มีผู้ออกแบบไหม?
สีน้ำเงินเปล่งประกายของโพลเลีย เบอร์รี
โพลเลีย คอนเดนซาตา (Pollia condensata) เป็นพืชทางแถบทวีปแอฟริกาที่มีผลขนาดเล็กสีน้ำเงินสดใสแบบที่เราไม่เคยเห็นในพืชชนิดใดมาก่อน ที่น่าแปลกคือ เบอร์รีชนิดนี้ไม่มีสารสีน้ำเงิน ถ้าอย่างนั้นความลับของสีสันที่สะดุดตานี้คืออะไร?
ลองคิดดู ผนังเซลล์ของเปลือกเบอร์รีมีเส้นใยที่เรียงตัวกันเหมือนไม้ขีดที่เรียงเป็นแพ โดยเส้นใยแต่ละชั้นจะซ้อนทับในมุมที่ต่างกันเล็กน้อย เกิดเป็นการเรียงตัวในรูปแบบที่ซ้อนทับกันหลาย ๆ ชั้นจนเป็นเกลียว ถึงแม้ชั้นเส้นใยที่ผิวเปลือกเหล่านี้ไม่มีสีน้ำเงินในตัวเอง แต่ด้วยรูปแบบโครงสร้างที่เรียงซ้อนกันแบบนั้น จึงทำให้เบอร์รีชนิดนี้มีสีสดใสเปล่งประกายแวววาว เซลล์ส่วนใหญ่สะท้อนให้เราเห็นสีน้ำเงิน แต่ถ้ามองในมุมที่ต่างกัน บางเซลล์อาจสะท้อนให้เห็นสีเขียว ชมพู หรือเหลืองเพราะมุมของการจัดวางชั้นเส้นใยเหล่านั้น นอกจากนั้น ถ้าเราสังเกตในระยะใกล้จะเห็นว่าสีของเบอร์รีไม่ได้เป็นแบบเรียบและสม่ำเสมอ แต่จะเห็นสีเป็นจุดเล็ก ๆ เหมือนจุดภาพบนจอคอมพิวเตอร์
เนื่องจากสีของโพลเลีย เบอร์รี ไม่ได้เกิดจากสารสี ดังนั้น เมื่อมันหลุดออกมาจากต้นแล้ว มันก็ยังคงมีสีสดใสอยู่ ที่จริง โพลเลีย เบอร์รีบางลูกที่ถูกเก็บไว้นานนับร้อยปีก็ยังมีสีสันสดใสเหมือนเพิ่งเก็บสด ๆ จากต้น! นักวิจัยบอกว่า สีสันที่สวยงามของเบอร์รีชนิดนี้ดึงดูดพวกนกอย่างมากทั้ง ๆ ที่มันมีแต่เม็ด และไม่มีส่วนที่กินได้เลย
สีชนิดพิเศษที่ไม่ได้เกิดจากสารสีของโพลเลีย เบอร์รี เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นผลิตภัณฑ์มากมาย ตั้งแต่สีที่ไม่ซีดจางไปจนถึงกระดาษป้องกันการปลอมแปลง
คุณคิดอย่างไร? สีน้ำเงินเปล่งประกายของโพลเลีย เบอร์รี เกิดขึ้นเองโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?