ภราดรภาพที่มีความสามัคคีกันไม่หวั่นไหว
ภราดรภาพที่มีความสามัคคีกันไม่หวั่นไหว
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในเอลซัลวาดอร์
เมื่อเวลา 11:34 น. ตอนสายของวันที่ 13 มกราคม 2001 ได้เกิดแผ่นดินไหวทั่วประเทศเอลซัลวาดอร์ซึ่งวัดได้ 7.6 ตามมาตราริคเตอร์และรู้สึกได้ตั้งแต่ปานามาจนถึงเม็กซิโก. คงมีไม่กี่คนที่จำไม่ได้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนั้น.
มิเรียม เกซาดาจำได้ว่า “เมื่อการสั่นสะเทือนช่วงที่แรงที่สุดเบาลง เรามองขึ้นไปที่ภูเขาเห็นยอดเขาแยกออกจากกันและดูเหมือนหยุดนิ่งอยู่สองสามวินาที. ลูกสาวของดิฉันร้องตะโกนว่า ‘แม่! วิ่ง! วิ่ง!’” จากนั้นผิวนอกของภูเขาด้านหนึ่งก็ถล่มลงมาหาพวกเขา. มีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คนในชุมชนลาสโกลีนาสในเมืองนวยวาซานซัลวาดอร์ หรืออีกชื่อหนึ่งคือซานตาเตกลา และบ้านประมาณ 300 หลังพังยับเยิน.
โรกซานา ซานเชส เล่าว่า “ดิฉันเพิ่งออกจากบ้านและกำลังรอรถเมล์อยู่ที่ป้ายตอนที่เกิด
แผ่นดินไหว. เมื่อแผ่นดินไหวหยุดแล้ว ดิฉันช่วยเก็บกระเป๋าให้ผู้หญิงคนหนึ่งและคิดว่า ‘ฉันกลับบ้านดีกว่าเพราะที่บ้านคงจะเป็นห่วงฉัน.’” เมื่อโรกซานาเดินเลี้ยวไป เธอพบว่าจู่ ๆ ถนนที่ผ่านหน้าบ้านของเธอก็สิ้นสุดที่กองดินขนาดใหญ่. บ้านของเธอหายไปแล้ว!ให้ความช่วยเหลือทันที
พยานฯ ในเอลซัลวาดอร์มีทั้งหมดกว่า 28,000 คน และหลายพันคนอาศัยอยู่ในเขตภัยพิบัตินั้น—พื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลของเอลซัลวาดอร์. แม้ว่ายังต้องทนกับความบอบช้ำทางจิตใจ แต่หลายคนก็เริ่มจดจ่ออยู่กับความจำเป็นของคนอื่น. มาริโอ ซัวเรซ ผู้ดูแลเดินทางของพยานพระยะโฮวาซึ่งรับใช้ในเมืองซานตาเตกลา เล่าว่า “ประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ผมได้รับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ. กล่าวกันว่าพี่น้องชายหญิงบางคนติดอยู่ในบ้าน. มีการจัดกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งขึ้นมาทันที.
“เราคิดว่าผนังคงพังลงมาและเพียงแค่ขุดเอาเศษอิฐเศษหินออกและทำทางให้คนที่ติดอยู่ออกมาได้ก็เสร็จงาน. แต่ไม่มีใครในพวกเราที่จะนึกภาพความร้ายแรงของภัยพิบัตินี้ได้. ที่จริง เมื่อเราไปถึงที่นั่น เราถามว่าบ้านอยู่ไหน. เรารู้สึกตกใจเมื่อมีคนบอกเราว่าเรากำลังยืนอยู่บนบ้านเหล่านั้น! บ้านถูกฝังถึงชั้นที่สองด้วยดินสูง 3 เมตร. เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก!”
ขณะที่ช่วงบ่ายผ่านไป พยานฯ ประมาณ 250 คนจากประชาคมใกล้เคียงก็หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ. ด้วยเครื่องมือเพียงแค่อีเต้อ, พลั่ว, ถังพลาสติก, และมือเปล่า พวกอาสาสมัครพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะเข้าถึงผู้รอดชีวิต. อย่างไรก็ตาม ในซานตาเตกลามีน้อยคนที่ได้รับการช่วยออกมาทั้งที่ยังมีชีวิต. ในจำนวนหลายร้อยคนที่เสียชีวิต—เนื่องจากขาดอากาศหรือถูกดินหนักหลายตันถล่มทับ—มีพยานพระยะโฮวารวมอยู่ด้วยห้าคน.
จัดระเบียบการบรรเทาทุกข์
ตลอดทั่วประเทศ ประชาคมต่าง ๆ ของพยานฯ เข้าร่วมในการบรรเทาทุกข์. ในเมืองโกมาซากวา, เมืองโอซัตลัน, เมืองซันตาเอเลนา, เมืองซานติอาโกเดมาเรีย, และเมืองอูซูลูตัน พยานฯ หลายคนสูญเสียบ้านของตนไป. หอประชุมและบ้านส่วนตัวหลายหลังถูกเปลี่ยนเป็นศูนย์รวบรวมสิ่งของ. เอดวิน เฮอร์นันเดซ ผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่ง กล่าวว่า “มีการให้ความช่วยเหลือมากจริง ๆ. พี่น้องนำอาหาร, เสื้อผ้า, ที่นอน, ยา, และแม้แต่เงินสำหรับค่าใช้จ่ายในงานศพมาให้.”
คณะกรรมการบรรเทาทุกข์ ซึ่งแต่งตั้งโดยสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในประเทศ ได้จัดให้ประชาคมที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าเอาใจใส่ความจำเป็นที่เร่งด่วนของประชาคมที่ได้รับผลกระทบมากกว่า. มีการตั้งกลุ่มคนงาน
หลายกลุ่มซึ่งประกอบด้วยพยานฯ ประมาณ 10 ถึง 20 คน ซึ่งเอาใจใส่เรื่องการซ่อมแซมที่จำเป็น.นอกจากนั้น คณะกรรมการก่อสร้างประจำภูมิภาคของพยานพระยะโฮวา ซึ่งตามปกติจะจัดการเรื่องการสร้างหอประชุมราชอาณาจักร ก็จัดกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นเพื่อสร้างที่พักชั่วคราวสำหรับคนที่บ้านถูกทำลายหมดสิ้น. ในประเทศเอลซัลวาดอร์ แผ่นสังกะสีลูกฟูกราคาพุ่งสูงลิ่ว สาขาของพยานพระยะโฮวาในกัวเตมาลาจึงบริจาคให้มากมายด้วยความใจกว้าง. ไม้สำหรับทำโครงที่พักชั่วคราวนั้นได้รับมาจากสาขาในสหรัฐและฮอนดูรัส.
ท่ามกลางกิจกรรมที่วุ่นวายนี้ การสั่นสะเทือนก็ยังมีอยู่เรื่อย ๆ. คนทั้งชุมชนนอนหลับบนถนนใต้ผ้าใบพลาสติกและผ้าปูที่นอนเก่า ๆ. ความวิตกกลัวยังมีอยู่. พอถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ มีการบันทึกการสั่นสะเทือนระลอกหลังรวมทั้งหมด 3,486 ครั้ง.
แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งที่สอง
เช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2001 เวลา 8:22 น. หนึ่งเดือนหลังจากแผ่นดินไหวครั้งแรก แผ่นดินไหวครั้งที่สองเกิดขึ้นใจกลางประเทศเอลซัลวาดอร์ บันทึกความรุนแรงได้ 6.6 ตามมาตราริคเตอร์. อีกครั้งหนึ่ง การกู้ภัยและการบรรเทาทุกข์โดยพยานพระยะโฮวาดำเนินไปอย่างรวดเร็ว. ผู้ปกครองชื่อ โนเอ อีราเอตา อธิบายว่า “ผู้นำกลุ่มการศึกษาหนังสือประจำประชาคมแต่ละคนได้ไปหาพยานฯ ที่ได้รับมอบหมายให้อยู่ในกลุ่มของเขาเพื่อจะแน่ใจว่าทุกคนปลอดภัย.”
เมืองซานวีเซนเตและโกคูเตเปเก รวมทั้งชานเมืองด้วยได้รับความเสียหายอย่างหนัก. เมืองซานเปโดรโนนูอัลโก, ซานมิเกลเตเปซอนเตส, และซานควนเตเปซอนเตส เหลือแต่ซาก. ในเมืองกันเดลาเรีย เขตกุสกัตลันซึ่งได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด โรงเรียนของโบสถ์แห่งหนึ่งได้พังถล่มลงมา ทำให้เด็กเสียชีวิตกว่า 20 คน. ซัลวาดอร์ เทรโค พยานฯ ในท้องถิ่นคนหนึ่ง เล่าว่า “ประมาณหนึ่งชั่วโมงให้หลัง ผมได้ยินเสียงร้องเรียกว่า ‘บราเดอร์เทรโค!’ ตอนแรกผมมองไม่เห็นอะไรเพราะฝุ่นตลบไปหมด. แต่แล้วทันใดนั้น ผมก็เห็นพวกพยานฯ จากเมืองโกคูเตเปเก. พวกเขามาดูว่าพวกเราเป็นอย่างไรบ้าง!”
ประชาคมใกล้เคียงก็ดำเนินการเพื่อจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติครั้งที่สองนี้. พวกเขาทำตามตัวอย่างของคริสเตียนสมัยศตวรรษแรกในมาซิโดเนียซึ่งขอมีสิทธิพิเศษในการให้ แม้ว่าพวกเขาเองก็ยากจน. ตัวอย่างเช่น คนที่อยู่ในประชาคมต่าง ๆ ในเมืองซานติอาโกเตกซากูอังกอส ซึ่งประสบความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงตอนเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก ได้ทำอาหารร้อน ๆ นำไปให้พี่น้องในเมืองซานมิเกลเตเปซอนเตสซึ่งอยู่ใกล้ ๆ.
ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวในเอลซัลวาดอร์รวมทั้งหมดกว่า 1,200 คน และมีรายงานว่าอีกแปดคนเสียชีวิตในประเทศเพื่อนบ้านคือกัวเตมาลา.
หยั่งรู้ค่าความพยายาม
กลุ่มบรรเทาทุกข์กลุ่มอื่น ๆ หยั่งรู้ค่าความช่วยเหลือที่เป็นระเบียบของพวกพยานฯ สำหรับผู้ประสบภัย. รถของคณะกรรมการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติมาแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่หอประชุมแห่งหนึ่งซึ่งถูกใช้เป็นที่พักชั่วคราว. ตัวแทนคนหนึ่งกล่าวว่า “ในบรรดาที่พักชั่วคราวทั้งหมดที่เราผ่านมา ที่นี่เป็นที่แรกที่เป็นระเบียบ. ดิฉันขอชมเชยคุณค่ะ!” ไม่มีใครที่นั่นรุมล้อมรถบรรทุก, ดันกัน, หรือผลักกันเหมือนกับในศูนย์อื่น ๆ. ที่จริง ผู้สูงอายุได้รับการคำนึงถึงก่อนในการรับสิ่งของบริจาค.
พวกพยานฯ ไม่ได้ช่วยบรรเทาทุกข์เฉพาะแต่พยานฯ ด้วยกันเองเท่านั้น. ตัวอย่างเช่น ในเมืองซานวีเซนเต เพื่อนบ้านที่ไม่ได้เป็นพยานฯ หลายสิบคนพากันไปหลบภัยที่สนามของหอประชุม. เรคีนา ดูรัน เด กัญญัส กล่าวว่า “ที่หอประชุมพยานพระยะโฮวานี้ ผู้คนมีหัวใจราวกับทองคำ. พวกเขาเปิดประตูใหญ่แล้วบอกว่า ‘เข้ามาสิ!’ เราจึงมาอยู่ที่นี่. แม้แต่ตอนกลางคืนพวกเขาก็ผลัดกันเฝ้ายามให้เราขณะที่เรานอนหลับ.”
จัดเตรียมที่อยู่
หลังจากประเมินความเสียหาย มีการเสนอสำนักงานสาขาให้จัดสร้างที่พักอาศัยตามความจำเป็น. มีการเริ่มสร้างที่พักชั่วคราวสำหรับคนที่สูญเสียบ้านของตนไป. นอกจากนั้น มีการซ่อมแซมบ้านซึ่งได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน. ทีมก่อสร้างซึ่งมีประสิทธิภาพและทำงานหนักหลายทีมทำให้เพื่อนบ้านที่ออกมาดูพวกเขาทำงานสนใจมาก.
ผู้หญิงคนหนึ่งคิดว่าพวกคนงานเป็นคนที่มาจากเทศบาลซึ่งสัญญาว่าจะมานานแล้ว เธอจึงมาร้องเรียนว่าไม่มีใครมาช่วยเธอเก็บกวาดซากปรักหักพังเลย. เด็ก ๆ ละแวกนั้นจึงอธิบายว่า “ไม่ใช่ครับคุณผู้หญิง พวกเขาไม่ได้มาจากเทศบาล. พวกเขามาจากราชอาณาจักร!” โมยเซส อันโตเนียว ดีอัส อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นพยานฯ ให้ความเห็นว่า “นับเป็นประสบการณ์ที่ดีที่เห็นวิธีที่พยานพระยะโฮวาช่วยคนที่มีความจำเป็น. นี่เป็นองค์การที่เป็นเอกภาพมาก และเนื่องจากพระเจ้า พวกเขามีน้ำใจที่จะช่วยคนที่ยากลำบาก. ผมได้ทำงานร่วมกับพวกเขาและตั้งใจจะทำต่อไป.”
พี่น้องคริสเตียนหญิงคนหนึ่งซึ่งมีการสร้างบ้านชั่วคราวให้เธอได้กล่าวพร้อมน้ำตาว่า “ดิฉันกับสามีไม่มีถ้อยคำจะพรรณนาถึงความรู้สึกขอบคุณที่เรามีต่อพระยะโฮวาเป็นประการแรกและต่อพี่น้องเหล่านี้ซึ่งแม้ว่าไม่รู้จักเราเสียด้วยซ้ำ แต่ก็รีบมาช่วยเราโดยเร็ว.”
พอถึงกลางเดือนเมษายน พยานฯ ได้สร้างบ้านชั่วคราว 567 หลังให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว และอีกเกือบ 100 ครอบครัวได้รับวัสดุที่จะซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหาย. เมื่อครอบครัวเหล่านั้นมีประตูที่จะปิดได้และมีหลังคาที่จะคุ้มแดดคุ้มฝนได้แล้ว พยานฯ ก็มุ่งความสนใจไปที่หอประชุม 92 หลังซึ่งจำเป็นต้องซ่อมแซมหรือสร้างใหม่.
สร้างชีวิตใหม่
นอกจากการสร้างอาคารและบ้านใหม่แล้ว หลายคนรู้สึกขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับการหนุนกำลังทางฝ่ายวิญญาณและทางอารมณ์.
มิเรียมซึ่งกล่าวถึงข้างต้นกล่าวว่า “ภายใต้สภาพการณ์นั้น เนื่องจากการสั่นสะเทือนยังมีอยู่เรื่อย ๆ จึงมีบางครั้งที่ดิฉันขวัญผวา แต่พี่น้องทั้งหลายก็เป็นแหล่งที่ให้ความอุ่นใจและกำลังใจเสมอมา. เราจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีพี่น้อง?”
ความรักกรุณาของพระยะโฮวาผ่านทางประชาคมได้กระตุ้นผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในวิธีที่น่าประหลาดใจ. ในเมืองโกมาซากัว บ้านของพยานฯ เกือบทุกหลังได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายจากแผ่นดินไหวครั้งแรก. แต่พยานฯ ที่นั่น 12 คนจากทั้งหมด 17 คนสมัครทำงานเผยแพร่เต็มเวลาระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม และ 2 คนเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลาเป็นประจำตั้งแต่นั้นมา.
ประชาคมต่าง ๆ ในเขตกุสกัตลัน พื้นที่หนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากแผ่นดินไหวครั้งที่สอง ได้จัดการประชุมพิเศษวันเดียวในเดือนมีนาคม. มียอดใหม่ผู้เข้าร่วม 1,535 คน และ 22 คนรับบัพติสมา. แม้ว่าหลายคนทีเดียวในผู้เข้าร่วมประชุมเพิ่งสูญเสียบ้านของตนไป แต่พวกเขาก็บริจาคเงินจำนวนมากทีเดียวให้หอประชุมใหญ่ ซึ่งทำให้ผู้จัดการประชุมประหลาดใจ.
โดยสะท้อนความรู้สึกขอบคุณเหมือนกับที่หลายคนมี พยานฯ คนหนึ่งจากเมืองซานวีเซนเตกล่าวว่า “ผมได้อ่านในสรรพหนังสือว่าองค์การทำอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติ แต่ตอนนี้ผมได้ประสบด้วยตัวเอง และผมได้สัมผัสกับความช่วยเหลือจากสังคมพี่น้อง. เราได้เห็นความรักแบบคริสเตียนในภาคปฏิบัติ. ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่ได้เป็นส่วนของประชาชนที่เป็นเอกภาพนี้!”
[ภาพหน้า 23]
ดินถล่มซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวได้ฝังบ้านกว่า 300 หลังในชุมชนลาสโกลีนาส
[ที่มาของภาพ]
Bottom of pages 23-5: Courtesy El Diario de Hoy
[ภาพหน้า 24]
ชาวบ้านใช้อีเต้อ, พลั่ว, และถังในงานกู้ภัย
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of La Prensa Gráfica (photograph by Milton Flores/Alberto Morales/Félix Amaya)
[ภาพหน้า 25]
ซากของหอประชุมที่เมืองเตเปโกโย
[ภาพหน้า 26]
พี่น้องตั้งที่พักชั่วคราวขึ้นทันทีในเมืองเตเปโกโยเพื่อจัดการประชุม
[ภาพหน้า 26]
พยานฯ ซ่อมแซมหอประชุมของเขาอย่างรวดเร็วและสร้างที่พักชั่วคราวขึ้นกว่า 500 หลัง
[ภาพหน้า 26]
มารดาไร้คู่กับลูกสาวที่รู้สึกตื้นตันใจเฝ้าดูการสร้างบ้านที่พังยับเยินของตนขึ้นมาใหม่