การอยู่กับความเจ็บป่วยของคุณอย่างประสบความสำเร็จ—โดยวิธีใด?
การอยู่กับความเจ็บป่วยของคุณอย่างประสบความสำเร็จ—โดยวิธีใด?
จงมั่นใจว่าความรู้สึกที่อาจกำลังโถมทับคุณนั้นเป็นเรื่องที่มีเหตุผล. แม้ว่าในทางกายคุณป่วยหรือทุพพลภาพจริง แต่จิตใจของคุณยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ความเจ็บป่วยนั้นก่อขึ้น. อาจดูเหมือนว่าคุณกับความเจ็บป่วยของคุณกำลังต่อสู้กัน เป็นการต่อสู้ระหว่างสิ่งที่คุณเคยเป็นกับสิ่งที่คุณอาจกำลังจะเป็น. และตอนนี้ดูเหมือนว่าความเจ็บป่วยของคุณกำลังได้เปรียบ. กระนั้น คุณก็สามารถพลิกสถานการณ์ได้. โดยวิธีใด?
ดร. คิตตี สไตน์ให้ข้อสังเกตว่า “เมื่อเกิดการสูญเสียอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วย ความรู้สึกนี้จะเหมือนกับการสูญเสียเนื่องด้วยความตายมากทีเดียว.” ด้วยเหตุนี้ เมื่อคุณสูญเสียอะไรบางอย่างที่คุณรักมากอย่างสุขภาพของคุณ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องให้เวลาสำหรับการโศกเศร้าและร้องไห้ เหมือนกับที่คุณจะร้องไห้คร่ำครวญเมื่อคนที่คุณรักเสียชีวิต. ที่จริง คุณอาจสูญเสียมากกว่าสุขภาพของคุณ. ดังที่ผู้หญิงคนหนึ่งอธิบายไว้ “ดิฉันต้องออกจากงาน. . . . ดิฉันไม่สามารถพึ่งพาตนเองอย่างที่ดิฉันเคยทำมาตลอด.” แม้กระนั้น จงมองความสูญเสียของคุณด้วยทัศนะที่ถูกต้อง. ดร. สไตน์ซึ่งตัวเธอเองเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งเสริมว่า “คุณต้องโศกเศร้าในสิ่งที่เสียไป แต่คุณก็ต้องเข้าใจด้วยว่ายังมีอะไรเหลืออยู่บ้าง.” ที่จริง เมื่อคุณฝ่าฟันผ่านความโศกเศร้าในช่วงแรกไปแล้ว คุณก็จะเห็นว่าคุณยังมีสิ่งสำคัญหลายอย่างซึ่งไม่ได้สูญเสียไป. อย่างหนึ่งคือ คุณมีความสามารถที่จะปรับตัว.
นักเดินเรือไม่สามารถควบคุมพายุได้ แต่เขาสามารถฝ่าฟันพายุได้โดยการปรับใบเรือของเขา. คล้ายกัน คุณไม่สามารถควบคุมความเจ็บป่วยซึ่งถาโถมเข้ามาในชีวิตของคุณราวกับพายุได้ แต่คุณสามารถรับมือกับมันได้โดยปรับ “ใบเรือ” ของคุณ ซึ่งก็คือความสามารถทางกาย, จิตใจ, และความรู้สึก. อะไรได้ช่วยคนอื่น ๆ ที่ป่วยเรื้อรังให้ทำเช่นนั้น?
เรียนรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของคุณ
หลังจากผ่านความรู้สึกในช่วงแรก ๆ ซึ่งเกิดจากการวินิจฉัยโรคแล้ว หลายคนรู้สึกว่าการรู้ข้อเท็จจริงอันเจ็บปวดนั้นดีกว่าการเผชิญกับความกลัวที่ซ้อนเร้น. ความกลัวอาจทำให้คุณทำอะไรไม่ได้ แต่การรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคุณอาจช่วยคุณให้คิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง—และเรื่องนี้ในตัวมันเองแล้วมักจะส่งผลกระทบในทางดี. นายแพทย์เดวิด สปีเกิลแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดให้ข้อสังเกตว่า “สังเกตดูสิว่าคุณรู้สึกดีขึ้นสักเพียงไรเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้คุณกังวลถ้าคุณมีแผนการที่จะรับมือกับมัน. นานก่อนที่คุณจะลงมือทำอะไรจริง ๆ คุณก็ลดความรู้สึกไม่สบายใจลงได้โดยวางแผนว่าจะทำอะไร.”
คุณอาจรู้สึกว่าจำต้องเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสภาพการณ์ของคุณ. ดังที่สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ “ชายที่มีความรู้ก็มีกำลังมากขึ้น.” (สุภาษิต 24:5, ล.ม.) ชายคนหนึ่งซึ่งต้องนอนป่วยอยู่บนเตียงแนะนำให้ “หาหนังสือจากห้องสมุดมาอ่าน. เรียนรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของคุณมากที่สุดเท่าที่จะทำได้.” ขณะที่คุณเรียนรู้เกี่ยวกับการรักษาที่มีอยู่และวิธีการต่าง ๆ ในการรับมือ คุณอาจพบว่าสภาพการณ์ของคุณนั้นอาจไม่ได้แย่อย่างที่คุณเคยคิด. คุณอาจเห็นเหตุผลบางอย่างที่ควรจะมองในแง่ดีด้วยซ้ำ.
กระนั้น การเข้าใจความเจ็บป่วยของคุณด้วยเหตุผลไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของคุณ. นายแพทย์สปีเกิลอธิบายว่า “การรวบรวมข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนสำคัญในการรับมือกับความเจ็บป่วย, การเข้าใจความเจ็บป่วยนั้น, การมองความเจ็บป่วยนั้นด้วยทัศนะที่ถูกต้อง.” การยอมรับว่าชีวิตของคุณได้เปลี่ยนไปแต่ยังไม่จบสิ้นนั้นเป็นขั้นตอนอันละเอียดอ่อนและมักเป็นไปอย่างช้า ๆ. แต่ขั้นตอนที่ก้าวไปข้างหน้านี้—จากการเข้าใจความเจ็บป่วยด้วยเหตุผลไปสู่การยอมรับทางความรู้สึก—เป็นขั้นตอนที่คุณสามารถ ทำได้. โดยวิธีใด?
การพบความมั่นคงอันละเอียดอ่อน
คุณอาจต้องปรับทัศนะของคุณว่าการยอมรับความเจ็บป่วยนั้นหมายถึงอะไร. ถ้าจะว่าไป การยอมรับว่าคุณป่วยไม่ได้เป็นสัญญาณของความล้มเหลว เช่นเดียวกับการที่นักเดินเรือยอมรับว่ากำลังเกิดพายุก็ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าเขาล้มเหลว. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การมองพายุตามสภาพจริงกระตุ้นให้เขาลงมือทำอะไรบางอย่าง. ในทำนองเดียวกัน การยอมรับว่าคุณป่วยไม่ใช่ความล้มเหลว แต่หมายถึง “การก้าวหน้าไปในทิศทางใหม่” ดังที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งป่วยเรื้อรังให้ข้อสังเกต.
แม้ว่าความสามารถทางกายของคุณอาจลดลง คุณอาจต้องเตือนตัวเองว่าคุณลักษณะด้านจิตใจ, ด้านอารมณ์ความรู้สึก, และด้านจริยธรรมไม่จำเป็นต้องได้รับผลกระทบ. ตัวอย่างเช่น คุณยังมีเชาวน์ปัญญาและความสามารถในการจัดการและการหาเหตุผลอยู่ไหม? บางทีคุณอาจยังมีรอยยิ้มอันอ่อนละมุน, ความสนใจในผู้อื่น, และความสามารถที่จะเป็นผู้ฟังที่ดีและเพื่อนแท้. และที่สำคัญที่สุด คุณยังมีความเชื่อในพระเจ้า.
นอกจากนั้น จงจำไว้ว่าแม้คุณไม่สามารถเปลี่ยนสภาพการณ์ของคุณได้ทั้งหมด แต่คุณก็ยังสามารถตัดสินว่าคุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสภาพการณ์เหล่านั้น. ไอรีน พอลลิน จากสถาบันมะเร็งแห่งสหรัฐ กล่าวว่า “คุณเป็นคนกำหนดว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความเจ็บป่วยของคุณ. คุณมีอำนาจในเรื่องนี้ไม่ว่าความเจ็บป่วยของคุณจะก่อผลเช่นไรบ้าง.” เฮเลน หญิงวัย 70 ปีซึ่งเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งขั้นรุนแรงยืนยันว่า “ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเจ็บป่วยของคุณมากเท่าใดนัก แต่ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของคุณต่อความเจ็บป่วยต่างหากที่ตัดสินว่าคุณจะได้ความมั่นคงทางจิตใจกลับคืนมาอีกหรือไม่.” ชายคนหนึ่งซึ่งต้องรับมือกับความทุพพลภาพมาเป็นเวลาหลายปีกล่าวว่า “เจตคติในแง่บวกเป็นเหมือนกระดูกงูเรือที่ทำให้เรือทรงตัวได้.” ที่จริง สุภาษิต 18:14 กล่าวว่า “จิตต์ของคนจะประคองตนไว้ในเวลาที่เขาอ่อนกำลัง; แต่เมื่อมีจิตต์ใจชอกช้ำใครเล่าจะทนได้?”
การสามารถควบคุมชีวิตได้อีก
ขณะที่คุณรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์อีกครั้ง คำถามเช่น ‘ทำไมเรื่องนี้จึงเกิดกับฉัน?’ อาจกลายเป็น ‘ในเมื่อเรื่องนี้เกิดกับฉัน ฉันจะทำอย่างไรดี?’ ถึงตอนนี้คุณอาจเลือกจะดำเนินในขั้นต่อไปเพื่อจะก้าวไปไกลกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน. ขอให้เรามาพิจารณาบางเรื่อง.
ประเมินสถานการณ์ของคุณ คิดถึงสิ่งที่คุณต้องปรับ แล้วหาทางเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เปลี่ยนได้. นายแพทย์สปีเกิลกล่าวว่า “ความเจ็บป่วยของคุณให้โอกาสที่จะประเมินค่าชีวิตอีกครั้ง—เป็นสัญญาณกระตุ้นให้ตื่น ไม่ใช่ลางมรณะ.” จงถามตัวเองว่า ‘อะไรเคยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับฉันก่อนที่ฉันจะป่วย? เรื่องนี้เปลี่ยนไปอย่างไร?’ การตั้งคำถามลักษณะนี้ไม่
ใช่เพื่อสำรวจว่ามีอะไรบ้างที่คุณทำไม่ได้อีกต่อไป แต่เพื่อดูว่ามีอะไรบ้างที่คุณยังทำได้ บางทีโดยการทำในวิธีที่ต่างออกไป. เพื่อเป็นตัวอย่าง ลองพิจารณาเฮเลนที่อ้างถึงข้างต้น.โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่เป็นมาถึง 25 ปีได้ทำให้กล้ามเนื้อของเธออ่อนแอลง. ตอนแรก เธอใช้เครื่องช่วยเดินเพื่อจะเดินได้. ต่อมาเมื่อเธอไม่สามารถใช้มือขวาได้อีก เธอก็เปลี่ยนมาใช้มือซ้าย. จากนั้น มือซ้ายของเธอก็ใช้การไม่ได้. แล้วประมาณแปดปีที่แล้ว เธอก็เดินไม่ได้อีกต่อไป. ตอนนี้เธอต้องให้คนอื่นอาบน้ำ, ป้อนอาหาร, และแต่งตัวให้เธอ. เรื่องนี้ทำให้เธอเศร้าใจ แต่กระนั้น เธอก็กล่าวว่า “คติประจำใจของดิฉันยังเหมือนเดิม คือ ‘คิดถึงสิ่งที่คุณทำได้ ไม่ใช่สิ่งที่คุณเคยทำ.’ ” และด้วยความช่วยเหลือจากสามีของเธอและพยาบาลที่มาดูแลเธอรวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ของเธอเอง เธอจึงสามารถทำกิจกรรมบางอย่างที่เธอเคยทำมาตลอดได้ต่อไป. ตัวอย่างเช่น การแบ่งปันคำสัญญาของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องโลกใหม่อันสงบสุขที่กำลังจะมาถึงเป็นส่วนที่มีค่าในชีวิตของเธอมาตั้งแต่เธอมีอายุ 11 ปี และปัจจุบันเธอก็ยังทำอย่างนี้ทุกสัปดาห์. (มัดธาย 28:19, 20) เฮเลนอธิบายว่าเธอทำอย่างไร:
“ดิฉันขอให้พยาบาลที่ดูแลดิฉันถือหนังสือพิมพ์ให้. เราอ่านข่าวงานศพด้วยกันและเลือกบางงาน. แล้วดิฉันก็บอกพยาบาลว่าดิฉันอยากให้มีเรื่องใดบ้างอยู่ในจดหมายที่จะส่งไปถึงญาติของผู้ตายนั้น แล้วพยาบาลก็พิมพ์จดหมาย. พร้อมกับจดหมายฉบับนั้น ดิฉันส่งจุลสารเมื่อคนที่คุณรักเสียชีวิต *ไปด้วย ซึ่งอธิบายความหวังที่ให้การปลอบประโลมจากคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตาย. ดิฉันทำอย่างนี้ทุกบ่ายวันอาทิตย์. การที่ดิฉันยังสามารถแบ่งปันข่าวดีเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้ากับคนอื่นทำให้ดิฉันมีความสุข.”
ตั้งเป้าที่สมเหตุสมผลและบรรลุได้. เหตุผลหนึ่งที่เฮเลนพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เปลี่ยนได้คือสิ่งนั้นช่วยให้เธอตั้งเป้าและบรรลุเป้านั้น. เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณด้วย. เพราะเหตุใด? เพราะการตั้งเป้าทำให้คุณมุ่งความสนใจไปยังอนาคต และการบรรลุเป้าทำให้คุณรู้สึกประสบความสำเร็จ. การทำเช่นนี้ยังอาจทำให้ความมั่นใจของคุณกลับคืนมาได้บ้างด้วย. กระนั้น จงทำให้แน่ใจว่าเป้าหมายที่คุณตั้งไว้นั้นเป็นแบบเจาะจง. ตัวอย่างเช่น คุณอาจตั้งเป้าว่า ‘วันนี้ฉันจะอ่านพระคัมภีร์ฆะลาเตีย 6:4.
หนึ่งบท.’ และจงตั้งเป้าที่ทำได้จริงสำหรับคุณด้วย. เนื่องจากสภาพร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกของคุณต่างไปจากผู้ป่วยในระยะยาวรายอื่น คุณอาจไม่สามารถบรรลุเป้าเดียวกันกับที่พวกเขาทำได้.—เลกซ์ ซึ่งอยู่ในเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า “ไม่ว่าเป้าหมายของคุณจะเล็กน้อยเพียงใด การบรรลุเป้าหมายนั้นจะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำมากขึ้น.” กว่า 20 ปีที่แล้วตอนที่เขามีอายุ 23 ปี เขาประสบอุบัติเหตุซึ่งทำให้เป็นอัมพาต. ระหว่างการทำกายภาพบำบัดหลายครั้ง เขาได้รับการกระตุ้นให้ตั้งเป้า เช่น ให้ล้างหน้าด้วยผ้าขนหนู. นั่นนับเป็นเรื่องยาก แต่เขาก็ทำสำเร็จ. เมื่อเขาเห็นว่าตนสามารถบรรลุเป้านั้นได้ เขาก็ตั้งเป้าอีกอย่างหนึ่ง คือเปิดปิดหลอดยาสีฟันด้วยตัวเอง. อีกครั้งหนึ่ง เขาประสบความสำเร็จ. เลกซ์บอกว่า “ถึงมันจะไม่ง่าย แต่ผมก็พบว่าผมสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าที่ผมเคยคิด.”
ที่จริง ด้วยความช่วยเหลือจากทิเนเก ภรรยาของเขา เลกซ์ได้บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น. ตัวอย่างเช่น โดยไปกับทิเนเก ตอนนี้เขาออกไปเยี่ยมตามบ้านด้วยเก้าอี้ล้อเพื่อแบ่งปันความรู้จากคัมภีร์ไบเบิลให้กับคนอื่น. เขายังไปเยี่ยมคนหนึ่งที่ทุพพลภาพอย่างหนักทุกสัปดาห์และศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับคนนั้น. เลกซ์กล่าวว่า “การช่วยคนอื่น ๆ ทำให้ผมมีความพึงพอใจอย่างมาก.” ดังที่คัมภีร์ไบเบิลยืนยัน “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35.
คุณสามารถตั้งเป้าเพื่อช่วยคนอื่นได้เช่นกันไหม? การเป็นคนป่วยหรือคนทุพพลภาพอาจช่วยคุณให้เป็นผู้ปลอบประโลมที่ชำนาญเป็นพิเศษ เนื่องจากปัญหาของคุณทำให้คุณไวต่อความเจ็บปวดของคนอื่นมากขึ้น.
ติดต่อกับคนอื่น. การศึกษาทางการแพทย์แสดงว่าการติดต่อสัมพันธ์ทางสังคมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณ. แต่การขาดการติดต่อสัมพันธ์ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณด้วย. นักวิจัยคนหนึ่งกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างความโดดเดี่ยวทางสังคมกับความตาย . . . เกี่ยวพันกันมากเหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ . . . กับความตาย.” เขาเสริมว่า “การปรับปรุงความสัมพันธ์ทางสังคมอาจเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพของคุณมากพอ ๆ กับการเลิกสูบบุหรี่.” ไม่แปลกที่เขาลงความเห็นว่าทักษะของเราในการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม “มีคุณค่าเพื่อการอยู่รอด”!—สุภาษิต 18:1.
อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้ ปัญหาอาจอยู่ที่ว่าเพื่อนของคุณบางคนไม่ได้มาเยี่ยมคุณอีกต่อไป. เพื่อประโยชน์ของคุณเอง คุณต้องต้านทานแนวโน้มที่คุณจะอยู่ตามลำพังมากขึ้น. แต่โดยวิธีใด? คุณอาจเริ่มด้วยการเชิญเพื่อน ๆ ของคุณให้มาเยี่ยม.
* คุณจะทำอย่างนี้ได้โดยจำกัดการพูดคุยเรื่องความเจ็บป่วยของคุณ เพื่อผู้ที่มาเยี่ยมคุณจะไม่เบื่อ. ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งป่วยเรื้อรังแก้ปัญหานี้โดยจำกัดเวลาการพูดคุยเรื่องความเจ็บป่วยกับสามีของเธอ. เธอบอกว่า “เราต้องจำกัดเรื่องนี้.” ที่จริง ความเจ็บป่วยของคุณไม่จำเป็นต้องปิดกั้นเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมดที่คุณอาจคุยได้. หลังจากได้พูดคุยกับเพื่อนที่ต้องนอนป่วยอยู่บนเตียงเกี่ยวกับศิลปะ, ประวัติศาสตร์, และเหตุผลสำหรับความเชื่อของเขาในพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้มาเยี่ยมไข้คนหนึ่งกล่าวว่า “เขาไม่ปล่อยให้ความเจ็บป่วยควบคุมชีวิตของเขา. น่าเพลิดเพลินจริง ๆ ที่ได้คุยกับเขา.”
ทำให้การมาเยี่ยมคุณเป็นประสบการณ์ที่น่าเพลิดเพลิน.การมีอารมณ์ขันก็จะทำให้เพื่อนที่มาเยี่ยมคุณเพลิดเพลินเช่นกัน. นอกจากนั้น การหัวเราะเป็นประโยชน์กับตัวคุณเอง. ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นโรคพาร์คินสันกล่าวว่า “อารมณ์ขันช่วยให้คุณรับมือได้ทั้งใน สถานการณ์และกับ สถานการณ์หลายอย่าง.” จริงทีเดียว การหัวเราะเป็นยาที่ดีได้. สุภาษิต 17:22 ให้ข้อสังเกตว่า “ใจที่ร่าเริงเป็นเหมือนโอสถวิเศษ.” การหัวเราะแม้เพียงไม่กี่นาทีก็ช่วยคุณได้. ยิ่งกว่านั้น นักเขียนชื่อซูซาน มิลสเตรย์ เวลส์ ซึ่งตัวเธอเองก็ป่วยเรื้อรัง กล่าวว่า “ไม่เหมือนกับการรักษาวิธีอื่น ๆ บางวิธีที่เราเคยลอง การหัวเราะนั้นปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์, ไม่มีพิษภัย, และสนุก . . . สิ่งที่เราต้องเสียไปคืออารมณ์ไม่ดีเท่านั้น.”
หาวิธีคลายความเครียด. การศึกษาวิจัยยืนยันว่าความเครียดอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง ขณะที่การคลายความเครียดช่วยให้อาการดีขึ้น. ดังนั้น จงเปลี่ยนบรรยากาศเป็นครั้งคราว. (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 4) อย่าหมกมุ่นอยู่กับความเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว. ถ้าคุณออกไปไหนไม่ได้ คุณอาจลองลดความเครียดทางอารมณ์ความรู้สึกโดยฟังเพลงเบา ๆ, อ่านหนังสือ, อาบน้ำนาน ๆ, เขียนจดหมายหรือบทกลอน, วาดภาพ, เล่นดนตรี, คุยกับเพื่อนที่คุณไว้ใจ, หรือทำอะไรทำนองนี้. การทำเช่นนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาของคุณได้อย่างถาวร แต่อาจทำให้ปัญหาของคุณบรรเทาลงชั่วคราว.
ถ้าคุณเดินไปไหนมาไหนได้ ลองออกไปเดินเล่น, ซื้อของ, ทำสวน, ขับรถเล่น หรือไปเที่ยวถ้าเป็นไปได้. จริงอยู่ การเดินทางอาจยุ่งยากกว่าเนื่องจากคุณป่วย แต่ด้วยการเตรียมตัวล่วงหน้าและการรู้จักดัดแปลงบ้างก็อาจเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้. ตัวอย่างเช่น เลกซ์กับทิเนเกซึ่งกล่าวถึงข้างต้นได้เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ. เลกซ์บอกว่า “ตอนแรกก็เครียดนิดหน่อย แต่ก็เป็นวันพักผ่อนที่เราสนุกมาก!” ที่จริง ความเจ็บป่วยอาจเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณ แต่ไม่จำเป็นต้องควบคุมชีวิตของคุณ.
ได้รับกำลังจากความเชื่อ. คริสเตียนแท้ซึ่งประสบความสำเร็จในการรับมือกับความทุพพลภาพขั้นรุนแรงกล่าวว่าความเชื่อในพระยะโฮวาพระเจ้ารวมทั้งการคบหากับประชาคมคริสเตียนเป็นแหล่งแห่งการปลอบประโลมและความเข้มแข็งเสมอ. * ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นบางประการของพวกเขาเกี่ยวกับคุณค่าของการอธิษฐาน, การศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, การคิดใคร่ครวญถึงเรื่องอนาคต, และการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนที่หอประชุมราชอาณาจักร.
● “บางครั้งผมยังรู้สึกซึมเศร้า. เมื่อผมรู้สึกอย่างนั้น ผมจะอธิษฐานต่อพระยะโฮวา และพระองค์ทรงช่วยผมฟื้นความตั้งใจที่จะทำสิ่งที่ผมสามารถ ทำได้ต่อ ๆ ไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 55:22; ลูกา 11:13.
● “การอ่านคัมภีร์ไบเบิลและคิดรำพึงเกี่ยวกับสิ่งที่อ่านช่วยผมได้มากที่จะรักษาความสงบใจ.”—บทเพลงสรรเสริญ 63:6; 77:11, 12.
● “คัมภีร์ไบเบิลช่วยเตือนใจดิฉันว่าชีวิตแท้ยังอยู่ในวันข้างหน้าและดิฉันจะไม่พิการตลอดไป.”—ยะซายา 35:5, 6; วิวรณ์ 21:3, 4.
● “การมีความเชื่อเกี่ยวกับอนาคตที่สัญญาไว้ในคัมภีร์ไบเบิลทำให้ผมมีกำลังที่จะจัดการกับชีวิตเป็นวัน ๆ ไป.”—มัดธาย 6:33, 34; โรม 12:12.
● “การอยู่ ณ การประชุมที่หอประชุมช่วยดิฉันให้จดจ่อกับเรื่องที่เสริมสร้างไม่ใช่เรื่องความเจ็บป่วยของดิฉัน.”—บทเพลงสรรเสริญ 26:12; 27:4.
● “การคบหาที่หนุนกำลังใจกับสมาชิกในประชาคมทำให้หัวใจของดิฉันอบอุ่น.”—กิจการ 28:15.
นาฮูม 1:7) การมีสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นกับพระยะโฮวาพระเจ้าและการคบหากับประชาคมคริสเตียนเป็นแหล่งแห่งการปลอบประโลมและความเข้มแข็ง.—โรม 1:11, 12; 2 โกรินโธ 1:3; 4:7.
คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่า “พระยะโฮวาทรงไว้ซึ่งความดี, ทรงเป็นสถานนิรภัยในคราวภัยพิบัติ, และพระองค์ทรงรู้จักพวกที่เข้ามาพึ่งอาศัยในพระองค์.” (ให้เวลากับตัวเอง
นักสังคมสงเคราะห์คนหนึ่งซึ่งช่วยผู้คนรับมือกับผลกระทบของความเจ็บป่วยในระยะยาวให้ข้อสังเกตว่า การมีชีวิตอยู่กับความเจ็บป่วยหรือความทุพพลภาพขั้นรุนแรงได้อย่างประสบผลสำเร็จนั้นเป็นกระบวนการที่ “ใช้เวลา และไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน.” ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งแนะว่า จงให้เวลากับตัวเอง เพราะคุณกำลังเรียนรู้ “ทักษะใหม่โดยสิ้นเชิง นั่นคือการรับมือกับความเจ็บป่วยอันรุนแรง.” จงตระหนักว่าแม้มีเจตคติในแง่บวก แต่ก็อาจมีบางวันหรือบางสัปดาห์ที่คุณรู้สึกแย่เนื่องจากความเจ็บป่วยทำให้คุณอ่อนล้า. อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป คุณอาจเห็นความก้าวหน้า. ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นเช่นนี้ เธอกล่าวว่า “ดิฉันตื่นเต้นจริง ๆ เมื่อรู้ว่าวันนั้นทั้งวันผ่านไปโดยที่ดิฉันไม่ได้คิดถึงโรคมะเร็งเลย. . . . ไม่นานมานี้เอง ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้คงไม่มีวันเป็นไปได้.”
จริงทีเดียว เมื่อคุณผ่านความกลัวในช่วงแรกมาได้และตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ คุณอาจประหลาดใจที่รู้ว่า คุณสามารถรับมือได้ดีเพียงไร—ดังที่บทความถัดไปแสดงให้เห็น.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 17 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
^ วรรค 24 แน่นอน คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่อผู้มาเยี่ยมใช้ได้กับวิธีที่คุณปฏิบัติต่อคู่สมรส, บุตร, หรือผู้ปรนนิบัติดูแลคุณด้วย.
^ วรรค 28 น่าสนใจ งานศึกษาวิจัยทางการแพทย์หลายฉบับระบุว่าความเชื่อทางศาสนาช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพดี. ศาสตราจารย์เดล แมตทิวส์แห่งมหาวิทยาลัยแพทย์จอร์จทาวน์กล่าวว่า “ปัจจัยเกี่ยวกับความเชื่อได้รับการพิสูจน์ว่ามีคุณค่า.”
[ภาพหน้า 7]
การเรียนรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของคุณสามารถช่วยคุณให้รับมือได้
[ภาพหน้า 8]
ด้วยความช่วยเหลือจากคนอื่น เฮเลนเตรียมจดหมายที่หนุนกำลังใจ
[ภาพหน้า 8]
“การแบ่งปันข่าวดีแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าทำให้ดิฉันมีความสุข”
[ภาพหน้า 9]
“ผมพบว่าแม้ผมจะเป็นอัมพาต แต่ผมก็สามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าที่ผมเคยคิด.”—เลกซ์