เรื่องราวชีวิตจริง
ผมมีความสุขที่ได้ให้
ตอนอายุ 12 ขวบ ผมเพิ่งรู้ว่าผมมีสิ่งมีค่าที่จะให้คนอื่น ในช่วงการประชุมใหญ่ พี่น้องชายคนหนึ่งถามผมว่าอยากไปประกาศไหม แม้ผมจะไม่เคยประกาศมาก่อน ผมก็ตอบว่า “อยากครับ” เราไปที่เขตประกาศ แล้วเขาก็เอาหนังสือเล่มเล็กเกี่ยวกับรัฐบาลของพระเจ้าให้ผมจำนวนหนึ่ง เขาบอกผมว่า “ให้น้องประกาศถนนฟากโน้นนะ เดี๋ยวพี่จะทำฟากนี้เอง” ผมรู้สึกตื่นเต้น แต่ก็ประกาศไปเรื่อย ๆ แล้วผมก็แปลกใจที่ในที่สุดผมก็เสนอหนังสือจนหมด แสดงว่าหลายคนอยากได้หนังสือที่ผมเสนอจริง ๆ
ผมเกิดปี ค.ศ. 1923 ที่เมืองแชตแทม มณฑลเคนต์ ประเทศอังกฤษ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้คนหวังว่าโลกจะดีขึ้น แต่พอมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด หลายคนก็ผิดหวัง รวมทั้งพ่อแม่ของผมด้วย พ่อกับแม่ผิดหวังในตัวนักเทศน์ของนิกายแบพติสต์ซึ่งสนใจแต่จะได้ตำแหน่งสูง ๆ ในโบสถ์ ตอนที่ผมอายุประมาณ 9 ขวบ แม่ของผมเริ่มไปที่หอประชุมของสมาคมนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติ ซึ่งเป็นที่ที่พวกพยานพระยะโฮวาจัดการประชุม ตอนนั้นพวกเขาเรียกการประชุมแบบนั้นว่า “ชั้นเรียน” พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่นั่นเป็นคนสอนคัมภีร์ไบเบิลให้พวกเราที่เป็นเด็ก ๆ โดยใช้คัมภีร์ไบเบิลและหนังสือพิณของพระเจ้า ผมรู้สึกชอบเรื่องที่เรียนมากจริง ๆ
เรียนรู้จากพี่น้องสูงอายุ
ตอนเป็นวัยรุ่น ผมชอบบอกเรื่องความหวังจากคัมภีร์ไบเบิลให้ผู้คนรู้ ผมมักจะประกาศตามบ้านคนเดียว แต่พอผมประกาศกับพี่น้อง ผมได้เรียนรู้อะไรอีกเยอะ ตัวอย่างเช่น วันหนึ่งตอนที่ผมกับพี่น้องสูงอายุกำลังขี่จักรยานไปที่เขตงาน เราผ่านนักเทศน์คนหนึ่งแล้วผมก็พูดว่า “นั่นไงแพะ” พี่น้องคนนั้นจอดจักรยานของเขา แล้วขอให้ผมมานั่งด้วยกันบนขอนไม้ และพูดว่า “เรามีสิทธิ์ตัดสินคนอื่นว่าเป็นแพะเหรอ? แค่เราได้บอกข่าวดีกับคนอื่นก็มีความสุขแล้ว ให้พระยะโฮวาเป็นผู้ตัดสินดีกว่า” ในช่วงนั้น ผมได้เรียนรู้ว่าการให้ทำให้ผมมีความสุขจริง ๆ—มธ. 25:31-33; กจ. 20:35
พี่น้องสูงอายุอีกคนหนึ่งสอนผมว่า เพื่อจะมีความสุขในการให้บางครั้งเราก็ต้องอดทน ภรรยาของเขาไม่ชอบพยานพระยะโฮวา มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาเชิญผมไปกินของว่างที่บ้านเขา เธอโกรธมากที่รู้ว่าเขาออกไปประกาศมา เธอ
ขว้างถุงชาใส่เรา แต่แทนที่เขาจะว่าเธอ เขากลับยิ้มแล้วเอาถุงชาเก็บใส่กล่อง หลายปีต่อมา เขาก็ได้รับผลตอบแทนจากความอดทนเมื่อภรรยาของเขารับบัพติศมาเป็นพยานพระยะโฮวาในเดือนกันยายน ปี 1939 ตอนผมอายุ 16 บริเตนประกาศสงครามกับเยอรมนี พอถึงปี 1940 เดือนมีนาคม ผมกับแม่ก็ได้รับบัพติศมาที่เมืองโดเวอร์ ต่อมาในเดือนมิถุนายน ตอนที่ผมยืนอยู่หน้าประตูบ้าน ผมได้เห็นรถบรรทุกทหารนับพันแล่นผ่านไป ทหารพวกนี้รอดตายจากสงครามดันเคิร์ก พวกเขาดูบอบช้ำทางจิตใจและไม่มีความหวัง ผมอยากบอกเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าและบอกความหวังเกี่ยวกับอนาคตให้พวกเขาได้รู้เหลือเกิน ต่อมาในปีเดียวกันนั้น เยอรมนีเริ่มทิ้งระเบิดใส่บริเตน เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันบินผ่านหลังคาบ้านเราแทบทุกคืน เสียงลูกระเบิดที่ตกลงมาทำให้เราหวาดผวา พอเช้าวันรุ่งขึ้น เราก็เห็นบ้านถูกทำลายเป็นแถบ ๆ ประสบการณ์เหล่านี้ช่วยให้ผมรู้ซึ้งยิ่งขึ้นว่ารัฐบาลของพระเจ้าเป็นเพียงความหวังเดียวสำหรับอนาคต
เริ่มต้นชีวิตแห่งการให้
ในปี 1941 ผมเริ่มงานรับใช้เต็มเวลา เป็นการเริ่มต้นชีวิตที่ทำให้ผมมีความสุขมาก ก่อนหน้านี้ผมทำงานที่อู่ต่อเรือหลวงในเมืองแชตแทมและเรียนรู้วิธีต่อเรือ ซึ่งเป็นงานที่หลายคนอยากทำและมีรายได้ดี ก่อนหน้านี้ผู้รับใช้ของพระยะโฮวารู้อยู่แล้วว่าคริสเตียนจะสู้รบกับประเทศอื่นเพื่อประเทศของตัวเองไม่ได้ และพอถึงช่วงปี 1941 เราก็เข้าใจว่าเราจะมีส่วนสนับสนุนการทำอาวุธไม่ได้ด้วย (ยอห์น 18:36) อู่ต่อเรือที่ผมทำงานอยู่นั้นสร้างเรือดำน้ำ ผมเลยตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะเลิกทำงานนี้และหันมารับใช้เต็มเวลาแทน เขตมอบหมายแรกของผมอยู่ที่ไซเรนเซสเตอร์ เมืองที่สวยงามในค็อตส์โวลด์
ตอนอายุ 18 ผมต้องติดคุกอยู่ 9 เดือนเพราะไม่ยอมเป็นทหาร ผมรู้สึกแย่มากตอนที่ประตูคุกปิดดังปั้ง แล้วผมก็อยู่ในนั้นคนเดียว แต่ไม่ช้า ผู้คุมกับนักโทษคนอื่น ๆ ก็เริ่มถามผมว่าทำไมถึงติดคุก ผมดีใจที่ได้อธิบายความเชื่อของผมให้พวกเขาฟัง
พอได้ออกจากคุก ผมก็ไปทำงานประกาศกับเลนนาร์ด สมิท * พวกเราทำงานประกาศกันหลายเมืองในมณฑลเคนต์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเราทั้งสองคน ตอนนั้น พวกนาซีใช้เครื่องบินไอพ่นที่ไม่มีนักบิน มันเป็นเครื่องบินระเบิดที่เรียกว่า “ดูเดิลบักส์” ตั้งแต่ปี 1944 ก็มีเครื่องบินแบบนี้ เป็นพัน ๆ ลำตกที่เคนต์ เราอยู่ตรงทางที่เครื่องบินผ่าน เพราะนาซีต้องการจะยิงระเบิดไปที่กรุงลอนดอน เมื่อเราได้ยินเสียงเครื่องยนต์ดับ เราก็รู้เลยว่าอีกไม่กี่วินาทีเครื่องบินลำนั้นก็จะตกและระเบิด ทุกคนหวาดกลัวมาก ในช่วงเวลานั้นเราสอนคัมภีร์ไบเบิลให้ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีกัน 5 คน บางครั้งเราจะนั่งใต้โต๊ะเหล็กซึ่งออกแบบมาเพื่อป้องกันเราถ้าบ้านถล่มลงมา ในที่สุดครอบครัวนั้นรับบัพติศมากันทุกคน
ประกาศข่าวดีในประเทศอื่น
หลังสงคราม ผมไปเป็นไพโอเนียร์อยู่ทางตอนใต้ของประเทศไอร์แลนด์อยู่ 2 ปี ตอนที่ไปประกาศตามบ้าน เราบอกผู้คนว่าเราเป็นมิชชันนารีและอยากขอที่พัก เราเสนอวารสารตามถนน แต่ไอร์แลนด์กับอังกฤษต่างกันมาก คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเราโง่ที่คิดว่าผู้คนในประเทศคาทอลิกอย่างนี้จะตอบรับข่าวสารของเรา ตอนที่ผู้ชายคนหนึ่งขู่ว่าจะทำร้ายเรา ผมก็ไปแจ้งความกับตำรวจ แต่ตำรวจพูดว่า “แล้วคุณจะให้ผมทำยังไงล่ะ?” เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าพวกบาทหลวงมีอิทธิพลมากขนาดนี้ ถ้าใครรับหนังสือของเราพวกเขาก็จะทำให้คนนั้นตกงาน และในที่สุดเราเองก็ถูกพวกบาทหลวงบีบให้ออกจากที่ที่เราอยู่
เมื่อเราไปถึงที่ใหม่ ไม่ช้าเราก็เรียนรู้ว่าดีที่สุดที่จะประกาศในที่ที่บาทหลวงไม่รู้จักเรา เราเลยต้องไปให้ไกลจากที่ที่เราพัก แล้วเยี่ยมผู้คนตรงนั้นก่อน จากนั้นค่อยประกาศกับผู้คนที่อยู่ใกล้ ๆ เราศึกษากับชายหนุ่มคนหนึ่งที่เมืองคิลเคนนีอาทิตย์ละ 3 ครั้งแม้จะมีผู้คนมาข่มขู่เรา ผมชอบสอนคัมภีร์ไบเบิลมากและอยากเป็นมิชชันนารี ผมจึงสมัครเข้าโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด
หลังจากเรียนอยู่ 5 เดือนในนิวยอร์ก เรา 4 คนที่จบจากกิเลียดก็ถูกมอบหมายให้ไปตามเกาะเล็กเกาะน้อยในทะเลแคริบเบียน ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1948 เราออกจากนครนิวยอร์กด้วยเรือใบขนาด 18 เมตรชื่อซิบีอา ผมตื่นเต้นมากเพราะไม่เคยแล่นเรือมาก่อน แต่กัสต์ มากี เพื่อนที่จบมาด้วยกันเคยเป็นกัปตันเรือที่มีประสบการณ์ เขาสอนให้เรารู้ทักษะพื้นฐานบางอย่างในการแล่นเรือใบ อย่างเช่น วิธีชักและลดใบเรือ วิธีแล่นเรือโดยใช้เข็มทิศ และวิธีแล่นเรือทวนลม กัสต์บังคับเรือให้แล่นไปอย่างชำนิชำนาญอยู่ 30 วัน ฝ่าลมพายุรุนแรงหลายลูกจนในที่สุดเราก็มาถึงหมู่เกาะบาฮามาส
‘ประกาศให้หมู่เกาะฟัง’
หลังจากที่ประกาศตามเกาะเล็ก ๆ ในหมู่เกาะบาฮามาสได้ประมาณ 2-3 เดือนแล้ว เราก็แล่นเรือไปที่หมู่เกาะลีเวิร์ดและหมู่เกาะวินด์เวิร์ด เกาะเล็ก ๆ เหล่านี้เรียงรายกันยาวเกือบ 800 กิโลเมตรอยู่ระหว่างหมู่เกาะเวอร์จินกับเกาะตรินิแดด ส่วนใหญ่แล้วในช่วง 5 ปีเราไปประกาศตามเกาะที่ห่างไกลมากซึ่งไม่มีพยานฯบางครั้งเราไปประกาศหลายอาทิตย์ ทำให้ไม่สามารถรับหรือส่งจดหมายได้เลย แต่เรามีความสุขมากที่ได้ประกาศ ‘ให้หมู่เกาะฟัง’ เรื่องของพระยะโฮวา—ยรม. 31:10
พอเราทอดสมอที่อ่าว ชาวบ้านก็จะแตกตื่นและจะมามุงดูที่ท่าเรือว่าเราเป็นใคร บางคนไม่เคยเห็นเรืออย่างที่เรามี หรือไม่เคยเห็นคนผิวขาวมาก่อน ชาวเกาะเป็นมิตรและรู้จักคัมภีร์ไบเบิลดี พวกเขามักเอาปลาสด ๆ อะโวคาโด และ
ถั่วลิสงให้เรา แม้จะไม่มีที่ทางมากมายบนเรือเล็ก ๆ ของเรา แต่เราก็สามารถทำอาหาร นอน และซักเสื้อผ้าของเราได้เราจะขึ้นฝั่งและเยี่ยมผู้คนทั้งวัน เราบอกพวกเขาว่าจะมีคำบรรยายเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล พอตกค่ำเราก็จะสั่นระฆังเรือ น่าทึ่งมากที่เห็นผู้คนมากันเต็มไปหมด ตะเกียงน้ำมันที่ชาวบ้านถือมา มองดูเหมือนดวงดาวระยิบระยับที่ลงมาตามไหล่เขา บางครั้งมีคนมาถึงร้อยคน พวกเขาถามคำถามเราจนดึก พวกเขาชอบร้องเพลง เราเลยพิมพ์เพลงราชอาณาจักรบางเพลงให้พวกเขา เราทั้งสี่คนพยายามร้องเพลงให้ดีที่สุด แล้วชาวบ้านก็เริ่มร้องไปกับเราด้วย เสียงพวกเขาเพราะมาก มันเป็นเวลาที่ผมมีความสุขมากจริง ๆ
เมื่อเราสอนคัมภีร์ไบเบิลเสร็จ นักศึกษาบางคนก็จะเดินตามเราไปที่บ้านรายเยี่ยมคนถัดไปเพื่อจะได้นั่งฟังอีก หลังจากอยู่ที่หนึ่งสัก 2-3 อาทิตย์เราก็ต้องไป แต่เรามักขอคนที่สนใจที่สุดให้ศึกษากับคนอื่น ๆ ต่อจนกว่าเราจะกลับมา ดีจริง ๆ ที่ได้เห็นว่าคนเหล่านี้บางคนทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างจริงจังแค่ไหน
ทุกวันนี้ เกาะเหล่านี้หลายเกาะมีนักท่องเที่ยวเต็มไปหมด แต่สมัยโน้นเป็นสถานที่เงียบ ๆ มีแต่ทะเลสาบน้ำเค็มสีฟ้า ชายหาดสีขาว และต้นปาล์ม เรามักแล่นเรือจากเกาะหนึ่งไปอีกเกาะหนึ่งตอนกลางคืน โลมาก็จะมาแหวกว่ายอยู่ข้าง ๆ เรา เราจะได้ยินแต่เสียงเรือที่ปะทะกับน้ำ แสงของดวงจันทร์ในทะเลมองดูเหมือนกับทางสีเงินที่พาไปถึงขอบฟ้า
หลังจากที่ประกาศตามหมู่เกาะอยู่ 5 ปี เราก็แล่นเรือไปที่เกาะเปอร์โตริโกเพื่อหาเรือลำใหม่ที่มีเครื่องยนต์ พอเราไปถึง ผมก็พบกับแมกซีน บอยด์ มิชชันนารีสาวแสนสวย ผมตกหลุมรักเธอเข้าอย่างจัง เธอเป็นผู้ประกาศข่าวดีที่กระตือรือร้นตั้งแต่เด็ก เธอเคยรับใช้เป็นมิชชันนารีในสาธารณรัฐโดมินิกัน แต่ในปี 1950 รัฐบาลคาทอลิกก็สั่งเธอให้ออกจากประเทศ เนื่องจากผมเป็นลูกเรือ ผมจึงมีใบอนุญาตให้อยู่ในเปอร์โตริโกได้แค่เดือนเดียว หลังจากนั้นผมจะต้องแล่นเรือไปตามเกาะต่าง ๆ และคงไม่ได้กลับมาที่นี่อีกหลายปี ผมจึงพูดกับตัวเองว่า ‘โรนัลด์ ถ้าแกรักผู้หญิงคนนี้จริง แกต้องรีบ’ หลังจากนั้น 3 อาทิตย์ผมก็ขอเธอแต่งงาน และหลังจากนั้น 6 อาทิตย์เราก็แต่งงานกัน ผมกับแมกซีนได้รับมอบหมายให้เป็นมิชชันนารีที่เปอร์โตริโก ผมเลยไม่ได้ไปกับเรือลำใหม่นั้นเลย
ในปี 1956 เราเริ่มรับใช้เป็นผู้ดูแลหมวด เราชอบไปเยี่ยมพี่น้อง พี่น้องหลายคนยากจน ตัวอย่างเช่น ในหมู่บ้านโพทาลา พาสตีโย มีพยานฯอยู่สองครอบครัว พวกเขามีลูกหลายคน ผมชอบเป่าฟลุทให้พวกเขาฟัง ผมถามฮิลดาเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งว่าเธออยากมาประกาศกับเราไหม เธอบอกว่า “หนูอยากไปค่ะ แต่หนูไม่มีรองเท้า” เราซื้อรองเท้าให้เธอคู่หนึ่งแล้วเธอก็มาประกาศกับเรา หลายปีต่อมา เมื่อผมกับแมกซีนไปที่บรุกลินในปี 1972 พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่เพิ่งจบจากโรงเรียนกิเลียดมาคุยกับเรา เธอกำลังจะไปที่เขตมอบหมายที่ประเทศเอกวาดอร์ เธอบอกว่า “จำหนูได้รึเปล่าคะ? หนูคือเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ จากพาสตีโยที่ไม่มีรองเท้าไงคะ” เธอคือฮิลดานี่เอง เราดีใจมากจนร้องไห้
ในปี 1960 เราเริ่มรับใช้ที่สาขาเปอร์โตริโก ซึ่งอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ในซานตูร์เซ เมืองซานฮวน ผมกับเลนนาร์ด จอห์นสันทำงานที่นั่น เลนนาร์ดกับภรรยาเป็นพยานฯคนแรก ๆ ในสาธารณรัฐโดมินิกัน แล้วพอปี 1957 พวกเขาย้ายมาที่เปอร์โตริโก ตอนแรกผมกับเลนนาร์ดทำงานเกือบทุกอย่าง ต่อมา แมกซีนมาช่วยเรื่องการส่งวารสารให้คนที่บอกรับ มีการส่งวารสารมากกว่าพันฉบับทุกอาทิตย์ เธอชอบทำงานนี้เพราะคิดถึงคนที่จะได้เรียนรู้เรื่องพระยะโฮวา
ผมชอบทำงานที่เบเธลเพราะผมได้ใช้พละกำลังที่ผมมีในการรับใช้พระยะโฮวา แต่งานนี้ก็ไม่ง่าย ตัวอย่างเช่น ในปี 1967 มีการประชุมนานาชาติในเปอร์โตริโกเป็นครั้งแรก ผมมีงานที่ต้องรับผิดชอบเยอะมาก นาธาน นอร์ซึ่งตอนนั้นเป็นพี่น้องที่นำหน้างานของพยานพระยะโฮวามาที่เปอร์โตริโก เขาเข้าใจผิดว่าผมไม่ได้จัดการเรื่องการเดินทางให้พวกมิชชันนารีที่มาประชุมทั้ง ๆ ที่ผมทำไปแล้ว หลังจากนั้นเขาก็แนะนำผมให้เป็นคนมีระเบียบ และบอกว่าเขาผิดหวังในตัวผม ผมไม่อยากเถียงเขา แต่ผมก็รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม ผมรู้สึกแย่อยู่พักหนึ่ง แต่พอผมกับแมกซีนเจอ
พี่น้องนอร์อีกครั้ง เขาก็เชิญเราไปที่ห้องและทำอาหารให้เรากินเรากลับไปเยี่ยมครอบครัวหลายครั้งในอังกฤษ ตอนที่ผมกับแม่ตอบรับความจริง พ่อยังไม่สนใจ แต่ถ้าเมื่อไรที่มีผู้บรรยายจากเบเธลมาบรรยาย แม่ก็มักจะให้พวกเขามาพักที่บ้านของเรา พ่อรู้สึกว่าผู้ดูแลที่มาจากเบเธลเหล่านี้เป็นคนถ่อมตัว พวกเขาไม่เหมือนกับพวกนักเทศน์ที่เคยรังเกียจพ่อเมื่อหลายปีก่อน ในที่สุดในปี 1962 พ่อก็รับบัพติศมาเป็นพยานพระยะโฮวา
แมกซีนภรรยาสุดที่รักของผมตายในปี 2011 ผมตั้งตาคอยที่เธอจะถูกปลุกและมาเจอผมอีกครั้ง ความหวังนี้ทำให้ผมมีความสุขมาก ในช่วง 58 ปีที่อยู่ด้วยกัน เราได้เห็นจำนวนพยานพระยะโฮวาในเปอร์โตริโกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 650 คน เป็น 26,000 คน สาขาเปอร์โตริโกถูกรวมเข้ากับสาขาสหรัฐในปี 2013 และผมได้รับเชิญให้ไปรับใช้ที่วอลล์คิลล์ ในนิวยอร์ก ผมได้อยู่ในเปอร์โตริโกนานถึง 60 ปี จนผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเปอร์โตริโก เป็นเหมือนกบโคคีตัวเล็ก ๆ ของเปอร์โตริโกที่ร้องโคคีโคคีตอนหัวค่ำ ผมมีความสุขในเปอร์โตริโกแต่ตอนนี้เป็นเวลาที่ต้องก้าวเดินต่อไป
“พระเจ้ารักคนที่มีความสุขกับการให้”
ผมยังคงมีความสุขกับการรับใช้พระเจ้าในเบเธล ตอนนี้ผมอายุมากกว่า 90 ปีแล้ว งานของผมก็คือให้กำลังใจสมาชิกครอบครัวเบเธล และตั้งแต่ที่ผมมาที่วอลล์คิลล์ ผมเยี่ยมพี่น้องชายหญิงมาแล้วมากกว่า 600 คน บางคนก็มาหาผมเพราะอยากปรึกษาปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาครอบครัว บางคนก็อยากขอคำแนะนำว่าทำอย่างไรถึงจะรับใช้ในเบเธลได้ดี ส่วนบางคนก็อยากได้คำแนะนำเพราะเพิ่งแต่งงาน หรือได้รับงานมอบหมายใหม่ให้เป็นไพโอเนียร์ ผมรับฟังทุกคนที่มาคุยกับผม และเมื่อมีจังหวะเหมาะ ผมมักบอกพวกเขาว่า “‘พระเจ้ารักคนที่มีความสุขกับการให้’ ขอให้มีความสุขกับงานของคุณ คุณทำเพื่อพระยะโฮวา”—2 คร. 9:7
ถ้าคุณอยากมีความสุขในการทำงานไม่ว่าจะที่เบเธลหรือที่อื่น คุณต้องคิดเสมอว่า ทำไมงานที่คุณทำอยู่เป็นงานที่สำคัญ ทุกสิ่งที่เราทำที่เบเธลเป็นงานศักดิ์สิทธิ์ เป็นงานที่ช่วย “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” จัดเตรียมความรู้ให้กับพี่น้องทั่วโลก (มธ. 24:45) ไม่ว่าเราจะรับใช้พระยะโฮวาที่ไหน เราก็มีโอกาสสรรเสริญพระองค์ ดังนั้น ให้เรามีความสุขกับงานที่พระองค์ให้เราทำเพราะ “พระเจ้ารักคนที่มีความสุขกับการให้”
^ วรรค 13 อ่านเรื่องราวชีวิตจริงของพี่น้องเลนนาร์ด สมิท ได้ในหอสังเกตการณ์ 15 เมษายน 2012