ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เยี่ยมชม “เมืองที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย”

เยี่ยมชม “เมืองที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย”

เยี่ยม​ชม “เมือง​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ของ​รัสเซีย”

ผม​กับ​ลินดา​ภรรยา มา​ถึง​มอสโก​ใน​เดือน​กรกฎาคม 1998 ด้วย​หน้า​ที่​การ​งาน. เรา​ไม่​เคย​มา​รัสเซีย​เลย เรา​จึง​อยาก​จะ​รู้​จัก​ประเทศ​นี้​รวม​ทั้ง​ผู้​คน​และ​ภาษา​ของ​พวก​เขา​ด้วย.

ไม่​นาน​หลัง​จาก​มา​ถึง ผม​ได้​สังเกต​ภาพ​พิมพ์​ที่​น่า​สนใจ​ด้าน​หลัง​ธนบัตร​ใบ​ละ​ห้า​รูเบิล​สี​เขียว. เป็น​ภาพ​ที่​ดู​คล้าย​ปราการ​อิฐ​ใน​ศตวรรษ​ที่ 14 หรือ 15 ตั้ง​ตระหง่าน​ริม​แม่น้ำ โดย​มี​เกาะ​และ​ทะเลสาบ​เป็น​ภาพ​พื้น​หลัง. ตรง​มุม​ธนบัตร​เป็น​ชื่อ​ของ​สถาน​ที่​นั้น: นอฟโกรอด.

ผม​ถาม​ชาว​มอสโก​ว่า​รู้​จัก​ชื่อ​นี้​ไหม. ทุก​คน​รู้​จัก​นอฟโกรอด แต่​ใน​จำนวน​นั้น​มี​เพียง​คน​เดียว​เคย​อยู่​ที่​นั่น​จริง ๆ. เขา​บอก​ว่า เมือง​นี้​อยู่​ห่าง​จาก​มอสโก​ไม่​ถึง 550 กิโลเมตร ถ้า​ไป​โดย​รถไฟ​จะ​ใช้​เวลา​หนึ่ง​คืน ไป​ทาง​เดียว​กับ​เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก. ผม​กับ​ภรรยา​ตัดสิน​ใจ​ไป.

การ​เดิน​ทาง​ของ​เรา​ไป​นอฟโกรอด

เนื่อง​จาก​ผม​เคย​ซื้อ​ตั๋ว​ไป​เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก​มา​ก่อน ผม​จึง​รู้​ว่า​จะ​ซื้อ​ได้​ที่​ไหน. ที่​ตั๋ว​ของ​เรา​มี​หมาย​เลข​ตู้​และ​หมาย​เลข​ห้อง​โดยสาร​ไว้​เรียบร้อย. เรา​มา​ถึง​สถานี​รถไฟ​หลัง​สาม​ทุ่ม​เล็ก​น้อย​ของ​คืน​หนึ่ง​ใน​เดือน​กันยายน​ปี​ที่​แล้ว และ​เข้า​ไป​นั่ง​ใน​ห้อง​โดยสาร​ของ​เรา​ใน​ตู้​ที่ 5.

ตู้​รถไฟ​เสียง​ดัง​เอี๊ยด ๆ และ​กระชาก​ไป​มา​ขณะ​แล่น​ไป​ข้าง​หน้า. เป็น​อย่าง​นี้​ตลอด​ทั้ง​คืน​ขณะ​ที่​เรา​อยู่​บน​รถไฟ​ขบวน​ธรรมดา. รถไฟ​ที่​เรา​นั่ง​จะ​หยุด และ​สอง​สาม​นาที​ต่อ​จาก​นั้น​รถไฟ​อีก​ขบวน​หนึ่ง​จะ​ชัก​หวูด​ดัง​แสบ​แก้ว​หู. และ​อีก​สอง​สาม​นาที​ก็​แซง​หน้า​ไป ขณะ​ขบวน​ของ​เรา​จอด​รอ​อยู่​บน​ราง​ขนาน​ที่​เงียบ​สงัด​ใน​ตอน​กลางคืน. แล้ว​รถไฟ​ก็​ปล่อย​ห้าม​ล้อ และ​ตู้​ของ​เรา​ถูก​กระชาก​พร้อม​ด้วย​เสียง​น่า​รำคาญ​สารพัด ใน​ที่​สุด​ก็​เคลื่อน​ตาม​กัน​ไป​กับ​ตู้​อื่น ๆ. แล้ว​ผม​ก็​ผล็อย​หลับ​ไป​อีก.

พนักงาน​ประจำ​รถไฟ​เคาะ​ประตู​ห้อง​ของ​เรา​ก่อน​รถไฟ​จะ​ถึง​นอฟโกรอด​เล็ก​น้อย. สถานี​รถไฟ​มี​ผู้​คน​เดิน​กัน​ขวักไขว่ แม้​จะ​เป็น​เวลา​แค่​เจ็ด​โมง​เช้า. เรา​ซื้อ​แผนที่​เมือง​นอฟโกรอด​ที่​แผง​ขาย​หนังสือ​พิมพ์​แห่ง​หนึ่ง และ​ถือ​โอกาส​ถาม​คน​ขาย​ด้วย​ว่า​ค่า​แท็กซี่​ไป​โรงแรม​ของ​เรา​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​เท่า​ไร. คน​ขับ​แท็กซี่​ไป​ส่ง​เรา​ที่​โรงแรม​ด้วย​รถ​ยี่ห้อ​ลาดา​ทำ​ใน​รัสเซีย ใน​สนนราคา 20 รูเบิล (ประมาณ 26 บาท) โดย​พา​ข้าม​แม่น้ำ​วอลคอฟ—แม่น้ำ​ที่​เป็น​ภาพ​พิมพ์​ใน​ธนบัตร.

คน​ขับ​แท็กซี่​บอก​เรา​ว่า​เขา​ไม่​ใช่​ชาว​รัสเซีย แต่​ภรรยา​ใช่. นี่​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​ทำ​ให้​เขา​อยู่​ใน​รัสเซีย. พนักงาน​ต้อนรับ​ของ​โรงแรม​รับรอง​เรา​อย่าง​ดี กระทั่ง​อนุญาต​ให้​เรา​เข้า​ห้อง​พัก​แม้​จะ​เป็น​เวลา​แค่ 7.30 น. เธอ​แนะ​เรา​ว่า​น่า​จะ​ไป​ที่​ไหน​บ้าง. เรา​เดิน​เล่น​ริม​แม่น้ำ​อยู่​ครู่​หนึ่ง​แล้ว​รับประทาน​อาหาร​เช้า.

เรา​เห็น​สวน​สาธารณะ​ที่​ตัด​หญ้า​เรียบร้อย และ​ต้น​ไม้​ก็​ได้​รับ​การ​ตัด​แต่ง​อย่าง​ดี. ทาง​เดิน​ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​สวย​สด​งดงาม​ด้วย​แปลง​ไม้​ดอกไม้​ประดับ. แม้​จะ​มี​นัก​ท่อง​เที่ยว​หลาย​คน—บาง​ครั้ง​ก็​มา​เป็น​กรุ๊ป​ทัวร์​โดย​รถ​บัส​ทำ​ใน​เกาหลี—แต่​นอฟโกรอด​ก็​ไม่​ใช่​เมือง​ท่อง​เที่ยว. ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​ที่​เรา​เห็น​เป็น​ชาว​รัสเซีย.

คน​ท้องถิ่น​หลาย​คน​บอก​เรา​ว่า นอฟโกรอด​เป็น​เมือง​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ของ​รัสเซีย. พูด​กัน​ว่า​อายุ​มาก​กว่า 1,100 ปี. สิ่ง​ตก​ทอด​ทาง​ศาสนา​จะ​เห็น​ได้​จาก​โบสถ์​เก่า​แก่​นับ​สิบ ๆ แห่ง​ทั่ว​เมือง​นี้. ลินดา​นับ​ได้​ถึง 25 แห่ง​จาก​แผนที่ เฉพาะ​บริเวณ​โรงแรม​ที่​เรา​พัก.

เรา​พบ​หอคอย​แห่ง​หนึ่ง​อยู่​ภาย​ใน​เครมลิน—ไม่​ใช่​พระ​ราชวัง​เครมลิน​ใน​มอสโก; “เครมลิน” เป็น​คำ​รัสเซีย​มี​ความ​หมาย​ว่า “ปราการ​ป้องกัน​เมือง.” หอคอย​นี้​สามารถ​ขึ้น​ไป​ได้​ตลอด​ถึง​ยอด. เรา​เสีย​เงิน 5 รูเบิล (ไม่​ถึง 8 บาท) เป็น​ค่า​ขึ้น​บันได​เวียน​ไป​ยัง​ยอด​หอคอย. ผม​เปรียบ​เทียบ​ทิว​ทัศน์​ที่​เห็น​กับ​ภาพ​ใน​ธนบัตร​ใบ​ละ​ห้า​รูเบิล. ต้น​ไม้​โต​ขึ้น และ​ทาง​เดิน​ข้าง​กำแพง​เครมลิน​ก็​มุง​หลังคา​แล้ว. แต่​ยัง​เห็น​แม่น้ำ​วอลคอฟ—แม่น้ำ​เดียว​กัน​อีก​ทั้ง​เกาะ​และ​ทะเลสาบ​เดียว​กัน​กับ​ที่​เห็น​ใน​ภาพ​พื้น​หลัง​ของ​ธนบัตร. มี​เพียง​เรือ​ขุด​เท่า​นั้น​ที่​ไม่​เห็น​ใน​ธนบัตร.

วัน​ที่​สอง​ที่​เรา​อยู่​ใน​นอฟโกรอด เรา​ได้​เห็น​สิ่ง​น่า​ทึ่ง​อย่าง​หนึ่ง. แม้​ชาว​รัสเซีย​จะ​ถือ​ว่า​เมือง​นี้​เป็น​เมือง​เล็ก—ทั้ง ๆ ที่​มี​ประชากร 250,000 คน—แต่​ผู้​คน​ก็​จำ​เรา​ได้ กระทั่ง​ราย​ละเอียด​เล็ก ๆ น้อย ๆ ของ​เรา​ด้วย​ซ้ำ! บริกร​หญิง​ที่​โรงแรม​จำ​รสนิยม​ของ​เรา​ได้​โดย​สังเกต​จาก​วัน​ที่​ผ่าน​มา. เธอ​จำ​ได้​ว่า​เรา​ชอบ​กาแฟ และ​เอา​มา​ให้​เรา​เสมอ. เธอ​ยัง​จำ​ได้​ว่า​เรา​ไม่​ชอบ​น้ำ​ผลไม้ ดัง​นั้น ใน​วัน​ที่​สอง​เธอ​จึง​ไม่​ถาม​เรา​อีก​ว่า​ต้องการ​หรือ​ไม่. เมื่อ​เรา​ขอ​บิล​เก็บ​เงิน ออลกา—ผม​จำ​ชื่อ​เธอ​ได้—ยิ้ม​และ​มอง​หน้า​ผม แล้ว​พูด​ว่า “ห้อง 356 ใช่​ไหม​คะ?”

ใน​วัน​อาทิตย์ เครมลิน, สะพาน​คน​เดิน​ที่​ทอด​ข้าม​แม่น้ำ​วอลคอฟ, ถนน​สาย​ต่าง ๆ, และ​ทาง​เดิน​เล่น คลาคล่ำ​ไป​ด้วย​ผู้​คน​นับ​พัน ๆ. ลินดา​ไป​ซื้อ​ข้าว​โพด​คั่ว​จาก​คน​ขาย​ข้าง​ถนน​ใกล้ ๆ สะพาน ผู้​ซึ่ง—คุณ​คง​เดา​ได้!—จำ​ได้​ว่า​วัน​ก่อน​เคย​เห็น​เธอ.

เมื่อ​เรา​กลับ​ไป​ขึ้น​หอคอย​เพื่อ​ชม​ทิว​ทัศน์​อีก​ครั้ง เด็ก​ผู้​หญิง​ที่​เก็บ​บัตร​ผ่าน​ประตู​ยิ้ม​กับ​เรา​และ​พูด​ว่า “คุณ​มา​ที่​นี่​เมื่อ​วาน​นี้ ใช่​ไหม​คะ? เมื่อ​วาน​คุณ​จ่าย​แล้ว​นี่ วัน​นี้​คุณ​ไม่​ต้อง​จ่าย​หรอก.”

เรา​พบ​เดวิด เพื่อน​ที่​เรา​รู้​จัก​เมื่อ​หลาย​ปี​ก่อน​ใน​นิวยอร์ก. เขา​แต่งงาน​กับ​อัล​โยนา สาว​รัสเซีย และ​ทั้ง​คู่​อยู่​ใน​นอฟโกรอด ทำ​งาน​เป็น​ผู้​เผยแพร่​ร่วม​กับ​ประชาคม​แห่ง​หนึ่ง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. เรา​พบ​เขา​หน้า​ภัตตาคาร​ไดติเนตส์​ซึ่ง​สร้าง​เข้า​ไป​ใน​กำแพง​ตรง​ส่วน​บน​ของ​ปราการ​เครมลิน. ที่​นั่น​เรา​ได้​รับประทาน​อาหาร​รัสเซีย​ที่​อร่อย​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​ลิ้ม​ลอง​มา. อาหาร​ชุด​หนึ่ง (รวม​ทั้ง​สลัด, ซุป, อาหาร​หลัก, กาแฟ, และ​ของ​หวาน) ดู​ค่อนข้าง​ถูก​สำหรับ​เรา.

นอฟโกรอด​เป็น​เมือง​ที่​ผู้​คน​เป็น​มิตร​ซึ่ง​จำ​เรา​ได้, มี​อาหาร​ชั้น​ยอด, มี​ประวัติ​ความ​เป็น​มา​และ​ความ​หลาก​หลาย​มาก​พอ​แก่​การ​ให้​ความ​สนใจ. เรา​คิด​จะ​กลับ​ไป​อีก.—ผู้​อ่าน​ส่ง​มา.

[ภาพ​หน้า 22, 23]

ธนบัตร​ใบ​ละ​ห้า​รูเบิล​ของ​รัสเซีย​และ​ภาพ​ถ่าย​บริเวณ​เดียว​กัน​ใน​นอฟโกรอด

[ภาพ​หน้า 23]

เครมลิน มอง​จาก​แม่น้ำ​วอลคอฟ

[ภาพ​หน้า 24]

ข้าม​สะพาน​ที่​ทอด​คร่อม​แม่น้ำ​วอลคอฟ

[ภาพ​หน้า 24]

ศาสนา​โดด​เด่น​ใน​นอฟโกรอด​เป็น​เวลา​หลาย​ร้อย​ปี