ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รถไฟอินเดีย—ยักษ์ใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งประเทศ

รถไฟอินเดีย—ยักษ์ใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งประเทศ

รถไฟ​อินเดีย—ยักษ์​ใหญ่​ที่​ครอบ​คลุม​ทั้ง​ประเทศ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อินเดีย

4,000 กว่า​ปี​มา​แล้ว มี​ช่าง​ก่อ​สร้าง​ซึ่ง​ทำ​อิฐ​อยู่​ทาง​ภาค​เหนือ​ของ​อินเดีย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พวก​เขา​ไม่​เคย​นึก​ฝัน​ว่า​อิฐ​เหล่า​นั้น​จะ​ถูก​นำ​ไป​ใช้​ใน​เครือข่าย​ทาง​รถไฟ​ขนาด​ยักษ์​แห่ง​อนุ​ทวีป​อินเดีย.

การ​รถไฟ​อินเดีย​เป็น​ระบบ​ยักษ์​ใหญ่! ระบบ​รถไฟ​นี้​เป็น​วิธี​หลัก​ใน​การ​คมนาคม​ของ​อินเดีย ประเทศ​ซึ่ง​มี​ประชากร​มาก​กว่า​หนึ่ง​พัน​ล้าน​คน. นอก​จาก​การ​เดิน​ทาง​ตาม​ปกติ​ของ​ประชาชน​ทั่ว​ไป​ใน​แต่​ละ​วัน​แล้ว อินเดีย​มี​ธรรมเนียม​ที่​สืบ​ทอด​กัน​มา​นาน​ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​คน​นับ​ล้าน​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล​จาก​ญาติ ๆ ต้อง​เดิน​ทาง​กลับ​บ้าน​บ่อย ๆ เมื่อ​มี​เหตุ​การณ์​บาง​อย่าง​เกิด​ขึ้น​ใน​ครอบครัว เช่น การ​เกิด, การ​ตาย, งาน​เทศกาล, งาน​แต่งงาน, หรือ​การ​เจ็บ​ไข้.

โดย​เฉลี่ย​แล้ว​ทุก​วัน​มี​รถไฟ​กว่า 8,350 ขบวน​วิ่ง​ไป​ตาม​ราง​ซึ่ง​ยาว​เกือบ 80,000 กิโลเมตร​และ​ขน​ส่ง​ผู้​โดยสาร​มาก​กว่า 12.5 ล้าน​คน. ขบวน​รถ​สินค้า​ลำเลียง​สินค้า​ซึ่ง​มี​น้ำหนัก​มาก​กว่า 1.3 ล้าน​ตัน. รวม​กัน​แล้ว แต่​ละ​วัน​รถไฟ​เหล่า​นี้​วิ่ง​เป็น​ระยะ​ทาง​มาก​กว่า​ระยะ​ทาง​ระหว่าง​โลก​กับ​ดวง​จันทร์​ถึง​สาม​เท่า​ครึ่ง!

ลอง​คิด​ถึง​สถานี 6,867 แห่ง, รถ​จักร 7,500 คัน, รถ​โดยสาร​และ​รถ​สินค้า​มาก​กว่า 280,000 คัน, และ​ทาง​รถไฟ​ทั้ง​สิ้น​ที่​ยาว 107,969 กิโลเมตร​รวม​ทั้ง​ทาง​สาย​รอง แล้ว​คุณ​จะ​เข้าใจ​ว่า​ทำไม​การ​รถไฟ​อินเดีย​จึง​ต้อง​จ้าง​พนักงาน​ประมาณ 1.6 ล้าน​คน ซึ่ง​เป็น​แรงงาน​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก. ถูก​แล้ว ยักษ์​ใหญ่​อย่าง​แท้​จริง!

ยักษ์​ใหญ่​นี้​เกิด​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร?

อะไร​กระตุ้น​ให้​มี​การ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ใน​อินเดีย? โครงการ​อัน​ใหญ่​โต​นี้​เริ่ม​ขึ้น​เมื่อ​ไร? แล้ว​อิฐ​อายุ​ประมาณ 4,000 ปี​เหล่า​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร?—ดู​กรอบ​หน้า 14.

ตอน​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 19 อินเดีย​ผลิต​ฝ้าย​ดิบ​ปริมาณ​มหาศาล ซึ่ง​ถูก​ขน​ส่ง​ทาง​ถนน​ไป​ยัง​ท่า​เรือ​เพื่อ​ส่ง​ออก. กระนั้น อินเดีย​ก็​ไม่​ใช่​ผู้​ส่ง​ออก​ราย​ใหญ่​ที่​ส่ง​ฝ้าย​ให้​แก่​โรง​ทอ​ผ้า​ใน​อังกฤษ เพราะ​ส่วน​ใหญ่​โรง​ทอ​ผ้า​เหล่า​นั้น​รับ​ฝ้าย​มา​จาก​รัฐ​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​สหรัฐ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผล​ผลิต​ฝ้าย​ของ​อเมริกา​ตก​ต่ำ​ลง​ใน​ปี 1846 จาก​นั้น​ก็​มี​สงคราม​กลาง​เมือง​เกิด​ขึ้น​ตั้ง​แต่​ปี 1861 ถึง 1865 จึง​ทำ​ให้​มี​ความ​จำเป็น​เร่ง​ด่วน​ที่​ต้อง​มี​แหล่ง​นำ​เข้า​ฝ้าย​มา​ทดแทน. อินเดีย​คือ​ทาง​ออก. แต่​การ​ขน​ส่ง​ต้อง​รวด​เร็ว​ขึ้น​เพื่อ​ทำ​ให้​โรง​ทอ​ผ้า​ใน​มณฑล​แลงคาเชียร์​ของ​อังกฤษ​ดำเนิน​กิจการ​ต่อ​ไป​ได้. มี​การ​ก่อ​ตั้ง​บริษัท​การ​รถไฟ​อินเดีย​ตะวัน​ออก (1845) และ​การ​รถไฟ​แห่ง​คาบสมุทร​อินเดีย​ใหญ่ (1849). นอก​จาก​นั้น​มี​การ​เซ็น​สัญญา​กับ​บริษัท​อีสต์อินเดีย​แห่ง​อังกฤษ ซึ่ง​เป็น​พ่อค้า​ราย​ใหญ่​แห่ง​อนุ​ทวีป​อินเดีย. งาน​ดำเนิน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว และ​ใน​วัน​ที่ 16 เมษายน 1853 รถไฟ​ขบวน​แรก​ของ​อินเดีย​ก็​เริ่ม​วิ่ง​ไป​ตาม​ทาง​ที่​ยาว 34 กิโลเมตร​จาก​บริเวณ​ท่า​เรือ​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​บอริบันเดอร์ ใน​เมือง​บอมเบย์ (ปัจจุบัน​คือ​มุมไบ) ถึง​เมือง​ธานา.

จาก​เมือง​บอมเบย์ เพื่อ​จะ​ไป​ยัง​พื้น​ที่​ซึ่ง​มี​การ​ผลิต​ฝ้าย​ใน​เขต​ชนบท​อัน​ห่าง​ไกล​นั้น​ย่อม​หมาย​ความ​ว่า​ต้อง​ข้าม​เทือก​เขา​คาสต์​ตะวัน​ตก ซึ่ง​เป็น​ภูเขา​ที่​ขรุขระ​สูง​ชัน. วิศวกร​และ​คน​งาน​ชาว​อังกฤษ รวม​ทั้ง​คน​งาน​ชาว​อินเดีย​หลาย​พัน​คน ซึ่ง​บาง​ครั้ง​มี​ถึง 30,000 คน​ใน​เวลา​เดียว​กัน ต้อง​ทำ​งาน​ด้วย​ความ​เหนื่อย​ยาก​โดย​ไม่​มี​เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่​คอย​ช่วยเหลือ. โดย​การ​สร้าง​ราง​แบบ​เลี้ยว​ไป​เลี้ยว​มา​เพื่อ​ขึ้น​ภูเขา​สูง​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​โลก พวก​เขา​วาง​ราง​ซึ่ง​มี​ช่วง​ที่​ลาด​ชัน​ขึ้น 555 เมตร​ใน​ระยะ​ทาง​เพียง 24 กิโลเมตร. พวก​เขา​ขุด​อุโมงค์ 25 อุโมงค์​ซึ่ง​มี​ความ​ยาว​รวม​ทั้ง​สิ้น 3,658 เมตร. มี​การ​วาง​ราง​ไป​ถึง​ที่​ราบ​สูง​เดคคาน และ​รถไฟ​ก็​พร้อม​จะ​เริ่ม​กิจการ. งาน​นี้​ดำเนิน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว​ทั่ว​ประเทศ เพราะ​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​ไม่​เพียง​จาก​การ​ค้า​แต่​จาก​ความ​จำเป็น​ที่​ต้อง​เคลื่อน​ย้าย​กอง​ทหาร​และ​เจ้าหน้าที่​อย่าง​รวด​เร็ว​ด้วย ใน​ขณะ​ที่​ชาว​อังกฤษ​ได้​ผล​ประโยชน์​เพิ่ม​ขึ้น​จาก​อนุ​ทวีป​แห่ง​นี้.

การ​เดิน​ทาง​โดย​รถไฟ​ชั้น​หนึ่ง​ซึ่ง​เริ่ม​ให้​บริการ​ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 สำหรับ​คน​จำนวน​น้อย​ที่​สามารถ​จ่าย​ค่า​โดยสาร​ได้ ทำ​ให้​พอ​ทน​ความ​ร้อน​และ​ฝุ่น​ได้. รถ​โดยสาร​ส่วน​ตัว​มี​เตียง​นอน​ที่​สบาย, ห้อง​ส้วม​และ​ห้อง​อาบ​น้ำ, พนักงาน​ที่​จัด​เครื่อง​ดื่ม​ดับ​กระหาย​ตั้ง​แต่​น้ำ​ชา​ยาม​เช้า​ไป​จน​ถึง​อาหาร​ค่ำ, พัด​ลม​ที่​มี​ถัง​น้ำ​แข็ง​อยู่​ด้าน​ล่าง​เพื่อ​ให้​ลม​ที่​เย็น​สบาย, ช่าง​ตัด​ผม, และ​นวนิยาย​ชุด​ของ​วีลเลอร์​ใน​ห้อง​สมุด​รถไฟ รวม​ไป​ถึง​นวนิยาย​เรื่อง​ล่า​สุด​จาก รัดยาร์ด คิปลิง นัก​เขียน​ที่​เกิด​ใน​อินเดีย. หลุยส์ รุสเซเล ซึ่ง​เดิน​ทาง​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1860 กล่าว​ว่า เขา​สามารถ “เดิน​ทาง​เป็น​ระยะ​ทาง​ไกล ๆ ขนาด​นี้​ได้​โดย​แทบ​ไม่​รู้สึก​เหนื่อย​ล้า.”

ยักษ์​ใหญ่​เติบโต​ขึ้น

พอ​ถึง​ปี 1900 เครือข่าย​การ​รถไฟ​ของ​อินเดีย​ก็​กลาย​เป็น​เครือข่าย​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​เป็น​อันดับ​ห้า​ของ​โลก. รถ​จักร​ที่​ใช้​เครื่อง​ยนต์​ไอ​น้ำ, ดีเซล, และ​ไฟฟ้า​และ​รถ​ทั้ง​หมด​รวม​ทั้ง​รถ​โดยสาร ซึ่ง​ก่อน​หน้า​นั้น​ล้วน​ต้อง​นำ​เข้า​มา​จาก​ต่าง​ประเทศ มา​ถึง​ตอน​นี้​ก็​สามารถ​ผลิต​เอง​ภาย​ใน​ประเทศ. เครื่อง​ยนต์​บาง​รุ่น​เป็น​ยักษ์​ใหญ่​อย่าง​แท้​จริง เช่น รถ​จักร​ที่​หนัก​ถึง 230 ตัน, เครื่อง​ยนต์​ไฟฟ้า​ที่​มี​กำลัง​ถึง 6,000 แรง​ม้า, และ​เครื่อง​ยนต์​ดีเซล​หนัก 123 ตัน​ซึ่ง​มี​กำลัง 3,100 แรง​ม้า. ใน​ปี 1862 มี​การ​ใช้​รถไฟ​สอง​ชั้น​ขบวน​แรก​ของ​โลก. อินเดีย​ภูมิ​ใจ​ที่​มี​ชานชาลา​ที่​ยาว​ที่​สุด​ใน​โลก คือ​ยาว 833 เมตร ซึ่ง​อยู่​ที่​เมือง​ขารากปุระ​ใน​รัฐ​เบงกอล​ตะวัน​ตก และ​มี​ชานชาลา​ที่​มี​หลังคา​ยาว​ที่​สุด คือ​แต่​ละ​ชานชาลา​ยาว 305 เมตร ที่​สีอัลดาห์​ใน​เมือง​กัลกัตตา.

รถไฟ​ขบวน​แรก ๆ วิ่ง​บน​ราง​ขนาด 1.68 เมตร. ต่อ​มา เพื่อ​จะ​ประหยัด​เงิน มี​การ​สร้าง​ราง​ขนาด​กว้าง​หนึ่ง​เมตร​รวม​ทั้ง​ราง​ที่​แคบ​กว่า​หนึ่ง​เมตร​สำหรับ​ทาง​ขึ้น​เขา. ใน​ปี 1992 เริ่ม​มี​โครงการ​เปลี่ยน​ราง​ให้​มี​ขนาด​เดียว​กัน และ​จน​ถึง​ปัจจุบัน ราง​รถไฟ​ระยะ​ทาง​ประมาณ 7,800 กิโลเมตร​ถูก​เปลี่ยน​จาก​ขนาด​กว้าง​หนึ่ง​เมตร​และ​แคบ​กว่า​หนึ่ง​เมตร​ไป​เป็น 1.68 เมตร.

รถไฟ​ที่​ชาน​เมือง​มุมไบ​ขน​ส่ง​ผู้​โดยสาร​หลาย​ล้าน​คน​และ​ดู​เหมือน​ว่า​มี​คน​แน่น​ขนัด​ตลอด. ระบบ​รถไฟ​ใต้​ดิน​ของ​เมือง​กัลกัตตา​สามารถ​ขน​ส่ง​ผู้​โดยสาร​ได้​วัน​ละ 1.7 ล้าน​คน. เมือง​เชนไน (ชื่อ​เดิม​คือ​มัทราส) มี​ระบบ​รถไฟ​ยก​ระดับ​เป็น​แห่ง​แรก​ใน​อินเดีย. เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ก็​มี​ระบบ​การ​จอง​ตั๋ว​ทาง​คอมพิวเตอร์​และ​ตู้​ที่​ให้​บริการ​ข้อมูล​ข่าวสาร​แบบ​มัลติมีเดีย​เพิ่ม​เข้า​มา​อีก. ระบบ​รถไฟ​นี้​เป็น​ยักษ์​ใหญ่​ที่​ไม่​เคย​ว่าง​และ​ยัง​ก้าว​หน้า​ไป​เรื่อย ๆ.

“รถไฟ​แคระ” ที่​น่า​เพลิดเพลิน

เพื่อ​จะ​หลีก​หนี​จาก​ความ​ร้อน ชาว​อังกฤษ​ที่​อยู่​ใน​อาณานิคม​นี้​ชอบ​เดิน​ทาง​ขึ้น​ไป​บน​ภูเขา. โดย​หวัง​ว่า​จะ​ไป​ถึง​ภูเขา​ได้​เร็ว​ยิ่ง​ขึ้น จึง​มี​การ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​บน​ภูเขา​พร้อม​กับ “รถไฟ​แคระ.” หลัง​จาก​นั้น​การ​เดิน​ทาง​จึง​เร็ว​ขึ้น นั่น​คือ​เมื่อ​เทียบ​กับ​การ​ขี่​ม้า​หรือ​การ​นั่ง​แคร่. ยก​ตัว​อย่าง “รถไฟ​แคระ” ใน​ภาค​ใต้​ของ​อินเดีย​ได้​บรรทุก​ผู้​โดยสาร​ขึ้น​เขา​นิล​คีรี หรือ​เทือก​เขา​สี​น้ำเงิน. ความ​เร็ว​โดย​เฉลี่ย​ของ​รถไฟ​นี้​คือ 10.4 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง​และ​อาจ​เป็น​รถไฟ​ที่​แล่น​ช้า​ที่​สุด​ใน​อินเดีย. แต่​การ​เดิน​ทาง​ใน​เส้น​ทาง​นี้​ช่าง​น่า​ประทับใจ​จริง ๆ โดย​ผ่าน​ไร่​ชา​ไร่​กาแฟ​ที่​อยู่​ตาม​เทือก​เขา​จน​ถึง​เมือง​กูนูร์​ซึ่ง​อยู่​สูง 1,712 เมตร! ทาง​สาย​นี้​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 19 และ​มี​ความ​ชัน 1 ต่อ 12, มี​ทาง​โค้ง 208 โค้ง, และ​อุโมงค์ 13 อุโมงค์. ทาง​นี้​ใช้​ระบบ​ฟัน​เฟือง​แบบ​อับต์. มี​แท่ง​เหล็ก​ที่​มี​ฟัน​เป็น​เหมือน​บันได​ที่​รถ​จักร​ใช้​ปีน​ขึ้น​เขา โดย​ดัน​ขบวน​รถไฟ​จาก​ด้าน​ท้าย. ทาง​รถไฟ​สาย​นี้​เป็น​สาย​หนึ่ง​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​และ​ชัน​ที่​สุด​ใน​โลก​ซึ่ง​ใช้​เทคโนโลยี​ฟัน​เฟือง​และ​แรง​จับ.

รถไฟ​สาย​หิมาลัย​แห่ง​เมือง​ดาร์ชีลิง​ปีน​ขึ้น​เขา​บน​ราง​ที่​กว้าง​เพียง​สอง​ฟุต โดย​มี​อัตรา​ความ​ชัน 1 ต่อ 22.5 จน​ถึง​ฆูม ซึ่ง​เป็น​สถานี​รถไฟ​ที่​อยู่​สูง​ที่​สุด​ใน​อินเดีย คือ​สูง​กว่า​ระดับ​น้ำ​ทะเล 2,258 เมตร. ทาง​สาย​นี้​มี​ช่วง​ที่​เวียน​เป็น​วง​ขึ้น​ไป​สาม​ช่วง​และ​มี​ช่วง​ที่​ต้อง​ถอย​หลัง​สลับ​กับ​การ​เดิน​หน้า​หก​ช่วง. ช่วง​ที่​มี​ชื่อเสียง​ที่​สุด​คือ ทาง​วน​บาทาเซีย ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​โดยสาร​อยาก​กระโดด​ลง​จาก​รถไฟ​แล้ว​ปีน​ขึ้น​เนิน​ที่​ปก​คลุม​ด้วย​หญ้า เพื่อ​จะ​กระโดด​ขึ้น​รถไฟ​อีก​ครั้ง​หลัง​จาก​ที่​รถไฟ​ผ่าน​โค้ง​มา​แล้ว. การ​เดิน​ทาง​ที่​น่า​ตื่นเต้น​มา​ถึง​จุด​สุด​ยอด​เมื่อ​ได้​เห็น​ทิวทัศน์​เขา​กันเจนจุงกา ซึ่ง​เป็น​ภูเขา​ที่​สูง​เป็น​อันดับ​สาม​ของ​โลก. ใน​ปี 1999 องค์การ​ยูเนสโก​ได้​ประกาศ​ให้​ทาง​รถไฟ​สาย​นี้​เป็น​หนึ่ง​ใน​มรดก​โลก ซึ่ง​ทำ​ให้​อนาคต​ของ​เส้น​ทาง​สาย​นี้​มั่นคง​ยิ่ง​ขึ้น.

เพื่อ​จะ​ไป​ถึง​ศิมลา ซึ่ง​อยู่​สูง 2,200 เมตร​และ​เคย​เป็น​เมือง​หลวง​ใน​ฤดู​ร้อน​ของ​อินเดีย​สมัย​ที่​อยู่​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​อังกฤษ รถไฟ​ต้อง​ลอด​อุโมงค์ 102 อุโมงค์, ข้าม​สะพาน 869 สะพาน, และ​เลี้ยว​โค้ง 919 โค้ง​ใน​ระยะ​ทาง​เพียง​แค่ 95 กิโลเมตร! ผู้​โดยสาร​อาจ​เห็น​ทิวทัศน์​อัน​งดงาม​ผ่าน​ทาง​หน้าต่าง​บาน​ใหญ่​และ​หลังคา​ที่​ทำ​จาก​ใย​แก้ว​ที่​โปร่ง​ใส. ถูก​แล้ว การ​ขึ้น “รถไฟ​แคระ” นั้น​น่า​เพลิดเพลิน​จริง ๆ. แต่​เนื่อง​จาก​มี​การ​เก็บ​ค่า​โดยสาร​ใน​อัตรา​ค่อนข้าง​ต่ำ รถไฟ​ภูเขา​จึง​ประสบ​กับ​การ​ขาด​ทุน​อย่าง​น่า​เสียดาย. ผู้​ชื่น​ชอบ​รถไฟ​ต่าง​หวัง​ว่า​จะ​มี​ทาง​แก้​เพื่อ​ช่วย​รถไฟ​ที่​ให้​ความ​เพลิดเพลิน​นี้​คง​อยู่​ต่อ​ไป​ได้.

การ​เดิน​ทาง​ระยะ​ไกล​ด้วย​รถไฟ

กล่าว​กัน​ว่า การ​ที่​รถไฟ​ถูก​นำ​เข้า​มา​ใน​อินเดีย​นั้น​ทำ​ให้ “ยุค​หนึ่ง​สิ้น​สุด​ลง​และ​มี​อีก​ยุค​เริ่ม​ขึ้น​แทน” และ​กล่าว​กัน​อีก​ว่า “ทาง​รถไฟ​เชื่อม​ต่อ​อินเดีย​เข้า​ด้วย​กัน​อย่าง​ที่​ไม่​มี​แผนการ​ผนึก​ให้​เป็น​หนึ่ง​เดียว​ใด ๆ สามารถ​ทำ​ได้​นับ​ตั้ง​แต่​นั้น​มา.” เป็น​เช่น​นั้น​จริง ๆ! ถ้า​คุณ​ต้องการ คุณ​อาจ​ขึ้น​รถไฟ​ที่​จัมมู ณ เชิง​เขา​หิมาลัย แล้ว​ไป​ลง​ที่​กันยากุมารี จุด​ใต้​สุด​ของ​อินเดีย ที่​ซึ่ง​ทะเล​อาหรับ, มหาสมุทร​อินเดีย, และ​อ่าว​เบงกอล​มา​บรรจบ​กัน. คุณ​จะ​ได้​เดิน​ทาง​เป็น​ระยะ​ทาง 3,751 กิโลเมตร​ผ่าน 12 รัฐ​โดย​ใช้​เวลา​ประมาณ 66 ชั่วโมง​บน​รถไฟ. แม้​ว่า​คุณ​จะ​ตี​ตั๋ว​นอน คุณ​ก็​อาจ​เสีย​ค่า​โดยสาร​ไม่​ถึง 15 ดอลลาร์ (สหรัฐ). คุณ​จะ​มี​โอกาส​ได้​รู้​จัก​กับ​ผู้​คน​ที่​เป็น​มิตร​ชอบ​พูด​ชอบ​คุย​จาก​หลาย​วัฒนธรรม​และ​จะ​ได้​เห็น​หลาย​สิ่ง​ใน​ประเทศ​ที่​น่า​ทึ่ง​นี้. จอง​ตั๋ว​เสีย​สิ แล้ว​ก็​ขอ​ให้​คุณ​เดิน​ทาง​อย่าง​มี​ความ​สุข!

[กรอบ​หน้า 14]

อิฐ​โบราณ​พวก​นั้น

ใน​ช่วง​ที่​บริเตน​ปกครอง​อินเดีย (ปี 1757-1947) รถไฟ​ใน​อนุ​ทวีป​อินเดีย​ปรากฏ​ว่า​เป็น​วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​เคลื่อน​ย้าย​กอง​ทหาร​ใน​ระยะ​ทาง​ไกล ๆ. ภาย​ใน​ช่วง​สาม​ปี​ที่​มี​การ​เฉลิม​ฉลอง​รถไฟ​ขบวน​แรก​ของ​อินเดีย วิศวกร​ก็​ได้​วาง​ราง​ระหว่าง​เมือง​การาจี​ถึง​เมือง​ลาฮอร์​ซึ่ง​ปัจจุบัน​อยู่​ใน​ประเทศ​ปากีสถาน. ตอน​นั้น​ไม่​มี​ก้อน​หิน​โรย​ทาง​รถไฟ​เพื่อ​ทำ​ให้​ราง​มั่นคง แต่​ใกล้ ๆ กับ​หมู่​บ้าน​หารัปปา คน​งาน​ได้​พบ​อิฐ​เผา. วิศวกร​ชาว​สกอตแลนด์​ชื่อ​จอห์น​และ​วิลเลียม บรันตัน คิด​ว่า​อิฐ​เหล่า​นั้น​คง​จะ​ใช้​ได้​ดี​และ​เป็น​การ​ประหยัด​ค่า​ใช้​จ่าย​ด้วย. ขณะ​ที่​คน​งาน​กำลัง​ขุด​ชั้น​ดิน​ที่​มี​อิฐ​อยู่​มาก​มาย​นั้น​ก็​ได้​พบ​รูป​ปั้น​เล็ก ๆ และ​ตรา​ประทับ​ที่​ทำ​ด้วย​ดิน​เหนียว​ซึ่ง​มี​คำ​จารึก​เป็น​ภาษา​ที่​ไม่​มี​ใคร​รู้​จัก แต่​เรื่อง​นี้​ก็​ไม่​ได้​ทำ​ให้​งาน​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ซึ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​หยุด​ชะงัก​ลง. มี​การ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​บน​อิฐ​หารัปปา​เป็น​ระยะ​ทาง 160 กิโลเมตร. หก​สิบ​ห้า​ปี​ต่อ​มา นัก​โบราณคดี​ได้​ขุด​ค้น​บริเวณ​หมู่​บ้าน​หารัปปา​อย่าง​เป็น​ระบบ และ​ได้​พบ​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​อารยธรรม​ที่​น่า​ทึ่ง​ใน​ลุ่ม​แม่น้ำ​สินธุ ซึ่ง​มี​อายุ​ย้อน​หลัง​ไป​มาก​กว่า 4,000 ปี เป็น​สมัย​เดียว​กัน​กับ​เมโสโปเตเมีย​โบราณ!

[กรอบ​หน้า 16]

การ​รถไฟ​กอนกาน—ความ​มหัศจรรย์​สมัย​ใหม่

กอนกาน​เป็น​ผืน​แผ่นดิน​ซึ่ง​มี​ช่วง​กว้าง​ที่​สุด​ประมาณ 75 กิโลเมตร อยู่​ทาง​ชายฝั่ง​ตะวัน​ตก​ของ​อินเดีย ระหว่าง​ทะเล​อาหรับ​กับ​เทือก​เขา​ซาห์ยาดรี. เนื่อง​จาก​มี​อาณา​บริเวณ​จาก​เมือง​มุมไบ ศูนย์กลาง​การ​พาณิชย์​ของ​อินเดีย ลง​ไป​ทาง​ใต้​จน​ถึง​เมือง​ท่า​หลัก​มังกาลอร์ ทาง​รถไฟ​กอนกาน​จึง​จะ​ทำ​ให้​มี​ข้อ​ได้​เปรียบ​มาก​ทาง​การ​ค้า. เป็น​เวลา​หลาย​ศตวรรษ​ที่​เมือง​ท่า​ตาม​ชายฝั่ง​มี​การ​ค้า​ขาย​เช่น​นั้น ทั้ง​ภาย​ใน​อินเดีย​และ​กับ​ต่าง​ประเทศ. แต่​การ​ออก​ทะเล​มี​อันตราย โดย​เฉพาะ​ใน​ฤดู​มรสุม เมื่อ​แม่น้ำ​สาย​ต่าง ๆ ไม่​สามารถ​ล่อง​เรือ​ได้ และ​ถนน​กับ​ทาง​รถไฟ​ก็​อยู่​ลึก​เข้า​ไป​ใน​แผ่นดิน​เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​อุปสรรค​หลาย​อย่าง​ตาม​ธรรมชาติ. ผู้​คน​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​แถบ​นี้​ต่าง​ก็​อยาก​ให้​มี​ทาง​ที่​ตัด​ตาม​ชายฝั่ง​โดย​ตรง​เพื่อ​จะ​ขน​ส่ง​สินค้า​ให้​ไป​ถึง​ตลาด​ใหญ่​อย่าง​รวด​เร็ว โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ของ​ที่​เน่า​เสีย​ได้. ทาง​แก้​คือ​อะไร?

การ​รถไฟ​กอนกาน​เป็น​โครงการ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 20 ใน​อนุ​ทวีป. โครงการ​นี้​รวม​ถึง​อะไร​บ้าง? การ​สร้าง​ราง​เป็น​ระยะ​ทาง 760 กิโลเมตร​โดย​มี​เขื่อน​ดิน​บาง​ช่วง​สูง​ถึง 25 เมตร​หลาย​เขื่อน​และ​มี​การ​ขุด​ดิน​ลึก​ถึง 28 เมตร. มี​การ​สร้าง​สะพาน​มาก​กว่า 2,000 สะพาน รวม​ทั้ง​ปัณวัลณาดี สะพาน​ข้าม​หุบเขา​ที่​สูง​ที่​สุด​ใน​เอเชีย ซึ่ง​สูง 64 เมตร ที่​ทอด​ข้าม​หุบเขา​กว้าง 500 เมตร และ​อีก​สะพาน​หนึ่ง​ทอด​ข้าม​แม่น้ำ​ชา​รา​วา​ตี​ซึ่ง​ยาว 2,065 เมตร. การ​เจาะ​เข้า​ไป​ใน​เทือก​เขา​เพื่อ​ให้​ทาง​รถไฟ​เป็น​ทาง​ที่​ตรง​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​ตรง​ได้ โดย​ขุด​อุโมงค์ 92 อุโมงค์ ซึ่ง​มี 6 อุโมงค์​ที่​ยาว​กว่า 3.2 กิโลเมตร. ที่​จริง อุโมงค์​ที่​ยาว​ที่​สุด​ใน​อินเดีย​จน​ถึง​ปัจจุบัน​ก็​คือ​หนึ่ง​ใน​อุโมงค์​เหล่า​นี้ นั่น​คือ​อุโมงค์​การ์บูเท​ซึ่ง​ยาว 6.5 กิโลเมตร.

มี​ปัญหา​มาก​มาย เช่น ฝน​ที่​เท​ลง​มา​อย่าง​หนัก, ดิน​ถล่ม, และ​โคลน​ถล่ม รวม​ทั้ง​การ​เจาะ​อุโมงค์​เข้า​ไป​ใน​หิน​แข็ง​และ​ที่​ยาก​ยิ่ง​กว่า​นั้น​คือ​การ​เจาะ​เข้า​ไป​ใน​ดิน​เหนียว​นิ่ม ซึ่ง​มี​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น​เหมือน​ยา​สี​ฟัน. อุปสรรค​ทาง​ธรรมชาติ​ทั้ง​หมด​นี้​ต้อง​ใช้​ทักษะ​ทาง​วิศวกรรม​และ​เทคโนโลยี​เข้า​ช่วย. ระบบ​ระบาย​อากาศ​ด้วย​พัด​ลม​แรง​เหวี่ยง​และ​พัด​ลม​ไอพ่น​ใน​อุโมงค์ รวม​ทั้ง​มาตรการ​ด้าน​ความ​ปลอด​ภัย​อื่น ๆ ล้วน​เป็น​โครงการ​มโหฬาร​อยู่​ใน​ตัว​แล้ว และ​ยัง​ต้อง​มี​การ​เวร​คืน​ที่​ดิน​จาก​เจ้าของ​ที่​ดิน 42,000 ราย ซึ่ง​เป็น​งาน​ขนาด​มหึมา​ทาง​ด้าน​กฎหมาย.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​วัน​ที่ 26 มกราคม 1998 หลัง​จาก​ใช้​เวลา​ก่อ​สร้าง​เพียง​เจ็ด​ปี ซึ่ง​เป็น​สถิติ​ใหม่​สำหรับ​โครงการ​ยักษ์​ขนาด​นี้ รถไฟ​ขบวน​แรก​ของ​การ​รถไฟ​กอนกาน​ก็​ได้​รับ​สัญญาณ​ให้​ออก​วิ่ง​ได้. การ​เดิน​ทาง​จาก​เมือง​มุมไบ​ถึง​เมือง​มังกาลอร์​มี​ระยะ​ทาง​สั้น​กว่า​ทาง​ที่​คดเคี้ยว​เส้น​ทาง​เดิม​ถึง 1,127 กิโลเมตร​และ​ใช้​เวลา​น้อย​ลง​ถึง 26 ชั่วโมง. การ​รถไฟ​กอนกาน​ทำ​ให้​ผู้​ที่​เดิน​ทาง​โดย​รถไฟ​ได้​เห็น​ทัศนียภาพ​ใหม่ ๆ ที่​น่า​ทึ่ง, ทำ​ให้​นัก​ท่อง​เที่ยว​มี​สถาน​ที่​ใหม่ ๆ ให้​สำรวจ, และ​ทำ​ให้​ผู้​คน​หลาย​ล้าน​มี​เศรษฐกิจ​ที่​ดี​ขึ้น.

[แผนที่]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

มุมไบ

มังกาลอร์

[รูปภาพ]

ปัณวัลณาดี สะพาน​ข้าม​หุบเขา​ที่​สูง​ที่​สุด​ใน​เอเชีย

[ที่​มา​ของ​ภาพ

Dipankar Banerjee/STSimages.com

[กรอบ/ภาพ​หน้า 16]

แฟรีควีน

รถ​จักร​ไอ​น้ำ​ที่​ยัง​ใช้​งาน​อยู่​ซึ่ง​เก่า​แก่​ที่​สุด​ใน​โลก​คือ​รถ​จักร​แฟรีควีน. รถ​จักร​คัน​นี้​ถูก​สร้าง​ขึ้น​เมื่อ​ปี 1855 ที่​เมือง​ลีดส์ ประเทศ​อังกฤษ โดย​บริษัท​วิศวกรรม​ของ​คิตสัน, ทอมป์สัน​และ​ฮิววิตสัน มัน​ลาก​รถไฟ​ที่​บรรทุก​ถุง​ไปรษณีย์​จาก​สถานี​เหาราห์​ใกล้​เมือง​กัลกัตตา​ถึง​รานีกานจ์​ใน​รัฐ​เบงกอล. ใน​ปี 1909 หลัง​จาก​ที่​เลิก​ใช้​รถ​จักร​คัน​นี้​แล้ว มัน​ก็​ถูก​เก็บ​ไว้​ใน​พิพิธภัณฑ์​รถไฟ​แห่ง​ชาติ กรุง​นิวเดลี ซึ่ง​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​ของ​ผู้​คลั่งไคล้​รถไฟ. เพื่อ​ฉลอง​วัน​ครบ​รอบ 50 ปี​ที่​อินเดีย​ได้​รับ​เอกราช มี​การ​นำ​รถ​จักร​เก่า​แก่​ที่​ไว้​ใจ​ได้​คัน​นี้​ออก​มา​ใช้​งาน​อีก​ครั้ง. ตั้ง​แต่​ปี 1997 รถไฟ​แฟรีควีนเอกซเพรสส์ ได้​วิ่ง​ขน​ส่ง​นัก​ท่อง​เที่ยว​เป็น​ระยะ​ทาง 143 กิโลเมตร​จาก​เมือง​เดลี​ถึง​เมือง​อัลวาร์​ใน​รัฐ​ราชสถาน.

[กรอบ​หน้า 17]

ความ​หรูหรา​และ​ความ​เร็ว—อินเดีย​ก็​มี!

ความ​หรูหรา อินเดีย​มี​อดีต​ที่​เก่า​แก่​และ​ค่อนข้าง​มั่งคั่ง. การ​ท่อง​เที่ยว​ทาง​รถไฟ​แบบ​พิเศษ​ทำ​ให้​มี​โอกาส​ได้​มอง​เห็น​ภาพ​คร่าว ๆ ใน​ประวัติศาสตร์​ได้​อย่าง​สะดวก​สบาย แม้​ว่า​ต้อง​จ่าย​ด้วย​ราคา​แพง. รถไฟ​พาเลซ ออน วีลส์ ซึ่ง​ขับ​เคลื่อน​โดย​รถ​จักร​ไอ​น้ำ เริ่ม​วิ่ง​ใน​ปี 1982. รถ​โดยสาร​ที่​ปรับ​ปรุง​ใหม่​อย่าง​หรูหรา​ซึ่ง​แต่​เดิม​เป็น​รถ​สำหรับ​มหา​ราชา​และ​อุปราช​นั้น ยัง​คง​มี​บรรยากาศ​ของ​ราชสมบัติ​ให้​เห็น​อยู่. ภาย​นอก​เป็น​สี​ขาว​ไข่มุก, ผนัง​กรุ​ด้วย​ไม้​สัก​จาก​พม่า, โคม​ระย้า​แก้ว​เจียระไน, และ​ผ้า​ปัก​ที่​มี​ลวด​ลาย​ทำ​ด้วย​ทอง​และ​เงิน​ล้วน​ทำ​ให้​มี​บรรยากาศ​ของ​ความ​โอ่อ่า. ห้อง​นอน​แบบ​พระ​ราชวัง, ห้อง​อาหาร, ห้อง​นั่ง​เล่น​และ​ห้อง​สมุด, อาหาร​นานา​ชาติ​รส​เยี่ยม, และ​การ​บริการ​โดย​พนักงาน​ที่​สวม​เครื่อง​แบบ​ทำ​ให้​ผู้​โดยสาร​รู้สึก​ได้​รับ​การ​เอา​ใจ​ใส่​อย่าง​ดี.

ใน​ปี 1995 เนื่อง​จาก​มี​การ​เปลี่ยน​ราง​เป็น​ขนาด​กว้าง รถไฟ​พาเลซ ขบวน​ใหม่​จึง​ถูก​สร้าง​ขึ้น และ​รถไฟ​ขบวน​เดิม​ก็​ถูก​ปลด​ระวาง. รถไฟ​ที่​หรูหรา​ขบวน​ใหม่​ที่​มี​ชื่อ​ว่า​เดอะ รอยัล โอเรียนต์ ยัง​คง​วิ่ง​บน​ราง​ขนาด​หนึ่ง​เมตร​แบบ​เก่า​ใน​รัฐ​คุชราต​และ​ราชสถาน​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​อินเดีย. รถไฟ​เหล่า​นี้​วิ่ง​ตอน​กลางคืน​เป็น​ส่วน​ใหญ่ และ​ผู้​โดยสาร​ก็​ใช้​เวลา​ตอน​กลางวัน​เที่ยว​ชม​สถาน​ที่​ต่าง ๆ. ผู้​โดยสาร​เดิน​ทาง​ผ่าน​ทะเล​ทราย​เกรตธาร์ ซึ่ง​มี​ป้อม​ปราการ​และ​วิหาร​โบราณ. ผู้​โดยสาร​อาจ​ขี่​อูฐ​ข้าม​เนิน​ทราย​และ​ขี่​ช้าง​ไป​ยัง​ป้อม​อัมเบอร์​ที่​มี​ชื่อเสียง. ใกล้ ๆ กัน​นั้น​คือ​เมือง​ชัยปุระ หรือ​นคร​ชมพู ซึ่ง​มี​เรื่อง​ราว​ทาง​ประวัติศาสตร์​มาก​มาย​เกิด​ขึ้น​ที่​นั่น​และ​ยัง​เป็น​เมือง​ที่​มี​ชื่อเสียง​ด้าน​อัญมณี​และ​หัตถกรรม. รายการ​ที่​รวม​อยู่​ใน​การ​ท่อง​เที่ยว​นี้​คือ​สถาน​อนุรักษ์​พันธุ์​นก, เขต​สงวน​พันธุ์​เสือ, และ​ถิ่น​อาศัย​ของ​สิงโต​เอเชีย​กลุ่ม​สุด​ท้าย​ที่​ยัง​หลง​เหลือ​อยู่​ใน​ป่า. อย่า​พลาด​ชม​พระ​ราชวัง​ทะเลสาบ​อุทัยปุระ และ​แน่นอน ทัชมาฮาล! รายการ​ทั้ง​หมด​นี้​และ​รายการ​อื่น ๆ ทำ​ให้​การ​ผจญ​ภัย​ทาง​รถไฟ​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​ตื่นเต้น.

ความ​เร็ว รถไฟ​ของ​อินเดีย​แข่ง​กับ​รถไฟ​ความ​เร็ว​สูง​ของ​ฝรั่งเศส​และ​ญี่ปุ่น​ไม่​ได้. แต่​การ​เดิน​ทาง​ระยะ​ไกล​ที่​สะดวก​สบาย​และ​รวด​เร็ว​ก็​เป็น​ไป​ได้​โดย​รถ​ด่วน​พิเศษ​ที่​วิ่ง​ระหว่าง​เมือง​ของ​การ​รถไฟ​อินเดีย​ซึ่ง​มี 106 คู่. รถไฟ​ราชธานี และ​ชาตับดี ซึ่ง​วิ่ง​ด้วย​ความ​เร็ว​เกือบ 160 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง โดย​ให้​การ​บริการ​ที่​สะดวก​สบาย​คล้าย​กับ​การ​โดยสาร​เครื่องบิน. รถ​ปรับ​อากาศ​มี​ที่​นั่ง​ที่​ปรับ​เอน​ได้​หรือ​ไม่​ก็​เตียง​นอน​ที่​สบาย. อาหาร​และ​อาหาร​ว่าง, ผ้า​ปู​เตียง, น้ำ​ดื่ม​สะอาด, และ​การ​ปฐม​พยาบาล​ต่าง​ก็​รวม​อยู่​ใน​ค่า​ตั๋ว​ของ​รถไฟ​ที่​เลิศ​หรู​นี้.

[แผนที่]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ชัยปุระ

อุทัยปุระ

[รูปภาพ]

ฮาวามาฮาล ชัยปุระ

ทัชมาฮาล อาคระ

เดอะ รอยัล โอเรียนต์

ภาย​ใน​รถไฟ “พาเลซ ออน วีลส์”

[ที่​มา​ของ​ภาพ

Hira Punjabi/STSimages.com

[แผนที่/รูปภาพ​หน้า 13]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

นิวเดลี

[รูปภาพ]

ทาง​รถไฟ​สาย​หลัก​บาง​สาย

รถ​จักร​ไอ​น้ำ ซาวาร์

รถ​จักร​ไอ​น้ำ รถไฟ​สาย​หิมาลัย​แห่ง​เมือง​ดาร์ชีลิง (ดี​เอช​อาร์)

รถ​จักร​ไฟฟ้า อาคระ

รถ​จักร​ไฟฟ้า มุมไบ

รถ​จักร​ดีเซล ไฮเดอราบัด

รถ​จักร​ดีเซล ศิมลา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Map: © www.MapsofIndia.com

[แผนที่/รูปภาพ​หน้า 15]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

มุมไบ

[รูปภาพ]

สถานี​เชิร์ชเกท มุมไบ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Sandeep Ruparel/STSimages.com

[แผนที่/รูปภาพ​หน้า 15]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เขา​นิลคีรี

[รูปภาพ]

เครื่องจักร​ไอ​น้ำ​ดัน “รถไฟ​แคระ” แห่ง​เขา​นิลคีรี​ขึ้น​ทาง​ลาด​ชัน

[แผนที่/ภาพ​หน้า 18]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ดาร์ชีลิง

[รูปภาพ]

ทาง​วน​บาทาเซีย ที่​ซึ่ง​ขบวน​รถไฟ​วน​ข้าม​ตัว​เอง

ทิวทัศน์​ของ​เขา​กันเจนจุงกา​จาก​ทาง​วน​บาทาเซีย

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 14]

Trains on pages 2, 13, 15 middle, 16-18: Reproduced by permission of Richard Wallace