ฉลามขาว—ถูกจู่โจม
ฉลามขาว—ถูกจู่โจม
ฉลามขาว เป็นปลากินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับมนุษย์แล้วอาจเป็นสัตว์ที่น่ากลัวกว่าสัตว์อื่นใด. แต่ปัจจุบันมันเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตลอดทั่วน่านน้ำหรือไม่ก็ในบางแห่งของออสเตรเลีย, บราซิล, นามิเบีย, แอฟริกาใต้, และสหรัฐ รวมทั้งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วย. ประเทศและรัฐอื่น ๆ ก็กำลังพิจารณาให้การคุ้มครองเช่นกัน. แต่ทำไมจึงคุ้มครองเพชฌฆาตที่ลือชื่อนี้? ดังที่เราจะได้เห็น ประเด็นนี้เป็นเรื่องซับซ้อน และผู้คนทั่วไปส่วนใหญ่เข้าใจปลาฉลามขาวอย่างผิด ๆ.
ฉลามขาว *อยู่ส่วนบนสุดของสายโซ่อาหารในมหาสมุทรร่วมกับปลาวาฬเพชฌฆาตและปลาวาฬหัวทุย (ปลาวาฬสเปิร์ม). ในวงศ์ของฉลาม มันคือราชา จ้าวแห่งฉลาม. มันจะกินทั้งปลาทั่วไป, ปลาโลมา, และกระทั่งฉลามชนิดอื่น. แต่ขณะที่มันอายุมากขึ้น, ตัวใหญ่ขึ้น, และเชื่องช้าลง มันจะหันมากินแมวน้ำ, นกเพนกวิน, และซากสัตว์—โดยเฉพาะซากปลาวาฬ.
ในการระบุตำแหน่งอาหาร ฉลามส่วนใหญ่จะใช้ประสาทสัมผัสทุกอย่างที่มีอยู่ รวมทั้งสายตาอันเยี่ยมยอด. สำหรับประสาทรับกลิ่น เหมาะที่สุดที่จะบอกว่ามันเป็นเหมือนจมูกว่ายน้ำ! อนึ่ง แทบไม่มีสิ่งใดเล็ดลอดไปจากหูของมันได้—หูไวจนอาจเรียกฉลามได้เช่นกันว่า หูว่ายน้ำ.
หูของฉลามอาศัยเซลล์ที่ไวต่อความดัน ซึ่งเซลล์เหล่านี้อยู่ข้าง ๆ ลำตัวทั้งสองด้าน. ไม่มีสิ่งใดหนีพ้นระบบดักฟังของมันซึ่งถูกปรับตั้งเป็นพิเศษให้เข้ากับความสั่นสะเทือนของแรงดิ้น—อย่างเช่น ปลาที่ดิ้นอยู่ที่ปลายฉมวก. ดังนั้น จึงเป็นการสุขุมที่ชาวประมงซึ่งใช้ฉมวกจับปลาใต้น้ำจะรีบเอาปลาที่กำลังดิ้นและมีเลือดออกขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้.
ปลาฉลามมีสัมผัสที่หกด้วย. เนื่องจากอวัยวะ
ที่เรียกว่าแอมพูลลี ออฟ โลเรนซินี—รูเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่รอบจมูก—มันจึงสามารถตรวจจับสนามไฟฟ้าอย่างอ่อน ๆ ซึ่งแผ่มาจากการเต้นของหัวใจ, การขยับเหงือกของปลา, หรือกล้ามเนื้อที่กำลังว่ายน้ำของสัตว์ที่อาจกลายเป็นเหยื่อ. จริง ๆ แล้ว สัมผัสที่หกนี้ไวมากกระทั่งอาจทำให้ฉลามรู้สึกได้ถึงอันตรกิริยาของสนามแม่เหล็กโลกกับมหาสมุทร. ผลก็คือ ฉลามอาจรู้ว่าทิศไหนเป็นทิศเหนือและทิศไหนเป็นทิศใต้.ทำความรู้จักกับฉลามขาว
แม้จะถูกเรียกว่าฉลามขาว แต่ก็มีแค่ส่วนใต้ท้องของมันเท่านั้นที่เป็นสีขาวหรือขาวซีด. ตามปกติแล้วหลังจะเป็นสีเทาดำ. สองสีนี้มาจรดกันเป็นแนวหยักที่ข้างลำตัว ซึ่งแตกต่างกันไประหว่างฉลามแต่ละตัว. ลักษณะเด่นเช่นนี้เพิ่มการพรางตายิ่งขึ้น แต่ก็ช่วยนักวิทยาศาสตร์ให้จำฉลามแต่ละตัวได้ด้วย.
ฉลามขาวเมื่อโตเต็มที่จะใหญ่ขนาดไหน? หนังสือฉลามขาว (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “ฉลามขาวตัวใหญ่ ๆ วัดโดยละเอียดแล้วความยาวจะอยู่ระหว่าง 5.8 ถึง 6.4 เมตร.” ฉลามขนาดนี้อาจหนักมากกว่า 2,000 กิโลกรัม. กระนั้น เนื่องจากครีบที่มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมโค้งมนไปด้านหลัง และติดกับลำตัวที่คล้ายตอร์ปิโด เจ้ายักษ์ใหญ่เหล่านี้จึงพุ่งแหวกไปในน้ำคล้ายจรวด. หางของมันที่เกือบจะสมมาตรกัน ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อให้มีพละกำลัง เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พบเห็นน้อยมากในอาณาจักรฉลาม เพราะฉลามชนิดอื่นส่วนใหญ่จะมีหางที่เห็นได้ชัดว่าไม่สมมาตรกัน.
เอกลักษณ์ที่พิเศษสุดและน่ากลัวที่สุดของฉลามขาวคือ หัวรูปกรวยขนาดมหึมา, ดวงตาสีดำอันเย็นชา, และปากซึ่งเต็มไปด้วยฟันรูปสามเหลี่ยมเหมือนฟันเลื่อยที่คมดุจมีดโกน. เมื่อ “ใบมีด” ที่มีสองคมนี้บิ่นหรือหลุดร่วงไป ‘สายพานลำเลียง’ ฟันก็จะดันฟันซี่ใหม่เข้ามาแทนที่.
มีพลังเพราะเลือดอุ่นกว่า
ระบบการไหลเวียนโลหิตของฉลามในวงศ์แลมนิแด (ฉลามกินคน) ซึ่งรวมทั้งฉลามมาโค (ฉลามหางยาว), ฉลามหนู, และฉลามขาว แตกต่างอย่างน่าทึ่งจากฉลามอื่นส่วนใหญ่. อุณหภูมิของเลือดฉลามเหล่านี้สูงกว่าอุณหภูมิน้ำประมาณ 3 ถึง 5 องศาเซลเซียส. เลือดที่อุ่นกว่าทำให้มันย่อยอาหารได้เร็วขึ้นและเพิ่มความแข็งแกร่งทนทานให้กับมัน. ฉลามมาโคซึ่งกินปลาน้ำลึกที่ว่องไวเป็นอาหาร เช่น ปลาทูนา สามารถเร่งความเร็วได้ทันทีถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง!
เมื่อปลาฉลามว่ายน้ำ ครีบหูทั้งสองข้างจะพยุงตัวมันไว้. ถ้าว่ายช้าเกินไป มันจะเสียการทรงตัวและจมสู่ก้นทะเลคล้ายเครื่องบิน ทั้ง ๆ ที่แหล่งเก็บน้ำมันในตับซึ่งช่วยให้ลอยตัวได้นั้นใหญ่มากจนอาจจะมีน้ำหนักถึงหนึ่งในสี่ของน้ำหนักตัวทั้งหมด! อนึ่ง ฉลามหลายชนิดต้องแหวกว่ายอยู่ตลอดเวลาเพื่อหายใจ เพราะโดยวิธีนี้ น้ำที่อุดมด้วยออกซิเจนสามารถผ่านเข้าไปในปากและเหงือกได้มาก. นี่แหละที่ทำให้มันแสยะยิ้มอย่างเย็นชาไม่ยอมหุบปาก!
กินคนหรือ?
ในบรรดาฉลาม 368 ชนิด ที่รู้จักกันเวลานี้ มีเพียง 20 ชนิดเท่านั้นที่เป็นอันตราย. และในการจู่โจมคนราว ๆ 100 รายซึ่งรายงานไว้ในแต่ละปีตลอดทั่วโลก ส่วนใหญ่เกิดจากฉลามเพียงสี่ชนิด. ผู้ถูกจู่โจมประมาณ 30 รายถึงแก่ชีวิต. ฉลามสี่ชนิดที่เป็นตัวการคือ ฉลามกระทิง ซึ่งอาจคร่าชีวิตมนุษย์มากกว่าฉลามชนิดอื่น, ฉลามเสือ, ฉลามครีบขาว, และฉลามขาว.
น่าแปลก อย่างน้อย 55 เปอร์เซ็นต์—และในบางส่วนของโลกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์—ของผู้ที่ถูกจู่โจมโดยฉลามขาวรอดชีวิตมาได้. ทำไมจึงมีมากมายหลายคนรอดชีวิตมาได้จากการถูกจู่โจมโดยนักล่าที่น่ากลัวนี้?
กัดแล้วปล่อย
เป็นที่รู้กันว่าฉลามขาวจะปล่อยเหยื่อที่บาดเจ็บหลังจากการงับอย่างแรงในครั้งแรก. แล้วมันก็คอยให้เหยื่อตายก่อนจะกินเข้าไป. เมื่อเหยื่อเป็นมนุษย์ พฤติกรรมนี้จะเปิดโอกาสสำหรับการช่วยชีวิต. บางครั้ง เพื่อนที่ใจกล้าช่วยได้สำเร็จ ดังนั้น คำแนะนำที่ว่า อย่าว่ายน้ำคนเดียวเป็นอันขาด จึงเป็นคำแนะนำที่สุขุม.
อย่างไรก็ตาม การพยายามช่วยชีวิตเช่นว่าคงเป็นการฆ่าตัวตายแน่ ๆ ถ้าไม่ใช่เพราะพฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งของฉลามขาว. กลิ่นคาวเลือดไม่ได้กระตุ้นให้มันเขมือบอย่างเมามันเหมือนกับฉลามอื่นบางชนิด. แต่ทำไมฉลามขาวจึงใช้ยุทธวิธีแบบกัดแล้วปล่อย?
นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะตาของมัน. ไม่เหมือนฉลามชนิดอื่น ฉลามขาวไม่มีเยื่อหุ้มที่คล้ายหนังตาเพื่อช่วยปกป้องลูกตา แต่มันจะกลอกตาไปมาในเบ้าเมื่อจะเข้าโจมตีเหยื่อ. ในชั่วขณะที่โจมตีนั้น ตาของมันจึงอาจโดนกรงเล็บของแมวน้ำข่วน. ฉะนั้น สำหรับฉลามขาว การจู่โจมอย่างรวดเร็วถึงตายและปล่อย เป็นพฤติกรรมปกติธรรมดา.
โปรดจำไว้ด้วยว่า ฉลามขาวมีนิสัยคล้ายเด็กทารกมาก—เอาทุกอย่างที่ขวางหน้าเข้าปากเพื่อทดสอบรสชาติ! จอห์น เวสต์ นักชีววิทยาทางทะเลในซิดนีย์ ออสเตรเลีย อธิบายว่า “น่าเศร้า เมื่อเจ้ายักษ์ขาวกัด [ทดสอบ] อาจยังผลเป็นความหายนะได้.”
แม้ฉลามขาวเป็นสัตว์อันตราย แต่มันก็ไม่ใช่ปิศาจร้ายที่อยากกินเนื้อมนุษย์. นักงมหอยโข่งทะเลคนหนึ่งซึ่งผ่านประสบการณ์ในน้ำถึง 6,000 ชั่วโมง เคยเห็นฉลามขาวแค่สองตัว และทั้งสองก็ไม่ได้จู่โจมทำร้ายเขา. จริง ๆ แล้ว ฉลามขาวมักจะหนีคน.
ขณะดำน้ำนอกชายฝั่งหมู่เกาะเคปเวิร์ด นักสำรวจทางทะเล ชาค-อีฟ กูสโต และเพื่อนของเขาบังเอิญพบฉลามขาวขนาดมหึมาตัวหนึ่ง. กูสโตเขียนไว้ว่า “ปฏิกิริยา [ของมัน] ยากจะเข้าใจได้. ด้วยความตกใจกลัว เจ้ายักษ์ใหญ่นี้ปล่อยมูลออกมาเป็นระลอก ๆ และจากไปด้วยความเร็วเหลือเชื่อ.” เขาลงความเห็นว่า “จากการวิเคราะห์ดูประสบการณ์ทั้งหมดที่เราได้พบพานฉลามขาว ผมยังงุนงงไม่หายในช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างสิ่งที่คนทั่วไปคิดว่ามันเป็น กับสิ่งที่ผมได้เห็นจริง ๆ.”
ฉลามขาวตกเป็นเหยื่อ
ความคิดของคนทั่วไปถูกแต้มแต่งอย่างมากจากนวนิยายเรื่องจอว์ ในทศวรรษ 1970 ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์ยอดนิยม. เพียงชั่วข้ามคืน ฉลามขาวก็กลายเป็นปิศาจร้าย และหนังสือฉลามขาว (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “บรรดานักล่าปลาฉลามต่างก็แข่งกันว่าใครจะเป็นคนแรกที่ได้หัวหรือขากรรไกรของเจ้าปลากินคนมาโชว์เหนือเตาผิง.” ต่อมา ฟันฉลามขาวซี่หนึ่งซึ่งใส่กรอบเรียบร้อย ขายได้ราคาสูงถึง 1,000 ดอลลาร์ (ในออสเตรเลีย); และขากรรไกรชุดหนึ่งได้ราคาสูงกว่า 20,000 ดอลลาร์.
กระนั้น ฉลามขาวส่วนใหญ่ตายเพราะติดอวนประมง. นอกจากนี้ มีการพบฉลามเหล่านี้ปะปนมากับฉลามชนิดอื่นที่จับได้นับล้าน ๆ ตัวในแต่ละปีเพื่อสนองความต้องการของตลาดผลิตภัณฑ์ฉลามที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะหูฉลาม. ไม่นานมานี้ เนื่องจากจำนวนที่จับได้นั้นลดน้อยลง จึงมีเสียงเตือนดังขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะเรื่องฉลามขาว.
กำลังเป็นที่เข้าใจ
เป็นที่รู้กันว่าฉลามท่องทะเลไปเรื่อย ๆ เพื่อค้นหาสัตว์ที่ป่วย, กำลังจะตาย, พิการ, และสัตว์ที่ตายแล้ว. ด้วยเหตุนี้ หากมีประชากรฉลามมากก็หมายถึงมหาสมุทรมีอนามัยดี.
ด้วยตระหนักถึงภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของเหล่าฉลาม คณะกรรมาธิการว่าด้วยความอยู่รอดของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์แห่งสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงจัดตั้งคณะผู้ชำนัญพิเศษเรื่องปลาฉลามเพื่อศึกษาปัญหาทั้งหมดเกี่ยวกับฉลาม. อย่างไรก็ตาม การศึกษาฉลามขาวไม่ง่าย—มันไม่ใช่สัตว์ที่มีลูกดก แถมยังตายอีกด้วยหากถูกกักขัง. ดังนั้น การศึกษาจะต้องทำในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของมันเอง.
เมื่อมนุษย์มีความเข้าใจเรื่องฉลามมากขึ้น ทัศนคติของพวกเขาต่อสัตว์ที่น่าทึ่งนี้ก็ได้เปลี่ยนไป. แต่นั่นไม่ได้เปลี่ยนฉลามขาว. แม้จะไม่ใช่ปิศาจร้าย แต่มันก็เป็นสัตว์ที่อันตรายและควรปฏิบัติต่อมันด้วยความระมัดระวังและความนับถือ. นับถือให้มาก ๆ!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ฉลามขาวมีชื่อสามัญหลากหลาย. ตัวอย่างเช่น ในออสเตรเลียบางครั้งก็เรียกว่า ไวต์ พอยท์เตอร์; ในแอฟริกาใต้เรียกว่า บลู พอยท์เตอร์.
[ภาพหน้า 11]
ฉลามเหล่านี้มีปากใหญ่น่ากลัว
[ที่มาของภาพหน้า 10]
Photos by Rodney Fox Reflections
South African White Shark Research Institute