แม้เผชิญการทดลองความหวังของผมยังสดใส
แม้เผชิญการทดลองความหวังของผมยังสดใส
เล่าโดยอันเดรย์ ฮันอัก
ปีนั้นคือปี 1943 สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดุเดือด. เนื่องจากผมวางตัวเป็นกลาง ผมจึงถูกจำคุกอยู่ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี. ที่นั่น บาทหลวงนิกายออร์โทด็อกซ์ที่ไว้เคราคนหนึ่งเสนอจะแลกคัมภีร์ไบเบิลของเขากับขนมปังที่ผมได้รับปันส่วนสำหรับสามวัน. แม้ว่าผมจะหิวมาก แต่ผมก็เชื่อว่านั่นเป็นการแลกที่คุ้มค่า.
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดแบบคริสเตียนเมื่อพวกนาซียึดประเทศของเราในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2. หลังจากนั้น ระหว่าง 40 กว่าปีแห่งการปกครองของพวกคอมมิวนิสต์ ก็เป็นเรื่องยากเช่นกันที่จะรับใช้พระยะโฮวาพระเจ้าผู้สร้างของเราโดยไม่อะลุ่มอล่วยหลักการของคัมภีร์ไบเบิล.
ก่อนที่ผมจะอธิบายว่า การรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าในสมัยนั้นเป็นเช่นไร ขอให้ผมเล่าภูมิหลังของผมเองสักเล็กน้อย. โดยที่ไม่ต้องสงสัย คุณจะพบว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะรู้ว่าพยานพระยะโฮวาต้องอดทนกับอะไรบ้างในสมัยแรก ๆ. ก่อนอื่น ผมขอเล่าสภาพการณ์ทางศาสนาที่ทำให้ผมเกิดความสงสัยเกี่ยวกับศาสนาที่เด่นในแถบที่เราอยู่.
คำถามที่น่าฉงนเกี่ยวกับศาสนา
ผมเกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 1922 ที่หมู่บ้านพาตซินในฮังการี ใกล้กับพรมแดนสโลวะเกีย. ตอนนั้นสโลวะเกียเป็นส่วนทางตะวันออกของประเทศเชโกสโลวะเกีย. เมื่อสหภาพโซเวียตยึดพื้นที่กว้างใหญ่ของเชโกสโลวะเกียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรมแดนของยูเครนก็เลื่อนเข้ามาอยู่ห่างจากหมู่บ้านพาตซินไม่ถึง 30 กิโลเมตร.
ผมเป็นลูกคนที่สองในบรรดาพี่น้องห้าคนซึ่งมีพ่อแม่เป็นชาวโรมันคาทอลิกที่เคร่งศาสนา. เมื่อผมอายุ 13 ปี มีบางสิ่งทำให้ผมคิดอย่างจริงจังมากขึ้นเกี่ยว
กับศาสนา. ผมตามแม่ไปแสวงบุญโดยเดินทางเป็นระยะทาง 80 กิโลเมตรไปยังหมู่บ้านมอเรียพอชในฮังการี. เราเดินไปที่นั่นเพราะเราเชื่อว่าการทำอย่างนั้นเป็นการรับรองว่าเราจะได้รับพรจากพระเจ้ามากขึ้น. ทั้งชาวโรมันคาทอลิกและชาวกรีกคาทอลิกเดินทางไปแสวงบุญที่นั่น. ก่อนหน้านั้นผมคิดว่าคริสตจักรทั้งสองต่างก็เป็นส่วนของศาสนาคาทอลิกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. แต่ไม่นานผมก็รู้ว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น.ปรากฏว่าพิธีมิสซาของนิกายกรีกคาทอลิกมีขึ้นก่อน. ผมจึงตัดสินใจเข้าร่วมพิธีมิสซานั้น. ภายหลังเมื่อแม่รู้ว่าผมร่วมพิธีมิสซานั้น ท่านไม่พอใจมาก. ด้วยความสับสน ผมจึงถามว่า “เราเข้าพิธีมิสซาไหนนั้นมันต่างกันอย่างไร? ที่เราทุกคนรับประทานนั้นไม่ใช่เป็นพระกายเดียวของพระคริสต์หรอกหรือครับ?”
แม่ผมตอบไม่ได้ จึงเพียงแต่พูดว่า “ลูกเอ๋ย เป็นบาปที่จะถามอย่างนั้น.” อย่างไรก็ตาม คำถามนั้นยังค้างคาใจผมอยู่.
คำถามของผมได้รับคำตอบ
ตอนผมอายุ 17 ปี ไม่นานหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในปี 1939 ผมย้ายไปเมืองเล็ก ๆ ชื่อสเตรดา นัด บอดรอกอม ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร. ปัจจุบันเมืองนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศสโลวะเกีย. ผมย้ายไปที่นั่นเพื่อฝึกงานกับช่างตีเหล็กท้องถิ่นคนหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม ที่บ้านของเขา ผมได้เรียนรู้สิ่งที่มีค่ามากกว่าการทำเกือกม้าและทำสิ่งของอื่น ๆ จากโลหะหลอมเหลว.
มาเรีย ปันโกวิช ภรรยาของช่างตีเหล็ก เป็นพยานพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนี้ ผมฝึกอาชีพช่างตีเหล็กจากสามีของเธอตอนกลางวัน แต่ตอนกลางคืนผมศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและเข้าร่วมการประชุมกับพยานฯ ในท้องถิ่น. เนื่องจากเป็นช่างตีเหล็กฝึกงาน ผมจึงเข้าใจถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 12:6 ได้ดีขึ้นที่ว่า “คำตรัสของพระยะโฮวาเป็นคำบริสุทธิ์; ดุจเงินที่เผาชำระในเบ้าถึงเจ็ดครั้งแล้ว.” ค่ำคืนเหล่านั้นซึ่งมีการพิจารณาคำตรัสของพระยะโฮวาและได้รับคำตอบสำหรับคำถามของผมเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลช่างน่าเพลิดเพลินสักเพียงไร!
ผมไม่รู้เลยว่า อีกไม่นาน ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 รุนแรงยิ่งขึ้น ความเชื่อที่ผมเพิ่งพบนี้จะถูกทดสอบ.
ถูกจำคุกเนื่องจากความเชื่อของผม
ผมเริ่มเป็นช่างตีเหล็กฝึกงานได้ไม่นาน ก็มีคำสั่งให้คนหนุ่มในฮังการีเข้าร่วมการฝึกทหาร. แต่ผมตัดสินใจทำตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่ยะซายา 2:4 ที่จะ “ไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.” ผมถูกตัดสินจำคุกสิบวันเนื่องจากความตั้งใจของผม. พอผมถูกปล่อยตัว ผมศึกษาคัมภีร์ไบเบิลต่อ. ในวันที่ 15 กรกฎาคม 1941 ผมรับบัพติสมาในน้ำเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา.
ในตอนนั้น นาซีเยอรมนีรุกรานสหภาพโซเวียต และสงครามก็แผ่ไปทั่วยุโรปตะวันออก. การโฆษณาชวนเชื่อในยามสงครามก็เข้มข้นขึ้นและความรู้สึกแบบชาตินิยมก็รุนแรงมาก. แต่สอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก พยานพระยะโฮวายังคงวางตัวเป็นกลาง.
ในเดือนสิงหาคม 1942 มีการโจมตีพวกเราอย่างรุนแรง. พวกเจ้าหน้าที่ตั้งจุดรวบรวมสิบจุดซึ่งพวกพยานฯ ทั้งหนุ่มสาวและผู้สูงอายุต่างก็ถูกพามารวมกัน. แม้แต่คนที่ยังไม่ได้รับบัพติสมาแต่เป็นที่รู้กันว่าเคยติดต่อกับพวกเราก็ถูกนำตัวไปยังจุดรวบรวมเหล่านี้. ผมอยู่ในกลุ่มที่ถูกพาไปยังเรือนจำแห่งหนึ่งในเมืองซารอสปาตัก ห่างจากหมู่บ้านพาตซินของผมประมาณ 20 กิโลเมตร.
ผู้ที่อยู่ในเรือนจำซึ่งอายุน้อยที่สุดมีอายุแค่สามเดือน. เด็กน้อยคนนั้นถูกขังพร้อมกับแม่ที่เป็นพยานฯ. เมื่อเราขอ
อาหารบ้าง อย่างน้อยก็ให้เด็ก ผู้คุมตอบกลับว่า “ให้เด็กนั่นร้องไปเถอะ. เขาจะได้โตขึ้นเป็นพยานฯ ที่เข้มแข็ง.” เรารู้สึกสงสารเด็กน้อย แต่ก็เศร้าใจที่ผู้คุมหนุ่มคนนั้นหัวใจด้านชาไปถึงขนาดนั้นเนื่องจากการโฆษณาชวนเชื่อแบบชาตินิยม.เมื่อมีการพิจารณาคดีของผม ผมถูกตัดสินจำคุกสองปี. ผมถูกย้ายไปเรือนจำเลขที่ 85 ถนนมอร์กิต เคอรุต ในกรุงบูดาเปสต์. ห้องขังของผมมีขนาดกว้าง 4 เมตรยาว 6 เมตร และมีคนอัดแน่นอยู่ประมาณ 50 ถึง 60 คน. เราอยู่ที่นั่นโดยไม่มีห้องอาบน้ำหรือห้องส้วมเป็นเวลาแปดเดือน. เราจึงอาบน้ำไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องซักเสื้อผ้า. เราทุกคนมีเหาเต็มไปหมด และตอนกลางคืน แมลงก็ไต่ตามตัวที่สกปรกของเรา.
เราต้องตื่นตอนตีสี่. อาหารเช้าของเรามีแค่กาแฟถ้วยเล็ก ๆ ถ้วยหนึ่ง. ตอนกลางวันเราได้ซุปถ้วยเล็กพอ ๆ กันและได้ขนมปังราว ๆ หนึ่งในสามของปอนด์และข้าวบดเล็กน้อย. ไม่มีอาหารเย็น. แม้ว่าผมอายุ 20 ปีและเคยมีสุขภาพดี ในที่สุดผมก็อ่อนแอจนเดินไม่ไหว. เริ่มมีนักโทษเสียชีวิตจากการขาดอาหารและการติดเชื้อ.
ในช่วงนั้นเองมีนักโทษคนใหม่เข้ามาในห้องขังของเรา. เขาคือบาทหลวงนิกายออร์โทด็อกซ์ที่ไว้เคราซึ่งผมกล่าวถึงข้างต้น. เขาได้รับอนุญาตให้เก็บคัมภีร์ไบเบิลของเขาไว้ได้. ผมอยากอ่านคัมภีร์ไบเบิลเล่มนั้นจริง ๆ! แต่พอผมขอเขาอ่าน เขาไม่ยอม. แต่ต่อมา เขาเข้ามาพูดกับผมว่า “นี่พ่อหนุ่ม. เธอจะเอาพระคัมภีร์ก็ได้. ฉันจะขายให้เธอ.”
ผมถามว่า “ขายหรือ? ผมจะเอาอะไรมาซื้อ? ผมไม่มีเงินเลย.”
แล้วเขาก็ขอแลกคัมภีร์ไบเบิลของเขากับขนมปังที่ผมได้รับปันส่วนสำหรับสามวัน. การแลกครั้งนั้นคุ้มค่าสักเพียงไร! แม้ร่างกายผมจะหิว แต่ผมก็ได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณที่ช่วยค้ำจุนผมรวมทั้งคนอื่น ๆ ในการทดลองระหว่างช่วงเวลาอันยากลำบากนั้น. ผมยังเก็บคัมภีร์ไบเบิลเล่มนั้นไว้จนถึงทุกวันนี้.—มัดธาย 4:4.
ความเป็นกลางของเราถูกทดสอบ
ในเดือนมิถุนายน 1943 ชายหนุ่มที่เป็นพยานฯ จากทั่วประเทศฮังการี—นั่นคือพวกเราประมาณ 160 คน—ถูกนำตัวไปที่เมืองยาซเบเรนย์ ใกล้ ๆ กรุงบูดาเปสต์. เมื่อเราไม่ยอมสวมหมวกทหารและสวมปลอกแขนสามสี พวกเขาก็จับเราใส่รถไฟขนสินค้าและพาไปที่สถานีรถไฟบูดาเปสต์-เคอบานยา. ที่นั่น ทหารเรียกเราออกจากตู้สินค้าทีละคนตามชื่อ และสั่งให้เรารายงานตัวเป็นทหาร.
พวกเขาสั่งให้เราพูดว่า “ไฮล์ ฮิตเลอร์” ซึ่งหมายความว่า “ฮิตเลอร์จงเจริญ.” เมื่อพยานฯ แต่ละคนไม่ยอมทำเช่นนั้น เขาก็ถูกทุบตีอย่างหนัก. ในที่สุด พวกผู้ทรมานก็เหนื่อย คนหนึ่งในพวกนั้นจึงพูดว่า “เอาละ เราจะซ้อมอีกคน แต่รับรองว่าคนนั้นจะไม่รอด.”
ทีบอร์ ฮาฟฟ์เนอร์ ผู้ที่เป็นพยานฯ มานานและมีอายุมากกว่าผม มีบัญชีรายชื่อของพยานฯ ที่อยู่บนตู้สินค้า. เขากระซิบกับผมว่า “บราเดอร์ คุณเป็นคนต่อไป. กล้าเข้าไว้! วางใจในพระยะโฮวา.” ตอนนั้นเองผมถูกเรียกชื่อ. พอผมยืนที่ประตูตู้สินค้า พวกเขาก็สั่งให้ผมลงมา. ทหารคนหนึ่งพูดว่า “คนนี้ผอมจนแทบไม่มีอะไรให้เราซ้อมแล้ว.” แล้วเขาก็พูดกับผมว่า “ถ้าแกรายงานตัวตามที่บอก เราจะจัดการให้แกไปทำอาหารในครัว. ไม่อย่างนั้น แกตายแน่.”
ผมตอบว่า “ผมจะไม่รายงานตัวเป็นทหาร. ผมต้องการกลับไปที่ตู้สินค้าไปอยู่กับพี่น้องของผม.”
บทเพลงสรรเสริญ 20:1 ขึ้นมาว่า “ขอพระยะโฮวาทรงโปรดตอบคำทูลของท่านในวันที่ต้องทุกข์ยากนั้น; ขอให้พระนามพระเจ้าแห่งยาโคบยกชูท่านไว้.”
เพราะรู้สึกสมเพช ทหารคนหนึ่งจับตัวผมแล้วก็โยนกลับเข้าไปในตู้สินค้า. เนื่องจากผมหนักไม่ถึง 40 กิโลกรัม เขาจึงโยนผมได้โดยไม่ยากเย็นอะไร. บราเดอร์ฮาฟฟ์เนอร์เข้ามาโอบไหล่ผม, ลูบใบหน้าผม, และยกในค่ายแรงงาน
หลังจากนั้น พวกเขาให้เราลงเรือลำหนึ่งแล่นไปตามแม่น้ำดานูบจนถึงยูโกสลาเวีย. ในเดือนกรกฎาคม 1943 เรามาถึงค่ายแรงงานใกล้เมืองบอร์ ซึ่งมีเหมืองทองแดงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป. ในเวลาต่อมา ในค่ายก็มีคนประมาณ 60,000 คนจากหลายเชื้อชาติ มีคนยิว 6,000 คนและพยานพระยะโฮวาประมาณ 160 คน.
พวกพยานฯ ถูกขังรวมกันในเรือนนอนใหญ่หลังหนึ่ง. กลางเรือนนั้นมีโต๊ะและม้านั่ง ซึ่งเราจัดการประชุมสัปดาห์ละสองครั้งที่นั่น. เราศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์ ที่มีการลักลอบนำเข้ามาในค่าย และเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลที่ผมแลกมาด้วยขนมปังที่ผมได้รับปันส่วน. เรายังร้องเพลงและอธิษฐานร่วมกันอีกด้วย.
เราพยายามรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ถูกกักกันคนอื่น ๆ และการทำเช่นนี้ก็มีประโยชน์. พี่น้องชายของเราคนหนึ่งปวดลำไส้อย่างรุนแรง และพวกผู้คุมก็ไม่เต็มใจจะช่วยเหลือ. ขณะที่อาการของเขาทรุดหนัก ผู้ถูกกักกันชาวยิวคนหนึ่งซึ่งเป็นหมอยอมผ่าตัดให้. เขาให้ยาชาแบบง่าย ๆ แล้วผ่าตัดด้วยด้ามช้อนที่ลับจนคม. พี่น้องคนนั้นฟื้นตัวและกลับบ้านหลังจากที่สงครามสงบลง.
งานในเหมืองหนักมากและอาหารก็ขาดแคลน. พี่น้องชายสองคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงาน และอีกคนหนึ่งป่วยจนเสียชีวิต. ในเดือนกันยายน 1944 ขณะที่กองทัพรัสเซียคืบใกล้เข้ามา มีการตัดสินใจจะอพยพคนออกจากค่าย. สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อถ้าผมไม่ได้เห็นด้วยตาของตัวเอง.
การเดินทางที่เต็มด้วยความหวาดกลัว
หลังจากที่เดินอย่างเหน็ดเหนื่อยมาทั้งสัปดาห์ พวกเรากับเชลยชาวยิวมาถึงกรุงเบลเกรด. แล้วเราก็เดินต่ออีกสองสามวันจนถึงหมู่บ้านเชอร์เวงกอ.
เมื่อเรามาถึงหมู่บ้านเชอร์เวงกอ พยานพระยะโฮวาถูกสั่งให้ยืนเรียงแถว แถวละห้าคน. จากนั้นพยานฯ คนหนึ่งจากทุก ๆ สองแถวก็ถูกนำตัวไป. เรามองคนที่ถูกนำตัวไปด้วยน้ำตานองหน้า โดยคิดว่าพวกเขาคงจะถูกประหาร. แต่หลังจากนั้นสักพักหนึ่งพวกเขาก็กลับมา. เกิดอะไรขึ้น? พวกทหารเยอรมันต้องการให้พวกเขาขุดหลุมฝังศพ แต่ผู้บังคับบัญชาชาวฮังการีอธิบายว่าพวกเขาไม่ได้กินอะไรมาหนึ่งสัปดาห์แล้วและอ่อนแอจนทำงานไม่ไหว.
เย็นวันนั้นพยานฯ ถูกพาขึ้นไปบนห้องใต้หลังคาในโรงอบอิฐ. ทหารเยอรมันบอกเราว่า “อยู่เงียบ ๆ ตรงนี้. คืนนี้จะเป็นคืนที่เลวร้ายที่สุด.” จากนั้นเขาก็ปิดประตูใส่กุญแจ. ไม่กี่นาทีจากนั้น เราได้ยินเสียงทหารตะโกน “เร็วเข้า! เร็วเข้า!” แล้วก็มีเสียงปืนกล ตามมาด้วยความเงียบอันน่ากลัว.
แล้วเราก็ได้ยินเสียงตะโกน “เร็วเข้า! เร็วเข้า!” และได้ยินเสียงปืนอีก.จากหลังคานั้น เรามองเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น. ทหารนำกลุ่มผู้ถูกกักกันชาวยิวมากลุ่มละหลายสิบคน ให้พวกเขายืนที่ปากหลุม แล้วก็ยิงพวกเขา. หลังจากนั้น พวกทหารก็โยนระเบิดมือไปที่กองศพ. ก่อนรุ่งสาง ผู้ถูกกักกันชาวยิวเสียชีวิตเกือบทั้งหมด เหลืออยู่เพียงแปดคน และทหารเยอรมันก็หนีไป. เราทั้งห่อเหี่ยวใจและหมดเรี่ยวแรง. ยานอช เทอเริก และยาน บอลี ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ก็อยู่ในกลุ่มพยานฯ ที่เห็นการสังหารหมู่ครั้งนั้น.
ได้รับการช่วยให้รอดชีวิต
เราเดินต่อไปทางตะวันตกและทางเหนือโดยมีทหารฮังการีคุมไป. พวกเขาเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้เข้าส่วนร่วมในกิจกรรมทางทหาร แต่เราก็รักษาความเป็นกลางและรอดชีวิตมาได้.
ในเดือนเมษายน 1945 เราอยู่ระหว่างกองทัพเยอรมันและกองทัพรัสเซียที่เมืองชอมบาเทลี ใกล้กับพรมแดนระหว่างฮังการีและออสเตรีย. เมื่อสัญญาณเตือนการโจมตีทางอากาศดังขึ้น นายร้อยชาวฮังการีคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้คุมของเราบอกว่า “ผมขอหลบกับพวกคุณได้ไหม? ผมเห็นว่าพระเจ้าอยู่กับพวกคุณ.” หลังจากการทิ้งระเบิดสิ้นสุดลง เราออกจากเมืองนั้น เดินผ่านซากศพคนตายและซากสัตว์.
เมื่อเห็นว่าสงครามใกล้จะยุติแล้ว นายร้อยคนนั้นเรียกเรามารวมกลุ่มกันและกล่าวว่า “ขอบคุณที่แสดงความนับถือผม. ผมมีชากับน้ำตาลให้ทุกคน. อย่างน้อยก็เป็นอะไรบางอย่าง.” เราขอบคุณเขาที่ได้ปฏิบัติกับเราอย่างมีมนุษยธรรมเช่นนั้น.
ไม่กี่วันต่อมา พวกรัสเซียก็มาถึง และเราก็เริ่มเดินทางกลับบ้านเป็นกลุ่มเล็ก ๆ. แต่ปัญหาของเรายังไม่จบสิ้น. หลังจากมาถึงกรุงบูดาเปสต์ เราถูกพวกรัสเซียคุมตัวไว้และถูกเกณฑ์เป็นทหารอีกครั้ง คราวนี้โดยกองทัพโซเวียต.
คนที่ควบคุมเรื่องนี้เป็นหมอ และเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย. ขณะที่เราเข้าไปในห้อง เราจำเขาไม่ได้ แต่เขาจำเราได้. เขาเคยอยู่กับเราในค่ายแรงงานที่เมืองบอร์ และเขาก็เป็นคนยิวเพียงไม่กี่คนที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่โดยพวกนาซี. เมื่อเห็นเรา เขาสั่งผู้คุมว่า “ปล่อยชายแปดคนนี้กลับบ้าน.” เราขอบคุณเขา แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราขอบพระคุณพระยะโฮวาที่ทรงคุ้มครองเรา.
ความหวังของผมยังคงสดใส
ในที่สุด วันที่ 30 เมษายน 1945 ผมก็กลับถึงบ้านที่หมู่บ้านพาตซิน. ไม่นานหลังจากนั้น ผมกลับไปที่บ้านของช่างตีเหล็กในเมืองสเตรดา นัด บอดรอกอม เพื่อฝึกงานเป็นช่างตีเหล็กให้สำเร็จ. ครอบครัวปันโกวิชได้ให้อะไรหลายอย่างกับผม ไม่เพียงอาชีพที่ผมจะเลี้ยงตัวได้เท่านั้น แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลที่เปลี่ยนชีวิตผม. ตอนนี้พวกเขาให้อีกสิ่งหนึ่งแก่ผม. ในวันที่ 23 กันยายน 1946 โยลานา ลูกสาวแสนสวยของพวกเขาได้มาเป็นภรรยาของผม.
ผมกับโยลานาดำเนินกิจกรรมการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและการประกาศเป็นประจำต่อไป. จากนั้นในปี 1948 เราได้รับพระพรเพิ่มขึ้นเมื่ออันเดรย์ ลูกชายของเราเกิดมา. อย่างไรก็ตาม ความยินดีในเสรีภาพทางศาสนาของเรามีอยู่เพียงชั่วคราว. ไม่นาน พวกคอมมิวนิสต์ก็ยึดประเทศเรา และการกดขี่ข่มเหงระลอกใหม่ก็เริ่มขึ้น. ผมถูกเกณฑ์ในปี 1951 คราวนี้จากพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งเชโกสโลวะเกีย. เหตุการณ์ก็เป็นแบบเดิม ๆ คือ การพิจารณาคดี, การตัดสินจำคุก, การคุมขัง, การใช้แรงงานทาส, และความอดอยาก. แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ผมรอดมาได้อีกครั้งหนึ่ง. เนื่องจากการนิรโทษกรรม ผมถูกปล่อยตัวในปี 1952 และกลับมาอยู่ร่วมกับครอบครัวของผมในเมืองลาดมอฟเซ ประเทศสโลวะเกีย
แม้ว่าการสั่งห้ามงานเผยแพร่ของคริสเตียนดำเนินอยู่ประมาณ 40 ปี แต่เราก็ยังทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ต่อไป. ตั้งแต่ปี 1954 ถึง 1988 ผมได้รับสิทธิพิเศษเป็นผู้ดูแลเดินทาง. ผมไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวาในวันสุดสัปดาห์ และหนุนกำลังใจพี่น้องให้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อ ๆ ไป. จากนั้น ในช่วงกลางสัปดาห์ ผมอยู่กับครอบครัวและทำงานหาเลี้ยงชีพ. ตลอดช่วงเวลานี้เรารู้สึกว่าพระยะโฮวาทรงชี้นำเราด้วยความรัก. ผมพบว่าถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในคัมภีร์ไบเบิลเป็นความจริงที่ว่า “ถ้าแม้นพระยะโฮวาไม่ทรงสถิตอยู่ฝ่ายพวกเราแล้ว, ขณะเมื่อคนทั้งปวงได้ลุกขึ้นต่อสู้พวกเรา; ในเวลาที่เขาทั้งหลายเกิดโกรธพวกเราแล้ว, เขาคงได้กลืนพวกเราเสียแล้วทั้งเป็น.”—บทเพลงสรรเสริญ 124:2, 3.
ต่อมา ผมกับโยลานามีความยินดีที่เห็นอันเดรย์แต่งงานและในที่สุดก็เป็นคริสเตียนผู้ดูแลที่อาวุโส. ภรรยาของเขา เอลิชกา กับลูกชายทั้งสอง ราดิมกับดานิเอล ก็เป็นคริสเตียนผู้รับใช้ที่กระตือรือร้นด้วย. จากนั้นในปี 1998 ผมประสบความสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อโยลานา ภรรยาที่รักของผมเสียชีวิต. ในบรรดาการทดลองทั้งหมดที่ผมเคยประสบมา ครั้งนี้เป็นครั้งที่รับมือได้ยากที่สุด. ผมคิดถึงเธอทุกวัน แต่ผมก็ได้รับการปลอบโยนจากความหวังอันล้ำค่าเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย.—โยฮัน 5:28, 29.
ตอนนี้ผมอายุ 79 ปีแล้ว และทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองในหมู่บ้านสลอเวนสเก นอเว เมสโต ประเทศสโลวะเกีย. ที่นี่ผมมีความยินดีมากที่สุดจากการแบ่งปันความหวังอันล้ำค่าซึ่งอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลแก่เพื่อนบ้าน. เมื่อคิดรำพึงถึงอดีต และคิดถึง 60 กว่าปีที่รับใช้พระยะโฮวา ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา เราสามารถทนต่ออุปสรรคและการทดลองได้ทุกอย่าง. ความปรารถนาและความหวังของผมสอดคล้องกับถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 86:12 ที่ว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจะยกย่องสรรเสริญพระองค์ด้วยสุดใจ: และจะถวายเกียรติยศแก่พระนามของพระองค์เป็นนิตย์.”
[ภาพหน้า 20]
คัมภีร์ไบเบิลเล่มที่ผมแลกกับขนมปังที่ได้รับปันส่วน
[ภาพหน้า 21]
ทีบอร์ ฮาฟฟ์เนอร์ หนุนกำลังใจผมเมื่อผมประสบการทดลอง
[ภาพหน้า 22]
พยานฯ ในค่ายแรงงานบอร์
[ภาพหน้า 22]
งานศพของพยานฯ ที่ค่ายแรงงานบอร์ซึ่งมีทหารเยอรมันเข้าร่วมด้วย
[ภาพหน้า 23]
โยลานาได้มาเป็นภรรยาของผมในเดือนกันยายนปี 1946
[ภาพหน้า 23]
ยานอช เทอเริก และยาน บอลี (ภาพเล็ก) ซึ่งเป็นผู้เห็นการสังหารหมู่ด้วย
[ภาพหน้า 24]
กับลูกชาย, ลูกสะใภ้, และหลาน ๆ