านหลายพันหลัง แต่ผมได้รับโทรศัพท์ร้องเรียนปัญหาเรื่องกลิ่นเพียงปีละ
ประมาณสิบครั้งเท่านั้น.” แต่เลี่ยงไม่ได้ที่จากนี้ไปรอสส์จะพาเราเข้าสู่บริเวณที่เป็นแหล่งของ “ปัญหาเรื่องกลิ่น” นี้.น้ำเสียคืออะไร?
ขณะที่เราเดินลึกลงไปในโรงบำบัดน้ำเสีย มัคคุเทศก์ของเราบอกว่า “น้ำเสียคือน้ำ 99.9 เปอร์เซ็นต์ผสมกับของเสียของมนุษย์, สารเคมี, และสิ่งปฏิกูลอื่น ๆ. น้ำเสียที่ออกมาจากบ้านพักอาศัยและโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กว่า 55,000 เฮกตาร์ (340,000 ไร่) ไหลไปตามท่อยาว 20,000 กิโลเมตร เข้าสู่โรงบำบัดในระดับสองเมตรต่ำกว่าระดับน้ำทะเล. ที่นี่น้ำจะผ่านการกรองหลายครั้งเพื่อขจัดเศษผ้า, หิน, กระดาษ, และพลาสติกออกไป. จากนั้นก็เป็นรางตกตะกอน ซึ่งมีการแยกสารอินทรีย์ในน้ำให้แขวนลอยอยู่โดยใช้ฟอง
อากาศ ส่วนกรวดที่หนักกว่าก็จะตกลงสู่เบื้องล่าง. ของเสียที่เป็นสารอนินทรีย์นี้จะถูกรวบรวมและนำไปถมที่ดิน. น้ำเสียที่เหลือก็จะถูกสูบขึ้นไป 15 เมตรยังถังตกตะกอน.”ถังเหล่านี้มีพื้นที่พอ ๆ กับสนามฟุตบอล และที่นี่เองคุณจะรู้ว่าชาวบ้านคงบ่นมากสักเพียงไรถ้าระบบกรองอากาศไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่เป็นอยู่. ขณะที่น้ำค่อย ๆ ไหลผ่านถังต่าง ๆ น้ำมันและไขมันจะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำแล้วจะถูกแยกออกไป. ตะกอนละเอียด ที่เรียกกันว่ากากของเสีย จะจมลงไปที่ก้นถัง และใบมีดจักรกลขนาดใหญ่จะขูดตะกอนออก และจะถูกสูบออกไปบำบัดในขั้นต่อไป.
น้ำเสียที่ผ่านกระบวนการแล้วจะไหลลงสู่ทะเลผ่านทางอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินซึ่งยาวสามกิโลเมตร. น้ำเหล่านี้จะไหลออกสู่พื้นทะเลและกระจายออกไปในทะเล 60 ถึง 80 เมตรใต้ระลอกคลื่น. กระแสน้ำบริเวณชายฝั่งที่มีความแรงจะทำให้น้ำเสียกระจายตัว และคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อของน้ำเค็มก็จะทำให้กระบวนการบำบัดน้ำเสียเสร็จสมบูรณ์. ตะกอนที่อยู่ในโรงบำบัดก็จะถูกสูบเข้าไปในถังขนาดใหญ่ซึ่งเรียกว่าถังหมักแบบไม่ใช้ออกซิเจน ที่ซึ่งจุลินทรีย์จะย่อยสลายสารอินทรีย์ให้กลายเป็นก๊าซมีเทนและกลายเป็นตะกอนที่คงตัว.
จากตะกอนไปสู่ดิน
ผมรู้สึกโล่งอกที่ได้เดินตามรอสส์กลับขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์ข้างบน และเราก็ปีนขึ้นไปบนถังหมักตะกอนกักอากาศใบหนึ่ง. เขาพูดต่อว่า “ก๊าซมีเทนที่ผลิตโดยจุลินทรีย์พวกนี้จะถูกใช้เป็นพลังงานสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเป็นแหล่งพลังงานมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ใช้ในการดำเนินงานของโรงบำบัด. ตะกอนที่ถูกทำให้คงตัวและผ่านกรรมวิธีแล้วจะถูกนำไปฆ่าเชื้อ และผสมปูนขาวลงไป ทำให้มันกลายเป็นสารที่มีประโยชน์ อุดมด้วยสารอาหารสำหรับพืชซึ่งเรียกว่าตะกอนชีวภาพ. โรงบำบัดสิ่งปฏิกูลมาลาบาร์เพียงแห่งเดียวผลิตตะกอนชีวภาพได้ถึงปีละ 40,000 ตัน. เมื่อสิบปีที่แล้ว สิ่งปฏิกูลที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีจะถูกเผาหรือทิ้งลงทะเล; แต่ตอนนี้มีการนำทรัพยากรนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์.”
รอสส์ยื่นจุลสารให้ผมเล่มหนึ่งซึ่งอธิบายว่า “ป่าไม้ของ [รัฐนิวเซาท์เวลส์] แสดงถึงการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ถึง 35 เปอร์เซ็นต์หลังจากมีการใช้กากชีวะ.” จุลสารนั้นยังกล่าวด้วยว่า การปลูก ‘ข้าวสาลีในดินที่มีกากชีวะผสมอยู่จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์.’ ผมเห็นด้วยว่าเวลานี้กากชีวะที่เป็นปุ๋ยนี้ปลอดภัยพอที่ผมจะเอาไปใส่แปลงดอกไม้ในสวนหน้าบ้านของผมด้วย.
พอไม่เห็นก็ลืม
ตอนจบของการเยี่ยมชม มัคคุเทศก์เตือนผมว่า การเทสีทาบ้าน, ยาฆ่าแมลง, ยา, หรือน้ำมันลงในท่อระบายน้ำอาจทำให้จุลินทรีย์ที่โรงบำบัดน้ำเสียตายและจึงเป็นปัญหาสำหรับกระบวนการรีไซเคิล. เขาเน้นว่า ‘น้ำมันและไขมันจะค่อย ๆ อุดตันระบบท่อหลักของเราแบบเดียวกับที่อุดตันเส้นเลือดของเรา ส่วนผ้าอ้อมชนิดใช้แล้วทิ้ง, ผ้า, และพลาสติกที่ถูกทิ้งลงไปในโถส้วมไม่ได้หายไปไหน. แต่มันไปอุดตันอยู่ตามท่อ.’ ดังที่ผมได้บทเรียนมาแล้ว ขยะทั้งหลายอาจหายลงไปในโถส้วม แต่เมื่อน้ำเอ่อขึ้นมาจากท่อ คุณก็จะนึกขึ้นได้ว่าทิ้งอะไรลงไป. ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณอาบน้ำ, กดชักโครก, หรือระบายน้ำในอ่างทิ้ง ขอให้คิดว่าน้ำพวกนั้นจะไหลไปที่ไหน.
[กรอบหน้า 25]
จากน้ำเสียกลายเป็นน้ำดื่ม
หลายล้านคนที่อาศัยในเขตออเรนจ์เคาน์ตี ซึ่งเป็นเขตที่มีฝนตกน้อยในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ได้รับประโยชน์จากการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่ล้ำสมัย. แทนที่จะทิ้งน้ำเสียนับล้านลิตรในแต่ละวันลงสู่ทะเลโดยตรง น้ำเสียส่วนใหญ่ถูกนำกลับไปยังแหล่งน้ำเดิม. เป็นเวลาหลายปีแล้วที่การดำเนินการเช่นนี้บรรลุผลได้ด้วยโรงบำบัดน้ำเสีย. หลังจากการบำบัดขั้นแรกแล้ว น้ำเสียก็จะผ่านการบำบัดครั้งที่สองและครั้งที่สาม. นี่หมายถึงการทำให้น้ำบริสุทธิ์เช่นเดียวกับน้ำดื่มทั่ว ๆ ไป. จากนั้นน้ำนี้ก็จะถูกนำไปผสมกับน้ำบาดาลและซึมลงไปสู่ชั้นบาดาล. ที่นี่น้ำนี้จะเสริมน้ำในชั้นบาดาลไม่ให้พร่องและป้องกันไม่ให้น้ำเค็มซึมเข้ามาทำลายแหล่งน้ำบาดาล. 75 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการน้ำในเขตนี้ได้รับจากแหล่งน้ำบาดาลนี้เอง.
[กรอบหน้า 27]
ห้าวิธีที่จะใช้น้ำอย่างฉลาด
▪ เปลี่ยนแหวนยางที่รั่ว ก๊อกน้ำที่มีน้ำหยดออกมาอาจทำให้เสียน้ำ 7,000 ลิตรต่อปี.
▪ ตรวจดูโถส้วมอย่าให้มีน้ำรั่ว นั่นอาจทำให้เสียน้ำ 16,000 ลิตรต่อปี.
▪ ติดฝักบัวแบบประหยัดน้ำ. ฝักบัวปกติจะปล่อยน้ำออกมา 18 ลิตรต่อนาที; ฝักบัวแบบไหลช้าจะปล่อยน้ำ 9 ลิตรต่อนาที. ครอบครัวที่มีสมาชิกสี่คนจะประหยัดน้ำได้ปีละ 80,000 ลิตร.
▪ ถ้าคุณมีชักโครกแบบกดสองจังหวะ ให้ใช้แบบกดครึ่งเดียวเมื่อทำได้ นี่ทำให้ครอบครัวที่มีสมาชิกสี่คนประหยัดน้ำได้มากกว่า 36,000 ลิตรต่อปี.
▪ ติดหัวก๊อกแบบเติมอากาศ หัวก๊อกแบบนี้ค่อนข้างถูกและลดอัตราการไหลของน้ำได้ครึ่งหนึ่งโดยที่ยังใช้ประโยชน์ได้เต็มที่.
[กรอบหน้า 27]
วิกฤตการณ์น้ำเสียทั่วโลก
“มากกว่า 1,200 ล้านคนยังไม่มีน้ำดื่มที่สะอาดในขณะที่ 2,900 ล้านคนไม่มีระบบสุขาภิบาลอย่างเพียงพอ ซึ่งยังผลให้มีผู้เสียชีวิตในอัตรา 5 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเด็ก เนื่องจากโรคติดต่อทางน้ำ.”—การประชุมเรื่องน้ำโลกครั้งที่สอง ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์.
[แผนภูมิ/ภาพหน้า 26]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
กรรมวิธีบำบัดน้ำเสียที่มาลาบาร์ (ภาพแบบง่าย)
1. น้ำเสียเข้ามาในโรงบำบัด
2. กรองด้วยตะแกรง
3. รางตกตะกอน
4. นำไปถมที่ดิน
5. ถังตกตะกอน
6. สู่ทะเล
7. ถังหมักแบบไม่ใช้ออกซิเจน
8. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า
9. ถังเก็บตะกอนชีวภาพ
[ภาพหน้า 26]
ถังหมักแบบไม่ใช้ออกซิเจนย่อยสลายตะกอนให้เป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์และได้ก๊าซมีเทน
ก๊าซมีเทนถูกเผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้า