ประเด็นเรื่องสติรู้สึกผิดชอบ
ประเด็นเรื่องสติรู้สึกผิดชอบ
ภาพยนตร์คลาสสิกปี 1944 เรื่องArsenic and Old Lace (สารหนูและผ้าลูกไม้เก่า) มีฉากที่ชายสูงอายุหลายคนเสียชีวิตอย่างฉับพลันหลังจากดื่มไวน์ที่ทำจากลูกเอลเดอร์เบอร์รีผสมกับสารหนู. ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นความเข้าใจของคนทั่วไปว่าสารหนูเป็นสารพิษที่ทำให้ตายอย่างรวดเร็วเสมอ. ที่จริง การเสียชีวิตอย่างฉับพลันในภาพยนตร์ไม่ได้เกิดจากสารหนู แต่เกิดจากสตริกนินและไซยาไนด์ซึ่งผสมอยู่ในไวน์นั้นด้วย.
นายแพทย์โรเบิร์ต อี. กัลเลเกอร์ เขียนในวารสารการแพทย์แห่งนิวอิงแลนด์ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “สารหนูโดยทั่วไปออกฤทธิ์ไม่รุนแรง.” อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่า “การได้รับพิษสารหนูจากน้ำดื่มที่ปนเปื้อนและมลพิษจากอุตสาหกรรมเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่ร้ายแรงในหลายส่วนของโลก ซึ่งทำให้ผู้คนป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้ง่าย รวมทั้งมะเร็งที่ผิวหนัง, กระเพาะปัสสาวะ, ปอด, และตับ.”
เมื่อคำนึงถึงข้อมูลข้างต้น เป็นที่เข้าใจได้ว่า ตามปกติผู้ให้การรักษาทั้งหลายคงไม่ถือว่าการให้สารหนูเป็นการรักษาแบบหนึ่ง. แต่ลองอ่านประสบการณ์ต่อไปนี้จากแคนาดาให้ดี. โปรดสังเกตว่าเมื่อมีการเสนอแนะให้รักษาด้วยการถ่ายเลือดและต่อมามีการเสนอให้ใช้สารหนู เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างไรในเรื่องสติรู้สึกผิดชอบระหว่างคนไข้ชื่อดาร์ลีนกับแพทย์, พยาบาล, และเภสัชกรที่เกี่ยวข้องด้วย. ดาร์ลีนเล่าเรื่องของเธอดังนี้.
“ในเดือนพฤษภาคม 1996 ดิฉันมีปัญหาเป็นแผลช้ำรุนแรง, อาการเลือดไหลไม่หยุด, และเลือดออกที่เหงือกอย่างผิดปกติ. นายแพทย์จอห์น แมตทิวส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา แห่งคิงส์ตัน มณฑลออนแทรีโอ วินิจฉัยว่าปัญหาคือมะเร็งชนิดที่ไม่ค่อยพบเห็นซึ่งเรียกว่า อะคิวท์ โพรไมเอโลไซติก ลูคีเมีย (acute promyelocytic leukemia, เอพีแอล). หลังจากการตรวจหลายครั้ง ซึ่งรวมไปถึงการตรวจไขกระดูก คุณหมอแมตทิวส์อธิบายด้วยความกรุณาว่าโรคเอพีแอลคืออะไรและจะรักษาโดยวิธีใด. แผนการรักษาตามปกติรวมไปถึงการถ่ายเลือดร่วมกับเคมีบำบัด แต่สติรู้สึกผิดชอบของดิฉันที่ได้รับการฝึกอบรมจากคัมภีร์ไบเบิลไม่ยอมให้ดิฉันรับการถ่ายเลือด.
“แทนที่จะเสียเวลาอันมีค่าไปเปล่า ๆ เพื่อโน้มน้าวให้ดิฉันเปลี่ยนใจ คุณหมอกลับค้นหาการรักษาวิธีอื่นอย่างสุขุม. มีการปรับวิธีการรักษาโดยใช้สารสกัดจากวิตามินเอ ร่วมกับการใช้เคมีบำบัดแบบเข้มข้นปานกลาง. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของดิฉันทุเลาลงสามเดือน แต่ในที่สุดก็กำเริบขึ้นอีกอย่างรุนแรง. ดิฉันปวดศีรษะมากจนทนไม่ไหว ซึ่งเกิดจากการบวมของสมอง. ยิ่งกว่านั้น ดิฉันมีอาการดื้อยา. ตอนนั้นเองที่คุณหมอบอกเราว่าถ้าไม่ถ่ายเลือดก็ไม่มีวิธีรักษาอย่างอื่นแล้วสำหรับดิฉัน. เขาบอกเราว่าดิฉันจะอยู่ได้ไม่ถึงสองสัปดาห์.
“ไม่กี่วันต่อมา เราก็ยุ่งอยู่กับการตรวจเลือดเพิ่มอีก, ไปหาทนายเพื่อทำพินัยกรรม, และเตรียมการสำหรับงานศพ. ในช่วงเวลานี้เอง คุณหมอแมตทิวส์บอกเราถึงการรักษาแบบไม่ธรรมดาซึ่งแพทย์ที่เมืองจีนใช้รักษาโรคเอพีแอลอย่างประสบความสำเร็จ เรื่องนี้มีรายงานในวารสารทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้เช่น บลัด และโพรซีดิงส์ ออฟ เดอะ แนชันแนล อะเคเดมี ออฟ ไซเยนซ์.
ขณะกำลังค้นคว้า คุณหมอและเพื่อนร่วมงานได้อ่านในวารสารทางการแพทย์ฉบับหนึ่งว่า ‘หลายคนคงแปลกใจที่มีการใช้สารหนูขาว (arsenic trioxide) อย่างประสบความสำเร็จเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยแทบจะไม่เป็นพิษเลย เพื่อรักษาโรคอะคิวท์ โพรไมเอโลไซติก ลูคีเมีย (เอพีแอล).’“ตอนนี้มีทางเลือกสองทาง ถ้าไม่ฝืนสติรู้สึกผิดชอบของดิฉันโดยรับการถ่ายเลือดก็ต้องรับการรักษาซึ่งแทบไม่เป็นที่รู้จักนี้โดยใช้สารหนู. ดิฉันเลือกการรักษาโดยใช้สารหนู. * ตอนนั้นดิฉันไม่รู้เลยว่าจะมีความขัดแย้งทางด้านสติรู้สึกผิดชอบกับแพทย์, พยาบาล, เภสัชกร, และแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล.
“หลังจากนั้น โรงพยาบาลได้ตรวจสอบกับหน่วยงานที่มีอำนาจควบคุมเพื่อยืนยันว่าสามารถให้สารหนูขาวกับคนไข้ได้. เมื่อได้รับการยืนยันแล้วพวกเขาจึงอนุมัติให้ดำเนินการรักษาได้. ตอนแรกเภสัชกรไม่เต็มใจร่วมมือด้วย เนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบของเขาทำให้เขาสงสัยว่าการรักษาด้วยวิธีนี้ปลอดภัยหรือไม่. นายแพทย์ประจำตัวของดิฉัน คือนายแพทย์แมตทิวส์และนายแพทย์กัลเบรท ต้องอธิบายวิธีรักษานี้ให้เขาเห็นอย่างน่าเชื่อถือ. ในที่สุด เนื่องจากได้เห็นหลักฐานทางการแพทย์อย่างพอเพียงเกี่ยวกับการรักษาวิธีนี้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและเภสัชกรก็รู้สึกว่าพวกเขาร่วมมือด้วยได้.
“เภสัชกรตกลงเตรียมผลิตภัณฑ์จากสารหนูและทำให้ปลอดเชื้อสำหรับให้ทางเส้นเลือดโดยตรง. แต่ตอนนี้สติรู้สึกผิดชอบของพวกพยาบาลไม่ยอมให้พวกเธอแขวนถุงสารซึ่งเป็นที่โต้แย้งกันนี้เพื่อให้ทางเส้นโลหิตดำ. พวกพยาบาลยืนอยู่ข้าง ๆ ขณะที่คุณหมอแขวนสารละลายหลายยูนิตด้วยตัวเอง. พวกพยาบาลขอร้องให้ดิฉันรับเลือด. พวกเธอเชื่อว่าดิฉันจะตายแน่ ดิฉันจึงอ้างถึงจรรยาบรรณวิชาชีพของพวกเธอ ขอให้พวกเธอเคารพการปฏิเสธเลือดเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบของดิฉัน. ดิฉันขอบคุณ, โอบกอดพวกเธอ, และขอให้พวกเธอทิ้งความรู้สึกส่วนตัวไป. เราคงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้. การรักษาโดยใช้สารหนูขาวดำเนินไปเป็นเวลาหกเดือน และดิฉันก็ฟื้นตัวแข็งแรงดี. ตอนนั้นคุณหมอก็ตกลงว่าดิฉันจะดำเนินการรักษาต่อที่บ้านได้.
“มีการจัดการให้คณะพยาบาลวิกตอเรียมาดูแลดิฉันที่บ้าน. ประเด็นเรื่องสติรู้สึกผิดชอบเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง. พวกเธอก็ไม่อยากใช้สารละลายนั้นเช่นกัน. การประชุม, จดหมาย, และบทความทางการแพทย์จากวารสารทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือทำให้เรื่องนี้ลงเอย. ในที่สุด พวกพยาบาลก็ยอมร่วมมือด้วย. ในเดือนกันยายน 1997 การรักษาของดิฉันก็เสร็จสิ้น.
“จริงค่ะ มะเร็งชนิดที่ดิฉันเป็นอาจกำเริบขึ้นมาอีก. คุณหมอบอกว่าก็เหมือนมีชีวิตอยู่กับระเบิดเวลา. แต่ดิฉันได้เรียนรู้ที่จะพบความยินดีกับทุกวันที่ผ่านไป ไม่ละทิ้งสถานนมัสการของดิฉันและหมกมุ่นอยู่กับการแบ่งปันความหวังจากคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับสมัยหนึ่งที่ ‘จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, “ข้าพเจ้าป่วยอยู่.”’ ”—ยะซายา 33:24.
ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์มีหน้าที่รับผิดชอบอันหนักหน่วงที่จะให้การดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพ. โดยทั่วไปพวกเขาจริงจังกับหน้าที่นี้และรอบคอบในการดำเนินการรักษาภายในขอบเขตความชำนาญของตนและความรู้ที่มีในปัจจุบัน. ดังที่ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็น แพทย์, พยาบาล, และผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น ๆ สามารถประสบผลสำเร็จอย่างมากถ้าพวกเขายืดหยุ่นและคำนึงถึงความเชื่อมั่นและสติรู้สึกผิดชอบของคนไข้ที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 แม้ว่ารายงานเกี่ยวกับประสบการณ์นี้ แต่ตื่นเถิด! ไม่ได้สนับสนุนเวชกรรมหรือการรักษาแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ.
[ภาพหน้า 20]
ดาร์ลีน เชพพาร์ด