วิทยาศาสตร์กับศาสนา—ความขัดแย้ง
วิทยาศาสตร์กับศาสนา—ความขัดแย้ง
“การมองว่าศาสนาเป็นโรคติดต่อทางจิตใจเป็นการเข้าใจศาสนาได้ถูกต้องที่สุดไหม?”—นักชีววิทยาริชาร์ด ดอว์กินส์.
บางครั้ง มีการมองกันว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนศัตรูคู่อาฆาต. บางคนมองว่าทั้งสองฝ่ายสู้กันอย่างรุนแรงจนอาจดูเหมือนว่าฝ่ายหนึ่งจะชนะได้ก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งตายไป.
ฝ่ายหนึ่งคือนักวิทยาศาสตร์บางคน เช่น นักเคมีปีเตอร์ แอตกินส์ ซึ่งคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่จะทำให้ศาสนากับวิทยาศาสตร์ลงรอยกัน. แอตกินส์กล่าวว่า ที่จะเชื่อ “ว่าพระเจ้าเป็นต้นกำเนิด (ของสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยยังไม่ต้องพูดถึงทุกสิ่ง) เป็นเรื่องน่ารังเกียจสำหรับปัญญาชน.”
อีกฝ่ายหนึ่งคือพวกเคร่งศาสนาซึ่งโทษวิทยาศาสตร์ว่าเป็นตัวการทำลายความเชื่อ. คนเหล่านี้เชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์ที่ยึดถือกันในปัจจุบันเป็นเรื่องหลอกลวง; ข้อเท็จจริงอาจถูกต้อง แต่การตีความแบบผิด ๆ เป็นการบ่อนทำลายศรัทธาของผู้เลื่อมใส. เพื่อเป็นตัวอย่าง นักชีววิทยาวิลเลียม โพรไวน์ กล่าวว่า แนวคิดแบบดาร์วินหมายถึง “ไม่มีพื้นฐานจริง ๆ สำหรับจริยธรรม; ไม่มีความหมายจริง ๆ สำหรับชีวิต.”
อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งบางอย่างเกิดจากคำยืนยันเท็จหรือคำยืนยันที่พิสูจน์ไม่ได้ซึ่งมาจากทั้งสองฝ่าย. นับเป็นเวลาหลายร้อยปีที่พวกหัวหน้าศาสนาสอนเรื่องเทพนิยายปรัมปราและหลักคำสอนผิด ๆ ซึ่งขัดแย้งกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อีกทั้งไม่ได้อาศัยพื้นฐานจากพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ. ตัวอย่างเช่น คริสตจักรโรมันคาทอลิกพิพากษาลงโทษกาลิเลโอเพราะเขาลงความเห็นตามที่เป็นจริงว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์. ความเห็นของกาลิเลโอไม่ได้ขัดแย้งกับคัมภีร์ไบเบิลเลย แต่ความเห็นนั้นขัดแย้งกับคำสอนของคริสตจักรในยุคนั้น. ในอีกมุมหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ก็สมควรถูกตำหนิเมื่อพวกเขาสอนทฤษฎีซึ่งพิสูจน์ไม่ได้เรื่องชีวิตวิวัฒนาการมาจากสิ่งไม่มีชีวิตโดยไม่อาศัยพระเจ้าว่าเป็นความจริง. พวกเขาเยาะเย้ยความเชื่อทางศาสนาว่าไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์.
ด้วยเหตุนี้ เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้วิทยาศาสตร์กับศาสนาลงรอยกัน? เป็นไปได้. ที่จริง วิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์แล้วกับศาสนาแท้ไม่ขัดแย้งกัน แต่กลับช่วยเสริมซึ่งกันและกัน.
[ภาพหน้า 2, 3]
กาลิเลโอสอนข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และเพราะเหตุนั้นจึงถูกคริสตจักรลงโทษ