ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกำลังกว้างขึ้น
ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกำลังกว้างขึ้น
“มีความก้าวหน้าในการลดสภาพยากจนตลอดทั่วโลกในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านไปมากยิ่งกว่าในห้าศตวรรษก่อนหน้านั้น” ยูเอ็นดีพี ทูเดย์ สิ่งพิมพ์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติรายงาน. “นับตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา ประเทศกำลังพัฒนามีอัตราตายของเด็กลดลงครึ่งหนึ่ง, อัตราทุโภชนาการลดลงหนึ่งในสาม, และอัตราผู้ลงทะเบียนเรียนหนังสือเพิ่มขึ้นหนึ่งในสี่.” ทว่า แหล่งเดียวกันนี้ยอมรับว่าแม้มีความก้าวหน้าเช่นนี้ สภาพยากจนตลอดทั่วโลก “ยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลาย.”
ซ้ำร้ายเข้าไปอีก ความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างสังคมต่าง ๆ กำลังเพิ่มมากขึ้น. แคเทอรีน เบอร์ตีนี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า “เมื่อเทียบกับหนึ่งปีที่ผ่านไป มีคนมากขึ้นในโลกเวลานี้ที่กำลังประสบภาวะทุโภชนาการและความหิวโหย.” ที่จริง ปัจจุบันผู้คนประมาณ 840 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนามีชีวิตอยู่อย่างหิวโหยโดยตลอด มากกว่าหนึ่งพันล้านคนไม่มีน้ำที่ปลอดภัยดื่ม และเกือบ 1,500 ล้านคนถูไถยังชีพด้วยเงินไม่ถึง 40 บาทต่อวัน. แมรี โรบินสัน ข้าหลวงใหญ่ประจำสำนักเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เตือนว่า “เราตกอยู่ในอันตรายที่จะไปถึงจุดที่โลกถูกแบ่งแยก ไม่ใช่ระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว หากแต่ระหว่างประเทศที่พัฒนามากเกินไปกับประเทศที่ไม่มีทางพัฒนาได้เลย.”
ประชาคมโลกในเวลานี้ซึ่งประกอบด้วยประชากรหกพันล้านคนต้องใช้จ่ายมากน้อยเพียงใดจึงจะลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้น้อยลง? ไม่มากอย่างที่อาจจะคิดกัน. สหประชาชาติประมาณว่า ในหนึ่งปีต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น 360,000 ล้านบาท (60 บาทต่อคน) เพื่อจัดให้มีการดูแลด้านสุขอนามัยและน้ำที่สะอาดตลอดทั่วโลก และต้องใช้อีก 520,000 ล้านบาท (ประมาณ 80 บาทต่อคน) ในหนึ่งปีเพื่อจัดให้มีการดูแลสุขภาพและโภชนาการขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคนในโลก. แม้ว่าตัวเลขนั้นเป็นเงินจำนวนมหาศาล แต่จำนวนดังกล่าวดูเหมือนว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับที่โลกใช้จ่ายไปในด้านอื่น ๆ. เพื่อเป็นตัวอย่าง ในปีหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งโลกใช้จ่ายเงิน 17 ล้านล้านบาท (มากกว่า 2,800 บาทต่อคน) ในการโฆษณา และ 30 ล้านล้านบาท (5,200 บาทต่อคน) ในการทหาร. เห็นได้ชัด ปัญหาสำคัญในการลดช่องว่างระหว่างคนมั่งมีกับคนขัดสนในโลกไม่ใช่การหาทุนให้ได้พอเพียง แต่อยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้องมากกว่า.