บันไดสู่ท้องฟ้า
บันไดสู่ท้องฟ้า
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในฟิลิปปินส์
กล่าวกันว่า รวมกันทั้งหมดแล้ว มันยาวกว่ากำแพงเมืองจีนสิบเท่า. บางคนกล่าวว่า ถ้านำช่วงต่าง ๆ มาต่อกัน มันจะยาวถึง 20,000 กิโลเมตร—หรือครึ่งหนึ่งของระยะทางรอบโลก! บางคนถึงกับเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างที่แปดของโลก. อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่เคยได้ยินเรื่องสถานที่อันน่าทึ่งแห่งนี้ในฟิลิปปินส์. สิ่งนี้คืออะไร? บันไดสู่ท้องฟ้า นาขั้นบันไดแห่งเทือกเขาคอร์ดีเยรา เซ็นทรัล. นาขั้นบันไดแห่งนี้ซึ่งซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางภูเขาในเกาะลูซอนสำแดงถึงความสวยงามและความเฉลียวฉลาดอย่างน่าทึ่ง.
เขาสร้างขึ้นมาทำไม? ก็เนื่องจากภูเขาสูงชันแถบคอร์ดีเยรานั้นชันมากถึงขนาดที่ตามปกติแล้วไม่อาจใช้เพื่อเพาะปลูกได้. เขาบางลูกมีความลาดชันกว่า 50 เปอร์เซ็นต์. แต่ชาวนาในสมัยก่อนไม่ได้ท้อเพราะเหตุนี้. ที่ความสูงระดับ 1,200 เมตรหรือมากกว่านั้น พวกเขาแต่งขั้นบันไดเป็นพัน ๆ ขั้นตามไหล่เขาที่เขียวขจี. บางครั้งมีมากถึง 25 ขั้น, 30 ขั้น, หรือกว่านั้นซ้อนกันเหมือนขั้นบันไดสู่ท้องฟ้า. แต่ละขั้นเป็นนาที่มีน้ำขัง ล้อมด้วยคันนาและเสริมด้วยกำแพงหิน. ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวและโค้งไปตามรูปเขา; บางแห่งเว้าเข้า บางแห่งโค้งออก.
แน่นอน การปลูกพืชเป็นขั้นบันไดไม่ได้มีอยู่ในฟิลิปปินส์แห่งเดียว. นาขั้นบันไดมีอยู่ในประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อเมริกาใต้, และบางส่วนของแอฟริกา. แต่นาขั้นบันไดของฟิลิปปินส์โดดเด่นในหลาย ๆ ทาง. มาริโอ โมวิลโยน แห่งสถาบันวิจัยข้าวสากล บอกกับตื่นเถิด! ว่า “นาขั้นบันไดของฟิลิปปินส์มีขนาดใหญ่กว่านาขั้นบันไดในประเทศอื่นมาก. มันครอบคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ของเทือกเขาคอร์ดีเยรา.” ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดอีฟูเกา. ใคร ๆ ต่างก็ประทับใจกับขั้นบันไดที่มีจำนวนมากมายเช่นนั้น. ขั้นบันไดเหล่านี้แต่งเติมความงามให้กับรูปร่างตามธรรมชาติของเทือกเขานี้.
สิ่งมหัศจรรย์ของโลกหรือ?
เป็นการคุยโตเกินไปไหมที่จะเรียกนาขั้นบันไดนี้ว่าสิ่งมหัศจรรย์อย่างที่แปดของโลก? ขอพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไปนี้: มันอาจเป็นโครงการเกษตรกรรม
โครงการเดียวที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์. ในเดือนธันวาคม 1995 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติตัดสินที่จะกำหนดให้นาขั้นบันไดที่อีฟูเกาเป็นมรดกโลก. ผลก็คือ ตอนนี้นาขั้นบันไดเทียบได้กับสถานที่อื่น ๆ ซึ่งมีคุณค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อย่างเช่น ทัชมาฮาลในอินเดีย, หมู่เกาะกาลาปากอสของเอกวาดอร์, กำแพงเมืองจีน, และนครวัดของกัมพูชา. แต่ไม่เหมือนโครงการก่อสร้างในยุคโบราณอื่น ๆ เช่นพีระมิดของอียิปต์ นาขั้นบันไดนี้เห็นได้ชัดว่าสร้างขึ้นด้วยความร่วมมือในชุมชน—ไม่ใช่แรงงานทาส. นอกจากนั้น นานี้ไม่ได้เป็นสถานที่รกร้างว่างเปล่าแต่ชาวอีฟูเกายังคงเพาะปลูกอยู่ในบริเวณนี้.ถ้าคุณไปเยี่ยมชมนาขั้นบันได คุณจะสามารถประสบด้วยตัวเองถึงความงามอันน่าตื่นตาตื่นใจ. คุณจะเห็นคนทำงานในนาขั้นบันได ซึ่งมีตั้งแต่ไม่กี่ตารางเมตรไปจนถึง 10,000 ตารางเมตร. คนงานบางคนกำลังเอาไม้แทงดินให้เป็นรูเพื่อให้น้ำซึมลงไป พลางก็ร้องเพลงไป. บางคนกำลังปลูกข้าว, ดำนา, หรือเก็บเกี่ยวผลผลิตของตน. ถ้าคุณไปเยี่ยมชมตอนที่ต้นข้าวงอกขึ้นใหม่ ๆ นาขั้นบันไดเหล่านี้จะเป็นเหมือนภาพโมเสกสีเขียวที่สวยงามในระดับสีต่าง ๆ กัน.
พันธุ์ข้าวที่ขึ้นในนาที่มีน้ำขังไม่อาจอยู่รอดได้ถ้าไม่มีน้ำปริมาณมาก ๆ. ดังนั้น จึงมีระบบชลประทานอันซับซ้อน. มีการต่อท่อให้น้ำจากลำธารบนภูเขาลงมาที่นาขั้นบันไดเหล่านี้โดยระบบคลองและท่อไม้ไผ่อันสลับซับซ้อน. เนื่องจากอาศัยแรงโน้มถ่วง จึงวางใจได้ว่าจะมีน้ำจากนาขั้นหนึ่งไหลไปยังอีกขั้นหนึ่ง. แทนที่จะเป็นอนุสรณ์สถานที่ตายแล้ว นาขั้นบันไดนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริง!
ใครเป็นคนสร้าง?
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าขั้นบันไดนับพันขั้นเหล่านี้ไม่อาจสร้างขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน หรือแม้แต่ไม่กี่ปี. อย่าลืมว่าการสร้างนั้นต้องทำโดยไม่มีเครื่องมือเครื่องจักรสมัยใหม่. ดังนั้น เชื่อกันว่านาขั้นบันไดนี้เริ่มสร้าง อย่างน้อยก็เมื่อหลายร้อยปีก่อน.
นักโบราณคดีบางคนถึงกับเชื่อว่าการสร้างเริ่มขึ้นเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว. นักมานุษยวิทยาบอกว่า ผู้ที่สร้างได้อพยพมาจากทางเหนือของอินโดจีนหรือจากอินโดนีเซียและลงหลักปักฐานบนเกาะลูซอน และนำวัฒนธรรมการทำนาขั้นบันไดมากับพวกเขาด้วย. หลังจากนาขั้นบันไดถูกสร้างขึ้นแล้ว ก็ค่อย ๆ มีการสร้างเพิ่มเติมเข้าไป.
วิธีชื่นชมกับมัน
ตอนนี้ขอให้เราใช้จินตนาการว่าเดินทางไปชมนาขั้นบันได. ตอนแรก เรานั่งรถโดยสารปรับอากาศจากกรุงมะนิลาไปยังเมืองบานาเว ในอีฟูเกา. การเดินทางใช้เวลาประมาณเก้าชั่วโมง. ตอนนี้เรามีทางเลือกหลายอย่าง. เราอาจเลือกเดิน, ใช้รถสามล้อ (รถจักรยานยนต์พ่วง), หรือนั่งรถจีปนีย์ไปยังจุดที่น่าสนใจต่าง ๆ. และถ้าเราต้องการและมีกำลัง เราอาจอยากจะเดินเข้าไปในเขตภูเขาซึ่งไปถึงได้โดยทางเท้าเท่านั้น. ทางเดินเหล่านี้ทำให้เราได้ชมทิวทัศน์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดบางแห่งของนาขั้นบันไดและให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์ทำขึ้นนี้.
เราเลือกนั่งรถจีปนีย์ไปยังหมู่บ้านบาตาด. เราใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงกว่าเดินทางในถนนที่ขรุขระบนภูเขาเพื่อไปถึงจุดที่ไกลออกไป 12 กิโลเมตร. จากที่นี่ เราเดินขึ้นเขาไปตามทางเดิน. ทางนั้นพาเราผ่านพรรณไม้นานาชนิดบนภูเขาขณะที่เราค่อย ๆ ปีนขึ้นสันเขาระหว่างยอดเขาสองลูก. (มีเส้นทางที่สั้นกว่า แต่ชันมากและไม่เหมาะสำหรับคนที่ไม่เคยปีนเขาแบบที่ต้องใช้กำลังมาก.) จากสันเขาเราค่อย ๆ ลงไปยังหมู่บ้านบาตาดในทางเดินแคบ ๆ.
หลังจากเดินมาสองสามชั่วโมง และได้สูดอากาศสดชื่นบนภูเขาตามทาง ในที่สุดเราก็มาถึงจุดหมาย. ณ ที่นี่ นาขั้นบันไดยังความตื่นตาตื่นใจแก่เราเป็นอย่างยิ่ง. เนื่องจากบาตาดตั้งอยู่บนไหล่เขาที่เว้าเข้ามา ขั้นบันไดต่าง ๆ จึงมีรูปร่างเหมือนกับอัฒจันทร์. ชั้นที่ลดหลั่นกันเหล่านี้ก่อให้เกิดลวดลายที่น่าทึ่ง ชั้นหนึ่งซ้อนอยู่บนอีกชั้นหนึ่ง เหมือนบันไดสู่ท้องฟ้า. ขณะที่เราเข้าใกล้หมู่บ้าน เราเห็นบ้านทรงอีฟูเกาแบบเก่า ซึ่งเห็นเป็นจุด ๆ อยู่ห่าง ๆ กันในหมู่บ้านนั้น เหมือนเห็ดยักษ์ที่มีหญ้าปิดคลุม.
ผู้คนที่กำลังทำงานอยู่ในนาขั้นบันไดยิ้มแย้มเป็นมิตรและทักทายเราขณะที่เราผ่านพวกเขาไป. คุณอาจทึ่งขณะที่คุณมองดูคนท้องถิ่นเดินอย่างคล่องแคล่วไปตามขอบกำแพงหิน โดยใช้เป็นทางเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง. บางคนปีนจากขั้นหนึ่งไปยังอีกขั้นหนึ่งด้วยเท้าที่มั่นคงดังเลียงผา โดยใช้ก้อนหินที่วางไว้อย่างมีแบบแผนเป็นบันได. เมื่อมองใกล้ ๆ จึงเห็นว่าพวกเขาไม่ใส่รองเท้า. และที่อยู่แวดล้อมตัวเขาล้วนเป็นทัศนียภาพอันงดงามของขั้นที่ลดหลั่นกันบนภูเขา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่หาได้ยากที่งานก่อสร้างของมนุษย์จะเข้ากันอย่างดีและเสริมสภาพแวดล้อม.
ฟังดูน่าสนใจไหม? ถ้าอย่างนั้น แน่นอนว่าถ้าคุณไปฟิลิปปินส์ อย่าพลาดโอกาสที่จะไปดูบันไดสู่ท้องฟ้า สิ่งมหัศจรรย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งคุณจะไม่ลืมง่าย ๆ.
[กรอบหน้า 18]
คุ้มครองนาขั้นบันได
ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันนาขั้นบันไดนี้ดูงดงาม แต่การดำรงอยู่ต่อไปกำลังถูกคุกคาม. ชาวภูเขารุ่นหลัง ๆ เป็นจำนวนมากหายไปจากนาข้าวและหางานทำในพื้นที่อื่น ๆ. นี่ทำให้ขาดแคลนชาวนาที่ชำนาญงานเพื่อรักษานาขั้นบันไดนี้ไว้.
อาโรรา อัมมาเยา คนท้องถิ่นแห่งอีฟูเกาซึ่งร่วมงานกับสถาบันวิจัยข้าวสากล บอกกับตื่นเถิด! ถึงอันตรายอีกประการหนึ่งว่า “นาขั้นบันไดควรจะมีน้ำขังอยู่เสมอ แต่ตอนนี้มีการขาดแคลนน้ำเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า.” ถ้าแหล่งน้ำแห้งเหือดไปก็หมายความว่านาขั้นบันไดก็จะสูญสลายไป.
ภัยพิบัติธรรมชาติก็ก่อปัญหาในบางครั้งด้วย. ในปี 1990 แผ่นดินไหวได้ทำลายนาขั้นบันไดจำนวนหนึ่งเมื่อไหล่เขาทั้งแถบทลายลงมา.
กระนั้น มีการดำเนินการป้องกันก่อนที่นาขั้นบันไดจะหมดไป. มีการออกคำสั่งจากฝ่ายบริหารในปี 1996 เพื่อก่อตั้งคณะกรรมาธิการนาขั้นบันไดอีฟูเกา. งานของคณะกรรมาธิการนี้หรือ? ก็เพื่อบำรุงรักษานาขั้นบันไดไว้ รวมทั้งระบบชลประทานที่เกี่ยวข้องด้วยและวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น อีกทั้งการฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกทำลายไปด้วย.
การที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ตั้งนาขั้นบันไดนี้ให้เป็นมรดกโลก ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์มีพันธะที่จะต้องอนุรักษ์สถานที่นี้ไว้. และตามคำกล่าวของจีน ทัวโซน รองผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานยูเนสโกประจำกรุงมะนิลา “ยูเนสโกก็อาจให้การช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินเพื่อปกป้องและอนุรักษ์นาขั้นบันไดนี้ไว้.”
[แผนที่หน้า 16]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
คอร์ดีเยรา เซ็นทรัล
[รูปภาพเต็มหน้า 17]