จดหมายเหตุของเรา
“งานนี้มอบให้ใคร”
หลังจากช่วงที่มีลมแรงและฝนตกผ่านไปแล้ว วันจันทร์ที่ 1 กันยายน 1919 เป็นวันที่เริ่มมีแดดและอากาศอบอุ่น ในบ่ายวันนั้น มีคนไม่ถึง 1,000 คนมาที่หอประชุมขนาด 2,500 ที่นั่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ที่เมืองซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา พอถึงตอนเย็น ก็มีผู้คนอีก 2,000 คนเดินทางมาถึง พวกเขามาทางเรือ รถยนต์ และรถไฟเที่ยวพิเศษ ในวันอังคาร มีคนมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องมีการจัดการประชุมส่วนที่เหลือใต้ต้นไม้ใหญ่ข้างนอก
แสงแดดสาดส่องผ่านใบไม้จนเห็นเป็นลวดลายบนเสื้อของผู้ชาย ส่วนขนนกที่อยู่บนหมวกของผู้หญิงก็พลิ้วไหวไปมาตามสายลมจากทะเลสาบอิรี พี่น้องชายคนหนึ่งเล่าว่า “ที่การประชุมนั้น ทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ สวยงามมาก มันเป็นที่ที่สงบ มีแต่พี่น้องชายหญิงที่อยู่ด้วยกันที่นั่น มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับได้อยู่ในสวนอุทยานจริง ๆ”
แต่บรรยากาศที่สวยงามนี้ก็เทียบไม่ได้เลยกับใบหน้าที่สดใสและเต็มไปด้วยความสุขของทุกคนที่นั่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งสังเกตว่า “ทุกคนดูเป็นคนเคร่งศาสนา แต่ก็เป็นคนที่สดใสร่าเริงและมีความสุขมาก” พวกนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมีความสุขเมื่อได้อยู่กับพี่น้องของพวกเขาหลังจากที่เพิ่งผ่านการทดสอบที่รุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งการต่อต้านในช่วงที่มีสงคราม ความขัดแย้งในประชาคม การปิดเบเธลบรุกลิน และการจับกุมพี่น้องหลายคนเพราะอยู่ฝ่ายรัฐบาลของพระเจ้า ซึ่งรวมถึงการจับกุมพวกพี่น้องชายที่นำหน้า 8 คน บางคนมีโทษจำคุกถึง 20 ปี *
ในช่วงที่ยุ่งยากนี้ นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลบางคนรู้สึกสับสนและท้อแท้ พวกเขาจึงเลิกประกาศ แต่คนส่วนใหญ่ก็พยายามทำงานนี้ต่อไปอย่างเต็มที่แม้พวกเจ้าหน้าที่จะห้ามปรามพวกเขา ในการสอบสวนครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่รายงานว่า ทั้ง ๆ ที่ถูกเตือนหลายครั้ง แต่พวกนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ถูกสอบสวนก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขาจะ “ประกาศเรื่องพระเจ้าจนถึงอวสาน”
ในช่วงที่มีการทดสอบนี้ นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ซื่อสัตย์ “เฝ้าดูการนำทางของผู้เป็นนาย . . . และอธิษฐานขอการชี้นำของพระเจ้าผู้เป็นพ่อเสมอ” ตอนนี้ พวกเขาได้มาเจอกันอีกครั้งในการประชุมที่มีความสุขที่เมืองซีดาร์พอยต์ พี่น้องหญิงคนหนึ่งเล่าถึงความรู้สึกของหลายคนที่นั่นที่กำลังสงสัยว่าพวกเขาจะ “ทำงานรับใช้มากขึ้นและประกาศอย่างเป็นระเบียบอีกครั้ง” ได้อย่างไร พวกเขาอยากทำงานนี้เหลือเกิน
“GA” เครื่องมือใหม่ล่าสุด
ตลอดทั้งอาทิตย์ ผู้เข้าร่วมประชุมพากันสงสัยว่าอักษร “GA” หมายถึงอะไร มีอักษรนี้พิมพ์อยู่บนใบกำหนดการของการประชุมใหญ่ พิมพ์อยู่บนบัตรต้อนรับ และป้ายรอบ ๆ สถานที่การประชุม พอมาถึงวันศุกร์ โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ดได้บรรยายเรื่อง “ถึงเพื่อนร่วมงาน” เขาได้ไขข้อสงสัยให้กับผู้เข้าร่วมประชุม 6,000 คนว่า ตัวอักษร “GA” ย่อมาจาก The Golden Age (เดอะ โกลเดน เอจ) ซึ่งเป็นชื่อวารสารใหม่ที่ใช้สำหรับงานประกาศ *
พี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดพูดถึงเพื่อนผู้ถูกเจิมของเขาว่า “ถึงแม้จะมีความยากลำบาก แต่เพราะพวกเขามีความเชื่อ พวกเขาจึงเห็นยุคทอง (เดอะ โกลเดน เอจ) ของการปกครองที่สง่างามของเมสสิยาห์อยู่ข้างหน้า . . . พวกเขาถือว่าการประกาศให้โลกรู้ถึงยุคทองที่กำลังจะมาในอนาคตเป็นสิทธิพิเศษและเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานมอบหมายที่ได้รับจากพระเจ้า”
วารสาร เดอะ โกลเดน เอจ “วารสารแห่งข้อเท็จจริง ความหวัง และความเชื่อมั่น” จะถูกใช้เป็นเครื่องมือกระจายข่าวสารแห่งความจริงโดยมีการรณรงค์ตามบ้านเพื่อบอกรับวารสาร เมื่อถามว่ามีใครบ้างที่อยากทำงานนี้ ผู้ฟังทั้งหมดก็ลุกขึ้นพร้อมกัน จากนั้นพวกเขาก็ร้องเพลง “ด้วยความกระตือรือร้นอย่างคนที่เป็นผู้ติดตามของพระเยซู” ว่า “โอ้ผู้เป็นนาย ขอส่งแสงสว่างและความจริงของพระองค์ออกมา” เจ. เอ็ม. นอร์ริส เล่าว่าพวกเขาร้องเพลงเสียงดังจนผมรู้สึกเหมือนกับต้นไม้มันสั่นสะเทือนไปหมด
หลังการประชุมวันนั้น ผู้เข้าร่วมการประชุมยืนต่อแถวกันหลายชั่วโมงเพื่อจะได้เป็นคนกลุ่มแรกที่บอกรับวารสาร หลายคนรู้สึกเหมือนกับพี่น้องมาเบล ฟิลบริก เธอบอกว่า “น่าตื่นเต้นจริง ๆ ที่รู้ว่าเราจะได้ทำงานอีก”
“งานนี้มอบให้ใคร”
นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลประมาณ 7,000 คนก็เตรียมพร้อมที่จะทำงาน ในเอกสารการดำเนินงานขององค์การ และในหนังสือเล่มเล็กงานนี้มอบให้ใคร อธิบายว่า แผนกการรับใช้ซึ่งเป็นแผนกใหม่ที่สำนักงานใหญ่จะชี้นำงานนี้ ในแต่ละประชาคมควรมีการตั้งคณะกรรมการการรับใช้ขึ้น และแต่งตั้งผู้อำนวยการรับใช้เพื่อคอยถ่ายทอดคำแนะนำต่าง ๆ เขตประกาศก็ควรมีการแบ่งเป็นหลาย ๆ เขต เขตหนึ่งอาจจะมีบ้านประมาณ 150 ถึง 200 หลัง และควรมีการประชุมการรับใช้ในตอนเย็นของวันพฤหัสบดีเพื่อพี่น้องจะได้แบ่งปันประสบการณ์และส่งรายงานการประกาศ
เฮอร์มัน ฟิลบริก บอกว่า “หลังจากเรากลับบ้าน พวกเรายุ่งอยู่กับการรณรงค์บอกรับวารสาร” พวกเขาพบคนที่สนใจฟังทุกที่ที่ไป บิวลาห์ โคเวย์ ให้ข้อสังเกตว่า “ดูเหมือนว่าหลังจากเกิดสงครามและความเศร้าโศกเสียใจ ทุกคนยินดีตอบรับเมื่อได้ยินเกี่ยวกับยุคทองซึ่งจะเป็นเวลาที่ทุกคนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นและไม่มีปัญหาอะไรอีกเลย” อาร์เทอร์ คลอส เขียนว่า “ทั้งประชาคมตื่นเต้นดีใจเมื่อได้เห็นว่ามีคนบอกรับวารสารมากขนาดไหน” ภายในสองเดือนที่วารสาร เดอะ โกลเดน เอจ เล่มแรกออกมา มีการแจกจ่ายไปแล้วเกือบห้าแสนเล่ม และมีรายบอกรับวารสารถึงห้าหมื่นราย
บทความชื่อ “คำสอนของพระเยซูเรื่องราชอาณาจักร” ในหอสังเกตการณ์ 1 กรกฎาคม 1920 เป็นบทความที่ เอ. เอช. แมกมิลแลน บอกว่าเป็นบทความแรกที่องค์การสนับสนุนพี่น้องชายหญิงให้ประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า บทความนี้กระตุ้นคริสเตียนผู้ถูกเจิมทุกคนให้ “ประกาศไปทั่วโลกว่ารัฐบาลของพระเจ้าปกครองแล้วบนสวรรค์” ทุกวันนี้มีคนหลายล้านคนประกาศอย่างกระตือรือร้นร่วมกับพี่น้องของพระคริสต์ซึ่งได้รับงานมอบหมายนี้ ขณะที่พวกเขารอคอยยุคทองของเมสสิยาห์