คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ถูกต้องไหม?
ส่วนแรกของคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ พิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1950 ตั้งแต่นั้นก็มีหลายคนได้ให้ความเห็นหรือตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของฉบับแปลโลกใหม่ a เพราะฉบับแปลนี้มีบางอย่างแตกต่างจากฉบับแปลอื่น ๆ ซึ่งเหตุผลหลักก็เกี่ยวข้องกับเรื่องต่อไปนี้
ความน่าเชื่อถือ ฉบับแปลโลกใหม่ อาศัยการศึกษาวิจัยล่าสุดของผู้เชี่ยวชาญและอาศัยต้นฉบับเก่าแก่ที่น่าเชื่อถือที่สุด ต่างจากฉบับแปลคิงเจมส์ ปี 1611 ซึ่งอาศัยต้นฉบับที่มักไม่ค่อยถูกต้องและไม่เก่าแก่เท่ากับต้นฉบับที่ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้
ความถูกต้อง ฉบับแปลโลกใหม่ พยายามถ่ายทอดข้อความที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้ถูกต้องตรงตามต้นฉบับมากที่สุด (2 ทิโมธี 3:16) ฉบับแปลอื่นหลายฉบับยอมให้ธรรมเนียมประเพณีของมนุษย์มีผลต่อการแปลข้อความของพระเจ้า เช่น ใช้คำว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าหรือพระเจ้าแทนชื่อยะโฮวาซึ่งเป็นชื่อเฉพาะของพระเจ้า
การแปลแบบตรงตัว คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลแบบถอดความ แต่ฉบับแปลโลกใหม่ แปลแบบตรงตัวเสมอถ้าไม่ทำให้ข้อความนั้นฟังแปลกหรือทำให้ความคิดของต้นฉบับผิดเพี้ยนไป บางฉบับที่แปลแบบถอดความอาจใส่ความคิดของมนุษย์หรือตัดรายละเอียดสำคัญบางอย่างออก
ความแตกต่างระหว่างฉบับแปลโลกใหม่ กับฉบับแปลอื่น ๆ
ไม่มีหนังสือบางเล่ม คริสตจักรโรมันคาทอลิกและอีสเทิร์นออร์โทด็อกซ์เพิ่มหนังสือบางเล่มที่เรียกว่าหนังสืออธิกธรรมเข้าไปในคัมภีร์ไบเบิลของพวกเขา แต่หนังสือเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับในสารบบของคนยิว เรื่องนี้สำคัญมากเพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระเจ้ามอบพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ให้พวกยิว” (โรม 3:1, 2) นี่เป็นเหตุผลที่ฉบับแปลโลกใหม่ และฉบับแปลที่ทันสมัยอีกหลายฉบับไม่รวมหนังสืออธิกธรรมไว้ในคัมภีร์ไบเบิล
ไม่มีข้อคัมภีร์บางข้อ ฉบับแปลบางฉบับเพิ่มข้อคัมภีร์หรือวลีที่ไม่มีในต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุด แต่ฉบับแปลโลกใหม่ ไม่ใส่ข้อความเหล่านั้นลงไป ฉบับแปลสมัยใหม่หลายฉบับก็ไม่ใส่เหมือนกัน หรือถ้าใส่ก็จะทำหมายเหตุไว้ว่าสิ่งที่เพิ่มเข้าไปไม่ได้อยู่ในต้นฉบับเก่าแก่ซึ่งเป็นที่ยอมรับมากที่สุด b
ใช้คำต่างกัน บางครั้งการแปลแบบคำต่อคำก็ทำให้เข้าใจไม่ชัดเจนหรือเข้าใจผิด เช่น พระคัมภีร์บางฉบับแปลคำพูดของพระเยซูในมัทธิว 5:3 ว่า “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข” (พระคัมภีร์โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์ ) หลายคนไม่เข้าใจคำว่า “ใจยากจน” ส่วนบางคนก็คิดว่าพระเยซูกำลังสอนว่าความถ่อมใจหรือความยากจนเป็นเรื่องดี แต่จริง ๆ แล้ว ท่านกำลังเน้นว่าความสุขแท้มาจากการยอมรับว่าเราจำเป็นต้องได้รับชี้แนะจากพระเจ้า ฉบับแปลโลกใหม่ จึงแปลคำพูดของพระเยซูตามความหมายที่ถูกต้องว่า “คนที่รู้ตัวว่าจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้า”—มัทธิว 5:3
ความเห็นที่ดีเกี่ยวกับฉบับแปลโลกใหม่ จากผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใช่พยานฯ
ผู้แปลและผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงด้านคัมภีร์ไบเบิลชื่อเอดการ์ เจ. กูดสปีด เขียนในจดหมายลงวันที่ 8 ธันวาคม 1950 เกี่ยวกับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ว่า “ผมสนใจในงานเผยแพร่ของพวกคุณ ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก และชอบการแปลที่เป็นธรรมชาติ ชัดเจน และมีชีวิตชีวา ผมยืนยันได้ว่าฉบับแปลนี้มาจากการศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบอย่างดี”
ศาสตราจารย์แอลเลน วิคเกรน จากมหาวิทยาลัยชิคาโกบอกว่า ฉบับแปลโลกใหม่ เป็นตัวอย่างของการแปลโดยใช้ภาษาสมัยใหม่ และแทนที่จะแปลคล้ายกับฉบับอื่น ๆ ฉบับแปลนี้ “แปลอย่างแตกต่างตามต้นฉบับจริง ๆ”—The Interpreter’s Bible เล่ม 1 หน้า 99
นักวิจารณ์ด้านคัมภีร์ไบเบิลชาวอังกฤษชื่ออะเล็กซานเดอร์ ทอมสัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ว่า “เห็นได้ชัดว่าฉบับแปลนี้เป็นผลงานของผู้แปลที่ชำนาญและฉลาด พวกเขาพยายามแปลความหมายให้ใกล้เคียงกับข้อความภาษากรีกมากที่สุดเท่าที่ภาษาอังกฤษจะสามารถสื่อออกมาได้”—The Differentiator ฉบับเมษายน 1952 หน้า 52
ถึงแม้โรเบิร์ต เอ็ม. แมกคอย จะรู้สึกว่าฉบับแปลโลกใหม่ มีทั้งสิ่งที่ยอดเยี่ยมและสิ่งที่ดูแปลก แต่เขาก็สรุปว่า “ฉบับแปลพันธสัญญาใหม่ฉบับนี้เป็นหลักฐานว่า ในกลุ่มนี้ [พยานพระยะโฮวา] มีคนที่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการแปลคัมภีร์ไบเบิลได้เป็นอย่างดี”—Andover Newton Quarterly ฉบับมกราคม 1963 หน้า 31
แม้ศาสตราจารย์ เอส. แมคลีน กิลเมอร์จะไม่เห็นด้วยกับคำแปลบางอย่างในฉบับแปลโลกใหม่ แต่เขาก็ยอมรับว่าผู้แปลพระคัมภีร์ฉบับนี้ “เข้าใจภาษากรีกได้อย่างดีเยี่ยม”—Andover Newton Quarterly ฉบับกันยายน 1966 หน้า 26
เมื่อผู้ช่วยศาสตราจารย์โทมัส เอ็น. วินเทอร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับฉบับแปลโลกใหม่ ซึ่งนำมาทำเป็นฉบับ Kingdom Interlinear Translation of the Greek Scriptures เขาบอกว่า “กลุ่มผู้แปลที่ไม่ประสงค์ออกนามได้แปลพระคัมภีร์ฉบับนี้โดยใช้ภาษาปัจจุบันและแปลได้อย่างถูกต้องเสมอต้นเสมอปลาย”—The Classical Journal ฉบับเมษายน-พฤษภาคม 1974 หน้า 376
ศาสตราจารย์เบนจามิน เคดาร์-คอปฟ์สไตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฮีบรูในประเทศอิสราเอล กล่าวไว้เมื่อปี 1989 ว่า “ในงานวิจัยด้านภาษาศาสตร์ของผมเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรูและฉบับแปลต่าง ๆ ผมมักจะอ้างถึงฉบับที่เรียกกันว่า ฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษ และทุกครั้งที่ทำอย่างนั้น ผมยิ่งรู้สึกมั่นใจว่าฉบับแปลนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้แปลพยายามอย่างจริงจังเพื่อจะเข้าใจข้อความต้นฉบับอย่างถูกต้องที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
จากผลการวิเคราะห์ฉบับแปลภาษาอังกฤษซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง 9 ฉบับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาศาสนาชื่อเจสัน เดวิด เบดุนเขียนว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับฉบับแปลอื่น ๆ ปรากฏว่าฉบับ NW [ฉบับแปลโลกใหม่] เป็นฉบับแปลที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด” แม้คนทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลหลายคนคิดว่าฉบับแปลโลกใหม่ แตกต่างจากฉบับแปลอื่นเพราะผู้แปลเปลี่ยนข้อความตามความเชื่อทางศาสนาของตัวเอง แต่เบดุนบอกว่า “ความแตกต่างส่วนใหญ่เป็นเพราะฉบับ NW แปลข้อความของผู้เขียนพันธสัญญาใหม่แบบตรงตัวตามที่เขียนในต้นฉบับ จึงมีความถูกต้องมากกว่า”—Truth in Translation หน้า 163, 165
a ความเห็นในบทความนี้พูดถึงฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษก่อนฉบับปรับปรุงปี 2013
b ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์ และพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย เพิ่มมัทธิว 17:21; 18:11; 23:14; มาระโก 7:16; 9:44, 46; 11:26; 15:28; ลูกา 17:36; 23:17; ยอห์น 5:4; กิจการ 8:37; 15:34; 24:7; 28:29 และโรม 16:24 ส่วนฉบับแปลคิงเจมส์ และฉบับแปล Douay-Rheims ก็มีข้อความที่เป็นคำสอนเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพใน 1 ยอห์น 5:7, 8 ซึ่งเป็นข้อความที่ถูกเพิ่มเข้าไปหลังจากคัมภีร์ไบเบิลเขียนเสร็จแล้วหลายร้อยปี