ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มีผู้ออกแบบไหม?

เกราะป้องกันความร้อนของมดสีเงินสะฮารา

เกราะป้องกันความร้อนของมดสีเงินสะฮารา

มดสีเงินสะฮารา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cataglyphis bombycina) เป็นหนึ่งในสัตว์บกที่ทนความร้อนได้มากที่สุดเท่าที่รู้จักกัน ขณะที่แสงอาทิตย์เที่ยงวันทำให้พวกศัตรูของมดต้องหาที่ร่มหลบแดด แต่มดชนิดนี้จะออกจากรังเพื่อหาอาหารซึ่งก็คือซากแมลงที่ตายเนื่องจากความร้อนสูง

[50] ไมโครเมตร

ลองคิดดู: มดสีเงินมีความพิเศษตรงที่มันมีเกราะป้องกันความร้อนซึ่งประกอบด้วยลำตัวด้านล่างของมันที่ไม่มีเส้นขน ในขณะที่ด้านบนและด้านข้างของลำตัวมีเส้นขนชนิดพิเศษปกคลุมซึ่งทำให้มดตัวน้อยนี้มีผิวสีเงินแวววาว (1, 2) เส้นขนของมันมีลักษณะเป็นท่อหน้าตัดสามเหลี่ยมขนาดเล็ก (3) ด้านที่หันออกด้านนอกสองด้านมีพื้นผิวเป็นลอนลูกฟูกขนาดเล็กมาก ๆ ตามความยาวของเส้นขน แต่ด้านที่หันเข้าด้านในมีพื้นผิวเรียบ เส้นขนที่ถูกออกแบบเช่นนี้ช่วยทำหน้าที่ 2 อย่างคือ อย่างแรก ช่วยสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ในช่วงแสงที่มองเห็นและช่วงอินฟราเรดใกล้ อย่างที่สอง ช่วยระบายความร้อนที่ได้รับจากรอบตัว ในขณะเดียวกัน ลำตัวด้านล่างที่ไม่มีเส้นขนจะสะท้อนรังสีในช่วงอินฟราเรดกลางและที่แผ่ออกมาจากพื้นทะเลทราย *

[10] ไมโครเมตร

เกราะป้องกันความร้อนของมดสีเงินสะฮาราช่วยให้มันรักษาอุณหภูมิในร่างกายไม่ให้สูงจนถึงจุดที่ตัวมันทนไม่ไหวคือ 53.6 องศาเซลเซียส โดยเลียนแบบมดตัวเล็ก ๆ นี้ นักวิจัยพยายามพัฒนาเคลือบผิวชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติลดความร้อนได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพัดลมหรืออุปกรณ์อื่น ๆ

คุณคิดอย่างไร? เกราะป้องกันความร้อนของมดสีเงินสะฮาราเกิดขึ้นเองโดยวิวัฒนาการ? หรือมีผู้ออกแบบ?

^ วรรค 4 มดชนิดนี้ยังมีความพิเศษอีกหลายอย่าง เช่น ร่างกายของมันมีโปรตีนชนิดพิเศษที่ไม่ถูกทำลายง่าย ๆ ด้วยความร้อนสูง มันยังมีขาที่ยาวด้วยซึ่งช่วยให้ไม่ต้องยืนใกล้พื้นทรายร้อน ๆ และทำให้วิ่งเร็ว นอกจากนั้น ยังมีระบบนำทางที่ดีเยี่ยมทำให้สามารถหาเส้นทางที่เร็วที่สุดเพื่อกลับรัง