การถ่ายเลือด—ประวัติอันยาวนานซึ่งเต็มไปด้วยการโต้แย้ง
การถ่ายเลือด—ประวัติอันยาวนานซึ่งเต็มไปด้วยการโต้แย้ง
“ถ้าเซลล์เม็ดเลือดแดงคือยาขนานใหม่ในปัจจุบัน ก็คงเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะได้รับใบอนุญาต.”—นายแพทย์เจฟฟรีย์ แมกคัลโล.
ในฤดูหนาวปี 1667 ชายที่มีอาการคลุ้มคลั่งรุนแรงคนหนึ่งชื่อ อังตวน โมรัว ถูกนำไปพบกับฌอง-บัพติสต์ เดนี แพทย์ส่วนพระองค์ผู้มีชื่อเสียงของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส. เดนีเกิดความคิดที่จะ “รักษา” อาการบ้าของโมรัวโดยเอาเลือดวัวมาถ่ายให้เขา ซึ่งเดนีคิดว่าคงจะทำให้คนไข้รายนี้สงบลงได้. แต่สำหรับโมรัวแล้วไม่ราบรื่นอย่างที่คิด. จริงอยู่ หลังจากการถ่ายเลือดครั้งที่สอง อาการของเขาดีขึ้น. แต่สักพักหนึ่ง ชายชาวฝรั่งเศสคนนี้ก็คลุ้มคลั่งอีก และไม่นานเขาก็ถึงแก่ความตาย.
แม้ในเวลาต่อมามีการลงความเห็นว่า จริง ๆ แล้ว โมรัวเสียชีวิตเนื่องจากพิษของสารหนู แต่การทดลองของเดนีโดยเอาเลือดสัตว์มาถ่ายให้นั้นก่อให้เกิดการโต้แย้งอย่างรุนแรงในฝรั่งเศส. สุดท้าย วิธีการนี้ถูกสั่งห้ามในปี 1670. ต่อมา รัฐสภาอังกฤษและกระทั่งโปปก็ห้ามไม่ให้ใช้วิธีนี้ด้วย. หลังจากนั้น การถ่ายเลือดได้เงียบหายไป 150 ปี.
อันตรายในช่วงแรก ๆ
ในศตวรรษที่ 19 การถ่ายเลือดได้หวนกลับมาอีก. ผู้รื้อฟื้นวิธีการนี้คือ สูติแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ เจมส์ บรันเดลล์. ด้วยเทคนิคที่ปรับปรุงดีขึ้นและเครื่องไม้เครื่องมือที่พัฒนามากขึ้น อีกทั้งการยืนกรานของเขาที่ว่าต้องใช้เฉพาะเลือดมนุษย์ เท่านั้น บรันเดลล์ได้นำการถ่ายเลือดกลับมาสู่ความนิยมอีกครั้ง.
แต่ในปี 1873 เอฟ. เกเซลลีอุส แพทย์ชาวโปแลนด์ ทำให้กระแสการกลับมาของการถ่ายเลือดชะลอตัวลงด้วยการค้นพบที่น่าตกใจ นั่นคือ มากกว่าครึ่งของการถ่ายเลือดจบลงด้วยการเสียชีวิต. เมื่อทราบเรื่องนี้ บรรดาแพทย์ผู้มีชื่อเสียงก็เริ่มประณามวิธีการดังกล่าว. ความนิยมการถ่ายเลือดกลับเสื่อมถอยอีกครั้ง.
ครั้นแล้ว ในปี 1878 ชอร์ช อาเยม แพทย์ชาวฝรั่งเศสก็ผลิตน้ำเกลือได้สำเร็จ ซึ่งเขาอ้างว่าสามารถใช้แทนเลือดได้. ต่างจากเลือด น้ำเกลือไม่ก่อผลข้างเคียง, ไม่จับตัวเป็นลิ่ม, และง่ายต่อการขนส่ง. จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมมีการใช้น้ำเกลือของอาเยมอย่างกว้างขวาง. แต่น่าแปลก ไม่นานก็เห็นชอบกับการใช้เลือดอีก. เพราะเหตุใด?
ในปี 1900 คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ นักพยาธิวิทยาชาวออสเตรีย ได้ค้นพบว่าเลือดมีหลายกรุ๊ป และเขาพบว่าเลือดกรุ๊ปหนึ่งไม่ใช่จะเข้ากันได้เสมอไปกับอีกกรุ๊ปหนึ่ง.
ไม่แปลกที่การถ่ายเลือดหลายต่อหลายรายในอดีตจบลงด้วยเรื่องน่าเศร้า! ปัจจุบัน อาจไม่เป็นอย่างนั้น หากทำให้แน่ใจว่ากรุ๊ปเลือดของผู้บริจาคเข้ากันได้กับของผู้รับ. ด้วยความรู้นี้ แพทย์กลับมั่นใจในการถ่ายเลือดอีกครั้ง—ทันเวลาพอดีกับสงครามโลกครั้งที่ 1.การถ่ายเลือดและสงคราม
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการถ่ายเลือดอย่างกว้างขวางให้ทหารที่บาดเจ็บ. แน่ละ เลือดจับตัวเป็นลิ่มอย่างรวดเร็ว และก่อนหน้านี้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งเลือดถึงสมรภูมิ. แต่ในช่วงต้น ๆ ศตวรรษที่ 20 นายแพทย์ริชาร์ด ลูวิซอน แห่งโรงพยาบาลเมาต์ ไซนาย ในนครนิวยอร์ก ประสบผลสำเร็จในการทดลองใช้สารที่เรียกว่าโซเดียมซิเตรตเพื่อไม่ให้เลือดจับตัวเป็นลิ่ม. แพทย์บางคนถือว่าความสำเร็จอันน่าตื่นเต้นนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์. “แทบจะเหมือนเหตุการณ์ที่ดวงอาทิตย์ถูกทำให้หยุดนิ่ง.” ดร. เบอร์แทรม เอ็ม. เบิร์นไฮม์ แพทย์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยของเขาได้เขียนไว้.
สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เลือดเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น. มีการติดโปสเตอร์เต็มไปหมดโดยมีข้อความอย่างเช่น “บริจาคเลือดกันเถอะ,” “เลือดของคุณช่วยชีวิตเขาได้,” และ “เขาสละเลือดของเขา. คุณจะสละเลือดของคุณไหม?” เสียงเรียกร้องให้บริจาคเลือดได้รับการตอบรับล้นหลาม. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการบริจาคเลือดประมาณ 13,000,000 ยูนิต ในสหรัฐ. กะประมาณว่า เลือดที่ได้รับบริจาคและแจกจ่ายออกไปในลอนดอนมีมากกว่า 68,500 แกลลอน. แน่ละ การถ่ายเลือดก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพหลายอย่าง ดังที่ประจักษ์ชัดในเวลาต่อมา.
โรคที่มากับเลือด
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในวงการแพทย์ทำให้การผ่าตัดบางอย่างเป็นไปได้ ซึ่งแต่ก่อนไม่ต้องพูดถึง. ผลก็คือ อุตสาหกรรมจัดหาเลือดสำหรับการถ่ายเลือดที่ทำรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีก็ผุดขึ้นทั่วโลก ซึ่งพวกแพทย์เริ่มมองว่านี่เป็นขั้นตอนมาตรฐานสำหรับการผ่าตัด.
อย่างไรก็ตาม ไม่นานนักความวิตกกังวลเรื่องโรคที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเลือดก็ปรากฏขึ้น. ยกตัวอย่าง ระหว่างสงครามเกาหลี เกือบ 22 เปอร์เซ็นต์ของผู้รับการถ่ายพลาสมาเป็นโรคตับอักเสบ—เกือบสามเท่าของอัตราที่เป็นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2. พอถึงทศวรรษ 1970 ศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐกะประมาณว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคตับอักเสบที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเลือดมีราว ๆ 3,500 รายต่อปี. แหล่งอื่นให้ตัวเลขสูงกว่าถึงสิบเท่า.
เนื่องจากการตรวจวิเคราะห์ที่ละเอียดขึ้นและการคัดผู้บริจาคอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น ยังผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีลดลง. แต่หลังจากนั้น ไวรัสตัวใหม่ซึ่งบางครั้งเป็นอันตรายถึงชีวิต—ตับอักเสบซี—ได้ก่อความเสียหายมหันต์. มีการกะประมาณว่า ชาวอเมริกันสี่ล้านคนติดไวรัสชนิดนี้ หลายแสนรายติดโดยการถ่ายเลือด. จริงอยู่ การตรวจสอบอย่างเข้มงวด ในที่สุดได้ลดการแพร่ระบาดของตับอักเสบซี. กระนั้น บางคนก็ยังกลัวว่าอันตรายแบบใหม่จะปรากฏขึ้นอีก และกว่าจะรู้ตัวก็คงสายเกินไป.
เรื่องน่าอัปยศอีกอย่างหนึ่ง—เลือดปนเปื้อนเอชไอวี
ในทศวรรษ 1980 มีการค้นพบว่าเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์สามารถปนเปื้อนมากับเลือดได้. ตอนแรก ธนาคารเลือดไม่ยอมรับว่าเลือดที่ตนเก็บไว้อาจมีการปนเปื้อน. ตอนแรก ๆ พวกเขาหลายคนไม่ค่อยเชื่อเรื่องการคุกคามของเอชไอวีเท่าไรนัก. ดังที่ นายแพทย์บรูซ เอฟวัตต์ กล่าวว่า “เหมือนกับใครสักคนที่เดินมาจากทะเลทรายและพูดว่า ‘ผมเห็นมนุษย์ต่างดาว.’ พวกเขาฟัง แต่ไม่เชื่อ.”
กระนั้น ประเทศแล้วประเทศเล่าได้เห็นความอัปยศเกิดขึ้นเรื่องการรับเลือดที่ปนเปื้อนเอชไอวี. มีการกะประมาณว่าการถ่ายเลือดในฝรั่งเศสที่ทำระหว่างปี 1982 ถึง 1985 เป็นเหตุให้ผู้คนราว ๆ 6,000 ถึง 8,000 คน ติดเชื้อเอชไอวี. 10 เปอร์เซ็นต์ของการติดเชื้อเอชไอวีในแอฟริกา และ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเอดส์ในปากีสถาน มีต้นเหตุมาจากการถ่ายเลือด. เนื่องจากการตรวจวิเคราะห์ที่ปรับปรุงดีขึ้นในปัจจุบัน การติดเชื้อเอชไอวีโดยการถ่ายเลือดจึงแทบไม่ปรากฏในประเทศที่พัฒนาแล้ว. อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งขาดกรรมวิธีตรวจวิเคราะห์.
จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าในปีหลัง ๆ นี้ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นเกี่ยวด้วยเวชกรรมและศัลยกรรมที่ไม่ใช้เลือด. แต่นี่เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยไหม?
[กรอบหน้า 6]
การถ่ายเลือด—ไม่มีมาตรฐานทางการแพทย์
ในแต่ละปี เฉพาะในสหรัฐแห่งเดียวมีการถ่ายเลือดมากกว่า 11,000,000 ยูนิตให้กับผู้ป่วย 3,000,000 ราย. เมื่อคิดถึงจำนวนที่มากมายเช่นนี้ เราอาจสันนิษฐานว่าพวกแพทย์คงมีมาตรฐานที่เข้มงวดเรื่องการถ่ายเลือด. กระนั้น วารสารเดอะ นิว อิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซิน ให้ข้อสังเกตว่า มีข้อมูลน้อยนิดจนน่าตกใจเพื่อ “ชี้นำการตัดสินใจเรื่องการถ่ายเลือด.” ที่จริง มีการปฏิบัติหลากหลายมาก ไม่เฉพาะในเรื่องของสิ่งที่จะมีการถ่ายให้และจะให้ในปริมาณเท่าไร แต่ในเรื่องที่ว่าควรจะมีการถ่ายเลือดหรือไม่ด้วย. วารสารทางการแพทย์ชื่ออักตา อะเนสเทซิโอโลกิคา เบลกีคา บอกว่า “การถ่ายเลือดขึ้นอยู่กับหมอ ไม่ใช่คนไข้.” เมื่อพิจารณาจากที่กล่าวมานี้ จึงแทบไม่แปลกใจที่การศึกษาวิจัยรายหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเดอะ นิว อิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซิน พบว่า “มีการถ่ายเลือดประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ที่ทำไปอย่างไม่สมควรจะทำ.”
[ภาพหน้า 5]
สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เลือดเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น
[ที่มาของภาพ]
Imperial War Museum, London
U.S. National Archives photos