วัยรุ่นง่วงนอน—น่าเป็นห่วงไหม?
วัยรุ่นง่วงนอน—น่าเป็นห่วงไหม?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในแคนาดา
หนังสือพิมพ์โกลบ แอนด์ เมล์ แห่งแคนาดากล่าวว่า การอดนอนทำให้ความสามารถในการคิดและความจำเสื่อมลง และนักเรียนวัยหนุ่มสาวเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงมากที่สุด. “การอดนอนของเด็กและคนหนุ่มสาวยังเกี่ยวพันกับปัญหาด้านพฤติกรรม, การฉุนเฉียวง่าย และการมีสมาธิสั้น.” นักวิทยาศาสตร์ศึกษานิสัยการนอนหลับของนักเรียนชั้นมัธยมประมาณ 2,200 คนและพบว่านักเรียนราว ๆ 47 เปอร์เซ็นต์นอนน้อยกว่าคำแนะนำที่ให้นอนคืนละแปดชั่วโมง.
แม้ว่ารูปแบบชีวิตมักเป็นสาเหตุที่ทำให้หนุ่มสาวนอนไม่พอ แต่ตามที่หนังสือพิมพ์โกลบ กล่าว “บางคนอาจมีปัญหาด้านสุขภาพซึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอีกด้วย. ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุ 4 ถึง 18 ปีมีอาการหยุดหายใจชั่วขณะระหว่างนอนหลับ.” ขณะนอนหลับ ช่องอากาศด้านหลังลำคออาจตีบตันบางส่วนหรือทั้งหมด ทำให้ออกซิเจนผ่านไม่สะดวก. ด้วยเหตุนี้ สมองจึงไม่ได้พักอย่างเต็มที่ และเด็กจะตื่นขึ้นมาด้วยความเหนื่อยอ่อนและรู้สึกหงุดหงิด.
สัญญาณที่แสดงว่าเด็กอาจมีอาการดังกล่าวนั้นรวมถึงการนอนกรนหรือมีเสียงดังหวีด ๆ ขณะนอนหลับ, ปวดหัวบ่อย ๆ ในตอนเช้า, และมีปัญหาเกี่ยวกับความจำและสมาธิ, ตลอดจนอาการง่วงนอนอย่างมากในตอนกลางวัน. มีการสนับสนุนบิดามารดาให้คอยฟังเป็นครั้งคราวในตอนที่ลูกนอนหลับสนิท. นายแพทย์โรแบร์ บรูอีแยต ผู้เชี่ยวชาญโรคเด็กด้านการนอนหลับแห่งโรงพยาบาลเด็กมอนทรีออล กล่าวว่า เด็กที่มีอาการดังกล่าวอาจหยุดหายใจระหว่างที่นอนหลับ แม้ว่าหน้าอกอาจยังกระเพื่อมขึ้นลงอยู่. “การหยุดหายใจนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อเด็กตื่นหรือรู้สึกตัว [และ] หายใจสองสามทีก่อนที่จะหลับไปอีก.” อาการเช่นนี้อาจเกิดขึ้นนับร้อยครั้งในแต่ละคืนและทำให้เด็กรู้สึกอ่อนเพลียเมื่อตื่นนอน.
สมาคมความผิดปกติในการนอนหลับแห่งอเมริกาแนะว่าควรจัดห้องนอนให้มืดและเย็นสบายโดยไม่มีสิ่งรบกวน เช่น โทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์. การมีกำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนที่ทำเป็นกิจวัตรจะช่วยเด็กและวัยรุ่นให้นอนหลับสนิทตลอดคืนด้วย. บางคนที่มีอาการหยุดหายใจชั่วขณะระหว่างนอนหลับได้ใช้เครื่องความดันช่องอากาศแบบคงที่ตลอดซึ่งจะค่อย ๆ เป่าอากาศเข้าไปทางจมูกและปากเบา ๆ เพื่อช่วยให้ช่องด้านหลังลำคอเปิดระหว่างการนอนหลับ. กุมารแพทย์คนหนึ่งกล่าวว่า “การนอนหลับมีความสำคัญมากกว่าอาหารที่เรารับประทาน. การนอนหลับสำคัญกว่าการออกกำลังกาย. การนอนหลับควบคุมฮอร์โมนของเรา, อารมณ์ของเรา และระบบภูมิคุ้มกันของเรา.”